CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    เล่าเรื่อง เหตุการณ์วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายม ๒๔๗๕

    ไม่ค่อยมีใครพูดถึงประวัติศาสตร์ยุคใหม่ในห้องนี้ เลยไปยกเอาบทความในนิตยสารหนึ่งเมื่อหกปีก่อน มาพิมพ์ให้อ่าน เผื่อว่ามีบางท่านยังไม่เคยเห็นครับ

    เอามาจากนิตยสารสารคดี ฉบับเดือนมิถุนายน ๒๕๔๒
    เรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ตอนนี้ มีให้อ่านมาก แต่ที่จะหาโดยละเอียดในเล่มเดียว ค่อนข้างยาก เพราะคนรุ่นนั้นตายไปเกือบหมดแล้ว และที่เขียนบันทึกไว้ ก็มักไม่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ เดียวนี้มีมากขึ้น แต่ก็มักจะเป็นอย่างละนิดอย่างละหน่อย

    จากนิตยสารเล่มนี้ ขอบอกว่า เนื้อหาหลวมไปหน่อย ลองพิจารณาดูนะครับ

    ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ยุทธการยึดเมือง
    วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

    “คืนนั้นผมเข้านอนปรกติ ถึงเวลาเขามาปลุก บอกว่า ไปกันเถอะ แล้วต่างคนต่างเดินทางแยกย้ายไปตามจุดนัดหมายของตัวเอง ทุกหมู่เหล่ามีชาวบ้านอย่างเราไปอยู่ด้วย ถนนราชดำเนินตอนนั้นเงียบมาก พี่ชายบอกว่า เดี๋ยวมีคนเอาปืนมาให้ ผมคิดอย่างเดียวว่า ตั้งใจมาทำงานให้สำเร็จ เขาสู้ก็สู้กับเขา ตายก็ตาย...”

    กระจ่าง ตุลารักษ์ วัย ๘๗ปี ผู้อยู่ในเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง หวนรำลึกถึงเหตุการณ์ในเช้าวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ...หกสิบเจ็ดปีที่ผ่านมา ปัจจุบันกระจ่างเป็นคณะราษฎรเพียงคนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่

    หากเชื่อว่าเส้นทางแห่งการเปลี่ยนแปลงใดๆในโลกมักเกิดจากคนพียงไม่กี่คนและส่วนใหญ่จะถูกต่อต้าน การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ของสยามก็อยู่ในข่ายนี้เช่นกัน การวางแผนให้เกิดซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นจึงเป็นหัวใจสำคัญที่สุด

    เป็นที่ยอมรับกันว่า การปฏิวัติในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ สำเร็จลงได้ก็เพราะมีการวางแผนอย่างรอบคอบ ทั้งๆที่ในเวลานั้นคณะราษฎรแทบจะไม่มีกำลังในมือ ผู้ร่วมก่อการมีเพียง ๑๑๕ คน แต่สามารถยึดอำนาจได้สำเร็จโดยไม่มีการนองเลือด

    วางแผน ๗ ปี ยึดอำนาจภายใน ๓ ชั่วโมง

    จุดเริ่มต้นของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลการปกครอง น่าจะเริ่มจากการที่นักเรียนไทยในยุโรปสองคนได้พบปะกันที่กรุงปารีส และตกลงร่วมมือกันที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามประเทศ นักเรียนไทยสองคนนั้น คือ นายปรีดี พนมยงค์ นักเรียนกฎหมายที่ได้ทุนกระทรวงยุติ.ธรรมไปศึกษาระดับปริญญาเอก และ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี ที่ลาออกจากราชการทหารไปศึกษาทางด้านรัฐศาสตร์ นายปรีดีบันทึกเหตุการณ์นี้ไว้ว่า

