 |
เห็นด้วยกับคุณ อากงฯ ครับ
จีนเป็นอาณาจักรหรือประเทศที่มีศักยภาพสูงทั้งทางด้านการผลิต ทรัพยากร และตลาดมาแต่โบราณครับ อันที่จริงในช่วงศตวรรษที่ 19 เมื่อมหาอำนาจตะวันตกพยายามจะเปิดจีน ตอนนั้นจีนเองก็มีศักยภาพที่จะดำเนินการ modernized ได้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าเพราะปัจจัยหลายๆประการที่ทำให้จีนไม่สามารถจะ modernized ได้ก็เช่น
1. แนวคิดของชนชั้นปกครอง ซึ่งไม่ใช่จักรพรรดิต้าชิงหรือชาวบ้านทั่วไป แต่เป็นพวกขุนนาง-ราชบัณฑิตทั้งหลายนี่แลครับ
ระบบขุนนางและราชการของจีนนั้นแข็งแกร่งมาก เป็นกลุ่มชนชั้นอภิสิทธิ์ชนขนาดใหญ่ ที่กำลังการผลิตหรือทุนที่พวกเขามีไม่ใช่ที่ดินหรือเงินทอง (แบบพวกเจ้าที่ดินหรือนายทุนในยุโรป), ไม่ใช่บรรดาศักดิ์ทางสายเลือด (แบบพวกซามูไรญี่ปุ่น หรือกลุ่มศักดินาในสุวรรณภูมิ) แต่เป็นความรู้ในแนวทางแบบปรัชญาขงจื้อ ว่าด้วยจริยธรรม คุณธรรม การปกครอง และรัฐบริหารครับ
ด้วยองค์ความรู้เหล่านี้ ทำให้ชนชั้นขุนนางหรือบัณฑิตในจีน ได้กลายเป็นกลุ่มชนชั้นที่แตกต่างไปจากเกษตรกรม ช่างฝีมือ เจ้าที่ดินหรือพ่อค้าวานิช ทั้งๆที่พวกเขาไม่มีปัจจัยการผลิตอะไรเลย การมีความรู้ที่พวกเขาภาคภูมิใจนี้ทำให้พวกเขาเป็นชนชั้นที่เหนือกว่ากลุ่มคนอื่นๆในสังคมของจีนหน่ะครับ
ความภาคภูมิใจของเหล่าบัณฑิตนี้สั่งสมกันมานานนับพันปี พร้อมๆกับการพัฒนาระบบราชการคณะขุนนางที่ทรงอำนาจ เต็มไปด้วยเส้นสายโยงใยทั่วแผ่นดินครับ ไม่เป็นการเกินเลยที่จะบอกว่า พวกบัณฑิต-ขุนนาง 1 ล้านคนทั่วจีน เป็นคนที่กุมอำนาจจริงๆของจักรวรรดิที่มีประชากร 350 ล้านคนเอาไว้
ดังนั้นเมื่อองค์ความรู้ของพวกตะวันตก ที่พวกเขามองว่าป่าเถื่อนเข้ามา มันก็เป็นการยากที่พวกเขาจะยอมละทิ้งความภาคภูมิใจที่สั่งสมกันมา หรือยี่ห้อที่เป็นตัวแบ่งพวกเขาออกจากเหล่าชาวบ้านร้านตลาดธรรมดาหน่ะครับ พวกขุนนางราชบัณฑิตนี่แล ที่เป็นหนึ่งในตัวการที่ต่อต้านการ modernized ของต้าชิงอยู่มากทีเดียว และราชสำนักก็ต้องคล้อยตามพวกเขา (จักรพรรดิกวางสูที่ไปขัดมติของเหล่าขุนนางจึงโดนตัดตอนทางอำนาจไป)
2. สภาพเศรษฐกิจของราชสำนักที่ใกล้จะล้มละลายเต็มแก่ครับ แม้ในสมัยจักรพรรดิหย่งเจิ้น ทางราชสำนักจะทำการปฏิรูประบบภาษีใหม่ เพื่อให้การเก็บภาษีเป็นธรรมมากขึ้น และสามารถเพิ่มเงินคงคลังของราชสำนักได้มากกว่า 50 ล้านตำลึง แต่พอถึงรัชกาลของจักรพรรดิเจียชิ่ง ราชสำนักต้าชิงมีเงินคงคลังเหลือแค่ 10 ล้านตำลึง และพอถึงตอนทำสงครามฝิ่้นในสมัยจักรพรรดิเต้ากวง ก็มีแค่ 12-13 ล้านตำลึงครับ
พอแพ้สงครามฝิ่้น ต้องทำสนธิสัญญาเสียเปรียบ ยิ่งทำให้รายได้ของราชสำนักที่มาจากภาษีการค้าตกต่ำลงไปอีก แต่นั้นมาเงินคงคลังของต้าชิงก็ไม่เคยมีเกิน 10 ล้านตำลึงอีกเลย (สมัยแย่ๆอย่างหลังสงครามจีน-ญี่ปุ่น ในปี 1895 เงินคงคลังต้าชิงเคยเหลือแค่ 1 ล้านตำลึงเศษๆ และพอหลังปี 1901 ราชสำนักก็ถังแตกสนิทครับ แทบจะไม่มีเงินเหลือในการบริหารประเทศ ต้องกู้ยืมจากต่างชาติมากถึง 320 ล้านตำลึงในช่วง 15 ปี)
เมื่อราชสำนักไม่มีเงินเลย ทำให้การพัฒนาประเทศเป็นไปได้อย่างล่าช้าและยากลำบากครับ
3. สนธิสัญญาเสียเปรียบต่างๆ ที่จีนกระทำกับนานาประเทศมหาอำนาจ ได้ทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของจีนตกต่ำอย่างรุนแรงครับ เพราะภาษีนำเข้าที่ไม่สามารถเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย การที่ต่างชาติเข้าควบคุมเส้นทางการค้าหรือสามารถสร้างกฎทางการค้าได้ตามใจชอบในจีน การที่ถูกควบคุมแหล่งทรัพยากรหรือปัจจัยทางการผลิตโดยต่างชาติ ทำให้เงินและความมั่งคั่งไหลออกนอกประเทศเป็นจำนวนมากครับ
อย่างสมัยจักรพรรดิเต้ากวง ราชสำนักเก็บภาษีได้ปีละราวๆ 70-75 ล้านตำลึง แต่ต้องเสียเงินตราออกจากประเทศในรูปเงินแท่งให้กับการค้าฝิ่นมากถึงปีละ 40 ล้านตำลึง (ตรงนี้เองที่ทำให้จักรพรรดิเต้ากวงต้องให้หลินเจ๊อะสวีไปกวางตุ้งเพื่อปราบฝิ่น เพราะไม่อย่างนั้นภายใน 20 ปี ต้าชิงจะไม่มีเงินแท่งพอหมุนเวียนในประเทศ)
เมื่อจีนไม่สามารถที่จะกำหนดทิศทางการบริหารทรัพยากรหรือทุนภายในประเทศของตนได้อย่างอิสระ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนประสบความยากลำบากในการ modernized ประเทศในทางเศรษฐกิจอย่างยิ่งครับ (ซึ่งไทยเราในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน)
4. ระบบราชการที่มีการโกงกินอย่างมโหฬารครับ เดิมทีต้าชิงนั้นมีการโกงกินที่รุนแรงมากอยู่แล้ว และประสบปัญหาเดียวกับต้าหมิงคือ ขุนนางที่ซื่อสัตย์ต้องมีชีวิตอย่างยากจน เพราะเงินเดือนไม่พอจะยาไส้ ตรงนี้ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดการโกงกินเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องหน่ะครับ
ต้าหมิงและต้าชิงยุคต้น มีระบบการจ่ายเบี้ยหวัดแก่ขุนนางที่ผลตอบแทนต่ำมากครับ ขุนนางใหญ่ๆระดับเจ้ากรมทั้ง 6 มีเงินเดือนแค่ปีละ 200-300 ตำลึงเท่านั้น และไม่ได้จ่ายเป็นเงินสดทั้งหมด แต่ให้เป็นพวกผ้าไหม, ข้าวสาร, หรือแม้แต่ของมีค่าอื่นๆ เป็นต้น รายได้หลักๆของพวกเขาเลยมาจากการโกงกินหน่ะครับ อย่างปลายสมัยหมิง พวกขุนนางมีรายได้จากการโกงกินรวมกันราวๆ 20-30 ล้านตำลึง (ในขณะที่ต้าหมิงของจักรพรรดิว่านลี่ มีรายได้จากภาษีปีละ 38 ล้านตำลึง) ส่วนขุนนางต้าชิงในรัชกาลของจักรพรรดิคังซี จำนวนมากเป็นหนี้หัวโตจากการกู้ยืมท้องพระคลังหรือพวกพ่อค้าหน่ะครับ
