 |
ทรงรู้จัก "รอ" ครับ
กล่าวคือ ทรงรอพวกฟากข้างโน้นบ้านบน (บุนนาค) "สายตรง" ที่อาวุโสและมีอิทธิพลสูงสิ้นไปเสียก่อน ดังนี้
(ชั้นที่ 3) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ถึงแก่พิราลัย ปี 2425
(ชั้นที่ 4) เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) สมุหพระกลาโหม ถึงแก่อสัญกรรม ปี 2431
(ชั้นที่ 5) พระยาประภากรวงศ์ (ชาย บุนนาค) ก็ถึงแก่อนิจกรรมไปก่อน ทายาทสายตรงที่ถือเป็นผู้นำตระกูลอย่าง พระยาสีหราชเดโชชัย (ต่อมาคือ เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค)) ก็ยังไม่มีบารมีเพียงพอ
[วังหน้า (กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ) ก็เสด็จทิวงคต ในปี 2428]
เจ้าพระยาภาณุวงศ์ (ท้วม บุนนาค) ก็ลาออกไปตั้งแต่ปี 2428 ด้วยปัญหาสุขภาพ (และท่านผู้นี้ ก็มีเรื่องขัดใจกับสมเด็จเจ้าพระยา ฯ ผู้เป็นพี่ชายต่างมารดาอยู่ด้วย)
พระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ซึ่งต่อมาคือ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) นั่นก็เฮี้ยวจัด และใกล้ชิด ร.5 มากเช่นเดียวกับญาติและสหายสนิท เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (เจิม แสง-ชูโต) ซึ่งต่อมาคือ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (ท่านผู้นี้ นอกจากเกิดในราชินิกุลบางช้างเช่นเดียวกับพวกบุนนาคแล้ว ย่า แม่ และเมียของท่าน ก็เป็นบุนนาค อีกทั้งร่ำเรียนเติบโตมาในสำนักของพวกบุนนาคด้วย)
พระยาภาสกรวงศ์ในขณะนั้น ก็ร่วมกับพระเจ้าน้องยาเธอและขุนนางใกล้ชิด ร.5 เขียนบทความใน ดรุโณวาท (โอวาทของเด็ก) เขียนโจมตีพวกหัวเก่า (ซึ่งก็รวมถึงสมเด็จเจ้าพระยา ฯ ผู้เป็นพี่ชายต่างมารดาของท่านด้วย)
......................
ดังนั้น ถือว่า ร.5 ทรงรอให้พวกบุนนาคอาวุโส ที่มีอิทธิพลในราชการและเป็นพวกหัวเก่าสิ้นไปเสียก่อน จนเหลือแต่พวกไม่มี "บารมี" พอ หรือ ที่เป็นพวกเดียวกับพระองค์
จึงทรงสามารถรวมอำนาจขุนนาง (ตลอดจนอำนาจหัวเมือง เจ้าประเทศราช) เข้าสู่ส่วนกลางและสถาบันพระมหากษัตริย์ได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งเริ่มต้นด้วย การปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน 2435 ......................
