Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ขอความช่วยเหลือด้านวิชาการครับ แปลเอกสารเป็นภาษาอังกฤษ 1 หน้า ติดต่อทีมงาน

พอดีจำเป็นต้องอ้างอิงบทความภาษาไทยของอาจารย์ และต้องใช้เป็นภาษาอังกฤษแบบเร่งด่วนครับ ไปถามที่ร้านแล้วใช้เวลา 1 สัปดาห์ / ถ้าใครพอกรุณามีความขำนาญด้านการแปลเอกสาร จึงขอความกรุณาด้วยครับ ขอบพระคุณมากครับ

"อย่างไรก็ตาม ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นที่ว่างสาธารณะของไทยอย่างแท้จริงและเป็นระบบนั้นมีอยู่น้อยมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากเหตุผลที่ว่าคนไทยโดยเฉพาะคนในเมืองนิยมการสัญจรด้วยยานพาหนะเป็นหลัก ซึ่งนอกจากจะสวนทางกับแนวคิดเมืองประหยัดพลังงานแล้ว การสัญจรด้วยยานพาหนะยังขัดแย้งกับวิถีการใช้พื้นที่ว่างสาธารณะเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากพื้นที่ว่างสาธารณะมีรูปแบบการใช้งานที่สอดคล้องกับวิถีของคนเดินเท้าเป็นหลัก นอกจากนี้ แนวคิดทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ว่างสาธารณะที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นของชาวตะวันตก หรือ “คนเมืองหนาว” ซึ่งมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตกลางแจ้งของคนเดินเท้าที่ต่างจากประเทศไทยเป็นอย่างมาก แนวคิดทางตะวันตกที่มีอยู่นั้น เน้นการให้นิยามความสำคัญในเชิงปรากฏการณ์นิยมเป็นหลัก กล่าวคือ มักสนับสนุนแนวคิดการสร้างพื้นที่สาธารณะให้สื่อสารความหมาย ความผูกพันความประทับใจ และเป็น “สถานที่” (place) มากกว่าเป็น “พื้นที่” (space) ธรรมดา (Norberg-Schulz, 1969, Relph, 1976) ด้วยเหตุนี้ ทำให้ความรู้ความเข้าใจเชิงพฤติกรรมในการ “สร้าง” พื้นที่ว่างสาธารณะให้เป็นพื้นที่ทางสังคมที่มีความเป็นอเนกประโยชน์มีอยู่ไม่มาก จึงไม่ปรากฏหลักการที่แพร่หลายถึง “สูตรสำเร็จ” ของการสร้างซ้ำมากนัก โดยเฉพาะสูตรสำเร็จที่มีหลักฐานอ้างอิงเพียงพอจากผลงานวิจัยภาคสนามที่เป็นระบบ ส่งผลให้พื้นที่ว่างสาธารณะที่สร้างขึ้นใหม่เป็นจำนวนมากถูกทิ้งร้าง เสื่อมโทรม ไม่มีผู้คนนิยมเข้าใช้ รวมทั้งไม่สามารถพิทักษ์รักษาพื้นที่เก่าไว้ให้ดีเช่นเดิมได้ ยิ่งไปกว่านั้น การเลียนแบบแนวคิดการสร้างพื้นที่ว่างสาธารณะอย่างตะวันตกในเมืองไทยโดยขาดความเข้าใจและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ถึงความต่างบริบท ทำให้พื้นที่ไม่เป็นที่นิยมของคนไทย เช่น โล่ง-ร้อนเกินไป เข้าถึงยากจากจุดจอดรถโดยสารสาธารณะ หรือดูแปลกแยกผิดฝาผิดตัวจากผู้ใช้ ไม่สอดคล้องกับพฤติกรรม และวิถีชีวิตสังคมเมืองของคนไทยอย่างแท้จริง
แนวคิดแบบพฤติกรรมนิยมที่สำคัญของการสร้างพื้นที่ว่างสาธารณะที่ดีในแบบตะวันตกนั้น มักเป็นแนวคิดในเชิงพฤติกรรมสัมพันธ์สัณฐาน (behavior-related spatial configuration)โดยเฉพาะพฤติกรรมของ “คนเดินเท้า” (pedestrians) ซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐานหลักของการลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงในเมือง และด้วยเชื่อว่าคนเดินเท้าที่สัญจรโดยอิสระเท่านั้นที่สามารถสร้างชีวิตสังคมเมืองที่สมบูรณ์แบบและยั่งยืนที่สุดได้ (Jacobs, 1961, Hillier, 1993) แนวคิดดังกล่าวมีพื้นฐานอยู่ว่า พฤติกรรมการใช้พื้นที่ของคนเดินเท้า ทั้งรูปแบบพฤติกรรมการสัญจร (movingbehavioral pattern) และรูปแบบพฤติกรรมการจับจองพื้นที่ (static behavioral pattern) นั้นได้รับอิทธิพลโดยตรงจากรูปทรงและการจัดวางตัวของพื้นที่นั้นๆ (form and configuration ofspace) (Hillier and Hanson, 1984) ด้วยลักษณะรูปทรงและการจัดวางตัวของพื้นที่ที่แตกต่างจะทำให้ทัศนียภาพในการมองเห็นของคนที่อยู่ในพื้นที่แตกต่างกันออกไปด้วย
