Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ต้นต่อของปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คืออะไร? ติดต่อทีมงาน

ปัจจุบันเราทราบต้นตอของปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือยังครับ แล้วคิดว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาควรเป็นไปในทิศทางใด???


ฝรั่งมองไทย กับ “ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้”

Dr.Patrick Jory ผู้ซึ่งเคยศึกษาหลวงพ่อทวดในฐานะเป็นวีรบุรุษทางวัฒนธรรมและการบูณาการของปัตตานี อีกทั้งยังเป็นนักประวัติศาสตร์ไทยและเป็นหัวหน้าสาขาวิชาภูมิภาคศึกษา สำนักศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้กล่าวถึงประเด็นสถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า สังคมไทยยังขาดความรู้ ขาดงานวิจัยเกี่ยวกับสังคมมุสลิมมาก จึงขาดวิธีคิดและวิธีการที่ถูกต้องสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง และที่สำคัญรัฐชาติไทยขาดความตระหนักถึงประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ที่สั่งสมความเป็นตัวตนของชาวมุสลิมในแถบถิ่นนี้

“มีงานวิจัยเกี่ยวกับสังคมมุสลิมน้อยมาก ที่ผมได้อ่านอยู่บ้างก็อย่างงานของบุญเลิศ วิเศษปรีชา เรื่อง แต่งงานกับนางไม้ ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลก ทั้งๆ ที่ชุมชนมุสลิมมีมากหลากหลาย และแตกต่างกันด้วย

มุสลิมทางปัตตานีหากเราจะพูดถึง ผมคิดว่าเราต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ปัตตานี ว่าเขามีสำนึกทางประวัติศาสตร์มาอย่างไร และสัมพันธ์กับรัฐไทยอย่างไร ซึ่งต้องต้องรับว่ามันมีการพยายามจะแยกตัวออกจากรัฐมาตั้งแต่โบราณแล้ว ซึ่งมันก็เพื่อรักษาอำนาจของปัตตานีเอาไว้นั้นเอง

อย่างนครศรีธรรมราชไม่เคยมีกรณีแบบนี้ เนื่องจากว่านครศรีธรรมราช เป็นเมืองตัวแทนของอำนาจรัฐไทยมาตั้งแต่โบราณ จนถึงปัจจุบัน แต่ปัตตานีไม่ใช่ ปัตตานีเป็นเมืองชายขอบ อีกอย่างความเป็นมลายูนั้นชัดเจนมาก แตกต่างจากที่นครฯ ซึ่งไม่มี เนื่องจากว่าความทรงจำในการอพยพเข้ามามันนานมากและขาดหายไป สิ่งเหล่านี้เอง ที่ผมอยากจะรู้ว่า มีงานที่ศึกษาจิตสำนึกคนมุสลิมนครฯ ที่รู้สึกถึงความเป็นมลายูของตัวเองแค่ไหน ซึ่งอาจจะมีบ้าง เพราะเห็นว่าบ้างคนพูดภาษามลายูได้

อย่างงานวิจัยของบางท่าน ก็พบว่าอัตลักษณ์ของมุสลิมนั้นกำลังเข้มข้นยิ่งกว่าเดิม อย่างในชุมชนทวดกลายแต่เดิม มีทวดกลายเป็นบรรพบุรุษร่วมกันทั้งพุทธ มุสลิม มีการสร้างรูปปั้นขึ้นด้วย แต่ปัจจุบันชาวมุสลิมเริ่มที่จะยอมรับไม่ได้ในการเคารพรูปปั้นนั้น สังคมในท้องถิ่นนี้เริ่มจะแบ่งแยกมากขึ้น ทั้งในโรงเรียน ตัวอย่าง เรื่องค่ายลูกเสือชาวบ้าน ก็มีพิธีกรรมทางพุทธศาสนา ซึ่งตรงนี้ไม่ได้บังคับหรอกน่ะว่าจะต้องเข้าร่วม ต่อมาก็มีพิธีกรรม รำลึกและเคารพ ถึงลอร์ดเบาว์เดนพาว ผู้ก่อตั้งลูกเสือชาวบ้านหรือบิดาลูกเสือโลก ซึ่งนั่นเขารับไม่ได้ เด็กๆ มุสลิมไม่ยอมทำ แต่เมื่อก่อนๆไม่มีปัญหานะครับ แต่เพิ่งเริ่มเมื่อปีที่แล้วนี้เอง เนื่องจากว่าเขาคิดว่าผิดหลักศาสนา ซึ่งมันกำลังเป็นปัญหามาก ทั้งๆ ที่แต่ก่อนไม่เคยมีปัญหาแบบนี้เลย

