CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    หมอธวัติ ...แพทย์ชนบทดีเด่น 2549 "รู้จักวิธีคิด อยู่ที่ไหนก็สุขได้"

    เป็นบทความที่เขียนถึงนายแพทย์ธวัติ บุญไทย หนึ่งในสองของผู้ได้รับรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่น ประจำปี 2549 ซึ่งรางวัลนี้มูลนิธิแพทย์ชนบทจะคัดเลือกแพทย์ชนบทที่ปฏิบัติงานด้วยความ   อดทน ตั้งใจ และเสียสละ ในเขตทุรกันดารและเสี่ยงภัย

    คุณหมอท่านนี้มีความคิดและหลักการทำงานที่ดีมากๆ อยากให้ได้อ่านกันค่ะ

    ++รู้จักวิธีคิด อยู่ที่ไหนก็สุขได้++

    เวลาที่ขับเคลื่อนผ่านไปในแต่ละวัน ย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง ซึ่งเมื่อย้อนไป 23 ปีก่อน ภาพของ “ม่วงสามสิบ” อำเภอเล็ก ๆ อำเภอหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี จึงไม่เป็นเหมือนอย่างที่เห็นในวันนี้

    แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยน หากกลับจะเป็นที่จดจำของชาวม่วงสามสิบได้เป็นอย่างดี นั่นคือ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่ชื่อ นายแพทย์ธวัติ บุญไทย

    หลังจากเรียนจบคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณหมอธวัติได้เลือกมาเริ่มต้นอาชีพแพทย์ที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี โดยตั้งใจว่าไม่นานก็จะขอย้ายไปอยู่ในตัวจังหวัด ผ่านไป 1 ปี มีบุคคลที่คุณหมอให้ความเคารพแนะนำให้ไปอยู่ที่ อำเภอม่วงสามสิบ ด้วยเหตุผล    ‘มีโรงพยาบาล...แต่ไม่มีหมอ’

    แม้จะเป็นอำเภอที่อยู่ไม่ไกลจากตัวจังหวัดมากนัก แต่ม่วงสามสิบเมื่อ 23 ปีก่อน ก็ไม่ต่างไปจากท้องถิ่นชนบทในภาคอีสานอื่นๆ ที่ทั้งการคมนาคมและสาธารณูปโภคยังเดินทางเข้าไปไม่ทั่วถึง หมู่บ้านตั้งอยู่กระจัดกระจาย การติดต่อสื่อสารทำได้ลำบาก จึงไม่ต้องพูดถึงว่าชาวบ้านจะรู้จักและมีทัศนคติอย่างไรกับโรงพยาบาล

    “ช่วงแรกๆ โรงพยาบาลมีแต่อาคาร เครื่องมืออุปกรณ์หรือบุคลากรก็ยังไม่พร้อม ชาวบ้านเองก็ยังไม่รู้จักโรงพยาบาลมากนัก จึงต้องออกไปประชาสัมพันธ์บอกชาวบ้านว่า มีโรงพยาบาล มีหมอแล้วนะ โดยเอาหนัง 8 มม. ของตัวเองที่เก็บไว้ที่บ้านเพชรบูรณ์ไปฉายให้ดู บางหมู่บ้านไม่มีไฟฟ้าก็ต้องเอาเครื่องปั่นไฟไปด้วย หลังๆ ก็เปลี่ยนเป็นเล่นดนตรีแทน เพื่อเป็นการเรียกคน พร้อมๆ กับไปให้ความรู้กับชาวบ้านเกี่ยวกับการป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคและการดูแลรักษาตัวเองเบื้องต้น”

    นอกเหนือจากการออกไปหาชาวบ้านเพื่อสร้างความรู้จักคุ้นเคยกันแล้ว ในส่วนของงานพัฒนาและบริหารก็ต้องดำเนินไปควบคู่กับการรักษาผู้ป่วยด้วย ยิ่งในช่วง 10 ปีแรกที่มีคุณหมออยู่เพียงคนเดียว ต้องดูแลผู้ป่วยวันละเกือบ 200 คน จึงนับเป็นงานหนักไม่ใช่น้อย แต่ที่สุดก็คิดได้ว่า ถ้าผู้ป่วยเขาไม่มีความทุกข์ ก็คงไม่เสียเวลามานั่งรอเพื่อพบหมอหรอก หมอคือคนที่จะช่วยเขาได้ จึงต้องทำให้ดีที่สุด เพื่อให้เขาทุกข์น้อยลงมากที่สุด