ถึงแม้ก่อนหน้านั้น คือทันทีที่ทรงบรรลุนิติภาวะ ในปี 2416 ร.5 จะทรงพยายามปฏิรูป ผ่านการตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ ตลอดจนการตั้งปรีวี เคาน์ซิล ฯลฯ
แต่ก็ก่อให้เกิดการต่อต้านจากฝ่ายหัวเก่า ที่เสียประโยชน์ เช่น กรณีวิกฤติวังหน้า
ความขัดแย้งกับฝ่ายวังหน้าที่รุนแรง จนเกิดวิกฤติวังหน้า ขนาดที่มีชาวอังกฤษเสนอให้เข้ามาแทรกแซงแบ่งสยามเป็นสามส่วน (ให้ ร.5 วังหน้า และสมเด็จเจ้าพระยา) ดีที่ตัวแทนอังกฤษไม่เล่นด้วย
แต่ราชสำนักสยามก็เครียดต่อสถานการณ์มาก ถึงกับมีการสาบานวัดพระแก้ว ที่พระเจ้าน้องยาเธอ สาบานในวัดพระแก้วว่าผู้สืบสายสันตติวงศ์ ต้องเป็นเชื้อสาย ร.5 (การสาบานครั้งนี้ ขุนนางบุนนาคที่ใกล้ชิด ร.5 ก็ไม่ได้รับให้เข้าร่วม)
ตลอดจนมีแนวคิดว่า หากเกิดเหตุปุบปับ ก็จะอัญเชิญ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ สุนทรศักดิกัลยาวดี พระราชธิดาใน ร.5 กับเจ้าจอมมารดาแพ (บุนนาค) หรือต่อมาคือ เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ขึ้นเป็น กวีน ทำนอง กวีนวิกตอเรีย และให้อภิเษกกับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ เป็นพระราชสวามีทำนอง ปรินซอัลเบิร์ต (เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ เป็นธิดาเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ เป็นหลานปู่สมเด็จเจ้าพระยา ฯ) ...............................
ส่วนกรณีอื่น ๆ ใช้วิธี "ยึดหลักนิติรัฐ" คือ ยึดกฎหมาย ทำให้ทุกฝ่ายต้องยอมรับผลการตัดสิน ซึ่งการนี้ ทรงให้ ปรีวี เคาน์ซิล เป็นสภาที่ปรึกษาในการตัดสิน (สภาที่ สมเด็จเจ้าพระยา ฯ เคยมองว่าเป็นแค่ "เด็กเล่น" แต่ ร.5 ใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการปฏิรูป)
ทั้งคดีพระยาอาหารบริรักษ์ (มีศักดิ์เป็นหลานสมเด็จเจ้าพระยา) คดีพระปรีชากลการ (ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิด ร.5) ผู้กระทำผิด ต่างถูกลงโทษไปตามกฎหมาย ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ทุกฝ่ายจึงไม่อาจคัดค้านได้
นอกนั้น ทรงพยายามโอนอ่อนตามสมเด็จเจ้าพระยา เช่น คดีนิราศหนองคาย ก็ลงโทษผู้แต่ง ที่เป็นคนของขุนนางใกล้ชิด ร.5
ทรงให้เกียรติ เจ้าจอมมารดาแพ (เจ้าคุณพระประยูรวงศ์) เหนือกว่าสนมอื่นใด (นั่นอาจเพราะเป็น "รักแรก" ด้วย (แต่ไม่ใช่เจ้าจอมคนแรก) )
และในช่วงแรก พระมเหสีที่มีศักดิ์สูงสุด คือ พระนางเธอ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี (สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี) ซึ่งทรงมีเลือดบุนนาคทางฝั่งเจ้าจอมมารดา (พระราชโอรส คือ สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้า ฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต จึงทรงใช้ตราจันทรมณฑล ประดับข้าวของเครื่องใช้ เพราะเป็นตราของ "ทวด" คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค))
(กรมหลวงชุมพร ฯ ก็ทรง "...สอนลูก ๆ ให้นับผู้ใช้นามสกุลบุนนาคเป็นญาติเสมอ" เพราะทรงเป็น "หลานตา" เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์)
แต่สุดท้าย ก็ทรงตระหนักว่า ไม่สามารถดำเนินการปฏิรูปได้ ตราบที่ผู้นำหัวเก่ายังมีชีวิตอยู่
ดั่งพระราชหัตถเลขา Private & Confidential วันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 1877 (2420) ถึง Sir Andrew Clarke ผู้ช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยกรณีวังหน้า ทรงแสดงความรู้สึกกดดันในส่วนลึกของพระทัยพระมหากษัตริย์หนุ่มพระชนม์เพียง 24 พรรษา ที่ไม่สามารถผลักดันการปฏิรูปการปกครองได้ดังหวัง คัดจากวิทยานิพนธ์ ของ ดร. โนเอล อัลเฟรด แบตตี้ เรื่อง Politics and Military Reform during the Reign of King Chulalongkorn 1868 - 1910
"Formerly, I proposed many reforms, now I am obliged to maintain things as they are. No improvements are possible."