หากมองในแง่กระบวนการแทรกซึมของรัฐชาติ ที่เข้ามาปลูกฝังจิตสำนึกนั้น มันล้มเหลวหรือไม่ได้ผลมากเท่าที่ควรเหมือนคนกลุ่มอื่นๆ นั้น ผมเข้าใจว่า ความเป็นพุทธ กับความเป็นรัฐชาติ มันกำลังกลายเป็นอันเดียวกัน ผมอาจจะมองผิดน่ะ ว่า คนไทยเองที่เป็นพุทธก็ไม่ค่อยจะยอมรับว่าคนมุสลิมเป็นคนไทย ตัวอย่างที่ชัดเจนที่ได้ยินบ่อยๆ เช่น “นั่นไม่ใช่คนไทยนะ เป็นแขก” ความเป็นไทยมันคือความเป็นพุทธในตัวเอง ซึ่งผมเห็นว่าการพยายามจะสร้างจิตสำนึกความเป็นไทย การพยายามให้ศาสนาพุทธเป็นศูนย์กลางของความเป็นไทย มันทำให้มุสลิมมีปัญหาในการเข้าถึงความเป็นไทย ถึงแม้ว่า หลายคนพยายามจะเปิดพื้นยอมรับ แต่ว่า ทางปัตตานี ภาษาก็ไม่เหมือน ศาสนาก็ไม่เหมือน มันก็ยิ่งทำให้กลุ่มปัตตานีมลายูเข้าถึงความเป็นไทยยากมาก

ในขณะเดียวกันมุสลิมปัตตานีเป็นมลายู ซึ่งความเป็นมลายู ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซียเขาก็เป็นมลายู มีประชากรรวม 250 ล้านคน ในนั้นถ้าเขาเป็นสมาชิก นี่คือกลุ่มที่ใหญ่มาก ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และปัตตานีก็ยังเป็นศูนย์กลางของมลายูในอดีตด้วย ซึ่งมันย่อมเป็นอุปสรรคในการให้เขามาเป็น “คนไทย” และนอกจากความเป็นมลายูแล้ว เขายังเป็นมุสลิมที่มีสมาชิก 1 พันล้านคนทั่วโลกด้วย




ในระดับโลกอัตลักษณ์ความเป็นชาติ หรือชาตินิยม เป็นอัตลักษณ์ที่มีอำนาจมากที่สุด มีอำนาจมากในทางการเมืองมากกว่าอัตลักษณ์ในทางศาสนา แม้แต่รัฐอิสลามอย่างอิหร่านก็เป็นรัฐชาติหมด หรือโลกพุทธ โลกคริสต์ ก็แบ่งเป็นรัฐชาติหมดเพราะเป็นอัตลักษณ์ที่เข้มข้นที่สุด แต่ในขณะเดียวกันอัตลักษณ์ของมุสลิมก็เข้มข้นขึ้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น นอกจากเป็นปัตตานีแล้ว เป็นมลายูแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งของโลกมุสลิมอีก 1 พันล้านคนด้วย นี่คืออุปสรรคที่แตกต่าง ระหว่างการเข้าแทรกซึมกลุ่มชาติพันธุ์ลาว เขมร หรือกุย หรือชาวเขา ในภาคเหนือ ซึ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ ไม่มีสมาชิกที่ใหญ่กว่านั้น

เรื่องสังกัดอัตลักษณ์เพื่อสร้างอำนาจ ผมคิดว่าอาจจะมีน่ะ แม้จะไม่มีหลักฐานก็ตาม แต่ความเป็นมลายู เป็นส่วนหนึ่งของสำนึกของการมีตัวตนแบบนี้ ผมว่ามันมีอยู่จริง กับสถานการณ์โลกปัจจุบันถ้าสำรวจความรู้สึกคนทั่วไปที่มองกลุ่มมุสลิม มันเหมือนกับว่ามันถูกอำนาจคุกคาม ไม่ว่าจะเป็นอำนาจตะวันตก อเมริกา หรือว่าอำนาจรัฐ มันมีความรู้สึกว่าคนมุสลิมถูกโจมตีทุกทาง แต่เดิมประวัติศาสตร์ของมุสลิมไม่ได้เป็นอย่างนั้น เมื่อหลายร้อยปีก่อนอารยธรรมมุสลิมเป็นอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ของโลก อย่างอาณาจักรออตโตมัน เป็นต้น บังเอิญพออำนาจของตะวันตกขยายตัวทำให้ รัฐต้องรับมือกับ Modernity ที่เข้ามา และปัตตานีจึงกลายเป็นกรณีพิเศษ

