Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
นายพลตาดุ หัวหน้าเสรีไทยสานตำรวจ (๑) ติดต่อทีมงาน

บันทึกจากอดีต

นายพลตาดุหัวหน้าเสรีไทยสายตำรวจ (๑)

พ.สมานคุรุกรรม

บรรดาบุคคลในคณะราษฎร ซึ่งได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทย เป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น มีบุคคลสำคัญคนหนึ่งในคณะนั้น ได้สมญานามว่า นายพลตาดุ ซึ่งในหนังสือรวมเรื่องสั้น โปลิศ โปลิศ โปลิศ พิมพ์เมื่อ มิถุนายน ๒๕๑๔ เรื่อง นักอพยพ ของ พลตำรวจตรี ชอบ สุนทรพิพิธ ได้กล่าวขวัญไว้ว่า

พุทธศักราช ๒๔๘๘ ขณะนั้นประเทศไทยกำลังตกอยู่ในวิกฤตการณ์ เพราะอยู่ในระหว่างระยะเวลาที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ หรือการรบราฆ่าฟันกัน ที่ขนานนามเสียโก้หรูว่า สงครามมหาเอเซียบูรพา ท่านผู้นี้ไม่เพียงแต่จะเป็นบุคคลท่านแรก ที่ได้เริ่มปรับปรุงกิจการของกรมตำรวจ ให้ก้าวหน้าไปสู่ความรุ่งเรือง เที่ยงธรรม เป็นที่เชื่อถือได้เท่านั้น ท่านยังมีบุญคุณต่อชาติไทยอย่างประมาณค่ามิได้อีกด้วย ในฐานะที่ท่านได้เป็นกำลังสำคัญของรัฐบาล ในการควบคุมสถานการณ์ภายในประเทศไว้ได้อย่างดีเยี่ยม

และในขณะเดียวกันท่านก็ได้พยายามดำเนินการทุกวิถีทาง ที่จะดำรงรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไทยไว้ ท่านได้จัดตั้งหน่วยเสรีไทยฝ่ายตำรวจขึ้น ภายในประเทศสายหนึ่ง โดยท่านดำรงตำแหน่งหัวหน้าสาย และดำเนินการแบบใต้ดิน เหยียบจมูกทหารญี่ปุ่นมาตลอดเวลา ในขณะที่เมืองไทยกำลังตกอยู่ในฐานะที่เกือบจะเรียกว่า บ้านแตกสาแหรกขาด ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒

ท่านผู้นั้นก็คือ พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส หรือ ฯพณฯ พลตำรวจเอก หลวงอดุลเดชจรัส ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมตำรวจ ในยุคนั้นนั่นเอง

พลตำรวจเอก หลวงอดุลเดชจรัส ได้รับสมญานามจากหนังสือพิมพ์สมัยนั้น ตลอดจนบุคคลทั่วไปว่า นายพลตาดุ เป็นการเรียกขานแบบล้อเลียนทีเล่นทีจริง แต่เป็นการล้อเพราะรักนับถือ ไม่ใช่ล้อเลียนแบบดูหมิ่นเหยียดหยามแต่อย่างใด ที่เรียกเช่นนั้นก็เพราะท่านมีบุคลิกภาพอย่างนั้นจริง ๆ และท่านก็ไม่โกรธ ไม่สนใจที่ใครจะขนานสมญาให้ท่านอย่างใด

พลตำรวจเอก หลวงอดุลเดชจรัส มีนามเดิมว่า บัตร พึ่งพระคุณ เกิดเมื่อ ๒๘ มิถุนายน ๒๔๓๗ ท่านสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก เมื่อเดือน พฤษภาคม ๒๔๕๘ ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหม ที่ ๓/๔๒๐ ลงวันที่ ๖ เมษายน ๒๔๕๘ เป็นนักเรียนทำการนายร้อย สังกัด กรมทหารปืนใหญ่ที่ ๓ พร้อมกับเพื่อนร่วมรุ่นอีกหลายคน เช่น

