Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
วิธีพิชิตข้อสอบ ติดต่อทีมงาน

วิธีพิชิตข้อสอบ

เกือบทุกคนย่อมรู้สึกวิตกกังวลกับการสอบ แต่ถ้าเราเตรียมตัวสอบ นำเอาทักษะในการทำข้อสอบมาใช้ และเรียนรู้จากความผิดพลาดในการทำข้อสอบในครั้งก่อนๆ เราก็จะทำข้อสอบได้ดีขึ้น ทั้งนี้ในขณะเตรียมตัวสอบจง

- จดจ่ออยู่กับเนื้อหาวิชาที่ต้องเรียน
- อย่าหมกมุ่นอยู่กับความคิดที่ว่า ฉันเรียนไม่เก่ง ฉันโง่ ฉันต้องสอบตกแน่
- อย่าสร้างความรู้สึกที่ไม่ดีเกี่ยวกับตนเอง (ความสามารถ) หรือกับวิชานั้น
- อย่าหาเรื่องมาทำให้ตัวเราเองเกิดความวิตกกังวลมากขึ้น
- ควบคุมและจัดระเบียบเวลาการเรียนของเราให้ได้

การเตรียมพร้อมสำหรับการสอบ

ให้ทำสิ่งที่บอกไปตั้งแต่บทแรกจนถึงบทนี้ และพึงระลึกไว้เสมอว่า
- การทบทวนความรู้ครั้งสุดท้ายก่อนสอบเพียงแต่จะช่วยให้เราได้ทำความเข้าใจกับสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปให้มากขึ้น
- การเรียนรู้แต่เพียงผิวเผินอาจทำให้เราจำข้อมูลต่างๆ ได้ และตอบคำถามแบบปรนัย (แบบมีตัวเลือก จับคู่ ถูก/ผิด) ได้ เพราะมันมีตัวเลือกที่เป็นคำตอบที่ถูกมาให้เราแล้ว แต่ในการคตอบคำถามแบบอัตนัย (เขียนตอบ) ข้อสอบที่มีการคำนวณ เติมคำ นั้นต้องอาศัยทั้งความจำและการนำเอาข้อมูลที่จำได้มาประยุกต์ใช้ด้วย
- การขะมักเขม้นท่องสูตร คำศัพท์ต่างๆ หน้าห้องสอบ (ก่อนสอบ 10 – 15 นาที) อาจทำให้เรายิ่งสับสบและทำข้อสอบผิดยิ่งขึ้น เพราะถึงเราจะจำสูตรได้ แต่ถ้าไม่เข้าใจที่มาของสูตร เราก็จะไม่สามารถนำสูตรนั้นไปประยุกต์ใช้ได้

หนึ่งสัปดาห์ก่อนสอบ

สิ่งที่เราควรทำ (นอกเหนือไปจากที่ได้บอกมาแล้ว) ในช่วงหนึ่งสัปดาห์ก่อนสอบให้ลองตอบคำถามต่อไปนี้
- ข้อสอบน่าจะออกเรื่องอะไรบ้าง
- จะมีคำถามสักกี่ข้อ
- จะเป็นคำถามแบบไหน ปรนัย หรืออัตนัย
- เราจะหาตัวอย่างข้อสอบเอามาทำได้จากไหนบ้าง
- เวลาในการสอบนานเท่าไหร่

คำตอบที่ได้จะเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมตัวสอบ ของเราอย่างมาก ทั้งนี้ข้อสอบปรนัยมักจะถามเกี่ยวกับเนื้อหาส่วนที่เป็นรายละเอียด และเฉพาะเจาะจง  ส่วนข้อสอบข้อเขียนหรือคำนวณนั้นจะครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมดที่อาจารย์สอน ที่เราจะต้องนำเอาความคิดรวบยอด ทฤษฎี หลักการ สูตร มาประยุกต์ใช้และนำมาเป็นหลักฐานอ้างอิงสนับสนุนคำตอบของเราให้ได้ ให้ลองเก็งดูว่าข้อสอบข้อเขียนจะถามเกี่ยวกับอะไร หาคำบอกใบ้จากสมุดโน้ตของเราเอง (ที่ได้จากการสังเกตท่าทาง คำพูดของอาจารย์ในระหว่างที่สอน) ถ้าอาจารย์ใช้เวลาทั้งอาทิตย์พูดถึงหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งโดยเฉพาะ หัวข้อนั้นก็อาจถูกนำมาออกข้อสอบ (หรือเรื่องที่อาจารย์ให้ไปค้นคว้ามารายงานหน้าชั้น)