ผลการศึกษาเน้นให้เห็นถึงประเด็นความแตกต่างของการใช้พื้นที่ว่างสาธารณะของไทยกับตะวันตกอย่างชัดเจน กล่าวคือ ในเมืองหนาวอย่างประเทศตะวันตกนั้น นิยมการใช้พื้นที่ “โล่ง” เป็นพื้นที่ทางสังคมที่สำคัญ เนื่องจากผู้คน “โหยหา” แสงแดดเพื่อสร้างความอบอุ่น คนเดินเท้าอาจต้องพึ่งพาสนามทัศน์เป็นสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมการสัญจรเพื่อเข้าถึงและเพื่อผ่านพื้นที่ ตลอดจนทำกิจกรรมอื่นๆกล่าวได้ว่า ทั้งคน “ใน” และ “นอก” พื้นที่ ที่มีความคุ้นเคยกับพื้นที่ในระดับที่แตกต่างกัน ล้วนเลือกเส้นทางหรือพื้นที่ในลักษณะเดียวกัน คือ การมองหาพื้นที่โล่งหรือพื้นที่ที่มีสนามทัศน์ที่กว้างไกลในการกำหนดเส้นทางหรือจุดทำกิจกรรมของตนเองในขณะที่เมืองไทยซึ่งเป็นเมืองร้อนนั้น ชุมชนในเมืองที่มีความแออัดหนาแน่น มักมีปัญหาจราจร ตลอดจนมีสภาพแวดล้อมของการใช้ยานพาหนะเป็นหลักนั้น ไม่นิยมการใช้พื้นที่โล่งเป็นพื้นที่ทางสังคมของชุมชน โดยเฉพาะพื้นที่ดาดแข็งขนาดใหญ่ หรือพื้นที่ทางเท้าริมถนนสายหลักขนาดใหญ่ที่มีการจราจรคับคั่งหนาแน่น ซึ่งล้วนมีสนามทัศน์ที่ดี มีแต่คน “นอก” ที่ไม่มีความคุ้นเคยกับพื้นที่เท่านั้น เช่น นักท่องเที่ยว ที่ยังต้องพึ่งพาสนามทัศน์ในการสัญจรและทำกิจกรรม เนื่องจากสามารถสร้างความเข้าใจในพื้นที่ได้ง่ายกว่า จากการมองเห็นที่อื่นๆ ที่ต่อเนื่องรอบทิศทางจากจุดที่ยืนอยู่ แต่หากมีความคุ้นเคยพื้นที่เป็นอย่างดีแล้ว เช่น คนในชุมชนเอง กลับมีแนวโน้มที่จะเลือกใช้ “ซอยลัด” ที่มีลักษณะเป็นตรอกหรือทางเดินเท้าเล็กๆ ในชุมชน ที่ลัดเชื่อมต่อเป็นโครงข่ายภายในที่รู้กันเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ในการทำกิจกรรมทั้งสัญจรและเป็นพื้นที่ทางสังคมพื้นที่เหล่านี้ มักมีสัณฐานที่คับแคบ ยานพาหนะเข้าถึงได้ไม่สะดวก หรืออีกนัยหนึ่ง มีสนามทัศน์ที่จำกัด แต่มีร่มเงาต่อเนื่อง เกิดเป็นลักษณะของการใช้ “พื้นที่เล็กๆ” เป็นกระเปาะของกิจกรรมต่างๆเกาะตัวเชื่อมกันเป็นแนวยาวตามถนนซอยภายใน เป็นพื้นที่ปะทะสังสรรค์อย่างไม่มีพิธีรีตองของผู้คนในชุมชน โดยพื้นที่เหล่านี้ ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นพื้นที่ที่ถูกออกแบบเป็นพื้นที่ว่างสาธารณะโดยเฉพาะแต่อย่างใด ไม่มีการใช้พลังงานเชื้อเพลิงของยานพาหนะ เครื่องปรับอากาศ ฯลฯ มีแต่การเดินเท้า ร่มเงาจากชายคาอาคาร ต้นไม้ เป็นพื้นที่ทางสังคมขนาดเล็กๆ ที่มีชั้นเชิงในการเชื่อมต่อของมุมมองจากพื้นที่สู่พื้นที่
เป็นที่น่าสนใจและอาจเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ที่คุณลักษณะของพื้นที่สาธารณะแบบไทยไทยตามแนวคิดของขวัญสรวง อติโพธิ อีกสองประการ อันได้แก่ ลักษณะของพื้นที่ที่เอื้อต่อการ “นั่งพื้น” และมีความผูกพันกับน้ำ ที่ไม่ได้มีโอกาสทำการศึกษาในวิทยานิพนธ์ทั้งสองฉบับนี้ จะถูกทำการสืบค้นต่อไปโดยผู้วิจัย โดยมีความคาดหวังว่า ความรู้เกี่ยวกับพื้นที่ทางสังคมของไทยในศาสตร์ของการวางผังเมืองจะมีสมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไปในที่สุด

บทความนี้ดัดแปลงจากเอกสารวิชาการซอยลัดประหยัดพลังงาน:พื้นที่ว่างสาธารณะขนาดเล็ก-พื้นที่ทางสังคมของชุมชนไทย. วาทกรรมของเมืองผ่านโครงสร้างเชิงสัณฐาน. เอกสารวารสารวิชาการ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ไขศรี ภักดิ์สุขเจริญ, 2008.
"

จากคุณ : mimura_pirateX
เขียนเมื่อ : 22 เม.ย. 55 23:24:35




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com