 |
นี่ก็เป็นปรากฏการณ์ปกติของทุนนิยม คือ ปลาใหญ่กินปลาเล็กด้วยการขยายกิจการไปทำกำไรในที่ซึ่งคนเล็กกว่าเคยทำกำไรมาก่อน ดังนั้น ในทุกวันนี้สายส่งเดิมก็ล้มหายตายจากหรือกำลังล้มหายตายจาก ส่วนร้านและแผงหนังสือและร้านหนังสือก็ร่วงโรยจนแทบจะหาไม่ได้อีกแล้ว นอกจากร้านของสำนักพิมพ์ใหญ่ในห้างต่างๆ
สำนักพิมพ์ใหญ่อ้างว่า ต้องขอกินดิบ 1 เปอร์เซ็นต์ในการจัดจำหน่าย ก็เพราะร้านหนังสือของตนซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศนั้นต้องมีภาระกระจายหนังสือจากสายส่ง (ซึ่งก็อยู่ในบริษัทเดียวกัน) ไปทั่วทุกร้าน อันเป็นภาระต้นทุนที่สูง พูดอีกอย่างหนึ่งคือร้านหนังสือซึ่งเป็นธุรกิจลูกของบริษัทมีต้นทุนสูงขึ้น แต่สายส่งซึ่งเป็นธุรกิจลูกของบริษัทเหมือนกัน มีภาระลดลง ฉะนั้นหากคิดถึงกำไรของบริษัททั้งบริษัท ก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างไร
แต่หลักการของการทำธุรกิจในปัจจุบันบังคับให้คนไปคิดว่า หน่วยธุรกิจย่อยของบริษัททุกหน่วย ต้องทำกำไรเพิ่มขึ้นตลอด แม้ว่าธุรกิจย่อยล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างแยกจากกันไม่ออกก็ตาม (ยังจำคำขวัญของเสี่ยได้ไหม-โตแล้วแตก แตกแล้วโต)
สำนักพิมพ์เล็กๆ จึงเดือดร้อนกับการกินดิบ 1% (จ่ายโดยไม่มีคืน ไม่ว่าจะขายหนังสือได้หรือไม่) เพราะไปเพิ่มราคาปกได้ไม่สะดวกนัก เนื่องจากหนังสือของตนไม่มีทุนโฆษณาเหมือนหนังสือของสำนักพิมพ์ใหญ่ มีแต่ยอดขายจะลดลงเท่านั้น ซึ่งก็อาจจะดีแก่สำนักพิมพ์ใหญ่ด้วยซ้ำ เพราะสำนักพิมพ์เล็กซึ่งเป็นปลาซิวปลาสร้อยจะได้ล้มหายตายจากไปเสียที ไม่สามารถมาตอดแข้งตอดขาให้รำคาญอีกต่อไป
ดำเนินการแข่งขันเสรีตามคาถาของทุนนิยมไปจนถึงที่สุดแล้ว ย่อมนำไปสู่อำนาจผูกขาดที่เหนือกว่าอำนาจรัฐ อันถือเป็นสรวงสวรรค์ของนายทุนทั่วโลก
ด้วยเหตุดังนี้แหละครับ ที่เมื่อผมได้ยินข่าวนี้ จึงคิดถึงตลาด (ที่ขายของ) บนอินเตอร์เน็ตขึ้นมาทันที
ตลาด หรือพื้นที่ซึ่งคนใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันนั้น แม้ว่าจะมีเพิ่มมากขึ้นในเมืองไทยอย่างมาก แต่กลับเป็นพื้นที่ซึ่งคนเล็กคนน้อยถูกกีดกันออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ คนส่วนใหญ่ซึ่งพอจะผลิตอะไรไปซื้อขายแลกเปลี่ยนได้บ้าง เข้าไม่ถึงตลาด
