ร้อนๆ "พจนานุกรมราชบัณฑิต 2542" เพิ่มคำศัพท์ใหม่ 2 เท่าตัว
โดย ชมพูนุท นำภา
รอคอยกันมานานสำหรับ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หลังจากที่คนไทยใช้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 มานานถึง 17 ปี
ก่อนหน้านี้ ราชบัณฑิตยสถาน ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ถึงความเป็นพวกหัวโบราณ เก่าเก็บ คร่ำครึ ไม่ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมคำศัพท์ต่างๆ ในภาษาไทย ให้ทันกระแสโลก คนไทยจึงทนอยู่กับพจนานุกรมฯ พ.ศ.2525 ซึ่งมีการแก้ไขและพิมพ์ใหม่ถึง 6 ครั้ง โดยครั้งที่ 6 พิมพ์เมื่อปี 2539 จำนวน 60,000 เล่ม รวมพิมพ์ 6 ครั้งเป็นทั้งหมด 280,000 เล่ม แต่คำศัพท์ต่างๆ แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 กลายเป็นพระเอกขี่ม้าขาว มาช่วยแก้ภาพพจน์ของราชบัณฑิตฯ เพราะมีคำศัพท์ใหม่ๆ บัญญัติไว้อย่างทันยุคทันสมัย ถึงแม้ไม่ใช่ทั้งหมด แต่ยังมากกว่าฉบับที่แล้วๆ มา ความคิดในการจัดพิมพ์พจนานุกรมปี 2542 เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระชนมพรรษา 6 รอบ
และเวลานี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานปี พ.ศ. 2542 พิมพ์เสร็จเรียบร้อยออกวางตลาดให้คนซื้อหาเป็นเจ้าของแล้ว
พจนานุกรมฉบับล่าสุดนี้ จะเห็นว่ามีรูปเล่มหนามากกว่าเดิมถึงสองเท่า เนื่องจากมีการบัญญัติศัพท์ใหม่ๆ เพิ่มคำนิยามใหม่ๆ มากขึ้นเกือบเท่าตัว อาทิ การแก้ไขปรับปรุงศัพท์กฎหมายทั้งหมดที่เก็บไว้ให้ถูกต้องสมบูรณ์ ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยเรื่องนั้นๆ ที่ใช้ในปัจจุบัน เพิ่มเติมคำกฎหมายและคำที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ได้ปรับปรุงคำนิยามที่ยังคลาดเคลื่อน ซึ่งกรรมการชำระพจนานุกรมสอบพบ และมีผู้รู้แจ้งให้ทราบ อย่างไรก็ตาม คำศัพท์ใหม่ๆ หลายคำ ที่หลายคนคาดหวังว่าจะเห็นคำแปลนั้น อาจต้องผิดหวัง เพราะแม้จะเป็นฉบับล่าสุด แต่ก็ยังไม่ได้บัญญัติไว้ โดยเฉพาะศัพท์ใหม่ๆ ภาษาวัยโจ๋ทั้งหลาย คำที่เพิ่มขึ้นใหม่ๆ ส่วนมากจะเป็นคำศัพท์วิชาการเสียมากกว่า
กาญจนา นาคสกุล คณะกรรมการชำระพจนานุกรมฉบับล่าสุด อธิบายว่า เรื่องของคำศัพท์ในพจนานุกรมฉบับนี้ ไม่เปลี่ยนแปลงจากพจนานุกรมฉบับเดิมมากนัก เพราะภาษาไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเหมือนกับการเปลี่ยนเสื้อผ้า หรือเปลี่ยนรถยนต์