อีกประเด็นหนึ่ง ที่น่าจะพูดถึงคือ อุดมการณ์ทางการเมือง ที่เราเองคงเคยได้ได้ยินคือรัฐอิสลาม แต่ว่ามาดูรัฐมุสลิมอย่างแท้จริง ใช้กฎหมายชาริยะฮ์ ซึ่งตรงนี้มันจะขัดกับกระแสการเมืองสมัยใหม่ ตั้งแต่ยุคเอนไลท์เทนเม้นท์ มันจะแยกศาสนาออกจากการเมือง หรือความเป็นรัฐ และมันจะต้องเป็นรัฐแบบ secular state คือคุณมีสิทธิ์ จะปฏิบัติกิจทางศาสนาตัวเองได้ แต่ว่าเรื่องของรัฐ เรื่องการเมืองการปกครอง ศาสนาไม่เกี่ยว ในตุรกีในสมัยออโตมันเติร์ก ก็แยกศาสนาออกจากการเมือง ในปัจจุบัน ถ้าเราไม่อยากได้รัฐแบบตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นแบบประชาธิปไตย หรือแบบคอมมิวนิสต์ แต่เราอยากได้รัฐแบบรัฐอิสลาม เช่น การปฏิวัติเป็นรัฐอิสลาม ของอิหร่านทำให้มีผลอย่างมากกับชาวมุสลิม เพราะว่ามันทำให้เขาสร้างรัฐแบบเขาได้ มันกลายเป็นตัวอย่างที่คนมุสลิมบางคน บางกลุ่มใฝ่ฝันและศึกษาความเป็นไปได้ ที่จะสร้างรัฐอิสลามให้อยู่ร่วมกับโลกสมัยใหม่


 

นอกจากนั้น มันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงภายในด้วย ผมคิดว่าแม้แต่ชาวพุทธเองก็ต้องยอมรับว่า บทบาทพุทธศาสนาในชีวิตประจำวันนั้นหายไปจากชีวิตจริงชาวพุทธเยอะมาก ซึ่งโลกสมัยใหม่ ศาสนาไม่มีบทบาทเลยหรือ ซึ่งมุสลิมหลายคนยอมข้อเท็จจริงตรงนี้ไม่ได้ ที่ว่าศาสนามีบทบาทต่อสังคมน้อยลงๆ

ขณะเดียวกัน หลายคนอาจจะมองว่า เราปฏิเสธโลกาภิวัตน์ไม่ได้ แต่ถ้าเขามองว่า “เราจะปฏิเสธมัน” ไม่ได้หรือ ทุกอย่างเป็นไปได้ไม่ใช่หรือ สำหรับโลกใบนี้ และเราต้องมองด้วยครับว่า เรื่องของการตั้งกฎระเบียบของสังคม นั้น เราไม่มีสิทธิ์เลยหรือในสังคมปัจจุบัน หลายคนตั้งคำถามตรงนี้ อย่างอิหร่านก็ทำให้เห็นถึงแม้ว่า อาจจะมีปัญหาอยู่มากนะครับ

ประเทศอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายเราและใกล้เราก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียวครับ อย่างอินโดนีเซียก็เป็นกรณีพิเศษ เขาตั้งเป็นรัฐ secular state ตั้งแต่แรก ผู้นำทางการเมืองในยุคนั้นเขาตัดสินใจไว้ว่า ประเทศนี้ต้องเป็นแบบนี้ เพราะเมื่อไหร่ที่รัฐตั้งศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ พื้นที่ที่คนไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามซึ่งมีมาก ก็ต้องมีปัญหา อินโดนีเซียมีความหลากหลายมาก ดังนั้นทำยังไงที่จะให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ จึงทำให้เขาตัดสินใจทำให้เป็นรัฐแบบ secular state ซึ่ง ทหาร ข้าราชการ จะชูประเด็นนี้ตลอด ดังนั้นยากที่คนอินโดนีเซียจะไม่พอใจกับรัฐแบบนี้ ดูจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคที่มีแนวทางอิสลามได้รับเสียงเลือกตั้งน้อยจาก

