Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ทหารไทยในสงครามโลก ติดต่อทีมงาน

เรื่องเล่าจากอดีต

ทหารไทยในสงครามโลก

พ.สมานคุรุกรรม

การที่ประเทศไทยได้ส่งทหารไทย ออกไปปฏิบัติการนอกประเทศนั้น มิใช่แต่ใน ปัจจุบันที่เป็นข่าวฮือฮา เพราะได้มีข่าวปรากฏทางโทรทัศน์เท่านั้น แต่ทหารไทยได้ออกไปปฏิบัติการรบนอกประเทศ ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมาแล้ว

แต่ที่จะนำมาเล่าในคราวนี้ มิได้เก่าโบราณถึงปานนั้น เพราะเป็นทหารในสงครามสมัยใหม่ เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๐ หรือสงครามโลกครั้งที่ ๑ ที่ล่วงมาเพียงไม่ถึงร้อยปีนี้เอง

สงครามโลกครั้งที่ ๑ มีประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส รุสเซีย เบลเยี่ยม และ แซร์เบีย เป็นฝ่ายสัมพันธมิตร อันต่อมาภายหลังมีประเทศอิตาลี อเมริกา และไทยเข้าร่วมด้วย ฝ่ายหนึ่ง และมีประเทศเยอรมัน เอ๊าสเตรียฮุงกาเรีย รวมกันเรียกว่าฝ่ายประเทศท่ามกลางยุโรปเป็นอีกฝ่ายหนึ่ง สงครามได้เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๗

เดิมประเทศไทยวางตัวเป็นกลางไม่เข้ากับฝ่ายใด ครั้นต่อมาถึง พ.ศ.๒๕๖๐ สงครามทั้งสองฝ่ายเข้าที่คับขัน และฝ่ายประเทศท่ามกลางยุโรป คือเยอรมัน ออสเตรีย กำลังทำการรบได้เปรียบฝ่ายสัมพันธมิตร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้ทรงตัดสินพระทัยเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ประกาศสงครามกับฝ่ายเยอรมันและออสเตรีย เมื่อ ๒๒ กรกฎาคม ๒๔๖๐ พร้อมกับส่งทหารไทยไปร่วมรบกับฝรั่งเศสในทวีปยุโรป ด้วย

ในคราวนั้นประเทศไทยส่งทหารไปประมาณพันสองร้อยเศษ โดยมี พลตรี พระยาพิชัยชาญฤทธิ์ ผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ ๔ เป็นหัวหน้า และมี ร้อยโท เมี้ยน โรหิตเศรณี เป็นนายทหารคนสนิทของผู้บัญชาการ

ร้อยโท เมี้ยน โรหิตเศรณี ท่านนี้ ต่อมาก็คือ พันเอก หลวงยุทธสารประสิทธิ์ ท่านได้เป็นนายกสมาคมสหายสงคราม (ทหารผ่านศึกในสงครามโลกครั้งที่ ๑) ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๔ ท่านได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับสงครามครั้งนี้ไว้ หลายครั้งหลายคราว ตลอดเวลาที่ท่านเป็นนายกสมาคมอยู่นานถึง ๓๒ ปี เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจมากสำหรับคนรุ่นหลัง เพราะเป็นสิ่งที่ท่านได้รู้เห็นมาด้วยตนเอง

