Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ต.น้ำคำ"ชุมชนรักการอ่าน" เสริมปัญญา..พัฒนาทั้งครอบครัว ติดต่อทีมงาน

ต.น้ำคำ"ชุมชนรักการอ่าน" เสริมปัญญา..พัฒนาทั้งครอบครัว

ประเทศไทย นำโดยกรุงเทพมหานคร กำลังจะเข้าสู่ “นครแห่งการอ่าน” ในปี พ.ศ.2556 นี้ แต่ในความเป็นจริง คนไทยส่วนใหญ่ยังขาดนิสัยรักการอ่าน ถึงขนาดมีคำกล่าวเชิงล้อเลียนว่า “คนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด” ส่งผลให้ระดับสติปัญญาโดยรวมของเด็กไทยต่ำลงเรื่อยๆ พร้อมๆ กับปัญหาใหม่คือการติดเกม ติดโทรทัศน์ ที่กำลังทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองต้องปวดเศียรเวียนเกล้าเพราะไม่รู้จะดูแลลูกหลานอย่างไร วันนี้สกู๊ปหน้า 5 จะพาไปดูโครงการดีๆ ที่ไม่เพียงแต่ได้ผลกับเด็กๆ เท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อพัฒนาการทางการเรียนรู้ของผู้ปกครองควบคู่กันไปด้วย

การอ่านเพื่อ ‘พัฒนาสมอง’

“ตอนแรกเราก็สงสัย กลุ่มเพื่อนๆ นิยมพกหนังสือไปอ่านเวลาไปตามที่ต่างๆ ทีนี้พอลองอ่านดู ก็เห็นว่าเกี่ยวข้องกับพัฒนาการเด็กโดยตรง ก็เลยลองมาทำดูว่าดีไหม ตอนเริ่มทำเราทำตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 3 ปี ทั้งหมดอยู่ 4 อำเภอไทยเจริญ กุดชุม เลิงนกทา คำเขื่อนแก้ว รวมถึงบางส่วนของอำเภอเมือง รวมๆ แล้วก็ราวๆ 100 ครอบครัว” เป็นคำบอกเล่าจาก ณัฐิยา ผลขาว นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ รพ.สต.หนองคูน้ำ ต.น้ำคำ อ.ไทยเจริญ จ.ยโสธร ถึงที่มาที่ไปของโครงการดังกล่าว ซึ่งในระยะแรกๆ นั้นก็ไม่ได้ง่ายนัก เพราะผู้ปกครองยังไม่ค่อยเข้าใจ ซึ่งต้องประสานให้เจ้าหน้าที่ อสม. เข้าไปชักชวน

คุณณัฐิยา เล่าต่อไปว่า แต่เมื่อเริ่มโครงการไปพักใหญ่ๆ กลายเป็นว่าเด็กที่ผู้ปกครองเข้าร่วมโครงการ กลายเป็น “เด็กติดหนังสือ” ถึงขนาดว่าบางคนถ้าไม่อ่านให้ฟังก็จะไม่นอน ถึงแม้จะไม่ค่อยเข้าใจเนื้อหา แต่ก็มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ระบุว่าช่วงอายุ 0-3 ปี หากได้รับการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง ก็จะเป็นการเพิ่มรอยหยักในสมอง ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการทางสติปัญญาของตัวเด็กในอนาคต “หลักๆ ที่เห็นคือเด็กเหล่านี้ จากเด็กซนๆ ก็จะมีสมาธิ คือนิ่งขึ้น และความจำก็ดีขึ้นด้วย เด็กหลายคนที่เข้าอนุบาล เข้ามา 2-3 ปีแล้ว สิ่งที่ต่างออกไปคือเด็กกลุ่มนี้ความจำดีขึ้น เขียนหนังสือลายมือดีขึ้น แม้ไม่ได้ถึงกับดีเลิศแต่ก็ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด อย่างน้อยๆ ก็ไม่ต้องเคี่ยวเข็ญให้ทำการบ้านเพราะเด็กมีนิสัยรักหนังสือ ติดหนังสือ แค่นี้ผู้ปกครองก็ดีใจแล้ว”

โดยตัวอย่างพัฒนาการของเด็กที่มีความแตกต่างจากแต่ก่อนหลายประการ เช่น การแยกแยะสี จากแต่เดิมต้องอายุ 5 ปี จึงแยกแยะได้ 12 สี แต่สำหรับเด็กที่เข้าร่วมโครงการแค่อายุ 2 ปีครึ่งก็แยกแยะ 12 สีดังกล่าวได้แล้ว เด็กอาจจะยังอ่านหรือสะกดคำไม่ได้ แต่ความจำโดยการจำจากภาพนั้นจำได้แล้ว หรือทักษะการสังเกต เด็กบางคนแยกแยะได้ระหว่างต้นหญ้าที่ต้นข้าว การแยกแยะเหรียญชนิดต่างๆ หลายคนมีความรู้รอบตัวมากขึ้น มีนิสัยกล้าแสดงออก กล้าพูดกล้าถาม และที่น่าสนใจ แม้กระทั่งความประพฤติของเด็ก ก็ดีขึ้นไปด้วย “เด็กเห็นพ่อแม่เก็บกับข้าว ล้างถ้วยล้างจาน ก็จะไปช่วยพ่อแม่ เพราะเมื่อเด็กเห็น เด็กก็จะจำไปโดยอัตโนมัติ ที่สำคัญเด็กไม่ติดทีวี. จะติดหนังสือหรือเล่านิทานให้ฟังมากกว่า ผู้ปกครองจะชอบมาก” ซึ่งทักษะเหล่านี้เป็นเรื่องของการจำ และทำซ้ำๆ อันมีผลมาจากที่พ่อแม่อ่านหนังสือซ้ำๆ ให้ลูกฟังเป็นประจำ

มีข้อซักถามว่าพ่อแม่ควรจะอ่านหนังสือให้ลูกฟังเวลาไหนบ้าง คำตอบนี้คุณณัฐิยากล่าวว่าไม่ตายตัว แม้ว่าแรกเริ่มที่ทำโครงการนี้คิดว่าน่าจะให้พ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังเวลาก่อนนอนก็ตาม แต่ด้วยวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ เช่น กลุ่มแม่บ้านที่จะมีงานมากในช่วงเช้า จะว่างก็ช่วงหลัง 10.00 น. ไปแล้วจนถึงเที่ยง ซึ่งเป็นเวลาที่เด็กจะตื่นพอดี ทำให้มีเวลาอ่านหนังสือให้ลูกฟังอย่างเต็มที่ ขณะที่บางครั้งที่เวลาเหลือ อาจจะอ่านให้ลูกฟังอีกรอบในช่วงก่อนนอน แต่โดยทั่วไปชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ทำให้ช่วงก่อนนอนอาจจะเหนื่อยจนไม่มีแรงจะอ่านได้ ซึ่งโครงการนี้บ้านไหนจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับความเอาใจใส่ของบ้านนั้นๆ “ครอบครัวไหนที่รักการอ่าน พ่ออ่าน แม่อ่าน อย่างมีครอบครัวหนึ่งพ่อชอบอ่านหนังสือ ไปเลี้ยงวัวควายก็พกหนังสือไปอ่าน ลูกสาวไปทำงานใน กทม. ก็ส่งหนังสือมาให้บ่อยๆ” คุณณัฐิยา กล่าว

‘ไม่ชอบอ่าน’ หรือ ‘ไม่มีให้อ่าน’

จากที่กล่าวไปข้างต้นถึงเรื่องที่ว่า “คนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด” ซึ่งหมายความกลายๆ ว่าคนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ ทำให้มีการถกเถียงกันอยู่เสมอว่าข้อความดังกล่าวเป็นจริงหรือไม่ ซึ่งในมุมมองของคุณณัฐิยา หลังจากที่ได้เริ่มโครงการนี้ไม่นาน นอกจากจะพบว่าเด็กมีพัฒนาการดีขึ้นแล้ว ยังได้พบข้อมูลที่น่าสนใจบางอย่าง คือหลายพื้นที่ห่างไกล หาหนังสืออ่านได้ยากมาก เรียกว่าไม่มีแม้กระทั่ง...หนังสือพิมพ์

“บางครอบครัว ไม่มีทั้งหนังสือพิมพ์ ปฏิทินก็ไม่มี เราบอกคนไทยไม่ชอบการอ่าน ก็เพราะเราไม่มีให้อ่าน ซึ่งนอกจากหนังสือพิมพ์แล้ว หนังสืออาชีพ หนังสือธรรมะ เหล่านี้ผู้ปกครองก็จะชอบอ่าน ทั้งที่แรกๆ ทำโครงการเน้นไปที่เด็กเท่านั้น” ซึ่งหลังจากนั้นก็กลายเป็นว่าไม่ใช่แต่เด็กที่เข้าร่วมโครงการ แม้แต่ชาวบ้านที่เป็นผู้ปกครองของเด็ก ก็พากันมาเข้าร่วมโครงการมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ตอนนี้ห้องสมุดชุมชนต้องจัดหาหนังสือที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งก็ได้ให้ความร่วมมืออย่างดีจาก กศน. ในพื้นที่ในด้านงบประมาณและการจัดหาหนังสือ โดยหนังสือแต่ละชุด จะถูกสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันอ่านไปเรื่อยๆ ทำให้แม้แต่ผู้ใหญ่บางคน จากที่อ่านไม่ค่อยได้ ก็กลายเป็นอ่านหนังสือได้คล่องขึ้นกว่าเดิมด้วย

