พระเจ้านยองยาน มีนามเดิมว่า Thitsa (เต๊ะสะ?) หรือมีปรากฏเรียกว่าเมงเยนันดะเมี๊ยก เป็นโอรสของพระเจ้าบุเรงนองกับ นาง Khin Pyezon(เกงปเยสอน?) ซึ่งเป็นสามัญชน พระราชสมภพประมาณ พ.ศ.๒๑๐๐ อ่อนกว่าสมเด็จพระนเรศวรราวปีสองปี
สมมติจะเชื่อว่าตอนที่สมเด็จพระนเรศวรตอนยังเป็นองค์ประกันทรงได้รับการเลี้ยงดูพร้อมกับเจ้านายพม่าหลายองค์ก็อาจจะมีโอกาสรู้จักกันได้
ระบอบการปกครองของหงสาวดีเป็นรูปแบบการส่งเจ้านายองค์ต่างๆไปครองเมือง ซึ่งเมืองที่ได้ครองก็หล่นหลั่นกันตามฐานะ นยองยานเป็นชื่อเมืองเล็กๆเมืองนึง เจ้านายที่ส่งไปครองเมืองนี้เลยเรียก พระเจ้านยองยาน(Nyaungyan Min) ยศนี้ยังมีปรากฏใช้ในสมัยพระเจ้ามินดงอยู่
ไม่ปรากฏบทบาทของพระองค์ในช่วงต้นมากนักเพราะคงอยู่ในฐานะโอรสที่ไม่มีความสำคัญเท่าไหร่ หัวเมืองสำคัญอย่างอังวะหรือแปรก็อยู่ใต้ปกครองของโอรสพระเจ้านันทบุเรง
หลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จมาตีหงสาวดีครั้งแรกใน พ.ศ.๒๑๓๘ แต่ไม่สำเร็จจึงทรงถอยกลับไปก็เกิดความวุ่นวายในหงสาวดีขึ้น พระเจ้าแปรหาเหตุไปตีเมืองตองอูแต่ไม่สำเร็จเลยแยกตัวเป็นอิสระไม่ขึ้นกับหงสาวดีอีกแล้วยึดหัวเมืองใกล้ๆไปถึงพุกามไว้ได้หมด บวกกับภัยธรรมชาติอีก ทำให้พระเจ้านันทบุเรงกลัวว่าจะมีเมืองอื่นแข็งเมืองอีก จึงส่งหนังสือไปให้เมงเยตีหตูพระเจ้าตองอู นรธาเมงสอพระเจ้าเชียงใหม่ กับพระเจ้านยองยาน ให้ส่งช้างสำคัญกับโอรสมาเป็นตัวจำนำอยู่ในหงสาวดี
การทำแบบนี้กลับเป็นการทำให้เมืองเหล่านั้นรู้สึกว่าถูกบีบคั้น พระเจ้าตองอู พระเจ้าเชียงใหม่จึงไม่ยอมทำตาม พากันแยกตัวเป็นอิสระ(พระเจ้าเชียงใหม่มาสวามิภักดิ์ต่ออยุทธยา) ส่วนพระเจ้านยองยานยอมส่งพระโอรสกับช้างไปตามคำสั่ง แต่ก็เอาดินพูนกำแพงป้องกันเมืองไว้มั่นคง ระหว่างนั้นได้มีพระสงฆ์ถวายพระพรว่าพระองค์จะได้เป็นกษัตริย์ในวันหน้า
ต่อมาพระเจ้าตองอูร่วมมือกับยะไข่ตีหงสาวดีได้ แล้วเผาเมืองพินาศ พาเสด็จพระเจ้านันทบุเรงหนีไปตองอูจนสิ้นพระชนม์ที่นั่น ประมาณ พ.ศ.๒๑๔๐ ก็เป็นช่วงที่พระเจ้านยองยานเริ่มสร้างฐานอำนาจขึ้น ในหัวเมืองใกล้ๆเมืองนยองยานก่อน เสด็จขึ้นไปตีอังวะราชธานีเก่าของพม่าและในตอนนั้นว่างกษัตริย์อยู่ จึงสถาปนาพระองค์เป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่าพระเจ้าสีหสุระมหาธรรมราชาใน พ.ศ.๒๑๔๒ พระราชพงศาวดารพม่าเปรียบพระองค์เป็น พระมหาสมมติราช เป็นผู้ที่ราษฏรเลือกให้ปราบทุกข์เข็ญของสภาพบ้านเมืองตอนนั้นที่เป็นกลียุค
พระองค์แผ่ขยายอำนาจในแถบพม่าตอนเหนือจนยิ่งใหญ่ได้ รวมถึงแผ่ขยายอำนาจไปถึงรัฐฉานอีกด้วย อีกทั้งขุนนางหงสาวดีก็หลบหนีไปพึงบารมีพระองค์ที่อังวะอยู่มาก
จนใน พ.ศ.๒๑๔๗ พระเจ้าอังวะเสด็จไปตีแสนหวีที่ขึ้นกับกรุงศรีอยุทธยาในเวลานั้น ทำให้สมเด็จพระนเรศวรต้องเสด็จยกทัพไปตีแต่ไม่สำเร็จ สมเด็จพระนเรศวรสวรรคตในเดือน ๖ พ.ศ.๒๑๔๘ ส่วนพระเจ้านยองยานก็สวรรคตเหมือนกันในเขตแดนไทยใหญ่ในวันศุกร์ที่ ๓ มีนาคม พ.ศ.๒๑๔๘ ขณะมีพระชนมายุ ๔๙ พรรษา
(ลองคิดเล่นๆ ตามพงศาวดาร(เพราะอาจจะไม่ตรงกับค.ศ.) ดาวหางฮัลเลย์มาใน พ.ศ.๒๐๗๒ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ สวรรคต ลองเอา ๒๐๗๒+๗๖ จะได้ พ.ศ.๒๑๔๘ แล้วปีนี้ก็มีพระมหากษัตริย์สิ้นถึงสองพระองค์ น่าคิดนะครับ)
จากคุณ |
:
ศรีสรรเพชญ์ (Slight06)
|
เขียนเมื่อ |
:
18 ก.ย. 55 18:54:18
|
|
|
|