เอกสารที่มีการกล่าวถึงเจ้าขรัวมณีจันทร์ มีอยู่เพียงเอกสารเดียวคือจดหมายเหตุของวัน วลิต และมีการกล่าวถึงเพียงครั้งเดียวคือตอนที่ช่วยทูลขอสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมให้ทรงปล่อยตัวจมื่นศรีสรรักษ์(พระเจ้าปราสาททองในอนาคต)ออกจากคุก และกล่าวเพียงแต่ว่าเป็นพระชายาม่าย(แปลออกมาแบบนี้ ไม่รู้ว่าเป็นระดับอัครมเหสี มเหสีหรือแค่ระดับสนมเอก)ของสมเด็จพระนเรศ ไม่มีการกล่าวอะไรไปมากกว่านั้นครับ
ตอนนี้ขอคัดข้อมูลที่คุณขุนนางอยุธยาโพสไว้มาลงครับ มาจากบทความ โอรสสมเด็จพระนเรศวร : สมภพ จันทรประภา : แถลงงานประวัติศาสตร์และเอกสารโบราณคดี ปีที่ 6 เล่มที่ 3 เดือน กันยายน 2515
"ชื่อ มณีจันทร์ นี้ เดิมแปลมาจากฉบับภาษาอังกฤษ ต่อจากฝรั่งเศส เขียนว่า Zian Croa Mady Jan นาย W.H. Mundie เป็นผู้แปลจากภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาอังกฤษเมื่อ ค.ศ. ๑๙๐๕ (พ.ศ. ๒๔๔๗) แล้วถวายสมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ตรัสสั่งให้ขุนวิจิตรมาตราแปลเป็นภาษาไทย แต่ไม่จบเพิ่งมาจบเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ โดยนางนันทา วรเวติวงศ์ กองวรรณคดี ฯ กรมศิลปากร เรียกชื่อหนังสือนั้นว่าจดหมายเหตุวันวลิต และออกชื่อพระชายาสมเด็จพระนเรศวรว่า เจ้าขรัวมณีจันทร์ ต่อมาเมื่อพบต้นฉบับเดิมที่เป็นภาษาฮอลันดา ปรากฏว่าเขียน Tjan Croa Maha dijtian ไม่ทราบว่าจะออกเสียงประการใดถูก
คำว่า เจ้าขรัว ในสมัยรัตนโกสินทร์เป็นคำเรียกผู้เป็นบิดามารดาของพระสนมที่เป็นเจ้าจอมมรดา เพราะมีหลานตาเป็นพระองค์เจ้า เรียกกันว่า ขรัวตาขรัวยาย ที่เรียก เจ้าขรัว ชัดเจนก็มีเรียก เจ้าขรัวเงิน พระชนกในสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ นอกจากคำว่า เจ้าขรัว ยังมีอีกคำหนึ่งว่า เจ้าครอก แต่คำนี้ใช้เรียกผู้ที่เป็นเจ้า แม่เจ้าฟ้าคือเจ้าฟ้ากุณฑล ฯ พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๑ คุณจอมแว่นพระสนมเอก เรียกว่า เจ้าครอกฟ้า ตามคำบอกเล่าของ ม.ล. ป้อง มาลากุล ไม่ทราบว่าเจ้าขรัวในสมัยอยุธยาจะเป็นคำเรียกคนขนาดไหน ถ้าตามความหมายรัตนโกสินทร์ ก็จะต้องแปลว่าท่านมณีจันทร์ มีพระราชธิดาด้วยสมเด็จพระนเรศวรพระองค์หนึ่ง แล้วพระธิดานั้น ได้เป็นพระภรรยาเจ้าของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ในรัชกาลต่อมา มีหลานเป็นเจ้าฟ้าหรือพระองค์เจ้าท่านจึงได้เป็น ขรัวยาย ในเวลาต่อมา แต่ตามความในจดหมายเหตุของวันวลิต มิได้เป็นเช่นนั้นดังจะว่าต่อไป"
Tjan Croa Maha dijtian ผมลองใช้ app แปลภาษาใน iphone ออกเสียงได้ประมาณว่า "เจียนโคอา มหาแดจียอน"
สำหรับคำว่าขรัวสามารถใช้หมายถึงภิกษุอายุมากได้ บางคนจึงการสัณนิษฐานว่าหลังจากสมเด็จพระนเรศวรสวรรคตพระนางอาจจะออกไปบวชชี แต่ไปอยู่วัดไหนก็ไม่มีหลักฐานหรอกครับ
หลังจากสมเด็จพระนเรศสวรรคตใน พ.ศ.2148 จนถึงประมาณ พ.ศ.2161 ซึ่งเป็นช่วงที่จมื่นศรีสรรักษ์ติดคุก(พระเจ้าปราสาททองครองราชย์ปี 2173 ตอนพระชนม์ได้ 30 ตอนติดคุกพระชนม์ 18 พรรษา) พระนางก็ยังพระชนม์ชีพอยู่ในตอนนั้น การสามารถทูลขอพระเจ้าทรงธรรมให้ยอมปล่อยตัวจมื่นศรีออกจากคุกได้แสดงว่าพระนางต้องมีสถานะที่สูงพอสมควร และคงจะทรงเป็นผู้ที่ได้รับความเคารพนับถือจากสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมก็เป็นได้(แม้ว่าจะมีคนตั้งทฤษฎีว่าการกระทำเรื่องวุ่นๆของพระเจ้าปราสาททองมีพระเจ้าทรงธรรมทรงหนุนหลังอยู่)
แก้ไขเมื่อ 04 ต.ค. 54 15:19:21
จากคุณ |
:
ศรีสรรเพชญ์ (Slight06)
|
เขียนเมื่อ |
:
4 ต.ค. 54 15:17:53
|
|
|
|