    ภาพของหมอหนุ่มผู้ทุ่มเทแรงกายแรงใจรักษาผู้ป่วยจึงเป็นที่ติดตา จนกลายเป็นความผูกพันระหว่างคุณหมอและชาวบ้าน แม้จะมีโอกาสรับทุนไปเรียนปริญญาโท Community Health ที่ University of Heidelberg ประเทศเยอรมัน เมื่อกลับมาก็ยังคงมารับหน้าที่เป็นนายแพทย์อยู่ที่โรงพยาบาลม่วงสามสิบอยู่เหมือนเดิม ทั้งๆ ที่มีความพร้อมและโอกาสจะไปรับตำแหน่งใหม่ที่สูงและมีผลตอบแทนที่มากกว่าเดิม แต่คุณหมอก็เลือกที่จะไม่ไป

    อะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณหมอผู้ไม่ได้เป็นลูกหลานชาวอีสาน แต่กลับมาอยู่จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ไปเสียแล้ว และยังไม่เคยคิดจะย้ายไปอยู่ที่อื่น

    “ผมยินดีที่จะเป็นหัวสุนัข มากกว่าที่จะเป็นหางราชสีห์ ถ้าจะเลือกทางเดินในเส้นบริหาร ผมคิดของผมว่า ถ้าขึ้นไปแล้วไปไม่สูงสุด ก็ไม่รู้จะปีนขึ้นไปทำไมให้เหนื่อยเปล่าๆ ดังนั้นอยู่เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภออย่างนี้แหละ เป็นให้มันดีที่สุดที่จะเป็นได้ก็พอ”

    แนวความคิดหนึ่งที่คุณหมอนำมาพัฒนาในการทำงาน นั่นคือการปรับระบบบริการ OPD โดยทำให้โรงพยาบาลชุมชนมีระบบบริการเป็นทุติยภูมิ ไม่ควรทำงานปฐมภูมิซ้ำซ้อนกับสถานีอนามัย เพราะกว่า 50% ต้องการการดูแลแค่ระดับปฐมภูมิเท่านั้น ถ้าสามารถปรับให้โรงพยาบาลชุมชนรับเฉพาะผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจากสถานีอนามัย ภาระงานจะลดลง แพทย์จะมีเวลาดูแลผู้ป่วยได้โดยละเอียดตามมาตรฐาน ความผิดพลาดลดลง ความสัมพันธ์กับผู้ป่วยดีขึ้น คุณภาพของการให้บริการดีขึ้น

    “โครงการหนึ่งที่กำลังทำอยู่คือการจัดรถรับส่งผู้ป่วยจากสถานีอนามัย 4-5 แห่งในโซนเดียวกัน ทั้งจากสถานีอนามัยไปโรงพยาบาล และรอรับกลับไปส่งคืนที่สถานีอนามัยหลังตรวจรักษาเสร็จ เพิ่มความมั่นใจให้ผู้ป่วยว่า ประตูสถานีอนามัย ก็เป็นเหมือนประตูเดียวกับโรงพยาบาล มีความจำเป็นเมื่อไร ก็เข้าถึงได้ทันที”

    ภายใต้บุคลิกความเป็นหมอผู้สมถะ เรียบง่าย แต่ในเรื่องของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่คุณหมอให้ความสนใจศึกษาด้วยตนเองมาโดยตลอด โดยเฉพาะกับระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานรักษาพยาบาลผู้ป่วยได้อย่างลงตัว

    “ความตั้งใจสุดท้ายที่คิดไว้ คือ จะทำให้มี Software ที่ใช้งานในโรงพยาบาลโดยเฉพาะขนาดเล็ก เป็น All in One คือใช้ Software ตัวเดียว Run ข้อมูลโรงพยาบาลได้ทุกระบบ ทิ้งไว้เป็นสมบัติสาธารณะ ที่ผมและชาวโรงพยาบาลม่วงสามสิบตั้งใจทำ จึงได้เริ่มต้นโครงการ mBase (Muang Samsib Database) ขึ้น ซึ่งปัจจุบันก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ประมาณ 70-80%”

    ตลอดการใช้ชีวิตราชการ  24 ปี คงไม่มีข้อกำหนดไหน ที่จะบังคับให้คุณหมอต้องอยู่ที่ม่วงสามสิบนานถึง 23 ปี ถ้าไม่ใช่เพราะ “ใจ” ของคุณหมอเอง

    “เมื่อลองถามตัวเองดูว่าต้องทนอยู่หรือเปล่า ก็ตอบได้ว่าไม่ต้องทน แต่อยู่ได้อย่างมีความสุขตามสมควรแก่อัตภาพ หากมีความพอเพียงในชีวิต รู้จักวิธีคิด คุณจะอยู่ที่ไหนก็ได้อย่างมีความสุข”

    แก้ไขเมื่อ 14 ต.ค. 49 21:35:52

     
     

    จากคุณ : ในรอยทาง...มีรอยยิ้ม - [ 14 ต.ค. 49 21:34:21 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | PanTown.com | BlogGang.com