Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ปางมือ-มุทราต้นกำเนิดท่าร่ายรำแห่งสยาม ติดต่อทีมงาน

ปางมือ-มุทราต้นกำเนิดท่าร่ายรำแห่งสยาม : ชั่วโมงเซียน โดยอ.ราม วัชรประดิษฐ์

              การที่กัมพูชาขึ้นทะเบียนท่ารำแบบนาฏศิลป์ราชสำนักของกัมพูชา หรือ The Royal Ballet of Cambodia จะมีความคล้ายคลึงของท่วงท่าแทบไม่ต่างจากนาฏศิลป์ไทย เพราะมีต้นกำเนิดมาจากท่ารำ และพิธีกรรมทางศาสนาแหล่งเดียวกัน

   
                  การทำท่าทาง หรือปางมือ (มุทรา) อันเป็นต้นกำเนิดแห่งนาฏศิลป์นั้น มีความเกี่ยวพันกับแนวคิดแบบตันตระ ซึ่งในความรับรู้ทั่วไปลัทธิตันตระ หรือ ตันตริก เป็นนิกายหนึ่งของพุทธศาสนาแบบมหายานที่เผยแพร่อยู่ทั่วไปใน ทิเบต ภูฏาน จีน ซึ่งจะมีการสร้างรูปเคารพในลักษณะแปลกประหลาดกว่าทางหินยานหรือเถรวาท เช่น มักผนวกเอาเรื่องราวของความศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ ให้ปรากฏในการสร้างพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์
   
                  พระนางตาราอันเป็นชายาของพระโพธิสัตว์ จนบางกลุ่มถูกเรียกว่า นิกายมนตรยานก็มี โดยแสดงออกทางการร่ายรำและการทำ "มุทรา" หรือ "ปางมือ" ได้แก่การจีบนิ้วพระหัตถ์ในลักษณะต่างๆ ทั้งข้างเดียวและสองข้างซึ่งมีความหมายกว้างไกลไม่เหมือนกันในท่าการจีบนิ้ว เช่นการใช้นิ้วหัวแม่มือจรดกับข้อนิ้วแรกของของนิ้วชี้ ก็เป็นความหมายอย่างหนึ่ง การใช้หัวแม่มือจรดกับข้อนิ้วแรกของนิ้วกลางทั้งข้างเดียวและสองข้างก็มีความหมายอีกอย่างหนึ่ง
   
                  คำว่า ตันตระ (Tantra) หมายถึงความรู้และการริเริ่ม ซึ่งจะให้ความสำคัญต่อการแสดงออกทางร่างกายในท่าทางต่างๆ ที่เรียกว่า "ปาง" เป็นสำคัญ ความเชื่อในตันตระนั้นเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคพระเวทของอินเดียโบราณ นอกจากการที่พรามหณ์จะรจนา คัมภีร์ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท แล้ว ยังเพิ่มส่วนที่เรียกอาถรรพณ์เวทย์ขึ้นมาอีก ซึ่งอาถรรพณ์เวทย์นี่เองเป็นจุดกำเนิดของแนวคิดแบบตันตระ ในเรื่องของการบูชาเทวะด้วยวิธีการต่างๆ โดยมุ่งเน้นไปทางอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ซึ่งส่วนหนึ่งได้กลายมาเป็นความเชื่อทางไสยศาสตร์ที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน
   
                  เครื่องรางของขลัง การปลุกเสกด้วยการพร่ำบ่นสรรเสริญเทพเจ้า รวมไปถึงการแสดงออกทางร่างกายเพื่อบูชาเทวะเช่นการร่ายรำ การร่วมเพศ การบูชายัญ เป็นต้น จึงอาจกล่าวได้ว่าตันตระมีต้นกำเนิดมาจากศาสนาพราหมณ์ฮินดู โดยเฉพาะการนำเรื่องราวทางนาฏยศาสตร์ ที่พระอิศวรทรงร่ายรำซึ่งชาวโลกเชื่อว่าถ้าทรงร่ายรำอย่างรวดเร็วโลกก็จะเดือดร้อนหวั่นไหว หากร่ายรำอย่างแช่มช้าอ่อนช้อยโลกก็จะสงบร่มเย็น เรารู้จักปางร่ายรำนี้ว่า "ศิวะนาฏราช" หมายถึง "พระราชาแห่งการร่ายรำ"
   
                  ในตำนานกล่าวไว้ว่า พระศิวะทรงเมตตาประทานพร โดยจะเสด็จไปฟ้อนรำให้ดูในมนุษยโลก ณ ตำบลจิดรัมบรัม หรือจิทัมพรัม ซึ่งอยูทางตอนใต้ของอินเดีย อันเป็นศูนย์กลางของมนุษยโลก ทรงฟ้อนรำให้ชาวโลกชมอย่างงดงามถึง ๑๐๘ ท่าด้วยกัน ชาวโลกจึงร่วมกันสร้างเทวาลัยขึ้นที่เมืองนี้ เพื่อเป็นที่เคารพบูชาแทนองค์พระศิวะ ภายในเทวาลัยนี้แบ่งออกเป็น ๑๐๘ ช่อง เพื่อแกะสลักท่าร่ายรำของพระอิศวรไว้จนครบ ๑๐๘ ท่า การร่ายรำครั้งนี้ถือเป็นการร่ายรำครั้งที่ ๒ ของพระอิศวร
   