ถ้าเราไม่มีเวลาพอที่จะอ่านทบทวนเนื้อหาทั้งหมดที่อาจารย์บอกว่าจะออกสอบ ก็ให้ตัดเรื่องที่เราคิดว่าสำคัญน้อยออกไป (และลืมมันซะ !) แล้วพยายามทบทวนเฉพาะส่วนที่สำคัญๆ

สำหรับการเตรียมตัวรับมือกับข้อสอบที่ต้องคำนวณนั้น ให้หัดทำแบบฝึกหัด เอาข้อสอบเก่าๆ มาลองทำ ฝึก ฝึก และก็ฝึก โดยอาศัยตัวอย่างโจทย์ในห้องเรียนเป็นแนวทาง ในการเตรียมตัวสอบเราต้อง
1. อ่านทบทวนสรุปโน้ตประจำสัปดาห์ที่ทำไว้
2. ทบทวนและแก้ไข เพิ่มเติมเนื้อหาในสมุดโน้ต และหาว่าเนื้อหาส่วนไหนที่เราไม่แน่ใจว่าเข้าใจถูกต้อง ให้ความสนใจกับเนื้อหาที่เราไม่เข้าใจเป็นพิเศษ
3. สำรวจเนื้อหาส่วนที่อ่าจารย์พูดถึงและมีในตำราเรียน
4. หมั่นเอาบัตรคำมาอ่าน และท่องจำ
5. ใช้คำถามที่จดไว้ในสมุดโน้ต และคำถามที่อาจารย์ถามในห้องเรียนเป็นแบบฝึกหัดทำการทดสอบตัวเราเองก่อน
6. ฝึกแก้ปัญหา ทำแบบฝึกหัด แก้โจทย์คำนวณ
7. ถ้ามีตัวอย่างข้อสอบ ให้เอามาลองทำดู ข้อไหนที่ทำผิดให้ดูว่าผิดเพราะอะไร แก้ไข อย่าดูแต่เฉลยและจำคำตอบที่ถูกต้อง ให้ดูด้วยว่าทำไมคำตอบนั้นจึงถูก
8. นัดกลุ่มติวอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 – 3 วันก่อนสอบ
9. ดูรูปที่อาจารย์อธิบายในห้องเรียน เพื่อศึกษาทำความเข้าใจอีกครั้ง

วันก่อนสอบ
ในวันก่อนสอบให้ทบทวนเนื้อหาเป็นครั้งสุดท้าย นึกภาพแผนผังสรุปเนื้อหาให้ได้ว่ามันมีเนื้อหาอะไรบ้าง ดูสรุปของแต่ละสัปดาห์ อ่านตำราแบบผ่านๆ (หัวข้อ คำสำคัญ สรุปท้ายบท)

ทำข้อสอบ
สิ่งที่ควรทำในการสอบคือ

1. ไปถึงห้องสอบก่อนเวลา เข้าห้องน้ำให้เรียบร้อย แต่อย่าจับกลุ่มคุยกับเพื่อนในหัวข้อ “เธออ่านเนื่องนี้มาหรือยัง?”, “เธอว่าเรื่อง.... จะออกไหม?” จงมั่นใจในการเตรียมตัวในความพร้อมของเราเอง

2. รับข้อสอบและตั้งใจฟังคำสั่งของผู้คุมสอบ ว่ามีการแก้ไขอะไรในข้อสอบหรือไม่ และแก้ไขตามที่ผู้คุมสอบบอก

