ความคิดเห็นที่ 23
(ว่ากันต่อนะครับ)
ทำยาโอสถศาลา
ความคิดที่จะให้มียาดี สำหรับรักษาไข้เจ็บแพร่หลายไปถึงราษฎรตามหัวเมืองนั้น เห็นพร้อมกันในที่ประชุมว่าต้องมีพนักงานทำยาภายในกรุงเทพฯแล้วจ่ายออกไปตามหัวเมือง จึงมอบให้เป็นหน้าที่กระทรวงมหาดไทย คือเป็นหน้าที่ของตัวฉันจะต้องจัดการเรื่องนั้น คิดดูมีปัญญาที่จะต้องตัดสิน ๒ ข้อคือ
ข้อ ๑ ว่าจะควรทำอย่างรักษาโรคอะไรบ้าง ข้อนี้เห็นว่าที่จะทำยารักษาโรคทุกอย่างนั้นเป็นพ้นวิสัย จะต้องเลือดกทำแต่ยาบางขนานสำหรับรักษาความไข้เจ็บ ซึ่งชาวเมืองมักเป็นกันชุกชุม เช่นยาแก้ไข้จับสั่นและแก้โรคบิด เป็นต้น และต้องปรึกษาหมอให้เป็นผู้กะว่าควรจะทำยาแก้โรคอะไรบ้าง
ข้อ ๒ ว่ายาที่จะทำนั้นจะใช้ยาตามตำราฝรั่งดี หรือจะใช้ยาตามตำราไทยดี ในสมัยนั้นที่ในกรุงเทพฯ บุคคลพวกสมัยใหม่แม้จนหมอรักษาไข้ด้วยยาไทย เชื่อคุณยาฝรั่งมีมากขึ้น ฉันคิดว่ายาที่จะทำจ่ายไปตามหัวเมืองทำยาฝรั่งดีกว่ายาไทย เพราะเหตุใด ฉันจะขอยืมคำอธิบายของนายชื่น พุทธิแพทย์(พระยาดำรงแพทยาคุณ)กล่าวไว้ในหนังสือดุสิตสมิตร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ มาลงไว้ในที่นี้ให้เข้าใจชัดเจนดีกว่าอธิบายความเห็นของฉันเอง ซึ่งคิดขึ้นในสมัยนั้น
"แพทย์ยาไทย ใช้ยาที่เป็นพรรณไม้ตามพื้นเมืองมากกว่าอย่างอื่น รวมกันหลายอย่างทั้งกากด้วย และต้องกินเป็นจำนวนมากๆ นำเข้าร่างกายเฉพาะทางปากทางเดียวเท่านั้น ซึ่งกินเวลาอันนานตั้งชัวโมงกว่ายานั้นจะออกฤทธิ์ ถ้าคนไข้กินทางปากไม่ได้แล้ว ก็เป็นอันหมดหนทางที่จะให้ยารักษา
ส่วนแพทย์ฝรั่ง ใช้ยาที่เป็นโลหะธาตุมากกว่าที่เป็นพรรณไม้ และใช้เฉพาะสิ่งที่ต้องการ คือ หัวยาเท่านั้นไม่มีกากเลย ขนาดกินก็เป็นจำนวนน้อยและเก็บไว้ได้นาน อาจใช้ทางปากก็ได้ ทางทวารก็ได้ ทางผิวหนังก็ได้ ทางหลอดโลหิตก็ได้ ซึ่งอาจจะทำให้ยานั้นออกฤทธิ์ได้ภายในสองสามนาที คล้ายคนเดินทางโดยรถไฟและเครื่องบิน อาจถึงที่มุ่งหมายได้สมประสงค์ทันใจ"
นอกจากเห็นว่ายาฝรั่งรักษาโรคชะงัดกว่ายาไทย โดยอธิบายดังกล่าวมา การทำยาสำหรับแจกจ่ายให้แพร่หลาย ทำยาฝรั่งสะดวกกว่ายาไทยด้วย เพราะอาจจะทำเป็นยาเม็ดเล็กๆบรรจุลงกลักหรือใส่ห่องส่งไปตามที่ต่างๆได้ง่าย และคนไข้กินเพียงเม็ดหนึ่งหรือสองเม็ดก็เห็นคุณ อีกประการหนึ่ง ยาไทยก็มีใช้กันในพื้นเมืองอยู่แล้ว แต่ยาฝรั่ง เช่น ยาควินินแก้ไข้จับสั่น เป็นต้น ตามหัวเมืองยังหายาก จึงตกลงว่าจะทำยาฝรั่ง