                  ในสยามประเทศนั้น การทำปางมือ หรือ มุทรา ได้เข้ามาพร้อมกับการปรากฏกายของพระโพธิสัตว์ และพระวัชรสัตว์ต่างๆ ในพุทธแบบมหายานที่เข้ามาทางตอนใต้บริเวณแหลมมลายู ส่วน ตำรานาฏยศาสตร์ ไม่มีต้นฉบับเหลืออยู่ นั้นเป็นพราหมณ์นำเข้ามาแต่ปัจจุบันไม่มีต้นฉบับหลงเหลืออยู่ เข้าใจว่าคงจะใช้วิธีสั่งสอนตัวต่อตัวสืบทอดกันมา แต่ก็ปรากฏเค้าเงื่อนในเรื่องรามเกียรติ์ หลายต่อหลายตอน เช่นการที่พระนารายณ์แปลงเป็นพราหมณ์น้อยร่ายรำให้พระอุมาคลายพิโรธจากปรศุรามที่จามงาพระพิฆเนศหัก หรือการร่ายรำของนางเบญจกายที่แปลงเป็นสีดา ซึ่งเราเรียกว่า "ฉุยฉายพราหมณ์" เป็นต้น
   
                  จะปรากฏหลงเหลือมาบ้างก็จะมีตำราท่ารำต่างๆ เขียนรูประบายสีปิดทอง ๑ เล่ม เหลืออยู่เฉพาะตอนต้นเป็นฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ ๑ ตำราท่ารำเหมือนกับเล่มแรก แต่เขียนฝุ่นเป็นลายเส้น ฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ ๒ หรือรัชกาลที่ ๓ มีภาพรำบริบูรณ์ถึง ๖๖ ท่า ได้มาจากพระราชวังบวรฯ ท่ารำ และการเรียงลำดับท่าเหมือนเล่มแรก เข้าใจว่าจะเป็นสำเนาคัดจากเล่มสมัยรัชกาลที่ ๑ นั่นเอง
   
                  เป็นที่เข้าใจกันว่าตำรานาฏยศาสตร์ในสยามนั้น มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระวิทยประจง (จ่าง โชติจิตร) ช่างในกรมศิลปากรกับขุนประสิทธิจิตรกรรม (อยู่ ทรงพันธ์) ช่างเขียนในหอพระสมุดฯ ช่วยกันเขียนภาพใหม่ตามแบบท่ารำในตำราเดิม นำมาพิมพ์ไว้ใน "ตำราฟ้อนรำ" เก็บไว้ในหอสมุดแห่งชาติ ชื่อท่ารำต่างๆ ในตำราของไทยเรานั้น ปะปนกันอยู่กับชื่อท่ารำที่มาจากอินเดีย
   
                  ชั้นดาวดึงส์ ที่วัดตระพังทองหลาง มีเทพเทวะ พระอินทร์ พระพรหม เสด็จลงมาส่ง โดยที่ท้าวของเทพเทวะแสดงลักษณะการร่ายรำในน่านาฏยศาสตร์ อันเป็นผลจากการเข้ามาของลัทธิพราหมณ์ฮินดูแต่เดิม ซึ่งแนวคิดนี้เผยแพร่เข้าไปในเขมรช่วงเมืองพระนครด้วย
   
   กำเนิดนาฏยศาสตร์ในอุษาคเนย์
   
   
                  อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ท่าร่ายรำหรือนาฏยศาสตร์ที่เผยแพร่เข้ามาในดินแดนอุษาคเนย์นั้น มีต้นกำเนิดจากลัทธิพราหมณ์ฮินดูเป็นปฐม ก่อนจะผสมผสานผ่านแนวคิดแบบตันตระรวมกับพุทธศาสนาแบบมหายานหลั่งไหลเข้ามา ดังนั้นจึงมีการรับความคิดความหมายการทำท่าปางมือ หรือมุทรา จากพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ นางตารา นางโยคินี ก่อนเป็นเบื้องต้น
                 
                  จากนั้นก็ผสมผสานเข้ากับงานด้านวรรณคดี ตำนานและถ่ายทอดลงบนภาพจิตรกรรม โดยมีการประดิษฐ์ท่าร่ายรำโดยผสมผสานขึ้นตั้งแต่สมัยสุโขทัย กระจายตัวในสมัยกรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ด้วยลักษณะเฉพาะตัว คืออ่อนช้อย งดงาม มีความหมายแห่งมุทรา มิได้แข็งกร้าว ดุดัน แสดงออกโดยใช้กล้ามเนื้อ สรีระ ใบหน้า ที่เน้นความแข็งแกร่ง ดังภาพจำหลักต่าง ๆ ที่ปรากฏบนตัวปราสาทหิน
   
                  ในภายหลังไทยจึงได้นำท่าทางดังกล่าวมาประดิษฐ์เป็นงานนาฏศิลป์ ที่เรียกว่า ระบำลพบุรี ระบำศรีวิชัย ภายหลัง ส่วนเขมรในยุคศรีสันธอร์ ซึ่งต่อจากยุคเขมรเมืองพระนครนั้น เป็นช่วงที่ อยุธยาเข้าไปมีอิทธิพลเหนือเขมรจนถึงช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระยะนี้เองเป็นช่วงที่ท่วงท่าร่ายรำนาฏยศาสตร์ไทยไหลหลั่งสู่ดินแดนเขมรครับผม

http://www.komchadluek.net/detail/20111031/113435/ปางมือมุทราต้นกำเนิดท่าร่ายรำแห่งสยาม:ชั่วโมงเซียนโดยอ.รามวัชรประดิษฐ์.html

จากคุณ : หมาป่าดำ
เขียนเมื่อ : 31 ต.ค. 54 18:18:52




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com