|
สะพานจุลจอมเกล้า กับสงครามโลกครั้งที่สอง
สะพานจุลจอมเกล้าการก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ในพ.ศ.๒๔๔๙ สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ได้ส่งมิสเตอร์กิตตินส์ วิศวกรชาวอังกฤษเลขานุการกรมรถไฟหลวง กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และพระยาวจีสัตยารักษ์ เจ้าเมืองไชยา ออกสำรวจเส้นทางรถไฟสายใต้ ซึ่งต้องกู้เงินจากรัฐบาลสหพันธรัฐมลายูของอังกฤษ โดยมีมิสเตอร์กิตตินส์ เป็นผู้อำนวยการสร้างทางรถไฟสายใต้
ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๔๕๓ ช่วงการก่อสร้างจากชุมพรไปยังนครศรีธรรมราชต้องผ่านลำน้ำสายใหญ่ที่ตำบลท่าข้าม เมืองไชยา คือแม่น้ำหลวง การก่อสร้างสะพานเหล็กรูปทรงโค้ง แบ่งเป็นสามช่วง ใช้สำหรับให้รถไฟแล่นผ่านอย่างเดียว ต้องใช้งบประมาณ ๑๔๙,๓๖๔ บาท แต่ถ้าจะทำทางคนเดินต้องเพิ่มงบประมาณอีก ๑๓,๐๐๐ บาท และถ้าจะให้สมบูรณ์มีทางเกวียนข้ามได้ด้วย ต้องเพิ่มงบประมาณอีก ๑๔๘,๖๑๐ ซึ่งราคาสูงเกือบเท่าตัวสะพาน ในขณะนั้นที่ตำบลท่าข้าม เมืองไชยา ยังไม่ค่อยมีเกวียนใช้มาก ผู้คนก็ไม่มาก จึงขอพระบรมราชานุญาตจากรัชกาลที่ ๕ ให้งดการสร้างทางเกวียน ดังนั้นสะพานข้ามแม่น้ำหลวงจึงมีแต่ทางรถไฟกับคนเดินเท่านั้น
พ.ศ. ๒๔๘๔ ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่สุราษฎร์ธานี เชิงสะพานข้ามแม่น้ำตาปี เป็นจุดตั้งฐานทัพทหารญี่ปุ่น และเป็นจุดยุทธศาสตร์ลำเลียงพลไปสู่มลายู เพื่อเดินทางไปพม่า และสิงคโปร์ พ.ศ. ๒๔๘๖ ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรได้ใช้เครื่องบิน บี ๒๔ บรรทุกระเบิดมาทำลายสะพานแห่งนี้ถึงสองครั้ง โดยครั้งแรกไม่สามารถทำลายลงได้ ครั้งที่สอง จึงใช้โซ่ผูกร้อยระเบิดเป็นพวงทิ้งทำลายจนสะพานหักลงกลางลำน้ำตาปี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖ นอกจากนี้ ได้ระเบิดทำลายบ้านเรือนในตลาดท่าข้ามอีกด้วย
หลังสงครามสงบ รัฐบาลได้ว่าจ้างบริษัท CORMANLONG CO.LTDประเทศอังกฤษมาทำการซ่อมแซม เปลี่ยนรูปทรงจากทรงเหล็กโค้ง เป็นแท่งเหลี่ยม ลักษณะรูปทรงเดียวกับสะพานพระรามที่ ๖ แบ่งออกเป็น ๓ ช่วง มีทางรถไฟ ทางคนเดิน และช่องกลางเว้นไว้สำหรับผิวการจราจร ใช้เวลาซ่อมสร้างประมาณ ๖ ปี จึงแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน พระราชทานนามให้เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๔๙๔ ว่า สะพานจุลจอมเกล้าและทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๖
เรียบเรียงโดย นายทศพล งานไพโรจน์ รองนายกเทศมนตรีเมืองท่าข้าม
อ้างจาก http://www.siamfreestyle.com/forum/index.php?showtopic=809
ผลจากสงคราม ทำให้รถไฟสายใต้ไม่สามารถแล่นตลอดระยะทางได้เป็นเวลาถึงสิบปี โดยจะต้องมาหยุดที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำตาปี และผู้โดยสารต้องนั่งเรือข้ามมาอีกฝั่งหนึ่งเพื่อโดยสารรถไฟต่อไป จนกระทั่งมีการสร้างสะพานจุลจอมเกล้าขึ้นใหม่ในรูปแบบปัจจุบัน
แก้ไขเมื่อ 31 มี.ค. 55 18:49:49
จากคุณ |
:
ประดู่ป่า
|
เขียนเมื่อ |
:
31 มี.ค. 55 18:48:37
|
|
|
|
|