 |
**** อะไรคือนิยายสืบสวน (รหัสคดี)... สถานการณ์บูมในตลาด และอานิสงส์จาก ดาวินชี่ โค้ด *****
ความสำเร็จอย่างท่วมท้นของหนังสือ 'รหัสลับดาวินชี' ปลุกกระแสให้ตลาดหนังสือรหัสคดีแนวลึกลับสืบสวนในบ้านเราคึกคักเป็นอย่างยิ่ง เห็นได้จากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่ผ่านมา มีหลากหลายสำนักพิมพ์ออกหนังสือแนวนี้เป็นจำนวนมาก สะท้อนถึงจำนวนคนอ่านว่าคงเป็นกลุ่มใหญ่ไม่น้อย สำหรับคอหนังสือรหัสคดีคงไม่ต้องอธิบายถึงรสชาติความสนุก ตื่นเต้นที่ได้รับจากการอ่านกันมาก แต่สำหรับผู้ที่เพิ่งจะลิ้มลองหรือไม่รู้จักหนังสือแนวนี้มาก่อน การเริ่มต้นอ่านหนังสือรหัสคดีดีๆ สักเล่มอาจช่วยเปิดโลกแห่งจินตนาการและลับสมองของคุณไปในตัว! 'รหัสคดี' คืออะไร ? หลายคนอาจตั้งคำถามถึงหนังสือตระกูลนี้ เรืองเดช จันทรคีรี นักเขียนและบรรณาธิการสำนักพิมพ์รหัสคดี ได้บัญญัติศัพท์คำว่า "รหัสคดี" จากคำว่า mystery ในภาษาอังกฤษ โดยได้ให้นิยามรหัสคดีไว้สั้นๆ ว่า หมายถึง "เรื่องเล่าที่เน้นการคลี่คลายปัญหาซ่อนเงื่อนของเหตุการณ์ชุดหนึ่ง" เรืองเดชอธิบายว่า เรามักจะแปลคำว่า mystery ที่หมายถึงตระกูลวรรณกรรมว่า "เรื่องลึกลับ" ซึ่งเขาบอกว่าฟังดูแล้วกระเดียดไปทางเรื่องเหนือธรรมชาติประเภทภูตผีปีศาจ ในขณะที่ mystery เป็นเรื่องของการใช้ตรรกะ การใช้เหตุผล รวมๆ แล้ววรรณกรรมตระกูลนี้มุ่งเสนอแนวความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ไสยศาสตร์ รหัสคดีจะครอบคลุมนิยายสืบสวน (detective story) เอาไว้ทั้งหมด นิยายสืบสวนก็คือเรื่องแต่งที่มีนักสืบเป็นผู้คลี่คลายคดีอาชญากรรมโดยอาศัยหลักเหตุผล หัวใจของนิยายสืบสวนคือปมปริศนา (puzzle) ที่นักสืบจะต้องสะสางให้ได้ว่า "ใครคือฆาตกร" หรือที่เรียกกันว่ารหัสคดีแนว "whodunit" "เมื่อนิยายสืบสวนได้คลี่คลายจากแนว whodunit ไปสู่แนว howdunit และพัฒนาเป็น whydunit ในท้ายที่สุด จุดมุ่งเน้นจะไม่หยุดอยู่แค่การค้นหาตัวอาชญากร แต่จะขยายไปสู่การศึกษาจิตใจส่วนลึกของอาชญากร และเหตุผลในการก่ออาชญากรรม" คำว่าอาชญนิยาย (crime story) จึงถูกนำมาใช้แทนรหัสคดี และนิยามก็เปลี่ยนเป็น "เรื่องเล่าเกี่ยวกับการตามจับผู้ร้ายและอธิบายให้เห็นขั้นตอนการประกอบอาชญากรรม" เรืองเดชเสริมว่า เราจะพบว่า mystery มักใช้คู่หรือสลับกับ detective story และบ่อยครั้งก็จะเห็นอยู่คู่กับ crime story แต่จะแยกจาก horror story หรือนิยายสยองขวัญซึ่งจัดเป็นวรรณกรรมตระกูล (genre) ต่างหากออกไป "โดยส่วนตัวผมคิดว่ารหัสคดีครอบคลุมบางส่วนเสี้ยวของนิยายสยองขวัญ นิยายสยองขวัญมี 2 ประเภทใหญ่ๆ ประเภทแรกเป็นเรื่องผี เช่น แดร๊คคิวล่า ของบราม สโต๊คเก้อร์ หรือ เอ๊กซอร์ซิสต์ ของปีเต้อร์ แบล๊ตตี้ ส่วนประเภทที่ 2 ผมจัดเป็นรหัสคดี คือเรื่องเกี่ยวกับสภาพจิตใจที่แปรปรวนของมนุษย์ เช่น ไซโค ของ โรเบิร์ต บล๊อช" เรืองเดชยกตัวอย่าง ส่วน suspense กับ thriller ที่หลายสำนักพิมพ์ประทับตราบนปกนั้น เขาบอกว่าไม่ใช่ตระกูลวรรณกรรม เป็นเพียงบรรยากาศในการแต่ง ซึ่งนิยายทุกเรื่องก็ว่าได้ จะใช้ความตื่นเต้นเร้าใจหรือ suspense มาดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน "นักเขียนที่ชำนาญรู้ดีว่าคนโดยทั่วไปไม่ค่อยอดทนต่อความอยากรู้อยากเห็น เขาก็ยิ่งสร้างความกระหายใคร่รู้ ความคาดหวัง และปมเงื่อนซึ่งจะทำให้ผู้อ่านโล่งใจก็ต่อเมื่ออ่านนิยายของเขาจบ อาชญากรรมเป็นเรื่องที่มีความตื่นเต้นเร้าใจอยู่ในตัวเอง รหัสคดีแทบทุกเรื่องจึงมีบรรยากาศ suspense ด้วย" อย่างไรก็ตาม ในทางวิชาการแล้ว คำว่า suspense ถูกนำไปประกอบกับคำอื่น กลายเป็นชื่อประเภทย่อยของรหัสคดี 2 แนว คือ แนวจิตวิทยาระทึกขวัญ (psychological suspense) และแนวรักระทึกขวัญ (romantic suspense) เมื่อสถานการณ์ ฉาก และบทบาทของตัวละครขยายขอบเขตออกไปอีก ความตื่นเต้นเร้าใจระดับ suspense (ระทึกขวัญ) ก็พัฒนาไปสู่ระดับ thriller (เขย่าขวัญ) กลายเป็นรหัสคดีแนวต่างๆ อีกหลายแนว ได้แก่ spy story, technothriller, conspiracy thriller, logal thriller, serial killer ซึ่งเรืองเดชกล่าวว่าทั้งหมดทั้งปวงนี้ล้วนเป็นประเภทย่อย (subgenre) ของวรรณกรรมตระกูลรหัสคดี
จากคุณ :
Yensid
- [
23 เม.ย. 48 03:59:49
]
|
|
|
|
|