Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
นายพลตาดุ หัวหน้าเสรีไทยสานตำรวจ (๒) ติดต่อทีมงาน

บันทึกจากอดีต

นายพลตาดุหัวหน้าเสรีไทยสายตำรวจ

พ.สมานคุรุกรรม

พวกนักเรียนไทยเหล่านั้นเท่าที่ข้าพเจ้าจำได้ คือ คุณป๋วย อึ๊งภากรณ์ คุณยอด บุรี คุณประทาน เปรมกมล คุณธนา โปษะยานนท์ คุณการุณ เก่งระดมยิง เป็นต้น ที่ข้าพเจ้าจำได้ดีเพราะเคยทำหน้าที่ควบคุมดูแลคนเหล่านี้ด้วยคนหนึ่ง พวกเสรีไทยเหล่านี้ไหมุนเวียนกันออกไปปฏิบัติหน้าที่เป็นประจำ ส่งวิทยุแจ้งที่พักของกองทหารญี่ปุ่น ให้ฝ่ายสัมพันธมิตรส่งเครื่องบินหรือเรือดำน้ำ เข้ามารับทหารที่บาดเจ็บเพราะเครื่องบินตก เป็นต้น

และบางคราวมีราชการลับที่จะต้องหารือ ในการวางแผนยุทธศาสตร์ ท่านก็ได้ส่งเสรีไทยเหล่านี้บางคน ออกไปทำการติดต่อกับรัฐบาลอังกฤษบ้าง อเมริกาบ้าง ฝ่ายอังกฤษส่วนมากท่านได้จัดส่ง คุณป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าของเสรีไทยฝ่ายอังกฤษออกไปเจรจา ฝ่ายอเมริกาท่านก็จัดส่ง คุณการุณ เก่งระดมยิง ออกไปเจรจา การเดินทางนั้นส่วนมากเดินทางโดยเครื่องบิน ซึ่งนัดให้เครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรมารับ โดยมาลงที่สนามบินลับที่สร้างขึ้นในเวลากลางคืน

คุณหลวงอดุลฯ เป็นคนที่รอบคอบในการทำงานใต้ดินนี้ ท่านได้ทำบัญชีรายชื่อไว้ว่าผู้ใดบ้างที่ได้ร่วมมือทำงานอยู่ด้วย ทั้งผู้ที่โดดร่มเข้ามาในประเทศไทย และผู้ที่อยู่ ณ ต่างประเทศ เพราะท่านมองเห็นการไกลว่า ต่อไปอาจมีผู้แอบอ้างว่าได้ร่วมมือทำงานใต้ดินกับท่าน ซึ่งถ้าเป็นจริงแล้วย่อมต้องมีชื่ออยู่ในบัญชีนั้น จนบัดนี้ (พ.ศ.๒๕๑๒) บัญชีนี้ก็ยังอยู่ในมือท่าน ตลอดจนหลักฐานในการทำงานใต้ดินที่สำคัญ ๆ คงเก็บอยู่ที่ท่าน

ด้วยผลงานอันดีเด่นที่ได้กระทำเพื่อประเทศชาติแล้วนี้ หลังจากสงครามสงบแล้ว อเมริกาได้ช่วยจนกระทั่งประเทศไทยพ้นจากการตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม อันคุณงามความดีของท่านนี้สุดที่คนไทยจะลืมเสียได้ และบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยสืบไปชั่วกาลนาน คุณหลวงอดุลฯ เป็นคนหนึ่งที่ได้ช่วยกู้ประเทศไทยไว้ในยามที่บ้านเมืองคับขันเต็มไปด้วยศัตรู หากการทำงานของท่านพลาดไปเพียงนิดเดียว บ้านเมืองก็จะพินาศ แม้แต่ชีวิตของท่านเองก็คงไม่รอดไปได้