ท่านเล่าว่า การรบพุ่งในคราวมหาสงครามโลกครั้งที่ ๑ นั้น เป็นการรบหรือพิฆาตฆ่าซึ่งกันและกัน ด้วยความเหี้ยมโหดเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งถ้าไม่ระลึกถึงระเบิดปรมาณูของปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ เข้ามาผสมด้วยเสียอย่างเดียวแล้ว สงครามโลกครั้งที่ ๑ ก็ต้องจัดว่าเหี้ยมโหดยิ่งไปกว่าสงครามโลกครั้งที่ ๒ เพราะต่างฝ่ายต่างก็ใช้แก๊สพิษเข้าต่อสู้ประหัตประหารซึ่งกันและกัน สนามรบอันกว้างใหญ่ไพศาลเต็มไปด้วยกลิ่นศพ นอนตายทับถมสังเวยแม่พระธรณีจนกลิ่นตระหลบไปหมด ทหารตายด้วยแก๊สพิษมีจำนวนมากยิ่งกว่าตายด้วยอาวุธ ใด ๆ เมื่อมีการเปลี่ยนแนวรบไปข้างหน้า กองฝังศพก็ตามไปทำการฝัง ศพที่ถูกฝังไว้ใหม่ ๆ ประเดี๋ยวพ่อเจ้าประคุณกระสุนปืนใหญ่ขนาดมหึมาก็ตกมาระเบิด ขุดพลิกแผ่นดินเอาซากอสุภกลับขึ้นมาใหม่อีก จนสนามรบเต็มไปด้วยแมลงวันหัวเขียวขนาดโต ๆ มันกินศพเสียอิ่มหมีพีมันไปตาม ๆ กัน และเจ้าหนูในสนามรบก็ชุกชุมและตัวใหญ่ไม่ใช่เล่น เพราะได้อาหารจากศพจนสุขภาพสมบูรณ์ ส่วนมนุษย์เราสิปลิดชีวิตกันจนตายซับตายซ้อน ประดุจว่าในขณะนั้นชีวิตมนุษย์ไม่มีค่าอะไร

สมัยนั้นนักคำนวณทางทหารบวกลบคูณหารว่า ส่วนเฉลี่ยนักบินมีอายุยืนเพียง ๓ เดือน ทหารม้า ๖ เดือน ทหารราบ ๑ ปี ดูท่าก็จะใกล้ความจริงอยู่ไม่น้อย ท่านได้กล่าวสรุปไว้ว่า มีนักรบทั้งสองฝ่ายเข้าสงคราม หกสิบหกล้านคน เสียชีวิตเก้าล้านคน บาดเจ็บสามสิบหกล้านคน ส่วนทหารไทยที่ว่าส่งไปพันกว่าคนนั้น ตายไปสิบหกคน และบาดเจ็บ สามสิบเจ็ดคน

พันเอก หลวงยุทธสารประสิทธิ์ ซึ่งในสมัยที่ยกเลิกบรรดาศักดิ์ ท่านใช้ชื่อว่า พันเอก ยุทธ ยุทธสารประสิทธิ์ เกิดเมื่อ ๑๖ เมษายน ๒๔๕๓

สำเร็จจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก เป็นร้อยตรี เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๔
เป็น ร้อยโท พ.ศ.๒๔๕๙
เป็น ร้อยเอก พ.ศ.๒๔๖๗
เป็น พันตรี พ.ศ.๒๔๗๘

จากนั้นได้โอนไปรับราชการทางกระทรวงมหาดไทย เป็นนายอำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี ในปีเดียวกัน

ต่อมาได้เป็นข้าหลวงประจำจังหวัด ลพบุรี พ.ศ.๒๔๘๑
เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดพิษณุโลก พ.ศ.๒๔๘๒
เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดหนองคาย พ.ศ.๒๔๘๓

และที่จังหวัดหนองคายนี้ ท่านก็ได้ประกอบวีรกรรมไว้อีก ในคราวที่มีกรณีพิพาทกับอินโดจีนของฝรั่งเศส ซึ่งท่านได้เล่าไว้เองว่า

..........ขณะนั้นข้าพเจ้ามีตำแหน่งเป็นข้าหลวงประจำจังหวัด (ปัจจุบันเรียกว่าผู้ว่าราชการจังหวัด) พิษณุโลก พอเกิดเอะอะทางชายแดนระหว่างไทยกับอินโดจีน ทางราชการก็มีคำสั่งย้ายข้าพเจ้าจากพิษณุโลก ไปเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดหนองคายอันเป็นจังหวัดชายแดน

