Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
พูดอังกฤษให้ดีแนวจิตวิทยา Season 2 ติดต่อทีมงาน

พูดภาษาอังกฤษแนวจิตวิทยา Season 2

ตอนนที่ 1 ปรับทัศนคติต่อการเรียนภาษา

ก่อนอื่นผมต้องขอประทานโทษท่านผู้อ่านทุกคนน่ะครับที่ ได้หายไปเอาดื้อๆ แถมยังไม่ได้โพสคลิปตัวเองพูดภาษาอังกฤษให้ท่านผู้อ่านได้ดูว่า วิธีที่ผมแนะนำไปนั้น สามารถนำมาใช้ได้จริงๆ ช่วงที่หายไปนั้นผมได้ทำการทดลองและหาวิธีที่จะทำให้การเรียนพูดภาษาอังกฤษได้ผลอย่างสูงที่สุด ผมได้ลองผิดลองถูกตลอดช่วง ที่ผมหายไป ไหนจะต้องรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมอีกน่ะครับ
ส่วนลิ้งค์นี้เป็นบทความแรกๆที่ผมได้เขียนเอาไว้

สำหรับบทความต่อๆไปที่ผมจะเขียนขึ้นมาอีกนั้น ผมจะนำเสนอทั้งในเรื่องของ Input และ Output ไปพร้อมๆกันเลยน่ะครับ หากท่านผู้อ่านไม่คุ้นกับสองคำนี้ คำว่า Input นั้นก็คือ การสะสมคำศัพท์ รูปประโยค สำนวน และรูปแบบลักษณะของภาษาอักฤษ ไว้ในระบบความจำ และคำว่า Output นั้นเป็นการนำสิ่งที่เราได้จำ ได้เห็น ได้ผ่านตา ได้ยินเจ้าของภาษาพูดกัน นำมาใช้ผ่านการพูดจากปากของเราเองนี่แหละครับ จนเกิดความคุ้นเคย และความเคยเคยชิน

ปัจจัยสำคัญของการฝึกภาษาอังกฤษให้พูดได้ดีเหมือนเจ้าของภาษา หรือ น้องๆ เจ้าของภาษา ต้องอาศัยเวลา ความพยายาม ความช่างสังเกต และการค้นคว้าด้วยน่ะครับ แต่อย่าลืมน่ะครับเมื่อเรามี Input แล้วเราจำเป็นจะต้องมี Output เป็นของคู่กัน ดั่งที่ผมเคยได้กล่าวมาแล้วใน บทความตอนแรกๆที่ผมได้เขียนไป ว่าการฝึกฝนทักษะความสามารถใดๆก็ตามหากไม่มีการนำ Input ที่เราสะสมได้ออกมาใช้ให้เป็น Output มาก็จะเสียเปล่าและหายไปในที่สุด บางคนชอบอ่านนิยายภาษาอังกฤษ แต่หากพอตกมาอยู่ในสถานการณ์ที่ตัวเองนั้นมีโอกาสพูด กลับไม่พูดเสีย เพราะกลัวพูดผิด หรือด้วยความอายนั้น จะทำให้ทักษะในการพูดไม่ได้รับการพัฒนาครับ กลับกันคนที่อ่านหนังสือภาษาอังกฤษน้อย แต่มักจะพูดเมื่อมีโอกาส ทักษะในการสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษก็จะสามารถพัฒนาได้ตลอดเวลา


อย่างไรก็ตามตัวแปรในการทำให้ทักษะการพูดนั้นพัฒนามีมากมายหลายอย่างครับ แล้วแต่สิ่งแวดล้อมและสถานการณ์ แต่ก่อนอื่น ผมจะขอปรับทัศนะคติของท่านผู้อ่านให้ตรงกับของผมก่อนน่ะครับ ทัศนคติในการเรียนภาษาสำคัญมาก และเป็นหนึ่งเหตุผลในการสร้างแรงจูงใจในการเรียนภาษาอังกฤษ

1. ภาษาอังกฤษไม่ได้เป็นภาษาของคนชั้นสูง หรือ ผู้ที่มีฐานะในประเทศไทย เวลาท่านขึ้น BTS ไปเที่ยวตามสถานบันเทิงบ้าง แล้วได้ยินวัยรุ่นคนไทยพูดภาษาอังกฤษใส่กันบ้าง ปนไทยบ้าง หรือนักเรียนโรงเรียนนานาชาติส่งเสียงดังเป็นภาษาอังกฤษ กันบ้าง จริงอยู่ครับว่าคนไทยที่พูดภาษาอังกฤษในระดับใกล้กับเจ้าของภาษาได้ หากไม่ไปเรียนเมืองนอกมา ก็เรียนโรงเรียนฝรั่งในไทย ซึ่งค่าเทอมก็แพงประเป๋าฉีก แต่อย่าลืมน่ะครับว่าในประเทศอเมริกา อังกฤษ หรือ ออสเตรเลีย คนทุกระดับชั้น ล่าง กลาง สูง พูดภาษาอังกฤษเหมือนกันหมด และภาษาเองก็ไม่ได้ที่จะต้องได้มาด้วยเงินตราเสมอไปครับ เพราะฉะนั้น หากวันใดวันหนึ่งท่านผู้อ่านพูดได้คล่องแคล่วแล้ว ท่านผู้อ่านเองก็จะเข้าใจว่าจริงๆแล้วภาษาอังกฤษไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหน ก็สามารถที่จะเรียนที่จะพูดให้เหมือนเจ้าของภาษาได้เหมือนๆกัน

2. หากท่านผู้อ่านกลัวที่จะพูดผิดจนไม่กล้าพูดต่อหน้าคนอื่นนั้น ท่านผู้อ่านไม่ได้รู้สึกเช่นนี้คนเดียวน่ะครับ ผมก็เคยเป็น พอผมเริ่มมั่นใจว่าภาษาตัวเองเริ่มดีขึ้น ก็จะพยายามพูดผิดให้น้อยที่สุด โดยหากไม่มั่นใจว่าจะพูดอย่างไรในสถานการณ์นั้นผมก็จะเลี่ยงที่จะไม่พูดเลย ซึ่งก็กลายเป็นว่าผมไม่รู้ข้อบกพร่องของตัวเอง การไม่พูดนอกจากจะทำให้ผมไม่หัดที่จะสร้างประโยคในหัวแล้ว ระบบความจำ ความเข้าใจเองก็ไม่ได้ถูกใช้งาน หากผมตกไปอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าวนี้อีกในอนาคต ผมก็ไม่สามารถพูดออกมาเป็นภาษาอังกฤษได้อีก ดังนั้นการลองผิดลองถูกโดยพูดออกมาก่อนจะทำให้ท่านผู้อ่าน เกิดการเรียนรู้ (ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์) การทำพลาด จะทำให้เราไม่ทำผิดอีกเป็นครั้งที่สอง

3. การพยายามใช้ไทยคำอังกฤษคำในประโยค จะทำให้การใช้ภาษาแม่และภาษาที่สองของท่านผู้อ่านวิบัติ ทันทีน่ะครับ ค่านิยมในการใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษในประโยคภาษาไทยดูเหมือนจะกลายเป็นการบอกจุดยืนทางสังคมของคนสมัยนี้ไปเสียแล้ว แต่เชื่อไหมครับว่า ผู้ที่คิดค้นหลักสูตร ESL (English as A Second Language) กล่าวไว้ว่า นักเรียนต่างชาติที่เข้าเรียนในโรงเรียนในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักตั้งแต่อาอายุน้อยๆจะมีการพัฒนาในการใช้ภาษาอังกฤษได้เร็วกว่า หากนักเรียนต่างชาติได้ใช้ภาษาแม่ของตัวเองในชีวิตประจำวันด้วย ผมเองก็มีความเคลือบแคลงกับทฤษฏี ดังกล่าวนี้ มาอยู่ระยะหนึ่ง ผมเองเป็นคนหนึ่งที่ได้พยายามรวมเอาภาษาอังกฤษเข้าไปในประโยคไทย ด้วยเหตุผลที่จะพยายามใช้ภาษาอังกฤษให้ได้มากที่สุด แต่แล้วการใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวันผมกลับแย่ลงทุกทีๆ ดั่งจะเห็นได้จากการสนทนากับเพื่อนฝูงทั่วไป ผลลัพธ์ที่ตามมานั้นก็คือ ผมคิดคำไม่ออก ผมพูดคุยกับเพื่อนอย่างไม่สามารถออกอรรถรสได้ ไม่ใช่ว่าผมจะพูดเป็นภาษาอังกฤษได้ดีกว่าน่ะครับ แต่การใช้ภาษาแม่ หรือภาษาไทยของผม กลับฟังดูไม่หนักแน่น ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ผมไม่ได้มองว่าการพูดไทยไม่ชัดของใครก็ตาม หรือการพูดปนไทยคำอังกฤษคำเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม แต่กลับมองว่าเป็นข้อบกพร่องมากกว่าน่ะครับ เพื่อนผมที่โตเมืองนอก อ่านภาษาไทยไม่ได้ กลับพูดภาษาไทยชัดถ้อยชัดคำปรกติเหมือนคนไทยทั่วไป แถมฉะฉานมากกว่าคนไทยหลายๆคนเสียอีก