แต่ความลำบากยังมีอยู่อีกอย่างหนึ่ง ด้วยยาฝรั่งแม้เป็นยารักษาโรคอย่างเดียวกัน หมอต่างคนต่างใช้วิธีผสมยาต่างกัน หมอฝรั่งที่มารักษาไข้เจ็บอยู่ในเมืองไทยในเวลานั้น มีทั้งหมอฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกา เยอรมัน และชาติอื่นก็มีอีก ถ้าปรึกษาแต่คนใดคนหนึ่ง คนอื่นก็อาจจะโต้แย้ง จึงเห็นว่าการที่จะทำยาของรัฐบาลดังกล่าวมา เป็นสาธารณะประโยชน์สำหรับบ้านเมือง ถ้าบอกบุญแก่หมอฝรั่งทุกคนขอให้ร่วมมือกันช่วยรัฐบาลในการนั้นได้เห็นจะเป็นการดี ฉันลองทาบทามดู หมอฝรั่งก็รับจะช่วยด้วยความยินดี จึงเชิญหมอฝรั่งทุกชาติมาประชุมพร้อมกันที่ศาลาลูกขุนกระทรวงมหาดไทยวันหนึ่ง ตัวฉันนั่งเป็นนายกที่ประชุมเอง บอกพวกหมอให้ทราบพระราชประสงค์ที่จะบำรุงอนามัยในบ้านเมือง สำหรับรักษาไข้เจ็บที่ราษฎรมักเป็นกันชุกชุม ทำส่งไปจำหน่ายตามหัวเมือง จะขอให้หมอที่มาประชุมกันนั้น ช่วยในการ ๒ อย่าง คือ ให้ปรึกษาทำยาแก้โรคอะไรบ้างเป็นยาสักกี่ขนาน อย่างหนึ่ง เมื่อเห็นว่าควรทำยาสักกี่ขนานแล้ว ขอให้จดเครื่องยาและส่วนที่จะผสมยานั้นๆให้ทุกขนาน อย่างหนึ่ง เข้าจะรับช่วยได้หรือไม่ พวกหมอพร้อมกันรับว่าจะช่วยให้ตามประสงค์ของรัฐบาล ฉันจึงให้เขาประชุมปรึกษากันโดยลำพังพวกหมอต่อไป(๑) เข้าตกลงกันแนะนำให้รัฐบาลทำยาต่างๆ ๑๐ ขนาน(หรือ ๑๒ ขนานจำไม่ได้แน่) และกำหนดเครื่องยากับทั้งส่วนที่จะผสม Prescrition ยานั้นๆทุกขนาน เขียนเป็นมติลงชื่อด้วยกันทุกคนเป็นสำคัญ ให้ตำรายานั้นเป็นสมบัติของรัฐบาล ฉันรับและขอบคุณเขาทุกคน แล้วก็เป็นอันสำเร็จกิจส่วนหาตำรายา ส่วนที่จะทำยานั้น หมออะดัมสัน Hans Adamson(ภายหลังได้เป็นพระบำบัดสรรพโรค) เป็นเชื้อมอญ ไม่ใช่อเมริกัน มีแก่ใจรับจะทำให้ในชั้นแรก ณ สำนักงานของเขาที่สี่แยกถนนเจริญกรุง จะเรียกราคาเพียงเท่าทุนและจะหัดคนที่จะผสมยาให้ด้วย จนกว่ากระทรวงมหาดไทยจะตั้งที่ทำยาเองต่างหาก การที่เลือและทำยาสำหรับส่งไปตามหัวเมืองก็สำเร็จได้ด้วยประการฉะนี้ แต่ยังไม่สิ้นความลำบาก
ควมลำบากยังมีในการที่จะให้คนนิยมใช้ยาที่ทำนั้น เพราะเป็นยาฝรั่ง ในสมัยนั้นผู้ที่เชื่อถือยาฝรั่งยังมีน้อย แม้ที่ในกรุงเทพฯคนก็ยังรังเกียจยาฝรั่งอยู่แทบทั่วไป
