ความคิดเห็นที่ 14
ถึงเดือน ๘ ปีกุน พ.ศ. ๒๔๑๘ อายุครบบวชเป็นสามเณร แล้วจะต้องออกไปอยู่นอกพระราชวังตามประเพณีก็ออกจากราชการประจำพระองค์ ในปีนั้นมีเจ้านายทรงผนวชด้วยกันหลายพระองค์ เป็นพระภิกษุบ้าง เป็นสามเณรบ้าง ส่วนตัวฉันเมื่อบวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว ไปอยู่วัดบวรนิเวศฯกับเจ้านายพี่น้องก็ไม่เดือดร้อนอันใดในการที่บวช ถ้าจะว่าประสาใจเด็กอายุเพียงเท่านั้น กลับจะออกสนุกดีด้วยเพราะในสมัยนั้นประเพณีที่กวดขันในการศึกษาของพระเณรบวชใหม่ยังไม่ได้เกิดขึ้น หนังสือฉบับพิมพ์สำหรับศึกษาพระธรรมวินัยก็ยังไม่มี ได้อาศัยศึกษาแต่ด้วยฟังเทศนาและคำสั่งสอนของพระอุปัชฌาย์อาจารย์ ข้อบังคับสำหรับเจ้านายที่ทรงผนวชอยู่วัดบวรนิเวศฯ ตอนแรกทรงผนวช ตอนรุ่งเช้าต้องจัดน้ำบ้วนพระโอษฐ์กับไม้สีพระทนต์ไปถวายพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์(สมัยนั้นยังดำรงพระยศเป็นกรมพระ) เรียกกันว่า "สมเด็จพระอุปัชฌาย์" หรือเรียกกันในวัดตามสะดวกแต่โดยย่อว่า "เสด็จ" ทุกวันตามเสขิยวัตร และถึงตอนค่ำเวลา ๑๙ นาฬิกาต้องขึ้นไปเฝ้าฟังทรงสั่งสอนพระธรรมวินัยอีกครั้งหนึ่ง ถ้าจะออกบิณฑบาตในวันรุ่งขึ้นก็ต้องทูลลาในเวลาค่ำนั้น แต่การทั้ง ๓ อย่างนี้เมื่อทำได้สัก ๗ วันก็โปรดประทานอนุญาตมิให้ต้องทำต่อไป เว้นแต่จะไปธุระอื่นจึงต้องขึ้นไปทูลลาทุกครั้ง เสด็จพระอุปัชฌาย์ท่านทรงประพฤติวัตรปฏิบัติตรงตามเวลาแน่นอนผิดกับผู้อื่นโดยมาก บรรทมตื่นแต่ก่อน ๗ นาฬิกา พอเสวยเช้าแล้วใครจะทูลลาไปไหนก็ขึ้นเฝ้าตอนนี้ ถึง ๙ นาฬิกาเสด็จลงทรงเป็นประธานพระสงฆ์ทำวัตรที่ในพระอุโบสถ เสด็จกลับขึ้นตำหนักราว ๑๐ นาฬิกาประทับรับแขกที่ไปเฝ้าจนเพล เสวยเพลแล้วพอเที่ยงวันเสด็จขึ้นตำหนักชั้นบน ทรงสำราญพระอิริยาบถและบรรทมจนบ่าย ๑๕ นาฬิกาเสด็จลงที่ห้องรับแขก ใครจะเฝ้าในตอนนี้อีกก็ได้ พอแดดอ่อนมักเสด็จลงทรงพระดำเนินประพาสในลายวัดจนเวลาพลบค่ำ ถึงตอนนี้ราว ๑๙ นาฬิกาเจ้านายที่ทรงผนวชใหม่ขึ้นเฝ้าฟังคำสั่งสอนที่ประทานตามอุปัชฌายวัตรไปจน ๒๐ นาฬิกา เสด็จลงเป็นประธานพระสงฆ์ทำวัตรค่ำอีกเวลาหนึ่ง(๑) เมื่อทำวัตรแล้วถ้าในพรรษาโปรดให้ฐานานุกรมผู้ใหญ่ขึ้นนั่งธรรมมาสน์อ่านบุรพสิกขาสอนข้อปฏิบัติแก่พระบวชใหม่ วันละตอนแล้วซ้อมสวดมนต์ต่อไปจนจวน ๒๓ นาฬิกาจึงเสร็จการประชุมสงฆ์เสด็จขึ้นเข้าที่บรรทม
