 |
เรื่องในกรมประจักษ์ที่อุดร พอดีตอนนี้ยังหาเอกสารไม่พบขออนุญาตข้ามเรื่องนี้ไปก่อน ส่วนเรื่องคดีพญาระกานั้นมีอยู่ในประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ เป็นเรื่องยืดยาว พอๆ กับที่เจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) หัวหน้าคณะ ๒๘ ตุลาการที่พร้อมใจกันกราบถวายบังคมลาออกตามในกรมราชบุรี เล่าไว้ในอัตชีวประวีติของท่านที่พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพตัวท่าน เนื้อความทั้งสองฉบับนั้นสอดคล้องเป็นเนื้อเดียวกัน ต่างกันตรงที่ฉบับเจ้าพระยามหิธรพิมพ์ออกมาเผยแพร่ก่อนที่จะมีการเผยแพร่ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ กว่า ๔๐ ปี รบกวนหาอ่านจากทั้งสองฉบับแล้วกันครับเพราะพิมพ์ไม่ไหวจริงๆ
ส่วนเรื่องกรมหลวงประจักษ์กับกรมหลวงชุมพรฯ นั้น มีความปรากฏในพระราชบันทึกประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ เล่ม ๒ ว่า
"ตามที่เธอได้รู้อยู่แล้ว, แต่เดิมมากรมชุมพรกับฉันได้เคยเปนผู้รักใคร่ชอบพอกันอย่างสนิธ, เพราะนอกจากที่เกิดปีเดียวกัน ยังได้ออกไปศึกษาพร้อมๆ กัน, และเมื่อกลับเฃ้ามากรุงเทพฯ แล้ว ฉันก็ยังได้ช่วยเหลือในกิจธุระส่วนตัวกรมชุมพรเปนหลายคราว. ฉนั้นต่อๆ มาฉันจึ่งรู้สึกประหลาดใจและเสียใจเปนอันมากที่ได้สังเกตเห็นว่า, จำเดิมแต่เวลาที่หญิงทิพสัมพันธ์ ตายไปแล้ว, กรมชุมพรดูตีตนห่างจากฉันออกไปทุกที. ในชั้นต้นฉันเฃ้าใจเอาเองว่า คงจะเปนเพราะกรมชุมพรกับพระยาราชวังสัน (ฉ่าง แสง-ชูโต, ต่อมาเปนพระยามหาโยธา) ได้เกิดผิดใจกันขึ้น, และพระยาราชวังสันเปนผู้ไปมาหาสู่ฉันอยู่เสมอ, กรมชุมพรจึ่งพลอยไม่ชอบฉันไปด้วย. แต่ฉันรู้สึกว่าสาเหตุเพียงเท่านั้นยังไม่พอที่จะทำลายความไมตรีระหว่างกรมชุมพรกับฉัน, ฉันจึ่งตั้งต้นแสวงหาสาเหตุต่อไป. ฉันรู้อยู่ดีว่า กรมชุมพรนั้น, ถึงแม้ท่าทางและปากพูดเก่งก็จริง, แต่ที่แท้มิใช่คนที่มีใจหนักแน่นปานใดนัก, เปนคนที่ลังเลและเชื่อคนง่าย, ฉนั้นฉันจึ่งเริ่มต้นมองหาตัวผู้ที่เปน ครู ของกรมชุมพร. ฉันได้ทราบอยู่ก่อนแล้วว่า กรมชุมพรเคยฝากตัวเปนศิษย์กรมราชบุรี , และมีความนิยมตามกรมราชบุรีหลายประการ, มีสำแดงตนเปน ผู้ชอบเปนอิศระ และถือพวกถือก๊กเปนที่ตั้ง. โดยนิสสัยของพระองค์เอง กรมชุมพรชอบพูดอวดดีแสดงความกล้าหาญและมีวิทยาอาคมอย่างแบบเก่าๆ, สักลายไปทั้งตัว, และ ขลัง อะไรต่างๆ, มีพวกหนุ่มๆ นิยมอยู่บ้างแล้ว: ครั้นได้ไปฟังคำสั่งสอนของกรมราชบุรีเฃ้าด้วยก็เลยบำเพ็ญเปนหัวโจกมากขึ้น. แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่เปนสาเหตุที่จะทำให้พร่าไมตรีกับฉัน, เพราะกรมราชบุรีเปนผู้ที่ชอบพอกับฉันโดยสม่ำเสมอตลอดมา, คงไม่ยุให้กรมชุมพรแตกกับฉัน. ฉันได้สืบแสวงไปจนได้ความว่า