 |
ตอบคุณ จขกท ดิฉันใช้ล็อกอินของเพื่อนเข้ามาตอบนะคะ
1. เลือกสาขาตอนไหน?
ส่วนใหญ่เลือกตอนปี 2 ค่ะ แต่ถ้าจำไม่ผิด บางสาขาก็ต้องเลือกมาตั้งแต่ตอนสอบแอดมิสชั่น เพราะใช้วิธีคิดคะแนนต่างกัน เช่น เอกภูมิศาสตร์ และยังมีบางสาขาที่เปิดรับตรงด้วยบางส่วน มักจะเป็นโครงการเฉพาะแต่ละปี เช่น เอกภาษาไทย
2. จำนวนนิสิตในสาขา
เท่าที่เห็น เอกภาษาอังกฤษจะมีนิสิตเรียนเยอะที่สุดค่ะ ประมาณ 1/3 ของนิสิตทั้งหมดเลย ส่วนเอกที่คนน้อยมักจะเป็นเอกปรัชญา และเอกการละคร อย่างไรก็ตาม อักษรฯ จุฬาฯ มีเอกภาษาแปลกๆ เป็นทางเลือกสำหรับนิสิตด้วย บางปี อยู่ๆ ก็อาจจะมีนิสิต เอกภาษาบาลีสันสกฤต 1 คนได้ นับเป็นเอกที่คนน้อยที่สุดได้รึเปล่าคะ?
3. ถ้าอยากเอกภาษาอังกฤษ แต่คะแนนไม่ถึง ทำยังไง
คะแนนไม่ถึงก็หมดสิทธิ์อย่างไม่ต้องสงสัยค่ะ ยกเว้นแต่นโยบายนี้จะถูกเปลี่ยนในรุ่นของคุณ ส่วนใหญ่นิสิตที่พลาดไป ก็มักจะเลือกเรียนเอกวิชาภาษาอื่นๆ และเลือกภาษาอังกฤษเป็นวิชาโทเอาค่ะ ดังนั้น ทำได้แค่ พยายามให้ดีที่สุดค่ะ วิชาที่ใช้ในการคิดก็คือ วิชาภาคอังกฤษ 3 วิชา (I, II, การแปล) ค่ะ
4.1 สาขาวิชาปรัชญามีจำนวนนิสิตเยอะไหม
มักจะมีน้อยค่ะ แต่มีนิสิตเลือกเรียนทุกปี ปีที่ดิฉันเรียน มีนิสิตสนใจเยอะพอสมควร มีเพื่อนร่วมสาขากัน 7 คน
4.2 มีผู้ที่ตั้งใจเข้าเรียนในสาขานี้ตั้งแต่สอบแอดมิสชั่นเลยหรือไม่
ข้อนี้ไม่ทราบค่ะ ส่วนตัวเลือกเข้าเอกนี้ เพราะหลงรักปรัชญา ตอนที่ได้เรียนวิชาปรัชญาเบื้องต้น ซึ่งนิสิตปี 1 ต้องเลือกเรียนระหว่าง ปรัชญา / ศาสนา ทุกคน แต่อยากให้ข้อมูลไว้เล็กน้อย ว่าภาควิชาปรัชญานั้น มีพี่ๆ ที่ตั้งใจเข้ามาเรียนในระดับปริญญาโทเยอะพอสมควรทีเดียว อย่างไรก็ตาม ไม่เคยถามเหตุผลของพวกเขาเหมือนกัน สิ่งนึงที่เชื่อคือ คนจะเรียนเอกปรัชญา ไม่ได้มาจากการเลือกเรียนอย่างอื่นแน่นอน ดิฉันคิดว่าคุณต้องปรับตัวอีกเยอะ หากคิดจะสนใจเรียนปรัชญา แต่ยังคิดว่าคนเรียนปรัชญาเป็น "คนผิดหวังจากเอกอื่น และเลือกไม่ได้" แบบนี้ค่ะ
5. แนวความคิดและมุมมอง ในการเรียนการสอนวิชาในภาคปรัชญา ของอาจารย์ที่นี่เป็นอย่างไร
เนื่องจากไม่เคยมีโอกาสได้ไปเรียนปรัชญาที่อื่น เวลามีการสัมมนาร่วมก็ไม่เคยเข้าร่วม จึงไม่มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดกับผู้คนจากปรัชญาในสำนักการศึกษาอื่นค่ะ ขออนุญาตไม่ให้ความเห็นเชิงเปรียบเทียบระหว่างปรัชญาที่นี่กับปรัชญาที่อื่นแล้วกันนะคะ
