 |
เรื่องนักสนมและเครื่องยศมีเกร็ดอยู่ในประวัติเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ เพชรพระมหามงกุฎ - เจ้าคุณพระประยูรวงศ์(แพ) http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=rattanakosin225&group=1&date=22-03-2007&gblog=15 พระนิพนธ์ใน สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
(๘) เครื่องยศนักสนมเมื่อก่อนรัชกาลที่ ๔ จะเป็นอย่างไรฉันไม่รู้แน่แต่เมื่อรัชกาลที่ ๔ นั้นมี ๕ ชั้นเป็นลำดับกัน ล้วนเป็นเครื่องใส่หมากกินทั้งนั้น
ชั้นที่ ๔ ซึ่งเป็นชั้นต่ำกว่าเพื่อน เป็นหีบหมากเงินกาไหล่ทองสำหรับพระราชทาน " นางอยู่งาน" แต่โบราณดูเหมือนจะเรียกว่า "นางกำนัล" ซึ่งทรงใช้สอยในพระราชมณเทียร ได้แต่บางคนที่ทรงพระเมตตาในหมู่นางอยู่งาน แต่การที่ได้รับพระราชทานหีบหมากยังไม่นับว่าเป็นเจ้าจอม
ชั้นที่ ๓ เป็นหีบหมากทองคำ สำหรับพระราชทานนางอยู่งานซึ่งทรงเลือกไว้ใช้ใกล้ชิดประจำพระองค์ ใครได้พระราชทานหีบหมากทองคำจึงมีศักดิ์เป็น"เจ้าจอม" เรียกว่าเจ้าจอมนำหน้าชื่อทุกคน ฉันเข้าใจว่าในชั้นนี้ที่เรียกว่า "เจ้าจอมอยู่งาน"
ชั้นที่ ๒ เป็นหีบหมากทองคำลงยาราชาวดีสำหรับพระราชทานเจ้าจอมมารดา หรือเจ้าจอมอยู่งานซึ่งทรงพระเมตตายกย่องขึ้นเป็นชั้นสูง ฉันเข้าใจว่าเรียก"พระสนม"แต่ชั้นนี้ขึ้นไป
ชั้นที่ ๑ เรียกว่า"พระสนมเอก" ได้พระราชทานพานทองเพิ่มหีบหมากลงาที่กล่าวมาแล้ว เป็นพานทองมีเครื่องในทองคำกับกระโถนทองคำด้วยใบหนึ่ง เป็นเทือกเดียวกับพานทองเครื่องยศที่พระราชทานเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ แต่ขนาดย่อมกว่าพานทองเครื่องยศฝ่ายหน้า
ชั้นพิเศษ สำหรับพระราชทานพระมเหสัเทวี ซึ่งเรียกในกฎมณเทียรบาลว่า "พระภรรยาเจ้า" มีทั้งหีบหมากและพานหมากเสวยล้วนทำด้วยทองคำลงยาราชาวดี เครื่องยศนางใน ๕ นั้นเช่นพรรณนามาดูเหมือนจะตั้งเป็นกำหนดขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๔
เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสวยราชย์ เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ก็ได้เป็นพระสนมเอก มีแต่ท่านคนเดียวได้พระราชทานเครื่องยศพระสนมเอกตามแบบรัชกาลที่ ๔ ทั้งพานทองและหีบหมากลงยาหลังประดับเพชรใบหนึ่ง แล้วโปรดฯให้ทำขึ้นใหม่เขื่องกว่าใบเก่า ประดับเพชรทั้งขอบฝาและเป็นตราพระเกี้ยวยอดอยู่บนพานสองชั้นกับฉัตรสงองข้างบนหลังหีบพระราชทานเพิ่มอีกใบหนึ่ง ครั้นจำเนียรกาลนานมาเมื่อมีพระสนมเอกขึ้นเป็นหลายคน พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะทรงยกย่องเจ้าคุญพระประยูรวงศ์ให้สูงศักดิ์กว่าคนอื่นที่เป็นพระสนมเอกด้วยกัน โปรดฯให้เปลี่ยนเครื่องในพานทองเครื่องยศของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์เป็นลงยาราชาวดี มีแต่ของท่านคนเดียวจึงมียศสูงกว่านักสนมกำนัลทั้งปวง เครื่องยศที่พรรณนามานี้เมื่อล่วงรัชการที่ ๕ มาแล้วพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลภายหลังดำรัสสั่งมิให้เรียกคืนตามประเพณีเก่า ด้วยทรงเคารพนับถือเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ท่านจึงได้ครองเครื่องยศหมดทุกอย่างที่ได้พระราชทานมาจนตลอดอายุ