ในซอยบ้านผมเมื่อยังเป็นเด็กนั้น จะมีแม่ค้าหาบขนมเดินผ่าน พร้อมร้องตะโกนบอกสินค้าแล้วลงท้ายว่า "แม่เอ๊ย" เกือบทั้งวัน เย็นตาโฟที่อร่อยที่สุดในชีวิตก็มาจากซาเล้งที่เขาถีบเข้ามาขายตอนใกล้เที่ยง กระเพาะปลาที่อร่อยที่สุดในชีวิตก็มาจากหม้อทองเหลืองขัดเงามันวาว ที่พ่อค้าจีนหาบมาขายทุกวันเหมือนกัน
ในตอนนั้น ถนนก็คือ "ตลาด" ที่ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงได้
ต่อมารถยนต์ก็ไล่ตลาดออกไปจากถนน ต้องร่นขึ้นไปบนทางเท้า และต่อมา คนเล็กคนน้อยก็ถูกเบียดขับออกไปจากตลาดบนทางเท้า
ในปัจจุบันนี้ เราก็ยังสามารถหาอาหารหรือสินค้าแบบนั้นได้อยู่ใน "ตลาด" (ซึ่งก็มักอยู่บนทางเท้านั่นเอง) แต่ "ตลาด" ของปัจจุบันไม่ได้เปิดเสรีให้แก่ใครที่มีสินค้าจะขายเสียแล้ว เพราะต้องจ่ายค่าพื้นที่ในตลาด (แม้แต่เป็นพื้นที่สาธารณะ) ในราคาที่ค่อนข้างสูง จนกระทั่งคนเล็กคนน้อยที่พอมีทุนและฝีมือผลิตสินค้าได้ ไม่สามารถเข้าถึงเพราะต้นทุนและความเสี่ยงสูงเกินไป
ในเมืองไทยปัจจุบัน ซึ่งคนเกือบ 100% ไม่ได้อยู่ในเศรษฐกิจยังชีพแล้ว แค่ทำให้คนเข้าถึงตลาด (ในความหมายตรงไปตรงมา คือพื้นที่สำหรับซื้อขายแลกเปลี่ยน) ได้ง่ายขึ้น ก็จะเพิ่มรายได้แก่คนจำนวนมาก และเพิ่มอำนาจต่อรองให้แก่คนเล็กคนน้อยอีกมหึมา
โครงการพระราชดำริก็ตาม โอท็อปก็ตาม จะมองว่าสำเร็จก็ได้ ล้มเหลวก็ได้ แล้วแต่จะมองจากมุมไหน แต่ข้อหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ โครงการเหล่านี้ทำให้สินค้าของชาวบ้านสามารถเข้าถึง "ตลาด" ได้กว้างขวางขึ้น (ตลาดทั้งในความหมายรูปธรรมและนามธรรม) ส่วนการเข้าถึงตลาดดังกล่าวนี้ จะยั่งยืนหรือไม่เพียงใด เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
แต่ท่ามกลางการกีดกันมิให้คนเล็กคนน้อยเข้าถึงตลาด ก็เกิดช่องทางการสื่อสารแบบใหม่คือ อินเตอร์เน็ตขึ้น อินเตอร์เน็ตเป็นพื้นที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนที่ใหญ่มาก และนับวันก็จะใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ซ้ำมีอุปสรรคที่ขัดขวางการเข้าถึงไม่สู้จะมากนัก และอุปสรรคที่มีอยู่สามารถแก้ไขได้ง่ายนิดเดียว เช่นการเพิ่มความเร็วในการดาวน์โหลดหรืออัพโหลดเท่านั้น อันเป็นเทคนิควิทยาซึ่งเขารู้และทำกันทั่วโลกอยู่แล้ว