ข้อเสียของการชอบพูดผสม (แบบตั้งใจ) จะทำให้ผู้นั้นไม่สามารถพูดอังกฤษล้วนๆได้ อย่างช่ำชอง และภาษาไทยวิบัติ ในขณะเดียวกันความสามารถของทั้งการใช้ภาษาไทย และ ภาษาอังกฤษของผู้นั้นก็จะด้อยลงไปทันที ค่านิยมของการพูดผสม ก็ไม่ได้เสนอภาพลักษณ์ในแง่บวกเสมอไปน่ะครับ แต่กลับกลายเป็นเรื่องของการใช้ภาษาแบบฉาบฉวย และจะหนักไปเรื่องของเปลือกนอกเท่านั้น
เหล่ากลุ่มลูกครึ่ง หรือ คนไทยจากเมืองนอกมาเยี่ยมบ้านเกิดเหล่านี้ไม่สามารถใช้ภาษาไทยได้ครบถ้วนจริง จึงต้องแทรกภาษาอังกฤษเป็นคำๆเข้าไป สังคมคนไทยกลับมองเป็นเรื่องที่น่ายินดี น่าเลียนแบบเพราะกลุ่มคนเหล่านี้มีบทบาทในสังคมมากขึ้นโดยเฉพาะ ในวงการบันเทิงหรือแม้แต่ในการเมืองก็ตาม แต่พวกเขาเหล่านี้กลับรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง เพราะภาษาไทยของเขานั้นไม่ดี เขากลับอาย (แต่คนไทยชอบ กลายเป็นเรื่องสวนทางกัน)


การใช้ภาษาไทยให้ได้อย่างเต็มที่ในโอกาสที่จะต้องใช้ภาษาไทย และภาษาอังกฤษอย่างเต็มเหนี่ยวในโอกาสที่จะต้องใช้ภาษาอังกฤษ จะทำให้ระบบการแยกแยะภาษาของท่านผู้อ่านมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำไมนั้นเหรอครับ เพราะว่า การใช้ภาษาที่สอง ก็เหมือนกับการสร้างตัวเราใหม่ขึ้นมาอีกคน เรา แยกตัวของเราออกมา มุมมองความคิดความอ่าน ผ่านการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร จะแตกต่างกับการใช้ภาษาไทยน่ะครับ ท่านผู้อ่านเคยได้ยินฝรั่งพูดไทย ‘สวัสดีครับ’ แล้วทำมือ นกเพนกวิน ผังผืดติดกัน แบบ Zup โหย๋ว ไหมครับ? แน่นอน เวลาฝรั่งเขาพูดไทย เขาก็รับรูปแบบบุคคลิก กิริยา คนไทยมาทั้งดุ้น เพื่อให้การสื่อสารนั้นสมบูรณ์และครบถ้วน และก็ไม่แปลกหาก ท่านผู้อ่านพบเจอคนไทยที่พูดอังกฤษกันหูดับตับไหม้ จะมีบุคคลิก กิริยาเหมือนฝรั่ง จริตจะก้านออกไปทางตะวันตก คำว่า วัฒนธรรม นั้นรวมไปถึง ภาษาด้วยครับ หากท่านผู้อ่านอยากจะพูดภาษาอังกฤษ ที่ไม่ใช่ภาษาแปล จากไทยเป็น อังฤษ แต่เป็น อังกฤษ เป็น อังกฤษที่ เจ้าของภาษาเขาใช้กัน ท่านผู้อ่านก็จะต้องมีความเข้าใจในวัฒนธรรมของชาวต่างชาติในระดับหนึ่ง เหมือนกันครับ

สำหรับตอนนี้ไว้เท่านี้ก่อนน่ะครับ คราวหน้าจะมาเข้าเรื่อง Input กับ Output น่ะครับ

จากคุณ : คนบ้านเดียวกัน
เขียนเมื่อ : 24 ธ.ค. 54 12:51:01 A:101.51.194.43 X: TicketID:140413




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com