นายจี๊ด ๒๑๕๔ ปืนใหญ่ที่ ๒ (พลเอก จิระ วิชิตสงคราม)
นายบัตร์ ๒๑๔๘ ปืนใหญ่ที่ ๓ (พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส)
นายแปลก ๒๑๗๕ ปืนใหญ่ที่ ๗ (จอมพล แปลก พิบูลสงคราม)
นายผิน ๒๑๙๘ ราบที่ ๔ (จอมพล ผิน ชุณหะวัณ)
นายมังกร ๒๕๗๕ ราบที่ ๓ (พลเอก มังกร พรหมโยธี)

ถึง พ.ศ.๒๔๗๓ ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงอดุลเดชจรัส พ.ศ.๒๔๗๕ ขณะมียศ ร้อยเอก ได้ร่วมอยู่ในกลุ่มผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถึง พ.ศ.๒๕๗๘ ได้รับพระราชทานยศเป็นนายพันตำรวจเอก และปีถัดมาก็ได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ พ.ศ.๒๔๘๐ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.๒๔๘๓ เป็นผู้บังคับการตำรวจสนาม ในสงครามอินโดจีน พ.ศ.๒๕๘๖ ได้รับพระราชทานยศ พลตำรวจเอก และพลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก และดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของ จอมพล.ป.พิบูลสงคราม พ.ศ.๒๔๘๘ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ พ.ศ.๒๔๘๙ ได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ลำดับที่ ๑๔

จากหนังสือเรื่อง นายพลผู้ซื่อสัตย์ เขียนโดย ๔๘๕ ได้เล่าถึงการปฏิบัติงานในยามสงครามของ พลตำรวจเอก หลวงอดุลเดชจรัส ไว้ว่า

สำหรับคุณหลวงอดุลฯ นั้น มีความรู้สึกนึกคิดว่าไม่ควรยอมให้กองทัพญี่ปุ่น เดินผ่านประเทศไทย แต่ส่วนมากยินยอม ดังนั้นท่านจึงทำอะไรไม่ได้ ตั้งแต่นั้นมาคุณหลวงอดุลฯ จึงดำเนินงานต่อต้านญี่ปุ่นแบบใต้ดิน โดยตั้งหน่วยเสรีไทยขึ้น ได้ใช้กำลังตำรวจทั้งหมดทำงานใต้ดินเป็นหลัก ท่านได้คัดเลือกนายตำรวจบางคน เดินทางออกไปนอกประเทศ ร่วมกับนายทหารอากาศ ทหารบก ไปติดต่อกับอเมริกาและอังกฤษ โดยไปทางเครื่องบินบ้างทางเรือดำน้ำบ้าง หลังจากได้ติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรแล้ว อเมริกาได้ส่งนักเรียนไทยซึ่งเรียนอยู่ที่อเมริกา มาโดดร่มลงในประเทศไทยก่อน ต่อมาอังกฤษจึงส่งนักเรียนไทยที่เรียนในอังกฤษ มาโดดร่มลงในประเทศไทยบ้าง และเดินทางเข้ามาโดยทางเท้าบ้าง

ในเรื่องงานเสรีไทยของคุณหลวงอดุลฯ นี้ พลโท ประยูร ภมรมนตรี ได้เล่าไว้ใน ชีวิต ๕ แผ่นดินของข้าพเจ้า ว่า

เรื่องขบวนการเสรีไทย ที่กำลังดำเนินการต่อต้านญี่ปุ่น ทั้งในประเทศและนอกประเทศ ที่บินโดดร่มลงมาหรือมาทางเรือใต้น้ำ มาทำงานใต้ดินนั้น อยู่ในสายตาของญี่ปุ่น และติดตามอยู่ใกล้ชิด และเตรียมการที่จะทำการกวาดล้างอยู่หลายครั้งหลายคราว แต่ท่าน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สั่งการให้ตำรวจจัดการจับกุมเสียเอง และช่วยคุ้มครองความปลอดภัย

เรื่องเสรีไทยนี้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้ พลตำรวจเอก หลวงอดุล ฯ เป็นเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะ ที่เป็นพลร่ม ก็ให้จัดการควบคุมเด็ดขาดห้ามการติดต่อ และให้ความคุ้มกันพาหลบซ่อนไป เกรงทหารญี่ปุ่นจะเข้ามาพัวพัน จึงรอดพ้นอันตรายกันมาได้