ขณะนั้นทางกระทรวงกลาโหมยังมิได้บรรจุแม่ทัพนายกองคนสำคัญทางด้านนี้ ทางราชการจึงสั่งให้ข้าพเจ้าเป็นผู้รักษาเมืองหนองคายไปก่อน ข้าพเจ้าไปอยู่ได้ ๓-๔ วัน ก็เกิดเรื่องทหารญวนฝรั่งเศสยิงนายจันทาคนไทย ความตึงเครียดก็เป็นเงาตามตัวขึ้นมาทันที

เรสิดังต์สุเปอริเยอร์แห่งแคว้นลาว ได้เชิญตัวข้าพเจ้าไปเวียงจันทน์และตัดพ้อว่า เรื่องคนขี้ยาคนเดียวถูกยิงตาย ท่านข้าหลวงหนองคายถือเอาเป็นเรื่องสำคัญ เกี่ยวแก่การเมืองระหว่างประเทศเชียวหรือ? ข้าพเจ้าตอบว่าลงขึ้นชื่อว่าชีวิตคนไทย ซึ่งข้าพเจ้ามีหน้าที่ปกครองอารักขาเขาแล้ว แม้หากเขาจะเป็นขี้ยาหรือ ต่ำช้าเพียงใด ข้าพเจ้าถือว่าเป็นเรื่องสำคัญทั้งนั้น เพราะเป็นชีวิตเพื่อนร่วมชาติของข้าพเจ้า

เขาก็ต่อว่าเรื่องอื่นอีกต่อไปว่า ข้าหลวงหนองคายคนเก่านั้น เมื่อไม่กี่วันมานี้ผูกแพไม้ไผ่ซ่อนไว้ในลำห้วยใกล้เมืองหนองคาย มาก มีความประสงค์จะลำเลียงกำลังข้ามมาตีเวียงจันทน์หรือ? ข้าพเจ้าตอบเขาว่าผูกแพไว้เพื่องานแข่งเรือประจำปี ซึ่งเป็นประเพณีที่นี่ทำกันมาทุกปี ท่านไม่น่าจะคิดมากไปถึงอย่างนั้นเลย แพไม้เล็ก ๆ เพื่อลำเลียงพลข้ามไปตีเวียงจันทน์ ถ้าหากจะคิดอย่างนั้นจริง ลำเลียงทหารเพียงกองร้อยเดียวแพก็จม แลแสดงตัวให้ฝรั่งเศสยิงเล่นตามสบาย

ต่อมาอีกไม่กี่วัน ฝูงบินแห่งกองทัพอากาศของเรา ไปบินว่อนอยู่ในแนวกลางแม่น้ำโขง แลเกิดการยิงกันขึ้นกับทหารฝรั่งเศส ที่มาขุดสนามเพลาะอยู่ที่ท่าเดื่อตรงข้ามกับจวนข้าหลวงหนองคาย พอยิงกันด้วยปืนกลฝ่ายละไม่กี่ชุด เรสิดังต์สุเปอริเยอร์ (ผู้สำเร็จราชการแคว้นลาว) แลเรสิดังต์เวียงจันทน์ (ผู้ว่าราชการจังหวัดเวียงจันทน์) ก็เชิญข้าพเจ้าไปเวียงจันทน์อีก

ครั้นไปถึงทำเนียบผู้สำเร็จราชการแคว้นลาว ท่านผู้สำเร็จราชการแคว้นลาวก็สวมหน้ายักษ์ใส่ข้าพเจ้า โดยตั้งกระทู้ถามว่ากองทัพอากาศไทยดูหมิ่นฝรั่งเศส ถึงกับใช้เครื่องบินปักหัวลงยิงสนามเพลาะฝรั่งเศสที่บ้านเดื่อดังนี้ หมายความว่ากระไร? พูดพลางก็หยิบหัวกระสุนปืนกลของไทยมาแบให้ดู แล้วถามข้าพเจ้าว่าใช่หรือไม่