การกระทำทั้งสิ้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น ทางฝ่ายสัมพันธมิตรรู้เรื่องดี ที่ท่านกล้าเสี่ยงอันตรายโดยไม่ย่นย่อ เมื่อหลังจากสงครามยุติลงแล้ว รัฐบาลอเมริกาได้มอบเหรียญตราชั้นสูง เมดอลออฟฟรีดอม ชั้นสูงสุดให้ โดย ฯพณฯ เอกอัครราชทูตอเมริกาประจำประเทศไทย ได้นำไปมอบให้ถึงที่บ้านพักของท่าน ในประเทศไทยดูเหมือนจะมีท่านแต่ผู้เดียว ที่ รัฐบาลอเมริกันนำเหรียญตราไปมอบให้ถึงบ้านพัก

และก่อนที่จะเกิดรัฐประหารเมื่อ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ขณะนั้นคุณหลวงอดุลฯ ได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ปรากฏว่าเหตุการณ์ของบ้านเมืองในขณะนั้น เต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น คุณหลวงอดุลฯ เห็นว่ารัฐบาลในสมัยนั้นไม่ดำเนินการปราบปรามกันอย่างจริงจัง พวกราษฎรได้รับความเดือดร้อน ตลอดจนได้ข่าวมาว่าจะมีผู้ทำการรัฐประหาร ดังนั้นคุณหลวงอดุลฯ จึงได้ขอให้รัฐบาลเรียกผู้บัญชาการทหารบก เรือ อากาศ อธิบดีกรมตำรวจ และผู้ก่อการอาวุโส ไปร่วมกันทำการประชุม เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๔๙๐

ใจความของการประชุมนั้นมีสาระสำคัญคือ คุณหลวงอดุลฯ ได้เล่าถึงความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งถูกผู้มีอำนาจคอร์รัปชั่น จนเป็นเหตุให้เกิดข้าวของต่าง ๆ มีราคาแพงขึ้น และทางการเฉยเมยไม่ทำการปราบปราม และคุณหลวงอดุล ฯ บอกว่า ได้ข่าวว่าจะมีผู้คิดรัฐประหาร และถ้ามีผู้ทำการรัฐประหารขึ้นจริง คุณหลวงอดุลฯ จะไม่ทำการปราบปราม โดยไม่ต้องการให้ทหารไทยฆ่าทหารไทยด้วยกันเอง ไม่ต้องการให้คนไทยฆ่าคนไทยด้วยกันเอง

ต่อมาในวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ก็เกิดรัฐประหารขึ้น ซึ่งมี พลโท ผิน       ชุณหวัน (ยศในขณะนั้น) นายทหารนอกประจำการเป็นหัวหน้า ในการเกิดรัฐประหารครั้งนี้ ทางคณะรัฐบาลอันมี พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. เป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้สั่งการต่อสู้ หรือทำการปราบปรามแต่ประการใด และในขณะที่กำลังเกิดเหตุการณ์อยู่นั้น คุณหลวงอดุลฯ ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก ไม่ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลแต่ประการใด ท่านจึงได้ออกคำสั่งให้ทหารบกทุกเหล่าและทุกกรมกองให้ตั้งอยู่ในความสงบ และห้ามเคลื่อนกำลังออกนอกที่ตั้งเป็นอันขาด และให้ฟังคำสั่งของท่านแต่ผู้เดียว ท่านไม่ได้สั่งให้ทำการต่อสู้แต่ประการใด

ส่วนตัวท่านได้ออกตรวจตราตามที่ต่าง ๆ จนมาถึงสนามหลวง ท่านได้พบรถถังแล่นออกจากที่ตั้งมาถึงสนามหลวง ๓-๔ คัน ท่านจึงตรงไปยังรถถังนั้น และได้ออกคำสั่งให้ผู้ควบคุมรถถัง นำรถถังกลับไปยังที่ตั้งเดิมทันที ผู้ควบคุมรถถังก็ได้นำรถถังเคลื่อนที่กลับไปท่านจึงออกตรวจต่อไปไม่ได้ติดตามไปดูว่า รถถังเหล่านั้นจะกลับไปจริงหรือไม่ เมื่อท่านตรวจไปถึงหน้าทำเนียบท่าช้าง ท่านได้พบรถถังอีก ๒-๓ คันได้มาจอดอยู่หน้าทำเนียบ และคันหนึ่งได้ใช้ปืนยิงไปที่หน้าประตูทำเนียบ ท่านจึงตรงเข้าไปที่รถถังนั้น และได้เรียกผู้ควบคุมรถถังนั้นลงมาจากรถ และท่านใช้มือตบหน้านายทหารผู้นั้น ฐานขัดขืนคำสั่ง แล้วท่านจึงสั่งให้นำรถถังกับไปยังที่ตั้ง ผู้ควบคุมรถถังจึงนำรถถังกลับไป ท่านจึงตระเวนไปตรวจตราที่อื่น ๆ ต่อไป

ท่านเล่าให้ฟังว่า เพราะท่านไม่ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลแต่ประการใด ท่านจึงไม่ทำการปราบปราม เพียงแต่สั่งให้กำลังทหารตั้งอยู่ในความสงบ ณ ที่ตั้งเท่านั้น ดังนั้นการทำ รัฐประหารจึงสำเร็จเรียบร้อยในวันรุ่งขึ้น โดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อแต่อย่างใด เมื่อได้ตั้งคณะ รัฐบาลใหม่ขึ้นเรียบร้อยแล้ว ทางคณะรัฐบาลใหม่ยังคงให้ท่านดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกต่อไป และก็ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ท่านดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรี ดังนั้นท่านจึงได้ยื่นความจำนงต่อรัฐบาล ขอลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และใน พ.ศ.๒๔๙๒ ท่านก็ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี



แม้ท่านจะมีอำนาจวาสนา ได้ดำรงตำแหน่งอันสูงส่งเพียงใดก็ตาม นายพลตงฉินผู้นี้ก็คงปฏิบัติตนเป็นผู้ถือสันโดษอย่างจริงจัง ท่านเป็นผู้ที่ไม่ทะเยอทะยาน ไม่แสวงหาลาภยศ ใด ๆ อีก คงดำรงชีวิตอยู่ในแบบสมถะ โดยอาศัยอยู่ที่บ้านพักหลังเล็ก ๆ ในบริเวณวังปารุสกวันแต่เพียงคนเดียว กับสุนัขตัวโปรด ๑ ตัว และผู้รับใช้ใกล้ชิดคู่ใจอีก ๑ คนเท่านั้น ท่านไม่รับแขกทั่ว ๆ ไป แต่ท่านก็ยินดีที่จะพบปะสนทนาเป็นครั้งคราว กับมิตรสนิทบางท่าน และนายตำรวจบางนายที่ท่านรู้จักคุ้นเคย เพราะเคยอยู่ใต้บังคับบัญชาของท่านมาก่อน ในสมัยที่ท่านยังดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจอยู่ ท่านดำรงชีวิตแบบโดดเดี่ยวเช่นนี้ตลอดมา

ตามปกติถ้าผู้ใดมองเห็นนัยตาของท่านแล้ว ย่อมต้องนึกว่าท่านเป็นคนดุ แต่ธาตุแท้ของท่านนั้นเป็นคนมีเมตตาจิตอย่างสูง ท่านไม่เคยพยาบาทมาตรร้ายใครเป็นเรื่องส่วนตัวเลย ผู้ที่ทำผิดกฎหมายท่านก็ว่าไปตามกฎหมาย ไม่เคยเอาเรื่องส่วนตัวเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเลย ท่านเป็นคนที่ชอบความซื่อสัตย์ ไม่ยอมกินไม่ยอมโกง แม้แต่จะมีโอกาสอำนวยให้ หรือมีอำนาจที่จะทำได้ ท่านก็ไม่ยอมทำ ท่านได้ปฏิบัติตัวของท่านคงเส้นคงวามาตลอด ท่านถืออุดมคติว่า Honesty is best Policy

ท่านได้ถึงแก่อสัญกรรม ด้วยโรคชรา ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๒ เวลา ๑๘.๐๐ น.เศษ

##########

 
 

จากคุณ : เจียวต้าย
เขียนเมื่อ : 10 ก.พ. 55 06:22:07




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com