3. ลงมือทำข้อสอบโดย
3.1 สำรวจข้อสอบทั้งหมดดูว่า
- คำสั่งในข้อสอบมีอะไรบ้าง เวลาในการสอบนานเท่าใด
- ประเภทและจำนวนข้อสอบ
- ลำดับเนื้อหาของข้อสอบ เนื้อหาของข้อสอบแต่ละข้อเรียงกันตามที่อาจารย์สอนหรือไม่ หรือว่าพวกมันสลับกันไปมา
- ข้อสอบแต่ละส่วน แต่ละประเภทมีคะแนนเท่าไร
3.2 อ่านข้อสอบอย่างช้าๆ ละเอียดรอบคอบทุกตัวอักษร
- อ่านและทำตามคำสั่ง
- อ่านทุกคำถาม และอย่าตีความคำถามตามใจชอบ
- ใช้ดินสอขีดเส้นใต้คำสำคัญๆ ในขณะที่อ่านคำถาม
- อ่านทุกส่วนของคำถามก่อนลงมือทำข้อนั้น ดูว่ามีคำถามย่อยไหน อะไรบ้าง มีเงื่อนไขอะไรหรือเปล่า
- ตอบคำถามที่ง่ายที่สุด / ข้อที่ทำได้ก่อน
- ย้อนกลับไปทำข้อที่ยากกว่าในภายหลัง
3.3 เรียกความจำ
หลังจากอ่านแต่ละคำถามแล้วให้เรียกความจำเกี่ยวกับสิ่งที่เรียนมาที่เกี่ยวกับข้อคำถามนั้น โดย
- คิดเกี่ยวกับคำถาม (พิจารณา)
- เลือกคำตอบที่ถูกต้อง ถ้าเป็นข้อสอบแบบปรนัย (มีตัวเลือกให้ตอบ หรือแบบถูกผิด จับคู่) หรือจดคำตอบถ้าเป็นคำตอบแบบเติมคำ
- ถ้าคำถามยาก และจำข้อมูลไม่ได้ คิดคำตอบไม่ออก อย่าจมอยู่กับข้อนั้น เขียนเครื่องหมายคำถามไว้หน้าข้อ เพื่อกลับมาทำทีหลัง จิตใต้สำนึกของเราอาจหาคำตอบได้ในขณะที่เราทำข้ออื่นๆ
3.4 ทบทวน
หลังจากตอบคำถามทุกข้อแล้ว ให้ดูเวลาที่ยังเหลืออยู่ ถ้ายังมีเวลาเหลือให้
- อ่านทวนคำถาม / คำตอบทุกข้อ ถ้ามีเวลาพอ
- อย่าเปลี่ยนคำตอบโดยไม่มีเหตุผลที่สมควร
- ดูว่าคำตอบในกระดาษคำตอบอยู่ในช่องคำตอบที่ถูกต้องไหม และตอบครบทุกข้อจริงหรือเปล่า

ก่อนส่งกระดาษคำตอบ
ตรวจดูว่าเราได้เขียนชื่อ / เลขประจำตัวนักเรียน ลงบนกระดาษคำตอบและกระดาษข้อสอบ (ถ้าคำสั่งบอกให้เขียน) หรือยัง ถ้ากระดาษคำตอบเป็นแบบตรวจด้วยคอมพิวเตอร์ ตรวจดูให้แน่ใจว่าเราได้ลบรอยดินสอที่เลอะๆ ออกไปแล้ว

ข้อแนะนำในการทำข้อสอบ
1. ถ้ามีข้อสงสัยไม่เข้าใจเกี่ยวกับคำสั่งในข้อสอบหรือข้อคำถามใดๆ ให้ถามผู้คุมสอบเพื่อความชัดเจน
2. หลังจากสำรวจข้อสอบแล้วให้วางแผนว่าจะใช้เวลาทำข้อสอบแต่ละส่วนเท่าใด พยายามทำตามที่วางแผนไว้ แต่ไม่ต้องกังวลกับมันหรือกดดันตัวเองให้มากนัก
3. มองหาคำขยายที่จะช่วยบอกใบ้หรืออธิบายคำถาม
4. ถ้าตอบไม่ได้จริงๆ ให้เดาคำตอบโดยอาศัยความรู้ที่มีอยู่ (ถ้าในคำสั่งไม่ได้บอกว่าถ้าตอบผิดจะโดนหักคะแนน)
5. ข้อมูลในคำถามหนึ่งอาจมีคำตอบสำหรับคำถามข้ออื่น
6. ทำเครื่องหมายในข้อสอบ (กระดาษคำถาม) ที่จะช่วยให้เราระบุแยกแยะคำถามได้ดีขึ้น
7. โจทย์ถามมาอย่างไรก็ให้ตอบไปตรงๆ อย่าพยายามหานัยซ่อนเร้นหรือคิดว่าอาจารย์อาจมีลูกเล่นและใช้คำถามหลอก
8. ทำเครื่องหมายหน้าข้อคำถามที่ข้ามไป จะได้ไม่ต้องกลับมาไล่หาทีละข้อว่าข้อไหนที่ยังไม่ได้ทำ อย่าลืมเว้นข้อที่ไม่ทำในกระดาษคำตอบด้วย
9. อย่าให้คนที่ทำข้อสอบเสร็จก่อนมีผลกระทบต่อการทำข้อสอบของเรา ใช้เวลาทุกนาทีให้คุ้มค่า
10. หาคำใบ้ ข้อความที่แสดงถึงขนาด จำนวนทั้งหมด เช่น เสมอ ทั้งหมด อย่างแน่นอน ไม่เลย ไม่เคย เพราะข้อความที่มีคำเหล่านี้มักจะผิด
11. คอบตรวจสอบว่าเขียนคำตอบลงในช่องที่ถูกต้องในกระดาษคำตอบ
12. อย่าลืมนำเอาดินสอที่มีความเข้มเฉพาะสำหรับการทำข้อสอบ ปากกา และยางลบไปด้วย