“ปัญหาคือชาวบ้านไม่รู้เรื่องพัฒนาการของเด็ก อย่างเด็กในเมือง พ่อแม่อ่านหนังสือบ้าง เปิดเพลงให้ฟังบ้างตั้งแต่ลูกยังอยู่ในท้อง แต่ชาวบ้านไม่รู้ตรงนี้ แรกๆ ที่เราทำโครงการ ชาวบ้านหลายคนไม่เข้าใจ ก็มองว่าบ้าหรือเปล่า อ่านหนังสือให้เด็กตัวน้อยๆ พูดอ้อแอ้ๆ ฟังมันจะไปรู้เรื่องอะไร คือเขาไม่รู้ว่าเด็กอายุช่วงนี้จะ sensitive ต่อการเรียนรู้มากๆ” ซึ่งคุณณัฐิยา เล่าต่อเมื่อผู้เข้าร่วมโครงการรุ่นแรกๆ ทำแล้วลูกหลานสติปัญญาดีขึ้น ก็เลยกลายเป็นว่าพ่อแม่ที่ไม่ได้เข้าร่วมก็พาลูกมาเข้าร่วมไปด้วย

‘ทุกฝ่าย’ ต้องให้ความสำคัญ

“มี ผอ.โรงเรียนในพื้นที่ ก็ซื้อหนังสือเด็ก จำพวกหนังสือภาพไปให้เด็กอ่าน ถ้าเด็กเรียนอ่อน ก็ให้รุ่นพี่ๆ ที่อ่านได้คล่องช่วยอ่านให้ฟัง และเอาไปบูรณาการกับการเรียนการสอน คือมันสนุกกว่าอ่านหนังสือเรียน ซึ่งแก้ปัญหาเด็ก LD ได้ ล่าสุดปีนี้ก็ซื้อเพิ่ม และให้ชุมชนรวมถึงศูนย์เด็กเล็กรอบๆ มาใช้บริการได้ด้วย”

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผู้บริหารโรงเรียนในพื้นที่ดังกล่าวเห็นถึงความสำคัญของการอ่าน ซึ่งคุณณัฐิยากล่าวว่าโครงการส่งเสริมการอ่านในชนบทนี้จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง เพราะชนบทไม่เหมือนในเมืองใหญ่ๆ ที่มีร้านหนังสือมากมาย บางครั้งแม้คนจะมีเงิน แต่ก็ไม่รู้จะไปซื้อหนังสือที่ไหน

ถึงกระนั้นปัจจัยที่สำคัญที่สุดก็ยังอยู่ที่ทัศนคติของครอบครัว เพราะพ่อแม่หลายรายยังมีทัศนคติที่ไม่ค่อยจะใส่ใจกับพัฒนาการแต่ละวัยของบุตรหลานมากนัก โดยพ่อแม่มักจะฝากลูกไว้กับการเข้าโรงเรียน เชื่อว่าโรงเรียนเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่จะทำให้เก่งได้ พ่อแม่แค่หาเงินให้ลูกก็พอ หรือถ้าเรียนไม่ได้ก็ส่งไปเข้าโรงงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ค่อนข้างจะเปลี่ยนความคิดได้ยากมาก

“ความรักที่มีต่อลูก ทุกคนอยากให้ลูกเก่ง ลูกฉลาดอยู่แล้ว เราเองก็ไม่ได้ไปบอกว่ามันดี แต่โครงการมันตอบตัวของมันเอง มีตัวอย่างให้เห็นจริงๆ อย่างคนที่เคยมองว่าบ้าแน่ๆ ที่อ่านหนังสือให้เด็กฟัง คนนี้หลานคนแรกไม่ได้อ่าน แต่พอหลานคนแรกนี้ไปเล่นกับเพื่อนๆ วัยเดียวกัน เห็นเด็กคนอื่นมีพัฒนาการที่ดีกว่า ถามอะไรๆ ลูกตัวเองก็ไม่รู้แต่ลูกคนอื่นรู้หมด ก็เกิดการเปรียบเทียบ ก็ธรรมดา ด้วยความรัก เขาก็อยากให้ลูกฉลาด ทีนี้พอหลานคนที่ 2 เขาก็อ่านหนังสือให้ฟัง ก็เห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นของหลานตัวเอง” คุณณัฐิยากล่าวทิ้งท้าย

แม้จะมีการยืนยันทางวิทยาศาสตร์ว่าการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ตลอดจนการสร้างนิสัยรักการอ่านหนังสือจะเป็นการพัฒนาระบบคิด สติปัญญาของบุคคลให้ดีขึ้น แต่กลับพบว่าหลายพื้นที่ยังขาดแคลนหนังสือ ที่สำคัญที่สุดคือหนังสือที่เหมาะสมกับเด็กเล็กยังมีน้อยเกินไปในท้องตลาด สิ่งเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำให้เป็นวาระแห่งชาติ

เพื่อที่เยาวชนรุ่นใหม่จะได้มีวิจารณญาณที่ดี...เพื่อเป็นความหวังในการดูแลบ้านเมืองต่อไป

SCOOP@NAEWNA.COM

ที่มา :

http://www.naewna.com/scoop/27858

จากคุณ : Siam Shinsengumi
เขียนเมื่อ : 29 ต.ค. 55 20:40:14 A:204.45.133.74 X: TicketID:360979




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com