กรมชุมพรได้เกิดชอบพอกันขึ้นกับกรมหลวงประจักษ์, ก็เฃ้าใจได้ทันทีถึงเหตุที่กรมชุมพรเกิดไม่ชอบฉัน, เพราะกรมหลวงประจักษ์เปนผู้ที่ไม่ชอบฉันอย่างยิ่ง, และพยายามให้ร้ายแก่ฉันอยู่เสมอๆ. ที่ฉันรู้ได้โดยแน่นอนว่ากรมชุมพรตกไปอยู่ในอำนาจของกรมหลวงประจักษ์นั้น เพราะได้เกิดคดีขึ้นเรื่อง ๑ ซึ่งถาเปนแต่โดยลำพังตัวกรมชุมพรคงมิได้เปนการใหญ่โตเลย. เหตุมีนิดเดียวที่พวกเด็กๆ ของฉันได้ไปเล่นกันอยู่ที่สนามหน้าวังสราญรมย์, มีนักเรียนนายเรือ...คนเดิรผ่านไปทางถนนสนามชัย, อยู่ดีๆ ก็ตรงเฃ้าไปขู่พวกเด็กๆ ของฉันว่า ห้ามไม่หัดทหาร, จึ่งเกิดเปนปากเสียงกันขึ้น. ฉันจึ่งให้พระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล), ซึ่งเวลานั้นเปนหลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์, ตำแหน่งเลฃานุการส่วนตัวของฉัน, มีจดหมายต่อว่าไปยังผู้บังคับการโรงเรียนนายเรือ, และขอให้สั่งสอนว่ากล่าวพวกศิษย์ให้เฃ้าใจเสียว่า การที่เด็กอื่นๆ ปรารถนาจะฝึกหัดให้อกผายไหล่ผึ่งบ้าง ไม่ใช่กงการอะไรของนักเรียนนายเรือจะมาห้ามปราม. ฉันเฃ้าใจว่าเมื่อให้มีจดหมายไปเช่นนั้นแล้วก็คงเปนอันจบเรื่องกัน. ฉนั้นฉันประหลาดใจมากเมื่อวัน ๑ ฉันได้ถูกพระเจ้าหลวงรับสั่งให้หาเฃ้าไปในที่รโหฐานและทรงต่อว่าเรื่องที่ให้เลฃานุการมีหนังสือไปขู่ผู้บังคับการโรงเรียนนายเรือ. นัยว่ากรมชุมพรตกใจและเกรงกลัวภยันตราย จึ่งได้นำความขึ้นกราบบังคมทูล, เพื่อขอพระบารมีปกเกล้าฯ เปนที่พึ่ง. ทูลกระหม่อม ทรงสั่งสอนว่า ฉันจะได้เปนใหญ่เปนโตต่อไป, ต้องระวังอย่าทำให้ผู้น้อยนึกสดุ้งหวาดหวั่นต่ออำนาจอาชญาอันอาจต้องรับกรรมความดาลโทษะของฉัน. ฉันก็รับพระบรมราโชวาทใส่เกล้าฯ โดยมิได้แก้ตัวว่ากระไร, เพราะเห็นว่าพระเจ้าหลวงมีพระราชประสงค์จะให้เรื่องสงบไป. ในวันเดียวกันนั้นเอง บริพัตร์ , ซึ่งเวลานั้นเป็นผู้บัญชาการทหารเรือ, ได้ตามออกมาจากวังสวนดุสิตไปหาฉันถึงที่วังสราญรมย์, แสดงความเสียใจ และขอโทษในการที่ฉันต้องถูกกริ้วโดยไม่มีมูลอันควรเลย, และออกตัวว่าเธอเองมิได้รู้เห็นในคดีนั้นจนนิดเดียว, เพราะกรมชุมพรมิได้นำเรื่องเสนอเธอก่อนที่จะนำความขึ้นกราบบังคมทูล. ต่อเมื่อองค์อุรุพงศ์ เล่าใฟ้ฟังว่าฉันถูกกริ้วบริพัตร์จึ่งได้รู้เรื่อง, และรับว่าจะต่อว่ากรมชุมพร และจะขอให้สัญญาว่าจะไม่ทำเช่นนั้นอีกเปนอันฃาด. เมื่อฉันได้ทราบเรื่องตลอดแล้วก็รู้แน่ว่าแก่ใจว่า กรมชุมพรคงได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมหลวงประจักษ์, ผู้ชอบก่อเหตุน้อยเปนใหญ่เช่นนี้เสมอ."
จากคุณ |
:
V_Mee
|
เขียนเมื่อ |
:
21 เม.ย. 55 13:34:24
|
|
|
|
 |