พอถึงรัชกาลจักรพรรดิหย่งเจิ้น พระองค์เลยจัดการขึ้นเงินเดือนพวกขุนนางทั้งราชสำนักราวๆ 3 เท่าตัว เพื่อหวังว่าจะให้การโกงกินลดลงบ้าง ซึ่งก็ลดลงได้จริงๆ แต่มีผลชัดเจนแค่ราวๆ 40 ปีถัดมาเท่านั้น พอปลายรัชกาลจักรพรรดิเฉียนหลง การโกงกินก็ถีบตัวสูงขึ้นอย่างกู่่ไม่กลับครับ
4. เรามักจะทราบกันว่า กองทัพต้าชิงในสมัยจักรพรรดิเต้ากวงไม่สามารถต่อกรกับเรือรบของอังกฤษได้เลย
ตรงนี้เป็นความจริงครับ นักการทหารของจีนเองก็มีการคาดการณ์กันไว้แต่ปลายรัชกาลเจียชิ่งแล้วว่า กองทัพต้าชิงอ่อนแอลงมาก และอาจจะไม่สามารถรับมือภัยคุกคามจากภายนอกได้ ในสมัยรัชกาลของจักรพรรดิเต้ากวง เคยมีเรือรบอังกฤษล่วงล้ำปากน้ำที่กวางตุ้ง แต่ป้อมปืนของต้าชิงไม่สามารถยิงตอบโต้ไปได้ ก็มีขุนนางหลายคนเขียนรายงานไปทูลจักรพรรดิเต้ากวงแล้วว่า ต้าชิงไม่มีศักยภาพพอจะรับศึกทางทะเลเลยครับ
ทั้งหลายทั้งปวงนี้ มาจากการขาดแคลนเงินของราชสำนักหน่ะครับ ที่ทำให้กองทัพหลูย์ยิงในกวางตุ้ง-ฟูเจี้ยน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่แย่มาก พวกเขาขาดแคลนเงินอุดหนุน, มีกำลังพลที่จำกัด (มีรายงานว่า กองทัพหลูย์ยิงใน 4 มณฑลภาคใต้ของจีน มีไพร่พลราวๆ 2 แสนคน และไม่เคยเพิ่มขึ้นเลยนับแต่รัชกาลหย่งเจิ้นเป็นต้นมาจนถึงยุคสงครามฝิ่น), อาวุธยุทธโธกรณ์ก็ล้าสมัย เพราะราชสำนักขาดแคลนงบประมาณ, หย่อนยานในด้านวินัยและการฝึกฝน เพราะกำลังพลถูกปลดเข้าออกและโยกย้ายเสมอๆ
ส่วนกองทัพแปดธงนั้น ก็ตกอยู่ในสภาวะเดียวกันครับ เนื่องจากเดิมทีจักรพรรดิไท่จงหวังจะให้กองทัพ 8 ธง เป็นทหารอาชีพ ที่มีอยู่เพื่อการรบเท่านั้น พวกเขาเลยมีที่ดิน, คนรับใช้, ฝูงสัตว์ และของที่ก่อเกิดรายได้อื่นๆ พวกกองธงจึงไม่ต้องเดือดร้อนกับการหาเลี้ยงปากท้องในยามสงบ สามารถทุ่มเทฝึกฝนการทหารได้อย่างเต็มที่ครับ แต่พอตกถึงรัชกาลเต้ากวง กองทัพ 8 ธงตกอยู่ในสภาวะงาดแคลนงบประมาณครับ เพราะจำนวนคนในแต่ละกองธงมีมากขึ้น แต่การหารายได้กลับไม่ได้เพิ่มตามจำนวนคน ทำให้นายทหารจำนวนมากในกองธงต้องเดือดร้อนในการหาเลี้ยงปากท้องครับ มีการโกงกินเอาอาวุธออกเร่ขาย หรือหย่อนยานการฝึกเพราะต้องหันไปทำไร่ไถนาก็มี ส่วนราชสำนักก็ถังแตก ต้องตัดงบประมาณอย่างหนักจนไม่อาจจะอุดหนุนกองธงได้
จึงไม่แปลก ที่พอเกิดสงครามจากพวกตะวันตก กองทัพ 8 ธง และหลูย์ยิงที่ประจำการตามที่ต่างๆจะพ่ายแพ้ยับเยินครับ นี่ไม่รวมถึงการที่กองทัพของต้าชิงล้มเหลวในการต่อสู้กับพวกไท่ผิงอย่างสิ้นเชิง.........จนต้องอาศัยทหารอาสาอย่างกองทัพเซียงหูของเจิงกั๋วฟาน และกองทัพอานฮุยของหลี่หงจางมาช่วย จึงจะสามารถเอาชนะพวกไท่ผิงได้
จากคุณ |
:
อุ้ย (digimontamer)
|
เขียนเมื่อ |
:
12 ธ.ค. 54 21:38:45
|
|
|
|
 |