มีเรื่องเล่ากันมาแต่ก่อนว่า เมื่อแรกยาควินินมีเข้ามาในเมืองไทยในรัชกาลที่ ๓ กรมหลวงวงศาธิราชสนิทซึ่งรอบรู้วิชาแพทย์ไทย ทรงทดลองและเลื่อมใสก่อนผู้อื่นแต่ก็ไม่อาจใช้โดยเปิดเผย เมื่อฉันบวชเป็นสามเณรเคยได้ยิน กรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ตรัสว่า ยาเม็ดแก้ไข้ของกรมหลวงวงศาฯที่นับถือกันนั้น เมื่อผ่าออกดูมี "ยาขาวฝรั่ง" (คือยาควินิน) อยู่ข้างในทุกเม็ด ประหลาดที่ ปลอมใช้ยาควินินยังเป็นอยู่จนเมื่อฉันคิดทำยานั้น ฉันเคยถามหมอไทยที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ซึ่งฉันรู้ว่าลอบใช้ยาควินินว่าไฉนจึงต้องทำเช่นนั้น แกกระซิบตอบตามตรงว่า "ยาควินินดีกว่ายาไทยแต่คนไข้ไม่ยอมกิน จะทำอย่างไรก็ได้แต่ต้องปลอมให้กินเป็นยาไทย สุดแต่ให้หายเป็นประมาณ" ถ้ามีใครทูลถามกรมหลวงวงศาฯก็เห็นจะตรัสตอบอย่างเดียวกัน
การที่กระทรวงมหาดไทยทำยาตามตำราฝรั่งสำหรับจ่ายไปตามหัวเมือง จึงต้องคิดอุบายแก้ไขความรังเกียจ ด้วยให้เรียกชื่อยาที่ทำขึ้นใหม่ว่า "โอสถศาลา" แต่ละขนานใส่กลักเล็กๆ กลักละ(ดูเหมือน) ๒๐ เม็ด พิมพ์หนังสือปิดข้างนอกกลักเอาแต่ชื่อโรคเรียก เช่น "ยาแก้ไข้จับสั่น , ยาแก้ลงท้อง , ยาแก้บิด" เป็นต้น ข้างในกลักมีกระดาษใบปลิวบอกวิธีที่จะใช้ยานั้น แล้วรวมกลักยาห่อเป็นชุดๆ มีใบปลิวโฆษณาคุณของยาโอสถศาลาสอดไปด้วย ส่งไปให้หมอตำบลเป็นผู้จำหน่าย (ดูเหมือน) ราคากลักละ ๑๐ สตางค์ จำหน่ายได้เงินเท่าใด ให้ค่ายาแก่หมอตำบลเป็นส่วนลดร้อยละ ๑๐ แม้ใช้อุบายกันคนรังเกียจอย่างนั้นแล้ว กว่าจะได้ผลดังประสงค์ก็ยังนาน เพราะเป็นของแปลก แม้หมอตำบลเองก็รับไว้จำหน่ายด้วยเกรงใจโดยมาก ตัวเองยังชอบใช้ยาสมุนไพรอยู่ตามเคย ต่อบางคนจึงทดลองใช้ยาโอสถศาลา แต่ต่อมาก็ปรากฏคุณขึ้นโดยลำดับ เมื่อยาโอสถศาลาจำหน่ายได้แพร่หลาย จนเห็นว่าจะทำจำหน่ายได้ยั่งยืนต่อไป กระทรวงมหาดไทยจึงให้ตั้งสถานโอสถศาลาที่โรงพยาบาลเทพศิรินทร์ แล้วรัฐบาลทำยาโอสถศาลาจำหน่ายเองสืบมา(๒)
....................................................................................................................................................
(๑) เมื่อครั้งเสด็จในกรมทรงจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ ก็ใช้วิธีขออย่างนี้ โดยไม่ได้ใช้เงินของรัฐบาล มีฝรั่งท่านหนึ่งถึงออกปากว่า "ได้เจอขอทานที่เก่งที่สุดในโลกเข้าแล้ว" พระองค์ท่านมีอุบาย กลเม็ดแยบยลอย่างไร เพียงไร ฝรั่งจึงว่าอย่างนั้น จะเล่าเมื่อถึงตอนทรงจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สถานสำหรับพระนคร นะครับ
(๒) องค์การเภสัชกร กำเนิดขึ้นในเมืองไทยแล้ว
จากคุณ :
กัมม์
- [
17 ส.ค. 48 18:09:51
]
|
|
|