จากเรื่องนายพลผู้ซื่อสัตย์ ได้ดำเนินความต่อไปว่า

พวกนักเรียนไทยที่มาโดดร่มลงในประเทศไทยนี้ ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงดำเนินงานใต้ดิน บางคนก็ทำหน้าที่ส่งข่าววิทยุที่นำติดตัวมา บางคนก็ทำหน้าที่ประสานงาน โดยเดินทาง ไป ๆ มา ๆ ระหว่างประเทศไทยกับอเมริกาและอังกฤษ บางครั้งก็ไปเพียงแค่อินเดีย ทางประเทศอเมริกาก็มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าเสรีไทยอยู่ ทางอังกฤษคุณหลวงอดุลฯ ก็มอบให้ คุณยิ้ม พึ่งพระคุณ ซึ่งเป็นน้องชายเป็นผู้ติดต่อกับอังกฤษ และคุณหลวงอดุลฯ ได้ส่งคุณบูรณศิลป์ อดุลเดชจรัส บุตรชายของท่านไปอยู่ประจำที่ประเทศอินเดีย ทำหน้าที่ติดต่อกับลอร์ดหลุยซ์เม้าท์แบตเท็น แม่ทัพของฝ่ายสัมพันธมิตรโดยใกล้ชิด

ท่านได้ดำเนินการต่อต้านญี่ปุ่นอยู่ตลอดเวลา ในระหว่างที่ท่านได้ดำเนินการอยู่นี้ นายปรีดี พนมยงค์ ก็ได้ดำเนินการต่อต้านญี่ปุ่น แบบใต้ดินอยู่เช่นเดียวกัน โดยต่างคนต่างทำ ส่วน จอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ได้ทำการต่อต้านญี่ปุ่น แบบใต้ดินอีกเหมือนกัน ทั้งสามท่านนี้ต่างคนต่างดำเนินงานของตนไป แต่คงมีจุดหมายปลายทางเช่นเดียวกัน คือต่อต้านญี่ปุ่น

และ นาวาอากาศเอก วิมล วิริยะวิทย์ เสรีไทยสายอเมริกาได้เล่ารายระเอียดเพิ่มเติมว่า ท่านกับ บุญมาก เทศะบุตร์ ได้โดดร่มจากเครื่องบิน บี ๒๔ ลงที่ในป่าจังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๔๘๗ แต่พลัดกันไปคนละทาง ท่านถูกนำตัวไปพบกับหลวงอดุลฯ ในกรุงเทพ เมื่อ ๒๒ กันยายน ๒๔๘๗ และได้แจ้งให้ทราบภารกิจที่ได้รับมอบหมาย จากทางสหรัฐอเมริกา ว่าให้มาติดต่อกับทางหลวงอดุลและหลวงประดิษฐ์โดยตรงโดยขอให้ร่วมมือกันทำงาน สหรัฐอเมริกาจะให้การสนับสนุนแก่เสรีไทยในประเทศ ทุกวิถีทาง ไม่ว่าอาวุธ การฝึกฝน การเมืองหลังสงคราม ฯลฯ แต่ถ้าหากไม่ร่วมมือกัน ก็ยากที่ทางสหรัฐอเมริกาจะช่วยเหลือ เพราะงานจะมีอุปสรรคอย่างแน่นอน คุณหลวงอดุล ฯ จึงตัดสินใจพาวิมลเข้าพบหลวงประดิษฐ์ ที่บ้านของ นายดิเรก ชัยนาม รองเมือง ซอย ๒ จึงเป็นอันว่าหลวงอดุลกับหลวงประดิษฐ์ ได้ตกลงที่จะร่วมมือกันทำงานตั้งแต่วันนั้น จึงนับได้ว่าเป็นวันเริ่มปรากฏผลงานในประเทศของเสรีไทยสายอเมริกา และเป็นวันที่ได้กำลังตำรวจทั้งประเทศมาร่วมด้วย