รัชกาลที่ ๕ ทรงสร้างเครื่องยศผู้หญิงขึ้นอีกอย่างหนึ่ง เนื่องกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าซึ่งทรงประดิษฐานเมื่องานบรมราชภิเษกครั้งหลัง ในปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ ด้วยในชั้นนั้นพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าแต่ผู้ชาย จึงโปรดฯให้ทำกล่องหมากกับหีบหมากเครื่องยศมีรูปดวงตราจุลจอมเกล้าอยู่บนฝา ต่างกันเป็น ๔ ชั้น เหมือนอย่างตราจุลจอมเกล้า
ชั้นที่ ๑ กล่องหมากกาไหล่ทองจำหลักลงยาสีขาบกับตลับเครื่องใน ๔ ใบ บนหลังกล่องมีรูปดาราปฐมจุลจอมเกล้า สำหรับพระราชทานผู้หยิงที่มียศชั้นสูงเทียบกับเจ้าต่างกรมและเจ้าพระยาเสนาบดี
ชั้นที่ ๒ กล่องหมากเหมือนกับชั้นที่ ๑ ผิดกับแต่บนหลังกล่องเป็นรูปดาราทุติยจุลจอมเกล้า และตลับเครื่องใน ได้เป็นพิเศษสำหรับพระราชทานผู้หญิงที่มียศเทียบกับเจ้า และขุนนางที่ได้พระราชทานพานทอง
ชั้นที่ ๓ หีบหมากกาไหล่ทองจำหลักลงยาสีขาบเหมือนกล่องหมากที่กล่าวมาแล้ว แต่บนฝาหีบเป็นรูปดวงตราจุลจอมเกล้า สำหรับพระราชทานผู้หญิงที่มียศชั้นรองลงมา แต่พระราชทานตามฐานะของตัวบุคคลมิใช่ได้ด้วยสืบสกุลอย่างตราตติยจุลจอมเจ้าเกล้า
ชั้นที่ ๔ หีบหมากเงินจำหลักบนหลังหีบ มีรูปตราจุลจอมเกล้าเป็นชั้นต่ำกว่าเพื่อน เทียบกับตราตติยานุจุลจอมเกกล้า สำหรับพระราชทานผู้มียศชั้นต่ำในพวกที่ได้รับเครื่องยศจุลจอมเกล้า
กล่องและหีบหมากจุลจอมเกลล้าที่กล่าวมานี้ พระราชทานทั้งเจ้านายและข้าราชการฝ่ายใน กับหม่อมห้ามเจ้านายและภรรยาข้าราชการผู้ใหญ่ มิได้เป็นเครื่องยศสำหรับนางในเหมือนอย่างเครื่องยศครั้งรัชกาลที่ ๔ ซึ่งกล่าวมาก่อน
เจ้าคุญพระประยูรวงศ์ ก็ได้พระราชทานกล่องหมากเครื่องยศชั้นปฐมจุลจอมเกล้าตั้งแต่แรกสร้าง ต่อมาอีก ๒๐ ปี ถึงปี พ.ศ.๒๔๓๖ เมื่อรัชกาลที่ ๕ ครบ ๒๕ ปี มีพระราชพิธิรัชดาภิเษกสมโภชราชสมบัติ พระเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้แก้พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าให้ผู้หญิงได้รับด้วย เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ก็ได้พระราชทานดวงดารากับสายสะพายชั้นปฐมจุลจอมเกกล้าในครั้งนั้น เครื่องยศจุลจอมเกล้าของผู้หญิงจึงมีเป็น ๒ อย่างขึ้น คือตราและกล่องหรือหีบหมาก ในชั้นแรกใครได้รับตราชั้นไหน ก็ได้กล่องหรือหีบหมากชั้นนั้นด้วย หีบและกล่องหมากก็กลายเป็นเครื่องอุปกรณืของตราไป ต่อมาโปรดฯให้งดพระราชทานกล่องและหีบหมากจุลจอมเกล้า ก็เลิกเครื่องยศอย่างนั้นแต่นั้นมา
ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ ถึง พ.ศ. ๒๔๔๔ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับจากประพาสเมืองชวาครั้งที่ ๓ ทรงปรารภถึงความชอบของผู้ที่ไปตามเสด็จ ด้วยไปต้องตกยากตรากตรำ รักษาพยาบาลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ ซึ่งประชวรหนักอยู่พักหนึ่ง จึงทรงสร้างเหรียญรัตนาภรณ์ขึ้นสำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็ดแก่ผู้มีความชอบในพระองค์ มีต่างกันเป็น ๕ ชั้น เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ไม่ได้ไปตามเสด็จครั้งนั้น แต่ทรงรำลึกความชอบของท่านแต่หนหลังก็พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ชั้นที่ ๒ อันประกอบเพชรรอบขอบเหรียญแก่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ด้วย
ถึงรัชกาลภายหลัง เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างเหรียญรัตนภรณ์รัชกาลที่ ๖ ในปีแรกเสวยราชย์เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๕๓ เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ก็ได้พระราชทาน ฉันเข้าใจว่าชั้นที่ ๒ เหมือนอย่างได้พระราชทานเมื่อรัชกาลที่ ๕ ก่อน แล้วจึงพระราชทานเลื่อนขึ้นเป็นชั้นที่ ๑ ซึ่งประดับเพชรทั้งตัว เมื่อท่านฉลองอายุครบ ๖๐ ปี ในปีขาลพ.ศ. ๒๔๕๗
ถึง พ.ศ. ๒๔๖๑ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสาถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ "มหาวชิรมงกุฎ" ประดับเพชรเป็นชั้นยอดเพิ่มขึ้นในเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยาม พระราชทานน้อยตัวทั้งผู้ชายผู้หญิง ก็ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ด้วย
ถึงรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๗ ขึ้น ในปีเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ ก็ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานเหรียญนั้นชั้นที่ ๒ แก่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์แต่แรกสร้างเหมือนสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระเชษฐาธิราชเคยพระราชทานแต่ก่อนมา ที่พรรณนามานี้ไม่ได้กล่าวถึงเหรียญพระราชทานในงานต่างๆ ตามบรรดาศักดิ์ยังมีอีกหลายอย่าง
ยังมีของพระราชทานนางในคล้ายกับเครื่องยศในรัชกาลที่ ๕ อีกอย่างหนึ่งเรียกกันว่า "หีบสามสิบปี" เมื่อเจ้าจอมคนไหน(นับทั้งพระมเหสีเทวีด้วย)รับราชการสนองพระเดชพระคุณมาได้ถึง ๑๐ ปี ได้พระราชทานตลับเครื่องในกล่องหมากชุดหนึ่ง ๓ ใบเป็นบำเหน็จ เมื่อรับราชการได้ถึง ๒๐ ปี ได้พระราชทานกล่องหมากสำหรับใช้กับเครื่องในที่ได้พระราชทานแล้วนั้น เมื่อรับราชการถึง ๓๐ ปี ได้รับพระราชทานหีบหมากซึ่งสร้างขึ้นโดยเฉพาะพร้อมด้วยตลับเครื่องในสำหรับหีบนั้นด้วยอีก ๓ ใบ "หีบสามสิบปี"มีต่างกันเป็น ๒ ชั้น พระราชทานต่างกันตามเกียรติยศของนางใน ชั้นที่ ๑ ทำด้วยทองคำลงยาประดับเพชร ชั้นที่ ๒ ทำด้วยเงินกาไหล่ทอง แต่หีบหมากพระราชทานเมื่อครบ ๓๐ ปีเป็นเงินลงยา เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ได้พระราชทานตลับสิบปีเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๐ ได้พระราชทานกล่องหมากยี่สิบปีเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๐ และได้พระราชทานหีบหมากสามสิบปีเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๐ ได้ชั้นที่ ๑ ทุกครั้ง ถ้าว่าโดยย่อเครื่องยศและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อย่างใดอันนางในจะพึงได้พระราชทาน ท่านได้รับพระราชทานหมดทุกอย่าง....
[cen]รถแก้วจักรพรรดิ จากซ้ายไปขวา พระยาบุษรถ (ฟ้อน ศิลปี), ท้าววรจันทร์, เจ้าคุณพระประยูรวงศ์, ท่านผู้หญิงตลับ, เจ้าจอมมารดาชุ่ม, เจ้าจอมมารดาโหมด, พระราชชายาเจ้าดารารัศมี, เจ้าจอมเลียม ถ่ายเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2448[/cen]
จากคุณ |
:
กัมม์
|
เขียนเมื่อ |
:
7 พ.ย. 54 09:56:52
|
|
|
|
 |