ข้อสอบแบบเลือกตอบ
1. หลังจากอ่านคำถามทุกข้อแล้ว พยายามคิดหาคำตอบก่อนอ่านคำตอบ
2. อ่านทุกตัวเลือก เพื่อหาคำตอบที่ถูกต้อง อย่าหยุดคำตอบข้อต่อไป เมื่ออ่านเมื่อเจอข้อที่คิดว่าถูกแล้ว
3. ถ้าคำตอบในแต่ละข้อมี 2 คำตอบ เช่น ไฮโดรเจนและคาร์บอน เราต้องยิ่งอ่านคำตอบทุกข้ออย่างรอบคอบยิ่งขึ้น
4. ให้ตัดตัวเลือกที่ผิดอย่างเห็นได้ชัดออกไป เหลือแต่ตัวเลือกที่เป็นไปได้ไว้พิจารณาอย่างละเอียดอีกที
5. ก่อนจะตัดตัวเลือกที่น่าจะเป็นไปได้ออกไป ต้องมีเหตุผลที่ดีพอ
6. ถ้าไม่รู้คำตอบ เก็บไว้เดาทีหลัง
7. ถ้ามีตัวเลือกประเภท “ถูกหมดทุกข้อ”, “ไม่มีข้อใดถูก” หรือ “ข้อ ข. และ ข้อ ค. ถูก” นอกจากจะต้องอาศัยความจำแล้วเรายังต้องหาความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลที่เรียนมาได้ด้วย

ข้อสอบแบบ ถูก / ผิด
1. ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งของข้อความนั้นผิด ข้อความทั้งประโยคนั้นผิด
2. หาคำขยายเช่น “ทั้งหมด”, “บางส่วน”, “โดยปกติแล้ว”, “ต้อง” เป็นตัว clue ว่ามันถูกหรือผิด

ข้อสอบแบบจับคู่
1. อ่านทั้งคอลัมน์ซ้าย และขวา
2. อ่านตัวเลือกในคอลัมน์ซ้ายอีกครั้ง และเรียกความจำเกี่ยวกับข้อความหรือคำนั้น
3. พิจารณาคำตอบที่เป็นไปได้ และหาคำตอบในคอลัมน์ขวา
4. ตัดตัวเลือกที่ใช้แล้วออกไปถ้าคำสั่งบอกว่าเราสามารถใช้ตัวเลือกแต่ละตัวได้ครั้งเดียว
5. จำไว้ว่าให้ทำข้อง่ายก่อน ข้อยากเก็บไว้ทำทีหลัง

ข้อสอบแบบความเรียง
1. วางแผนการใช้เวลาอย่างรอบคอบ
2. เขียน outline จาก “ความจำ” เป็นแนวทางในการเขียนคำตอบ
3. พยายามตอบตามขั้นตอน (การลำดับข้อมูล) จัดหน้า ใส่ภาพประกอบตามแบบที่อาจารย์สอน
4. ตรวจให้แน่ใจว่าเราได้ตอบคำถามครบถ้วนตามที่โจทย์ถามมา ตอบในสิ่งที่โจทย์ถาม การตอบในสิ่งที่โจทย์ไม่ได้ถาม ถึงจะตอบถูกก็ไม่ได้คะแนนนะ
5. ให้พยายามเขียนคำตอบตัวบรรจง ให้อ่านเข้าใจง่าย ไม่วกวนไปมา
6. เขียนแค่ outline หรือ แผนภาพลงไป ก็ยังดีกว่าไม่เขียนอะไรเลย
7. อย่าเวลาไปกับการลบสิ่งที่เขียนไปแล้ว แต่ให้ใช้ การขีดฆ่าข้อความนั้นๆ อย่างเป็นระเบียบ เพราะสิ่งที่เราเขียนและขีดทิ้งไปนั้นอาจมีส่วนที่ถูกต้อง และเราก็จะได้คะแนนจากส่วนนั้นถ้าเราไม่ลบมันทิ้ง
8. เขียนชื่อ หมายเลข ส่วนต่างๆ ของคำถาม

ข้อสอบคำนวณ
มีคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียว ที่ต้องอาศัยการคำนวณหาเอาเอง
ให้เขียนกระบวนการคิดของเรา / สูตรที่จะใช้ ขั้นตอนการคำนวณ ก็อาจได้คะแนนบ้าง ถ้ามันแสดงวิธีขั้นตอนในการหาคำตอบที่ถูกต้อง แม้ว่าคำตอบสุดท้ายจะผิด (ดูบทที่ 13) ดังนั้นจงหลีกเลี่ยงการใช้กระดาษทด เพราะเราจะไม่ได้คะแนนจากสิ่งที่เราเขียนบนนั้น


จากหนังสือ "คู่มือเด็กวิทยื"

จากคุณ : CreativeWay
เขียนเมื่อ : 29 ก.พ. 55 22:42:34




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com