ซึ่งแนวคิดของกลุ่มสยามเก่า คงสะท้อนออกมาได้ผ่านคำกล่าวนี้
"Outside nations should not expect too much of Siam. Nor be impatient with her for not adopting their ideas rapidly enough. Siam has her own ideas and they have come down to the present generations."
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ กล่าวกับอดีตประธานาธิบดีแกรนท์ ของสหรัฐอเมริกา ในโอกาสเยือนสยาม เมื่อปี ค.ศ. 1879 (2422) ยืนยันว่าขุนนางสยามยังยึดหลักอนุรักษ์นิยมอย่างเหนียวแน่นต่อไป จากหนังสือ Grant’s Tour around the World J.F. Packard ค.ศ. 1880 และวิทยานิพนธ์ ของ ดร. โนเอล อัลเฟรด แบตตี้ เรื่อง Politics and Military Reform during the Reign of King Chulalongkorn 1868 – 1910 .......................................
ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ฝ่าย ร.5 ที่มักเรียกกันว่า Young Siam กับฝ่ายวังหน้าและสมเด็จเจ้าพระยา ที่มักเรียกกันว่า Old Siam นั้น
แต่หากย้อนไปใน ร.3 (จนถึงต้น ร.4) ฝ่าย ร.3 รวมถึง เจ้าพระยาพระคลัง (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ใน ร.4) และ พระยาศรีพิพัฒน์ (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) ใน ร.4) บิดาและอาของ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) นั้น กล่าวได้ว่า เป็นฝ่ายหัวเก่า อนุรักษ์นิยม
ในขณะที่ พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏ วชิรญาโณ ภิกขุ (ร.4) สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้า ฯ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระปิ่นเกล้า) หลวงสิทธิ นายเวรมหาดเล็ก แล้วเลื่อนเป็น จมื่นไวยวรนาถ (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) และ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท เป็นฝ่ายหัวก้าวหน้า ร่ำเรียนวิทยาการของพวกตะวันตก
ตัวสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เอง ในสมัยนั้น ก็พาภริยาเอกและบุตรชาย (เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์) ไปศึกษาภาษาอังกฤษและความรู้ทางตะวันตกกับมิชชั่นนารี ตัวท่านเองก็สนิทกับหมอปลัด (หมอบรัดเลย์) เพราะอาศัยอยู่ในเขตที่ดินบิดาท่าน
สมเด็จเจ้าพระยา ฯ และ พระปิ่นเกล้า สนใจวิชาการต่อเรือกำปั่นฝรั่งเหมือนกัน (นอกเหนือจากเกิดปีเดียวกัน) สมเด็จเจ้าพระยา ฯ ได้ต่อเรือกำปั่นฝรั่ง (เรือสำเภาฝรั่ง) ไว้ประมาณ 10 ลำ
และเมื่อครั้งสมเด็จเจ้าพระยา ฯ เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่น ก็ได้กระทำการในเชิงปฏิรูปหลายอย่าง ไม่ใช่อนุรักษ์นิยมชนิดไม่เปลี่ยนอะไรเลย เช่น
ตรากฎหมายลดอัตราดอกเบี้ย ปี 2411 จากเดิม ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 30-40 หรือร้อยละ 50- 60 ต่อปี ลดลงเหลือไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญที่ช่วยสกัดกั้นมิให้คนต้องกลายเป็นทาส
ออกกฎหมายพยาน 2413 เพื่อป้องกันมิให้ถ่วงคดี
จัดตั้งระบบศาล และระบบกงสุลต่างประเทศ รวมทั้งจัดตั้งระบบโรงเรียน สมัยใหม่ขึ้นในเขตพระบรมมหาราชวัง ได้มีการจ้างชาวต่างประเทศเข้ารับราชการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐบาลหลายคน
จากคุณ |
:
เจ้าคุณแม่ทัพ
|
เขียนเมื่อ |
:
26 พ.ย. 55 08:55:53
|
|
|
|
 |