 |
ในฐานะที่จบหลักสูตรนี้มา แนะนำอย่างนี้นะครับ
ถ้าคุณไม่จำเป็นต้องใช้ปริญญาโทการแปลเพื่อต่อยอดไปทำอย่างอื่น เช่น สมัครเป็นอาจารย์ เรียนต่อปริญญาเอก หรือใช้เบิกทางไปทำงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องควบคู่กับความสามารถด้านการแปลที่มีอยู่แล้ว (สังคมไทยบ้าปริญญา) หรือไม่ได้ตั้งใจจะเรียนเพราะความชอบความสนใจศึกษาค้นคว้าการวิจัยด้านการแปลนอกเหนือจากการทำงานแปลทั่วไป
ไม่ต้องเรียนครับ
และถ้าคุณคิดว่าสามารถฝึกฝนเรียนรู้ทุกอย่างเองได้โดยสร้างความชำนาญจากงานที่ทำทุกวัน อย่างที่ท่านบนๆ ที่แนะนำมา
ก็ไม่จำเป็นต้องเรียนเช่นกัน
เอาเป็นว่าจะเล่าให้ฟังว่าหลักสูตรนี้เรียนอะไรกันบ้างคงพอได้แนวทางตัดสินใจ
ประมาณ 65% ของหลักสูตรจะเรียนทักษะการแปลจากตัวบทหลายประเภท เช่น การแปลข่าวสารคดี การแปลภาพยนตร์ การแปลธุรกิจ การแปลกฎหมาย การแปลวรรณกรรม การบรรณาธิการและทักษะการใช้ภาษาไทยสำหรับนักแปล เป็นต้น
อีกประมาณ 35% จะเรียนวิชาด้านทฤษฎีทางภาษาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการแปลเช่น discourse analysis, syntax, semantics, pragmatics, corpus linguistics, terminology เป็นต้น
ท้ายที่สุดคุณต้องมีผลงานวิชาการด้านการแปล 1 ฉบับ (วิทยานิพน์/สารนิพนธ์) ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่เพราะกว่าครึ่งหนึ่งของคนเรียนในแต่ละรุ่นจะหมดไฟถอดใจกันไปซะก่อน เพราะมันไม่ได้สนุกสุขใจเหมือนการเรียนวิชาทักษะหรือทำงานแปลทั่วไปแต่อย่างใด คุณต้องตั้งปัญหาวิจัย ค้นคว้าอ้างอิงทฤษฎีสารพัดสารพัน และพิสูจน์ให้เห็นว่ามันนำมาแก้ไขปัญหาในการวิจัยของคุณได้ยังไงนอกเหนือจากที่คุณต้องหาคำตอบให้แก่สมมุติฐานวิจัยที่ตั้งไว้อีกต่างหาก กระบวนการนี้กินเวลาและพลังงานคุณมากถึงมากที่สุด หลายคนเอาเวลาทำตรงนี้ไปทำงานแปลหาเงินได้มากมายจนไม่เห็นความจำเป็นต้องหันกลับมาทำให้เสร็จ
จากที่เล่ามาจะเห็นได้ว่าใครก็สามารถเป็นนักแปลที่เก่งๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านตรงนี้เลย แต่เพราะเงื่อนไขในการได้มาซึ่งปริญญาโทมหาบัณฑิตซึ่งที่ไหนๆ ก็ต้องลากคุณเข้าไปเอี่ยวกับความเป็นวิชาการไม่มากก็น้อย ถ้าไม่ชอบหรือไม่อดทนไม่พากเพียรกับมันเพียงพอ ก็ย่อมไม่จบหลักสูตรเป็นธรรมดา นี้เองจึงเป็นเส้นแบ่งระหว่างการเรียนทักษะภาษาและการแปลเพื่อใช้ในการทำงานหาเงินซึ่งแน่นอนว่าเรียนเองก็ย่อมได้ถ้าคุณพื้นฐานดีพอ กับการเรียนในระดับบัณฑิตศึกษาที่เน้นไปที่หลักการและคุณค่าทางวิชาการเป็นหลัก บางครั้งจึงทำให้บางคนที่หลงไปแล้วตัดสินใจเลิกเรียนเพราะไม่ตอบโจทย์ชีวิตนั่นเอง
เช่นนี้แล้วจึงสรุปได้ว่าการจบปริญญาโทด้านการแปลจึงไม่ใช่คำตอบหรือสูตรสำเร็จเสมอไปสำหรับคนที่อยากเป็นนักแปลคุณภาพแต่อย่างใด เพราะเหตุผลและเงื่อนไขมันแตกต่างกันอย่างที่ว่ามา
อีกอย่างการแปลเป็นวิชาทักษะที่ต้องฝึกฝนต่อเนื่องยาวนาน ช่วงเวลาการเรียนปริญญาโทสองถึงสี่ปีไม่ได้เป็นตัวรับประกันว่าคุณจะเป็นนักแปลที่เก่งขึ้นแต่อย่างใดถ้าคุณไม่นำเอาแนวทางการเรียน (เคล็ดวิชา) มาใช้เป็นเครื่องมือฝึกฝนเพิ่มเติม แม้ว่าสาขานี้จะถือว่าสอบเข้าเรียนยากอันดับต้นๆ ของคณะอักษรฯ ที่คัดคนที่มีทักษะภาษาอังกฤษและภาษาไทยดีมากระดับหนึ่งแล้วก็ตาม แต่จบแล้วก็ใช่จะแปลได้ทุกงานสารพัดสารพันดังใจนึก คุณต้องไม่หยุดพัฒนาตนอยู่นั่นเอง
ส่วนตัวพอใจกับหลักสูตรนี้มากเพราะตอบโจทย์ให้ตัวเองได้อะไรหลายอย่าง ทั้งแนวทางการแปล(ส่วนหนึ่งจากหลักสูตร) ความรักในภาษาไทย เพื่อน อุดมการณ์บางอย่าง ความรู้ ประสบการณ์วิธีการคิดวิเคราะห์ การทำวิจัย ตลอดจนสำผัสบรรยากาศวิชาการในมหาวิทยาลัยที่หาเอาเองไม่ได้จากที่บ้าน
ให้คิดว่าเส้นทาง จังหวะ ปัจจัย เป้าหมายชีวิตคนเราล้วนแตกต่างกัน การเลือกทำอะไรสักอย่างอาจเหมาะกับอีกคนแต่ก็อาจไม่เหมาะกับอีกคนก็ได้ พิจารณาเรื่องความสนใจและความจำเป็นของตัวเราเป็นหลักก็น่าจะหาคำตอบได้ไม่ยาก
แก้ไขเมื่อ 18 พ.ย. 55 18:34:54
แก้ไขเมื่อ 18 พ.ย. 55 18:19:30
จากคุณ |
:
โจโฉ (joechou)
|
เขียนเมื่อ |
:
18 พ.ย. 55 17:59:38
|
|
|
|
 |