สำนักพิมพ์และร้านหนังสือเล็กๆ น่าจะรวมหัวกันสร้างตลาดของหนังสือตนในอินเตอร์เน็ต ความจริงเวลานี้ก็มีผู้พยายามทำอยู่แล้วในนามของ "ร้านหนังสือบ้านเกิด" น่าจะขยายกิจการประเภทนี้ให้สามารถทำงานทั้งในแง่จัดจำหน่าย สายส่ง และร้านหนังสือได้ด้วย ใช้พื้นที่บนอินเตอร์เน็ตในการแนะนำหนังสือ อาจร่วมมือกับนักเขียนที่ชอบวิจารณ์หนังสือ เปิดนิตยสารปริทรรศน์หนังสือออนไลน์ขึ้น เชื่อมโยงกับ "ตลาด" ของตนซึ่งมีอยู่แล้ว หากสามารถรวมตัวร้านหนังสือเล็กๆ (ซึ่งอาจเข้ามาถือหุ้นร่วมกัน) ขายบริการสายส่งให้กว้างขวาง ก็จะลดความจำเป็นต้องพึ่งพาสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ลงได้เป็นสัดส่วนอักโขอยู่ หากกำไรของหนังสือยังได้จากส่วนอื่น ก็อาจลดราคาปกในร้านของตนลงได้ ทำให้แข่งกับร้านหนังสือตามห้างได้ด้วย
โอกาสนั้นแยะมากบนอินเตอร์เน็ต เพราะนี่คือตลาดที่ให้ความเสมอภาค (พอสมควร) แก่คนเล็กและคนใหญ่ ไม่ใช่เพียงขายหนังสือเท่านั้น แต่ขายอะไรอื่นๆ ได้อีกมาก โดยมีโสหุ้ยต่ำ (ถ้าขายได้) เพียงแต่ว่าหนังสือเป็นสินค้าที่เหมาะสำหรับตลาดประเภทนี้มากกว่าขนมครก
แต่ก็เหมือนตลาดทั่วไป ต้องมีอำนาจรัฐเข้ามาจัดระเบียบด้วย เช่นเดียวกับในตลาดทุกประเภทย่อมมีผู้ร้าย นับตั้งแต่จี้ปล้นไปจนถึงเบี้ยวสินค้าหรือเบี้ยวไม่จ่ายราคาสินค้า รัฐต้องเข้ามาทำให้อินเตอร์เน็ตเป็นตลาดที่ปลอดภัยแก่การซื้อขายแลกเปลี่ยน ประสิทธิภาพของตลาดไม่ได้อยู่ที่ความเร็วของการสื่อสารเพียงอย่างเดียว ยังต้องมีกฎระเบียบและการดูแลตามกฎระเบียบให้ผู้ร้ายหากินได้ยาก ถึงเล็ดลอดทำได้สำเร็จ ก็ต้องถูกจับกุมและลงโทษตามกฎหมาย
เพียงพัฒนาอินเตอร์เน็ตให้เป็นตลาดที่มีประสิทธิภาพ ก็เปิดโอกาสให้คนเล็กคนน้อยในประเทศไทยได้เข้าถึงตลาดอีกมาก และแน่นอนทำให้รายได้ของเขาเพิ่มขึ้น หรือบางกรณีถึงกับมีอาชีพแน่นอนมั่นคงขึ้นมาได้ด้วย
แต่รัฐไทยมองอินเตอร์เน็ตอยู่มิติเดียวคือความมั่นคง (ซึ่งแปลว่าอะไร ก็แล้วแต่ผู้มีอำนาจจะสั่งให้มีความหมายอย่างไร) ฉะนั้นบทบาทของรัฐในสังคมออนไลน์จึงมีเพียงอย่างเดียว คือคอยดูว่าใครใช้ช่องทางนี้ในการ "ล้มเจ้า", ใครใช้ช่องทางนี้ในการล้มรัฐบาล (ซึ่งแปลว่ากลุ่มคนที่กุมอำนาจอยู่), ใครใช้ช่องทางนี้ในการทำให้อำนาจของคนที่มีอำนาจอยู่แล้วสั่นคลอนบ้าง
ที่เหลือบนอินเตอร์เน็ตก็ตัวใครตัวมัน กลายเป็นที่ปล้นสะดม, ต้มตุ๋น, ปลอมแปลง, ขู่กรรโชก ฯลฯ กันตามสะดวก จนไม่อาจพูดได้เลยว่าเป็น "ตลาด"
ยุบกระทรวงไอซีทีไปเลยไม่ดีกว่าหรือ เพราะเป็นกระทรวงที่ไม่คุ้มค่าที่สุด มีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกลุ่มเดียว (ซึ่งไม่ต้องใช้เงินงบประมาณสักแดงเดียว) ก็สามารถรักษาความมั่นคงได้แล้วล่ะ
จากคุณ |
:
Anemone2526
|
เขียนเมื่อ |
:
13 ส.ค. 55 13:52:29
|
|
|
|
 |