    “ภายหลังที่ข้าพเจ้าสนทนากับร.ท.ประยูรหลายครั้งแล้ว จึงได้ชวนเขาไปเดินเล่นที่ถนน Henri Martin ปรารภกันว่า ได้ยินผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาฯ มามากหลายคนแล้ว แต่ยังไม่มีใครจะตัดสินใจเอาจริง ฒะนั้นเราจะไม่พูดแต่ปาก คือจะต้องทำจริงจากน้อยไปสู่มาก แล้ววางวิธีการชวนเพื่อนที่ไว้ใจได้ร่วมเป็นหน่วยแรก”

    เดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๖๙ ณ หอพัก Rue du summerard กรุงปารีส ได้มีการประชุมกลุ่มผู้ต้องการเห็นบ้านเมืองที่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นครั้งแรก ผู้เข้าร่วมประชุมได้แก ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ(หลวงพิบูลสงคราม กำลังศึกษาวิชาทหารปืนใหญ่ในโรงเรียนนายทหาร) ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี(ศึกษาวิชาการทหารม้าในโรงเรียนนายทหารของฝรั่งเศส) นายตั้ว พลานุกรม(นักษึกษาวิทยาศาตร์ระดับปริญญาเอกในสวิตเซอร์แลนด์) หลวงศิริราชไมตรี(จรูญ สิงหเสนี ผู้ช่วยเลขานุการทูตสยามประจำกรุงปารีส) นายแนบ พหลโยธิน(เนติบัณฑิตอังกฤษ) และนายปรีดี พนมยงค์ ที่ประชุมตกลงที่จะทำการเปลี่ยนแปลการปกครองจากรูปแบบกษัตริย์เหนือกฎหมายมาเป็นการปกครองที่มีกษัตริย์ใต้กฎหมาย โดยใช้วิธีการ “ยึดอำนาจโดยฉับพลัน” เพื่อป้องกันมิให้มหาอำนาจคืออังกฤษและฝรั่งเศสที่มีอาณานิคมอยูล้อมรอบสยามประเทศถือโอกาสเข้าแทรกแซงยกกำลังทหารมายึดครองดินแดนสยามไปเป็นเมืองขึ้น

    ผู้ก่อการได้ตั้งปณิธานในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อให้สยามบรรลุเป้าหมายหกประการซึ่งต่อมาเรียกว่าเป็น “หลักหกประการของคณะราษฎร” คือ

    ๑. รักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
    ๒. รักษาความปลดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดลงให้มาก
    ๓. บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
    ๔. ให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน
    ๕. ให้ราษฎรมีเสรีภาพที่ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น
    ๖. ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

    ที่ประชุมยังได้ตกลงว่า เมื่อกลับสยามประเทศแล้ว หากการก่อการครั้งนี้ล้มเหลวหรือพ่ายแพ้ ให้นายแนบ พหลโยธิน ซึ่งเป็นผู้ที่มีฐานะดีที่สุด เป็นผู้ดูแลครองครัวของเพื่อนที่ถูกจำคุกหรือเสียชีวิต

    ต่อมาภายหลังมีผู้เข้าร่วมเป็นสมาชิกผู้ก่อการเพิ่มขึ้น คือ ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน ร.น.(หลวงสินธุสงครามชัย) นายคง อภัยวงศ์ นายทวี บุณยเกตุ ดร.ประจวบ บุนนาค ม.ล.อุดม สนิทวงศ์ นายบรรจง ศรีจรูญ และได้ชักชวน พ.อ.พระยาทรงสุรเดช อดีตนักเรียนเยอรมัน ซึ่งอยู่ในระหว่างการเดินทางไปดูงานในฝรั่งเศสให้เข้าร่วมด้วย ในเวลาต่อมา พ.อ.พระยาทรงสุรเดชได้กลายเป็นตัวเชื่อมให้นายทหารระดับอาวุโสเข้าร่วมกับคณะผู้ก่อการ ซึ่งในเวลานั้นนายทหารหลายคนไม่ค่อยพอใจในระบอบการปกครองที่เป็นอยู่ ดังที่พระยาทรงฯเคยพูดไว้ว่า “พวกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แทบทั้งหมด มุ่งแต่เพียงทำตัวให้โปรดปรานไว้เนื้อเชื่อใจจากพระเจ้าแผ่นดินไม่ว่าด้วยวิธีใด ตลอดทั้งวิธีที่ต้องสละเกียรติยศด้วย...” หรือในกรณีของ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ที่มีความเห็นว่า “ทำอย่างไรหนอการบริหารแผ่นดินจึงจะไม่ถูกผูกขาดไว้ในกำมือของพวกเจ้านายและพวกเสนาผู้ใหญ่เพียงไม่กี่คน ทำกันตามอำเภอใจไม่ใคร่เอาใจใส่ความเห็นของผู้น้อย เพราะถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้อยู่เรื่อยๆไปแล้ว ก็อาจเป็นเหตุให้บ้านเมืองประสบความล่มจมได้ หรืออย่างน้อยก็ไม่มีวันเจริญก้าวหน้าเทียมทันประเทศเพื่อนบ้านเขาได้เป็นแน่ ”

