Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ราชบัณฑิต ติงสื่อใช้คำ ภัยหนาว ทำภาษาวิบัติ ติดต่อทีมงาน

ราชบัณฑิต ติงสื่อใช้คำ ภัยหนาว ทำภาษาวิบัติ

         ฤดูหนาวไม่มีภัยหนาว ราชบัณฑิตภาษาไทยติงสื่อทีวี-หน่วยงานราชการทำภาษาไทยวิบัติ ใช้คำศัพท์ "ภัยหนาว" ไม่ถูกความหมาย ห่วงสังคมไทยสับสนไม่เข้าใจธรรมชาติที่เกิดขึ้นปกติ ชี้ต้นเหตุสื่อนำทางผิด วอนรีบแก้ไขให้ถูกต้อง จี้รัฐเลิกประกาศภัยหนาวผลาญงบซื้อผ้าห่มแจกซ้ำซากทุกปี

         ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิตสาขาภาษาไทย ราชบัณฑิตยสถาน เปิดเผยว่า ขณะนี้พบการใช้คำภาษาไทยที่ผิดบ่อยที่สุดคือคำว่า "ภัยหนาว" ซึ่งปรากฏอยู่ในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนวิทยุ โทรทัศน์ และหน่วยงานรัฐที่ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติในช่วงฤดูหนาว ตนต้องขอท้วงติงไม่ควรใช้คำว่าภัยหนาว ซึ่งเป็นการใช้ภาษาไทยที่ไม่ถูกต้อง เพราะผิดความหมาย ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงตามธรรมชาติ เนื่องจากฤดูหนาวไม่ใช่ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลปกติทุกปี ประชาชนรู้ตัวและเตรียมพร้อมอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่ภัยรุนแรงถึงขั้นก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก

         ผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยกล่าวอีกว่า คำว่า "ภัย" ต้องใช้กับสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว เกิดขึ้นฉับพลัน ผิดปกติ หรือไม่ถูกต้องตามฤดูกาล และคาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วมใหญ่ ดินโคลนถล่มบ้านเรือนเสียหาย เป็นต้น แต่สำหรับฤดูหนาวเป็นสิ่งที่เราทราบอยู่แล้วว่าอุณหภูมิจะค่อย ๆ ลดลง ทำให้สภาพอากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะยอดดอยภูเขาสูงมีอากาศหนาวจัด ประชาชนในพื้นที่สามารถปรับตัวได้ เพราะเป็นฤดูกาลตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นทุกปี

         "ถ้าใช้คำว่าภัยหนาวต้องมีความหมายว่าพื้นที่นั้น ๆ มีหิมะตก ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ มีสภาพอากาศหนาวจัด ไม่สามารถทนอยู่ได้ และเป็นเหตุการณ์ที่น่าหวาดกลัว อาจทำให้มีคนเสียชีวิตจำนวนมาก และต้องอพยพย้ายออกจากพื้นที่ประสบภัยอย่างเร่งด่วน แต่ฤดูหนาวของไทยเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นทุกปีเหมือนฤดูร้อน แม้สภาพอากาศจะร้อนจัดและเป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่ก็ไม่ใช้คำว่าภัยร้อน" ศ.กิตติคุณ ดร.กาญจนา กล่าว

         นายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทยบอกว่า เกรงว่าจะมีการใช้คำว่าภัยหนาวจนกลายเป็นคำปกติที่ใช้กันทั่วไปในฤดูหนาว ทำให้ภาษาไทยวิบัติมากยิ่งขึ้น เพราะสื่อโทรทัศน์นำไปใช้สื่อสารไม่ถูกต้อง ส่งผลให้ผู้ชมนำไปใช้ผิด ๆ อีกทั้งเห็นว่า ภัยหนาว เป็นคำที่ใช้ในราชการ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ประกาศพื้นที่ภัยหนาว ซึ่งเป็นการบัญญัติคำศัพท์นี้ขึ้นมาเพื่อเบิกงบประมาณจัดซื้อผ้าห่มและเสื้อกันหนาวแจกประชาชนทุกปีซ้ำซากไม่มีจบสิ้น ทั้ง ๆ ที่เสื้อกันหนาวสามารถใช้สวมใส่ได้นานหลายปี แต่ก็ยังเบิกงบประมาณไปใช้มากเกินความจำเป็นทุกปี ส่งผลให้สังคมไทยนิสัยเสียและกลายเป็นผู้ขอตลอดเวลา

         "สื่อมวลชนควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ภาษาไทย และนำเสนอข่าวเตือนภัยธรรมชาติด้วยความระมัดระวัง เพื่อให้ประชาชนมีสติเตรียมพร้อมรับมือ รู้จักวิธีป้องกันและไม่ตื่นตัวจนเกินเหตุ ทั้งนี้ คำว่าภัยหนาวนอกจากเป็นการใช้ภาษาไทยที่ไม่ถูกความหมายแล้ว ยังทำให้สังคมไทยแตกตื่นและไม่เรียนรู้เข้าใจฤดูกาลตามธรรมชาติที่แท้จริงอีกด้วย" ศ.กิตติคุณ ดร.กาญจนา กล่าว

ขอขอบคุณข้อมูลจาก ไทยโพสต์
http://www.thaipost.net/x-cite/010212/51906

จากคุณ : หม่องวิน มอไซ
เขียนเมื่อ : 1 ก.พ. 55 15:24:24




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com