ข้าพเจ้ายิ้มแล้วตอบว่าใช่ ไม่ปฏิเสธ แต่ท่านผู้สำเร็จราชการอยู่ไกลที่เกิดเหตุถึง ๒๒ กิโลเมตร ส่วนที่เกิดเหตุจริง ๆ อยู่หน้าจวนข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้เห็นด้วยตาตนเองว่าฝูงเครื่องบินของเรา บินอยู่ตามแนวแม่น้ำโขงในเขตของเรา แต่ ป.ต.อ.จากสนามเพลาะของท่าน ได้ยิงเครื่องบินก่อนนักบินของข้าพเจ้าก็จำต้องป้องกันตนเองยิงเอาบ้าง ท่านจะมาโทษไทยฝ่ายเดียวกระไรได้ ตกลงว่าการโต้ถียงกันในขณะนั้น บรรยากาศทรามมาก ข้าพเจ้าจึงชิงลากลับ

เมื่อเกิดการรบราฆ่าฟันกันขึ้น ข้าพเจ้าก็เป็นทั้งเจ้าเมืองแลผู้บังคับการกองผสมของทหาร ซึ่งอยู่ที่เมืองหนองคายในขณะนั้น เพราะผู้บังคับการหรือผู้บังคับกองพันตัวจริง ยังไม่มีตัวส่งไป ก็ต้องใช้ข้าหลวงประจำจังหวัดซึ่งเป็นทหารทั้งแท่งทำการไปพลางก่อน

วันหนึ่งที่จะมีการรบใหญ่ ข้าพเจ้าวางโทรศัพท์สนามไปยังบ้านเวียงคุก จวนถึงบ้าน ศรีเชียงใหม่ตรงข้ามเมืองเวียงจันทน์ ก็ได้รับโทรศัพท์ว่าฝรั่งเศสกำลังขนทหารลงเรือรบ รูปร่างคล้ายเรือพระร่วงของเรา มีเสาสามเสา คงจะออกเรือในเร็ว ๆ นี้ ข้าพเจ้าจึงคิดว่าป้องกันแลเตรียมการไว้ก่อนดีกว่าประมาท

จึงสั่งทหารทั้ง ๙ กองร้อยทั้ง ป.ต.อ.แลยุวชน ๒ กองร้อย รวมกำลังทั้งสิ้นเป็น ๑๑ กองร้อย กำหนดจุดกำหนดการให้ขุดสนามเพลาะรอรับเหตุการณ์ ห่างจากขอบตลิ่งแม่น้ำโขง ๑ เมตร เพราะถ้าชิดตลิ่งนักเกรงจะถูกกระสุนปืนจากเรือซึ่งอยู่ต่ำกว่าตลิ่งมาก ได้ขุดสนามเพลาะเป็นแนวไปตามรูปแม่น้ำ คล้ายพระจันทร์ครึ่งซีก แลออกคำสั่งห้ามเด็ดขาดมิให้กรมกองใด ทำการยิงโดยมิได้รับคำสั่งจากข้าพเจ้า

ครั้นเมื่อเรือรบฝรั่งเศสแล่นมาถึงกึ่งกลางวงพระจันทร์ แห่งแนวสนามเพลาะ ก็เกิดยิงกันขึ้น ฝ่ายใดจะยิงก่อนยิงหลังเอาไว้เป็นหน้าที่พระเจ้าจะชี้แจง ข้าพเจ้าเห็นว่ายังไม่ควรนำมากล่าว เมื่อข้าพเจ้าเป็นผู้ ลงมือยิงนำ บรรดาทหารอีกสิบกองร้อยก็ยิงกันใหญ่ ช่างน่ารักน้ำใจคนไทยภาคอีสานเสียนี่กระไร มีปืนแก๊ปก็มายืนยิง มีปืนพกก็มายิง กระสุนตกน้ำป๋อมแป๋ม ห่างจากเรือข้าศึกมากมาย ปฏิกิริยาคล้าย ๆ กับยิงเพื่อให้หายแค้น ถึงไม่ถึงช่างหัวมัน