    หลังจากที่คณะผู้ก่อการกลับสู่สยามประเทศ ต่างคนก็แยกย้ายกันทำงาน แต่ก็ยังมีการติดต่อประชุมกันอย่างลับๆ พระยาทรงสุรเดชบันทึกเรื่องนี้ไว้ว่า

    “ พวกที่คิดปฏิวัติมีทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าพวกพลเรือนซึ่งมีหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นหัวหน้า ได้เริ่มคิดการนี้ตั้งแต่ปีไหน แต่ทราบว่าทางการฝ่ายทหารมี นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช นายพันเอกพระยาฤทธิอัคเนย์ กับนายพันเอก พระประศาสน์พิทยายุทธ ได้สนทนากันถึงเรื่องราวเช่นนี้ก่อนเวลาปฏิวัติในราวสองสามปี โดยไม่รู้ว่ามีพวกพลเรือนคิดอยู่เหมือนกัน ทางฝ่ายพลเรือนถึงแม้จะได้ทหารเป็นพวกไว้บ้างแล้ว ก็เป็นแต่เพียงพวกมียศน้อยและไม่มีตำแหน่งสำคัญในกองทัพ ด้วยเหตุที่ต้องการได้ทหารตัวสำคัญๆเข้ามาเป็นพวกด้วยนั่นเอง จึงได้ติดต่อรู้ถึงกันขึ้น ”

    ในเวลานั้นกลุ่มผู้ก่อการแบ่งได้เป็นสี่ฝ่ายคือ
    ๑. สายพลเรือน มีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นหัวหน้า
    ๒. สายทหารเรือ มีนาวาตรีหลวงสินธุสงครามชัย เป็นหัวหน้า
    ๓. สายทหารบกชั้นยศน้อย มีพันตรี หลวงพิบูลสงคราม เป็นหัวหน้า
    ๔. สายนายทหารชั้นยศสูง มีพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา พันเอก พระยาทรงสุรเดช พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ และพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ ซึ่งเรียกกันในเวลาต่อมาว่า “ สี่ทหารเสือ ”

    คณะราษฎร์แต่ละสายได้แยกย้ายกันหาสมาชิกที่จะเข้าร่วมก่อการปฏิวัติ ซึ่งในเวลานั้นคนไทยส่วนหนึ่งก็ไม่พอใจระบอบการปกครองที่เป็นอยู่มีความคิดอยากจะเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามประเทศ แต่ก็ยังไม่มีการจัดตั้งอย่างจริงจัง จนเมื่อกลุ่มผู้ก่อการเหล่านี้มาติดต่อ จึงมีคนจำนวนหนึ่งเข้าร่วมมือด้วย มีทั้งข้าราชการทหาร ข้าราชการพลเรือน พ่อค้าและประชาชนทั่วไป ทั้งนี้สมาชิกของคณะราษฎรแต่ละสายจะไม่รู้ว่าสมาชิกผู้ก่อการสายอื่นๆเป็นใครบ้าง เพื่อปิดลับป้อกันข่าวรั่วไหล ซึ่งอาจทำให้แผนการยึดอำนาจล้มเหลว ภายหลังการปฏิวัติแล้วจึงมีการรวบรวมตัวเลขของคณะผู้ก่อการ ปรากฏว่ามีสมาชิกทั้งสิ้น ๑๑๕ นาย มากกว่าครึ่งหนึ่งมีอายุน้อยกว่า ๓๐ ปี