ที่สำคัญคนไทยส่วนใหญ่ยังเห็นว่า ภาษาอังกฤษ เป็นภาษาต่างชาติ ที่มักจะเข้ามาในลักษณะเป็นภาษาเพื่อการสื่อสาร เข้ามากับสื่อมวลชน จึงไม่ได้มีสถานะเป็นที่ยกย่อง แต่วงการวิทยาศาสตร์ นักวิชาการสมัยใหม่ อาจยอมรับคำพวกนี้ แต่ทางวรรณคดี ทางศาสนา สังคม ยังเห็นว่าเป็นคำต่างชาติ
"เมื่อภาษาต่างชาติเข้ามา จึงต้องหาคำที่เป็นของไทย ซึ่งการบัญญัติคำต่างๆ ต้องดูว่าเหมาะสมหรือไม่ โดยนำคำไทยมาผสมดู ว่าเหมาะหรือไม่เหมาะ ถ้าผสมแล้วไม่เหมาะก็ไปหาคำบาลี สันสกฤตมาผสม เช่นคำว่า โลกาภิวัตน์ ตอนแรกหาคำจะแปลว่า ตามโลก ก็ไม่ใช่ คล้อยตามโลก ก็ไม่ใช่ โลกไร้พรมแดน ก็ไม่เชิง คือ หาอะไรไม่ถูก แต่เมื่อนำบาลี สันสกฤตเข้ามา จึงได้ โลกาภิวัตน์ แต่บางคำถ้าผสมแล้วไม่เหมาะจริงๆ ก็ให้ใช้ทับศัพท์ ไปเลยดีกว่า"
คำศัพท์ภาษาไทยที่เกิดใหม่สมัยนี้มักเป็นคำผสม เป็นคำเก่าที่นำมาผสมกันจนเกิดคำใหม่ เกิดความหมายใหม่ขึ้นมา ซึ่งคำทั้งหลายนี้ ราชบัณฑิตฯไม่ได้ละเลย ทยอยเก็บไว้เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นคำว่า "บกพร่องโดยสุจริต" "ปลดกลางอากาศ" หรือ "ที่ปรึกษาผี" คำศัพท์เหล่านี้ยังไม่ได้เก็บเข้าไว้ในพจนานุกรม แต่อยู่ระหว่างการเก็บเพื่อทดสอบดูว่า เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งแล้ว คำศัพท์เหล่านี้เป็นที่ยอมรับหรือไม่ในการนำมาใช้ จากนั้นจึงจะให้คำนิยามและบัญญัติลงในพจนานุกรม
ก่อนจะเลยไปถึงคำศัพท์ใหม่ๆ คำอื่น อาจารย์กาญจนา ยกมือขออภิปรายแก้ต่างความเข้าใจผิด เกี่ยวกับคำศัพท์บางกลุ่มที่มีการนำมาพูดล้อเล่นกันว่าเป็นศัพท์บัญญัติจากราชบัณฑิตยสถาน ขอบอกว่าไม่ใช่!
"ศัพท์ที่เข้ามาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ ที่มีการนำไปพูดล้อเลียนในรายการคณะตลก ตามโทรทัศน์ช่องต่างๆ โดยเรียก ซอฟต์แวร์ ว่า ละมุนภัณฑ์ ฮาร์ดแวร์ เรียกกระด้างภัณฑ์ ขอบอกว่าราชบัณฑิตฯไม่เคยคิดคำศัพท์เหล่านี้ เข้าใจว่าเป็นการพูดเล่นกันในวงเหล้าเพื่อล้อเลียนราชบัณฑิตฯมากกว่า หรืออย่าง จอยสติ๊ก เป็น แท่งหรรษา คนก็พูดกันไปเอง ไม่ใช่มาจากราชบัณฑิตฯ"
ล่าสุดราชบัณฑิตฯมีคณะกรรมการที่คิดศัพท์ เพื่อดูว่าคำไหนเหมาะสม ตรงความหมายหรือไม่ แล้วจึงลองให้คนกลุ่มนั้นๆ นำออกไปทดลองใช้
"อย่างตอนนี้มีชื่อ โรคออทิสติก กำลังคิดกันอยู่ว่า ออทิสติก ควรจะใช้ภาษาไทยว่าอะไร บางคนบอกว่า เป็นโรคที่สนใจตัวเอง มองตัวเอง แม้กระทั่งบอกว่าเป็นโรคปัญญาอ่อน แต่ ออทิสติก ไม่ได้เป็นปัญญาอ่อน แต่เป็นพวกมีปัญญาดี แต่เป็นคนสนใจแต่ตัวเอง ไม่สนใจคนอื่น ทำอะไรซ้ำๆ ใครทำอะไรเขาก็ไม่แคร์ แต่เขาไม่ได้โง่ ตอนนี้มีคนเสนอว่าให้ใช้คำว่า อัตตาวรณ์ ซึ่งหมายความว่า กังวลห่วงใยกับตัวเอง เมื่อคิดแล้วยังไม่ใช้ทันที ก็ให้หมอไปทดลองใช้ก่อน หลายคนบอกดี ก็เลยบอกว่าให้ลองใช้ดูก่อนแต่ยังไม่เป็นวงกว้าง เมื่อไหร่ที่คนรับคำนี้ จึงจะนำเข้าพจนานุกรม"
ในอีกด้านหนึ่งของการเก็บคำของราชบัณฑิตฯ อาจารย์กาญจนาบอกว่า หากคำนิยมใช้กันในปัจจุบันไม่ได้เก็บอยู่ในพจนานุกรม แสดงว่าเป็นความบกพร่องของพจนานุกรม คือถ้ามีคำที่คนใช้แล้วพจนานุกรมไม่เก็บไว้ ก็เท่ากับว่าหลักฐานบกพร่อง เพราะฉะนั้นต้องเติมในโอกาสต่อไปที่จะมีการพิมพ์ แก้ไขปรับปรุง ชำระใหม่กันอีก
"ฉบับล่าสุดจะเห็นว่าเล่มหนาขึ้นมาก เป็นเพราะเราเติมคำใหม่ขึ้นมาก แต่กำลังคนทำ ยังมีน้อยอยู่แค่ 7-8 คน ฉะนั้นจะให้รอบคอบทั้งประเทศ คงไม่ได้ แต่เราจะทำให้ดีที่สุด"
อาจารย์กาญจนายังบอกต่อว่า การชำระพจนานุกรมควรชำระทุกๆ 5 ปี มีคนเสนอว่าอาจจะออกเป็นเล่มเล็กแทรกมาว่าช่วง 5 ปีนี้ มีศัพท์ใหม่อะไรเกิดขึ้นบ้าง พอ 15 ปี ค่อยรวมเล่มใหญ่ครั้งหนึ่ง ทำแบบนี้จะได้ไม่ตกยุคและคำก็มีอยู่ครบ และยังเสนอว่า ควรจะมียามภาษา ให้คอยสังเกตว่าขณะนี้ภาษาได้เปลี่ยนไปถึงไหนแล้ว เกิดคำใหม่อะไรบ้าง ให้เก็บรวบรวมไว้ เพื่อมาชำระบัญญัติให้เหมาะสมกันอีกที
"การจะออกพจนานุกรมแต่ละเล่ม มีอุปสรรคเยอะมาก กว่าจะชำระแต่ละคำได้ต้องผ่านที่ประชุม มีการถกเถียงกันตลอด มีการแย้งว่าคำนั้นถูกหรือผิด ต้องมีกระบวนการมากมาย ต้องหาหลักฐาน ค้นหนังสือเก่ายืนยัน ต้องผ่านคณะกรรมการพิจารณา ดังนั้น พจนานุกรมฉบับปี 2542 จึงถือว่า สมบูรณ์แบบที่สุดในช่วงนี้ แต่หากจะพูดว่าสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ คงไม่ใช่ ยอมรับว่าเล่มนี้ยังมีข้อบกพร่องอยู่"
เพราะคำๆ หนึ่งกว่าจะออกมาได้นั้นต้องใช้เวลานานมาก
จาก มติชนออนไลน์
http://www.matichon.co.th/matichon/matichon.php?s_tag=01pra01250846&show=1§ionid=0131&day=2003/08/25
จากคุณ :
ลุงเก่า
- [
25 ส.ค. 46 16:36:21
A:203.113.71.4 X:
]