ส่วนการเรียนการสอนที่นี่ ดิฉันไม่สามารถตอบได้ว่า โบราณหรือสมัยใหม่ ค่ะ เพราะดิฉันไม่เข้าใจว่า โบราณ/สมัยใหม่ สำหรับคุณ หมายความว่าอย่างไร
ถ้าหมายถึงเชิงความใหม่ของเนื้อหา ก็ต้องบอกว่า การเรียนแค่ 4 ปี นิสิตไม่สามารถได้อะไรมากมายนักหรอกค่ะ เมื่อเริ่มเรียน ก็ต้องเริ่มจากกระแสปรัชญาโบราณ กว่าจะเรียนถึงสมัยใหม่ หลังสมัยใหม่ ก็จบปี 4 ก่อนนู่นแหละค่ะ ไม่เรียนปริญญาโทต่อ ก็หาอ่านต่อเอาเองนะคะ
แต่ถ้าหมายความถึง โลกทัศน์/มุมมอง ของผู้สอน ต้องบอกว่า อาจารย์ที่นี่ ไม่ว่าตัวท่านเองจะมีความเชื่ออย่างไร ผู้เรียนจะไม่ถูกชักจูงค่ะ คณาจารย์ทุกท่าน ไม่ว่าจะมีรูปแบบการสอนแบบใด นิสิตจะได้รับเพียงการถ่ายทอดวิชา+ส่งเสริมให้ทบทวนวิเคราะห์ตนเองเท่านั้น นักปรัชญาคิดอย่างไร แนวความคิดนี้ว่าอย่างไร มีผู้ศึกษา แสดงเหตุผลคัดค้านไว้อย่างไรบ้าง ฯลฯ
6. เอกวิชาไหน เรียนยากที่สุด ระหว่าง ปรัชญา ภาษาไทย และภาษาฝรั่งเศส
ข้อนี้ ดิฉันขออนุญาตไม่ตอบนะคะ หากคุณคิดที่จะเลือกเรียนสิ่งใดสิ่งนึง เพียงเพราะมันง่าย อย่าดีกว่าค่ะ ดิฉันคิดว่าคุณไม่สามารถพบสิ่งง่ายๆ ในอักษรฯ จุฬาฯ หรอกค่ะ ในแต่ละสาขาวิชา มีทั้งวิชาบังคับ-วิชาเลือก ที่ง่ายและยากสลับกันไป ทุกๆ ภาควิชาเขาคิดมาแล้วค่ะ ว่าการเรียนสิ่งเหล่านี้ ต่อให้ไม่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ แต่ก็ช่วยฝนลับนิสิตทุกคนให้มีความรู้คิดที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นได้
ต่อให้เป็นวิชาที่ง่ายแค่ไหน หากคุณไม่รู้สึกดีกับการเรียน มันย่อมยาก หากคุณรักในวิชาไหน ต่อให้มันยาก แต่คุณก็จะมีความสุขกับการเรียนเอง
ดิฉันขอเสริมอีกนิด ที่ผ่านมาดิฉันใช้ transcript เอกปรัชญา เกรดเฉลี่ยไม่ดีเท่าไร ในการสมัครงาน แน่นอนว่ามันลำบาก (มาก) ที่จะตอบคำถามที่ว่า "ความรู้ของคุณจะดีต่อองค์กรของเราอย่างไร?" ส่วนตัวเอง จนปัจจุบัน ก็ยังไม่สามารถตอบคำถามนี้ในแบบที่คนเหล่านั้นฟังแล้วเข้าใจได้ แต่ขอให้เชื่อว่า เมื่อคุณภูมิใจในสิ่งที่ตนเองเป็น ภูมิใจในสิ่งที่คุณคิด องค์กรใดๆ ที่เปิดโอกาสรับคุณเข้าไป จะได้รู้เองว่าคุณ "จำเป็น" ต่อองค์กรของเขาแค่ไหนค่ะ
จากคุณ |
:
เอกปรัชญามีงานทำ (hippogift)
|
เขียนเมื่อ |
:
21 เม.ย. 55 10:11:59
|
|
|
|
 |