กลับมาที่เรื่อง นายพลผู้ซื่อสัตย์ อีกครั้งหนึ่ง

การดำเนินงานของคุณหลวงอดุลฯ นั้น ท่านได้กระทำโดยแบ่งการปฏิบัติออกไปเป็นเรื่องเป็นรายไป คนหนึ่งรับมอบงานไปปฏิบัติอย่างหนึ่ง โดยคนอื่น ๆ ไม่รู้ว่าผู้นั้นมีหน้าที่อย่างไร ท่านเล่าให้ฟังว่าการที่ต้องแบ่งงานกันเช่นนี้ เพราะถ้าเกิดความลับรั่วขึ้นก็จะเกิดเสียหายเพียงเรื่องนั้นเรื่องเดียว งานของคนอื่น ๆ ไม่เสียไปด้วย เพราะการทำงานเช่นนี้เป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายมาก ถ้าใช้คน ๆ เดียวทำแล้วถ้าความลับแตกออก และถูกญี่ปุ่นจับตัวไปหรือถูกฆ่าตาย งานก็เสียหมด จึงจำเป็นต้องแยกงานกันทำ แต่ก็เป็นโชคของประเทศไทยอย่างมาก ที่ความลับต่าง ๆ ซึ่งท่านได้ทำไปแล้ว ญี่ปุ่นจับไม่ได้เลย บางครั้งฝ่ายญี่ปุ่นสงสัยท่าน ว่าทำการต่อต้านแบบใต้ดิน เคยส่งคนออกทำการสืบสวนแต่ก็ไม่ได้เรื่องอะไร ญี่ปุ่นได้ส่งคนเข้ามาดูว่าคุณหลวงอดุลฯ ทำงานอยู่ที่วังปารุสกวันหรือเปล่า โดยทำทีว่ามาเยี่ยมคำนับ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ที่ในวังปารุสกวันบ้าง และด้วยวิธีอื่น ๆ อีก ทุกครั้งที่ญี่ปุ่นมาดูก็คงเห็นคุณหลวงอดุลฯ นั่งทำงานอยู่ที่วังปารุสกวันมิได้หายไปไหน ในการดำเนินงานของท่านนั้น ท่านได้ออกปฏิบัติงานในเวลากลางคืนจนตลอดสว่างทุกคืน แม้ท่านจะต้องออกเดินทางไปต่างจังหวัด ท่านก็ไปตอนกลางคืน สำหรับฝ่ายญี่ปุ่นนั้นสงสัยท่านอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่มีหลักฐานที่จะทำอะไรได้

ท่านเป็นคนรอบคอบการที่จะเดินทางไปไหน ๆ ท่านไม่ใช้เส้นทางซ้ำกันเลย ท่านเปลี่ยนเส้นทางอยู่ตลอดเวลา และท่านไม่เคยยอมบอกใครว่าท่านจะไปไหน แม้คนที่นั่งรถไปกับท่านด้วยกัน ก็ไม่รู้ว่าจะไปไหน เมื่อไปถึงที่แล้วนั่นแหละจึงจะรู้ว่าไปไหน ด้วยความรอบคอบนี้ท่านจึงปลอดภัย และทำการกู้ประเทศไทยจนสำเร็จ ท่านได้เล่นเอาเถิดเจ้าล่อกับพวกญี่ปุ่นตลอดเวลาสงคราม นักเรียนไทยที่มาจากอเมริกาและอังกฤษ โดยโดดร่มลงมาก็ดี โดยทางน้ำทางบกก็ดี ท่านได้เอาตัวมาเก็บไว้ที่กองตำรวจสันติบาล ปทุมวัน ทำประหนึ่งว่าเอาตัวควบคุมไว้ทำการสอบสวน ฐานโดดร่มลงมาในประเทศไทย แต่ในเวลากลางคืนท่านได้พาพวกนี้ไปทำการส่งวิทยุ ติดต่อไปยังฝ่ายสัมพันธมิตร โดยจัดสถานที่ส่งวิทยุไว้หลายแห่งด้วยกัน เสร็จแล้วก็นำตัวกลับมาคุมไว้ที่ สันติบาลตามเดิม ฝ่ายญี่ปุ่นได้ส่งคนมาด้อม ๆ มอง ๆ อยู่เสมอ แต่ก็จับอะไรไม่ได้

จากคุณ : เจียวต้าย
เขียนเมื่อ : 9 ก.พ. 55 05:28:58




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com