ขณะนั้นทางฝ่ายฝรั่งเศสในเรือก็ระดมยิงปืนกลขึ้นมาดังห่าฝน ทหารฝั่งท่าเดื่อก็ช่วยเรือรบเขาระดมยิงเรา ข้าพเจ้ามีกอไม้ไผ่แห้ง ๆ กองหนึ่งอยู่ข้างหน้า ใช้กล้องส่องทางไกลตรวจผลการยิงของเรา เห็นกระสุนถูกข้างเรือรบ หล่นน้ำป๋อมแป๋มยิงไม่เข้าเพราะเป็นเรือหุ้มเกราะ ปืนกลหนักก็ไม่สามารถจะยิงทะลุได้

ข้าพเจ้าจึงสั่ง ป.ต.อ.ซึ่งมีอยู่ ๑ กองร้อยให้ใช้กระสุนเจาะเกราะยิงตามแนวระดับน้ำ ป.ต.อ.ลั่นตูม ๆ ไม่กี่นัด ส่องกล้องเห็นเป็นรูน้ำไหลเข้าเรือ ในเรือเกิดอลหม่าน ข้าพเจ้าสั่งให้ยิงสะพานเรือ ถูกคนถือท้ายเซไป มีนายทหารผู้ใหญ่เข้าถือท้ายแทน แต่เรือรบลำนั้นเกิดแล่นไม่ได้แนวขนานกับฝั่งเสียแล้ว ท้ายเรือซึ่งไม่มีเกราะหันมาทางเมืองหนองคาย ข้าพเจ้าจึงสั่งผู้บังคับกองปืนกลหนัก เล็งท้ายเรือทุกกระบอกจึงกวาดไปจนตลอดลำ วาระสุดท้ายก็มาถึงเรือรบลำนั้น ทำให้ต้องเกยหัวเรือเข้าหาตลิ่งใกล้บ้านท่าเดื่อ

ครั้นเวลาราวเกือบ ๑๘.๐๐ น. ข้าพเจ้าได้รับวิทยุทางกรุงเทพ ฯ ความว่าอัครราชทูตฝรั่งเศสฟ้องว่า ท่านยิงเรือเมล์ของฝรั่งเศสผู้คนล้มตายทั้งลำ เหตุใดท่านจึงประพฤติอย่างนี้ แหละท่านจะแก้ตัวว่าอย่างไร? ลงนาม ป.พิบูลสงคราม

ขณะนั้นข้าพเจ้ายังประจำอยู่ในแนวรบ จึงเขียนตอบให้เขาส่งวิทยุว่า เรือรบ ฝรั่งเศส ๓ เสา ลักษณะอย่างเรือพระร่วง หุ้มเกราะมาลอยลำยิงเมืองหนองคายก่อน ข้าพเจ้าได้รับคำสั่งให้เป็นผู้รักษาเมืองหนองคายจึงสั่งยิงต่อสู้ หากจะเกิดความผิดใด ๆ ขอให้ลงโทษข้าพเจ้าผู้สั่งแต่ผู้เดียว คนอื่นไม่มีความผิด เขาปฏิบัติตามคำสั่งข้าพเจ้า

ขณะนั้นข้าพเจ้าใจเต้นตึก ๆ เพราะมิทราบว่า ทางผู้บัญชาการทหารสูงสุดท่านจะว่ากระไร จะถูกยิงเป้าหรือไม่ แต่ต่อมาก็ได้รับตอบทางวิทยุว่าให้ยิงให้หมด ข้าพเจ้าเลยคลายอาการปวดท้องปวดสมอง.......


#########

จากคุณ : เจียวต้าย
เขียนเมื่อ : 5 ก.พ. 55 08:05:21




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com