    “ พี่สงวน (ตุลารักษ์) พี่ชายผม เป็นลูกศิษย์อาจารย์ปรีดี แต่ผมไม่เคยเห็นท่านมาก่อน เขาปกปิดเก่ง สองสามเดือนก่อนเกิดเหตุการณ์พี่ชายสั่งว่าให้ไปหาเพื่อนที่แปดริ้วมา ให้ยิงปืนได้ ผมก็พามาก่อนทำงานหนึ่งคืน แล้วพี่ชายก็มอบหน้าที่ให้ทำต่างๆ... งานนี้เป็นงานพิเศษจริงๆ เพราะต่างคนต่างแบ่งสายกันไป ทหาร พลเรือน ข้าราชการ ต่างคนต่างทำหน้าที่ ทุกคนต้องปิดเป็นความลับ จำไม่ได้หรอก ว่าใครชื่ออะไร ” กระจ่าง ตุลารักษ์ เล่าเหตุการณ์แต่ครั้งที่ตนมีอายุ ๑๙ ปีให้ฟัง

    ก่อนหน้าวันที่ ๒๔ มิถุนายน ไม่กี่เดือน แกนนำคนสำคัญของคณะราษฎรใช้บ้านพระยาทรงสุรเดชที่ถนนประดิพัทธ์ และบ้านของ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี ที่ถนนเศรษฐศิริ เป็นที่ประชุมวางแผนการปฏิวัติทั้งหมดเจ็ดครั้ง ทุกครั้งที่มีการประชุมจะนำสำรับไพ่ติดตัวไปด้วย เพื่ออำพรางว่ามาลักลอบเล่นการพนัน หากตำรวจบุกเข้ารวบตัวกะทันหัน การประชุมครั้งแรกมีมติให้พระยาพหลพลพยุหเสนา อดีตนักเรียนทหารเยอรมัน เป็นหัวหน้าคณะผู้ก่อการ มอบหมายให้พระยาทรงสุรเดชเป็นผู้วางแผนการยึดอำนาจ คณะผู้ก่อการมีมติว่าจะไม่ลงมือกระทำการในระหว่างที่มีงานมหกรรมฉลองพระมหานครครบรอบ ๑๕๐ ปี และเปิดอนุสาวรีย์สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ

    ในการประชุมครั้งต่อมา พระยาทรงสุรเดชวางแผนใช้ทหารยึดพระที่นั่งอัมพรสถานซึ่งเป็นที่ประทับของรัชกาลที่ ๗ ในเวลากลางคืน และขอถวายความอารักขาแก่ในหลวงในฐานองค์ประกัน แล้วบังคับให้ลงพระปรมาภิไธยพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ปวงชนชาวไทย แต่แผนนี้มีผู้ไม่เห็นด้วย เพราะระหว่างที่บุกเข้าไปอาจเกิดการปะทะกันกับทหารมหาดเล็กจนถึงขึ้นนองเลือด และผู้ก่อการได้ตกลงในหลักการของการปฏิวัติครั้งนี้คือ จะต้องพยายามมิให้เกิดการนองเลือด จะต้องไม่กระเทือนต่อพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์เกินควร และตกลงว่าจะทำการปฏิวัติในช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรพระราชฐานประทับที่พระราชวังไกลกังวล

    จากคุณ : สุริยวรมัน - [ 17 ก.ย. 48 19:41:50 A:203.188.19.180 X: TicketID:031822 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป