Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
รำลึกถึงยาขอบ (๒) ติดต่อทีมงาน

รำลึกถึงยาขอบ (๒)

ตามหนังสือ ชีวประวัติ นายโชติ แพร่พันธุ์ “ยาขอบ” ซึ่งพิมพ์เป็นอภินันทนาการ เนื่องในงานฌาปนกิจ ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๐๐ ระบุไว้ว่า

ต้นตระกูลของ โชติ (ยาขอบ) แพร่พันธุ์ คือ เจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่ แม่เจ้าบัวไหล มีบุตร ธิดาทั้งสิ้นรวม ๗ คนด้วยกัน เป็นหญิงหกคน คนสุดท้ายเป็นชาย คือ เจ้าชายอินทร์แปลง บิดา นายโชติ แพร่พันธุ์ มารดาชื่อ จ้อย

ต่อมาเจ้าอินทร์แปลง ได้สมรสกับ เจ้าเทพเกษร มีบุตรอีกสองคน เมื่อมีการขนานนามสกุลขึ้นตามทางราชการเป็นครั้งแรกนั้น เจ้าอินทร์แปลงใช้นามสกุล เทพวงศ์

แต่แม่จ้อยได้เข้าเฝ้าสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขอประทานนามสกุลใหม่ จึงได้ประทานนามสกุลว่า แพร่พันธุ์ ซึ่งได้ใช้ตลอดมา

ชีวิตของ โชติ แพร่พันธุ์ กว่าจะมาเป็นนักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่ในนาม ยาขอบ นั้น ต้องผ่านขวากหนามในชีวิตมาอย่างโชกโชน จากหนังสือ นักเขียนเรื่องสั้นดีเด่น วาระครบ ๑๐๐ ปีเรื่องสั้นไทย ของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น พ.ศ.๒๕๒๘ ได้บันทึกไว้ว่า

ชีวิตในวัยเด็ก

มารดาได้นำ”ยาขอบ”มาฝากให้อยู่ในความอุปการะของเจ้าคุณบริหารนครินทร์ ตั้งแต่เล็ก ๆ และได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนเทพศิรินทราวาส ระหว่างที่อาศัยอยู่กับเจ้าคุณบริหารนครินทร์ ยาขอบมีหน้าที่อ่านหนังสือให้เจ้าคุณฟัง ทั้งนี้เพราะท่านเป็นคนรักหนังสือ และปรารถนาให้เด็กในปกครองมีความรู้แตกฉานในหนังสือด้วย

เรื่องที่ยาขอบได้รับมอบหมายให้อ่านได้แก่ ขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี อิเหนา ราชาธิราช และเกร็ดพงศาวดารจีนเรื่องต่าง ๆ เช่น สามก๊ก เลียดก๊ก เป็นต้น การได้อ่านหนังสือมากทำให้มีความรู้และความชำนาญในการเขียนในทางอ้อม และเป็นพื้นฐานที่ส่งเสริมให้ยาขอบเป็นนักเขียนมีชื่อต่อมา

เมื่อขึ้นมาเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๔ ยาขอบหนีโรงเรียนออกจากบ้านในเวลาเดียวกัน เขาไปใช้ชีวิตผจญภัยอยู่ระยะหนึ่ง เช่น ฝึกหัดขี่ม้าจนชำนาญได้เป็นจ๊อกกี้ ต่อมา ครูที่เคยสอนหนังสือมาพบเข้า จึงชักนำให้ไปทำงานเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์เป็นครั้งแรก

การเข้าสู่วงการนักเขียน

ยาขอบ ได้รับความช่วยเหลือฝากให้ทำงานที่หนังสือพิมพ์สยามรีวิว เป็นพนักงานพิสูจน์อักษร ระยะหนึ่ง ย้ายมาที่หนังสือพิมพ์ธงไทย มีหน้าที่ส่งหนังสือและเก็บหนังสือที่เหลือจากร้าน

ต่อมาลาออกและเข้าทำงานในแผนกโฆษณาห้างขายยาเพ็ญภาค ระหว่างนี้เมื่อมีเวลาว่างก็จะไปพบปะเพื่อน ๆ ที่อยู่ในวงการนักเขียนโดยไม่มีความคิดที่จะเขียนหนังสือแต่อย่างไร ในกลุ่มนักเขียนที่ยาขอบไปร่วมคลุกคลีอยู่ด้วยนั้น มี กุหลาบ สายประดิษฐ์รวมอยู่ด้วย

ขณะนั้น กุหลาบ สายประดิษฐ์ กำลังออกหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ จึงชักชวนให้เขาเขียนเรื่องมาลง ยาขอบจึงเขียนเรื่องในรูปจดหมายชื่อเรื่อง “จดหมายเจ้าแก้ว” เป็นเรื่องตลกขบขัน ใช้นามปากกาที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ตั้งให้ว่า “ยาขอบ” โดยเลียนคำว่า W.W.Jacob นักเขียนเรื่องตลกในหนังสือพิมพ์ Strand ของประเทศอังกฤษ และเขาก็ใช้นามปากกานี้ตลอดมา

เรื่องของยาขอบได้ลงพิมพ์เพียงสองสามฉบับก็ต้องเลิก เพราะ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เลิกกิจการไปก่อตั้งหนังสือพิมพ์ใหม่ชื่อ “ไทยใหม่” และได้ชักชวนยาขอบให้เขียนเรื่องอีก โดยขอให้เป็นเรื่องประเภทเกร็ดพงศาวดารลงเป็นรายวัน เขาจึงเขียนเรื่อง “ยอดขุนพล”ส่งไปลงพิมพ์

แต่เรื่องยอดขุนพลก็ต้องพบอุปสรรคอีก เพราะ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ลาออกจากไทยใหม่ ไปออกหนังสือพิมพ์”ประชาชาติ” ยาขอบจึงต้องย้ายไปเขียนในประชาชาติ และเขียนเรื่อง “ยอดขุนพล”ต่อ เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ผู้ชนะสิบทิศ”

นับแต่นั้นมา “ยาขอบ”ก็มีชื่อเสียงรุ่งโรจน์อยู่ในวงการเขียนตลอดมา

############

จากคุณ : เจียวต้าย
เขียนเมื่อ : 21 ก.พ. 55 07:52:51




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com