ว่าเฉพาะการศึกษาสำหรับสามเณรที่บวชใหม่เช่นตัวฉัน มีข้อสำคัญก็ต้องท่องสวดทำวัตรเช้าและเย็น กับคำสวดสิกขาบทของสามเณรเรียกว่า "อนุญญาสิโข" ซึ่งสามเณรต้องจำได้และเข้าใจความ ทั้งต้องสวดในโบสถ์เมื่อทำวัตรเช้าเสร็จแล้วทุกวัน ฉันเคยได้รับสรรเสริญของเสด็จพระอุปัชฌาย์วันหนึ่ง ด้วยในวันนั้นไม่มีสามเณรอื่นลงโบสถ์ ฉันกล้าสวดอนุญญาสิโขแต่คนเดียว ตรัสชมว่าจำได้แม่นยำดี
เขาเล่าว่า เสด็จพระอุปัชฌาย์ท่านเคยตรัสว่า เมื่อแผ่นดิน(๒)พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้นถ้าใครเข้มแข็งในการศึกก็เป็นคนโปรด ถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยใครแต่งกาพย์กลอนก็เป็นคนโปรด ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวใครสร้างวัดวาก็เป็นคนโปรด ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถ้าใครรู้ภาษาฝรั่งก็เป็นคนโปรด เห็นจะมีใครไปทูลว่าฉันรู้ภาษาฝรั่ง วันหนึ่งประทานหนังสือตำราดาราศาสตร์ฝรั่ง ซึ่งหมอบรัดเลแปลพิมพ์เป็นภาษาไทยให้ฉันดู ในนั้นมีดาวฤกษ์ ๒ ดวงซึ่งผู้แปลหาชื่อในภาษาไทยไม่ได้ จึงใช้อักษรโรมันพิมพ์ชื่อว่า Nepture กับ Uranus ตรัสถามฉันว่าเรียกอย่างไร ฉันก็อ่านถวายตามสำเนียงตัวอักษร ดูเหมือนท่านจะเข้าพระหฤทัยว่าฉันได้เรียนดาราศาสตร์ฝรั่งด้วย ตรัสถามต่อไปว่ามันตรงกับดาวดวงนั้นของเรา ฉันก็สิ้นความรู้ทูลว่าไม่ทราบ แต่ก็ทรงพระเมตตาไต่ถามถึงเรื่องที่ฉันเรียนภาษาฝรั่งบ่อยๆ ข้างฉันก็พอใจขึ้นไปเฝ้า เพราะได้ฟังท่านตรัสเล่าเรื่องโบราณต่างๆให้ทราบเนืองๆ ในเวลานั้นเสด็จพระอุปัชฌาย์ยังไม่ทรงชรานัก แต่วิธีท่านตรัสเล่าผิดกับผู้อื่น เมื่อทรงบรรยายไปจนตลอดเรื่องแล้ว มักกลับเล่าแต่เนื้อความซ้ำอีกครั้งหนึ่ง คนที่ฟังตรัสเล่าย่อมเข้าใจและจำความได้ไม่ผิด ฉันชอบเอาวิธีนั้นมาใช้เมื่อเป็นผู้ใหญ่ เคยถูกนินทาว่าเล่าอย่างคนแก่แต่ยังเห็นดีอยู่นั่นเอง ด้วยเห็นว่าการที่เล่าอะไรเพื่อให้ความรู้หรือสอนวิชาให้แก่ผู้อื่น ผิดกับพูดเล่นเจรจากัน เพราะประโยชน์ข้อสำคัญอยู่ที่ต้องให้ผู้ฟังรู้และเข้าใจจริงๆ เสด็จพระอุปัชฌาย์ท่านก็ทรงพระดำริเช่นนั้น เมื่อตรัสเล่าอะไรประทานแก่สานุศิษย์มักเล่าซ้ำดังว่ามา
เมื่อฉันบวชเป็นสามเณร ทำเวลาให้ล่วงไปด้วยประการอย่างใดยังจำได้อยู่ ดูน่าจะเล่าด้วยมีคติอยู่บ้าง ตื่นเช้ามักออกบิณฑบาต ไปด้วยกันกับพระเณรที่คุ้นเคยกันบ้าง ไปตามลำพังตัวบ้าง การที่ออกบิณฑบาตที่จริงเป็นโอกาสที่จะไปเที่ยวเตร่ เพราะถ้าจะไปเวลาอื่นต้องทูลลาเสด็จอุปัชฌาย์ ถ้าไปบิณฑบาตประทานอนุญาตไว้ไม่ต้องทูลลา