กรณีมาเลย์ ก็เป็นอีกแบบหนึ่งคือ ปัญหาการแบ่งแยกเชื้อชาติระหว่างจีนกับมลายูสูงมาก ซึ่งมลายูก็แยกไม่ออกกับความเป็นมุสลิมด้วย ปัญหาของชาวมลายูคือต้องรักษาอำนาจไว้ในการปกครองประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นสาเหตุอันหนึ่งที่ ต้องให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ นอกจากรักษาศาสนาไว้แล้วก็ต้องการรักษาสถานภาพของชาวมลายูไว้ด้วย ท่ามกลางปัญหาทางเศรษฐกิจที่ซึ่งจีนกุมอำนาจเศรษฐกิจมาตั้งแต่สมัยประกาศเอกราช ดังนั้นในกรณีมาเลย์นั้น อิสลามมีอำนาจกำหนดนิยามความเป็นมลายู แต่ที่น่าสนใจคือ ในทางการเมืองพรรค Pass ซึ่งเป็นพรรคที่ชูแนวทางอิสลามกลับได้คะแนนเสียงน้อยมาก

ส่วนในกรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คนแถบนี้มีสายสัมพันธ์เป็นเครือญาติกัน มีวัฒนธรรมเดียวกัน ภาษาเดียวกัน อย่างกับของคนในรัฐกลันตัน เพราะมันเพิ่งมาถูกแบ่งออกในสมัยอาณานิคมนี้เอง

ปัญหา 3 ชายแดนภาคใต้ มีคำหนึ่งที่น่าสนใจมากที่ นายกฯ ทักษิณ พูดว่า “ไม่รู้ว่าทำไมมันแก้ปัญหาไม่ได้” และ “ผมยอมรับว่าเราขาดความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้” ซึ่งก็คือ ทหารก็ดูไม่รู้ รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ท่าทางดูแล้วก็ไม่รู้ สังคมไทย รัฐบาลไทยขาดความรู้เรื่องนี้ทั้งนั้น ทำให้เกิดการเดาสาเหตุของปัญหาว่า ส่วนหนึ่งมาจากความยากจน ส่วนหนึ่งว่ามาจากชาวบ้านถูกรังแกจากเจ้าหน้าที่รัฐมานาน นี่คือเราเดาเอาน่ะ หรือว่ามีการแทรกแซงจากภายนอก (อย่างพวกก่อการร้าย= ผู้เขียน) เรื่องกระแสแบ่งแยกดินแดน ส่วนตัวผมคิดว่าน้อยมาก คือเคยมีคนที่ไปศึกษาความคิดของชาวบ้าน ที่ไม่พอใจกับรัฐไทย ปัจจุบันไม่มีใครมีความคิดที่จะแบ่งแยกดินแดน นี่คือความคิดชาวบ้านส่วนใหญ่ ที่มีก็เป็นกลุ่มที่น้อยมาก นี่คือข้อมูลที่ผมอ่านมาจากงานวิจัย ถ้าถามเมื่อ 30 ปี ที่แล้ว ผมเชื่อว่ามีแน่นอน แต่ตอนนี้มีน้อยมาก

ดังนั้นเหตุการณ์นี้ เท่าที่ผมสังเกตดู เขาแค่ต้องการมีสิทธิ มีอำนาจจัดการเรื่องของเขาเองบางด้าน แต่ไม่ใช่เรื่องแบ่งแยกประเทศ

ส่วนทางออกปัญหานี้ ผมยอมรับเหมือนๆ กันว่า ไม่มีความรู้พอ แต่กระนั้นก็ตาม ผมคิดว่า เรื่องของเขา ต้องให้เขาเสนอทางออกในการแก้ปัญหา ส่วนที่เราอาจจะช่วยได้คือ ทัศนะของสังคมไทยที่มองคนมุสลิมในตอนนี้เท่านั้น เพราะในอดีตรัฐชาติไทยทำกับกลุ่มต่างวัฒนธรรมอย่างไรนั้น เราต้องรับรู้และเข้าใจกันตรงนี้ก่อน จนมาสู่ปฏิกิริยานี้ได้อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีนะครับ ที่ขณะนี้มีหนังสือ มีงานศึกษาเรื่องอิสลามออกมาเยอะมากขึ้น เพราะการแก้ปัญหานี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ดังนั้นกับท่าทีแบบแข็งกร้าวของนายกฯ ทักษิณ นั้นไม่มีทางแก้ปัญหาได้เลยครับ”

http://www.thaingo.org/story3/farang.htm

 
 

จากคุณ : lakhornphon
เขียนเมื่อ : 15 พ.ย. 54 12:08:04




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com