ออกบิณฑบาตเสียแห่งหนึ่งสองแห่งแล้วก็ขึ้นรถหรือลงเรือไปที่ไหนๆ บางทีไปกินเพลกลางทางกลับวัดจนบ่ายก็มี เมื่อเจ้าพระยาภูธราภัย(๓)และเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงยกกองทัพไปปราบฮ่อ ฉันก็ไปดูวิธียกทัพอย่างโบราณด้วย เริ่มไปบิณฑบาตดังว่ามานี้ ฬครพบเข้าก็ไม่รู้ว่าเลี่ยงไป แต่นานจึงเลี่ยงไปเที่ยวครั้ง ๑ โดยปกติมักกลับวัดทันสวดอนุญญาสิโขเวลาลงโบสถ์เช้า เพราะเสด็จพระอุปัชฌาย์ท่านเสด็จลงเสมอ เกรงจะติโทษว่าเกียจคร้าน
....................................................................................................................................................
(๑) ประเพณีโบราณ พระสงฆ์ลงประชุมในโบสถ์แต่วันสวดปาฏิโมกข์ จึงเรียกกันว่า "ลงโบสถ์" โดยปกติเวลาเย็นคณะไหนก็ไหว้พระสวดมนต์ ณ หอสวดมนต์คณะนั้น การประชุมสงฆ์ลงไหว้พระสวดมนต์ในโบสถ์วันละ ๒ ครั้ง เป็นประเพณีตั้งขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวช
(๒) คำว่า "แผ่นดิน" นี้เป็นคำเก่า ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ จึงเกิดมีคำว่า "รัชกาล" มาใช้แทน หนังสือเก่า เช่น ประชุมพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวล้วนแต่ใช้คำว่า "แผ่นดิน" แทน "รัชกาล"
(๓) เจ้าพระยาภูธราภัย(นุช บุณยรัตพันธุ์) นามเดิมว่า นุช เป็นบุตรเจ้าพระยาอภัยภูธร ในรัชกาลที่ ๓ เดิมเป็นนายสนิท หุ้มแพร แล้วเป็นหลวงศักดินายเวร แล้วเลื่อนเป็นพระยาสุริยภักดี เมื่อปลายรัชกาลที่ ๓ ถูกถอด ถึงรัชกาลที่ ๔ โปรดฯให้เป็นพระยามหามนตรี แล้วเลื่อนเป็น เจ้าพระยายมราช
ครั้นเจ้าพระยานิกรบดินทร(โต กัลยาณมิตร) ถึงอสัญกรรม จึงโปรดฯให้เจ้าพระยายมราช(นุช) เป็นเจ้าพระยาที่สมุหนายก มีสมญาว่า "เจ้าพระยาภูธราภัย เมตยาภิธยาศรัยมหาดไทยนายก สยามดิลกมหาเสนาบดี กรธารีวรราชสีห์สิงหมุรธาธร มหาชนนิกรกิจจานุกิจ สฤษดิรพาหสกโลตรรัษฏาธิปาลานุรักษ์ อุดมศักดิ์สรรพประสิทธิวิจิตรปรีชา อภัยพิริยบรากรมพาหุ"
บุตรธิดาของท่านคือ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช(เวก) , พระยาสิหราชฤทธิไกร(แย้ม) , เจ้าจอมมารดาตลับ , ท้าวสมศักดิ์(โหมด) เป็นต้น เจ้าพระยาภูธราภัย เกิดเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๕๑ ถึงอสัญกรรมเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ปีขาล พ.ศ. ๒๔๒๑ อายุได้ ๗๑ ปี
จากคุณ :
กัมม์
- [
27 ก.ค. 48 16:49:31
]
|
|
|