Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    ข้อเท็จจริงทางการแพทย์ ที่แพทย์จะต้องไม่ถูกฟ้องทั้งแพ่งและอาญา

    และแล้วความเป็นจริงก็ปรากฎ  นายกแพทยสภา ยอมรับโดยปริยายว่า ข้อเท็จจริงทางการแพทย์  เพื่อป้องกันแพทย์ถูกฟ้องร้อง   กรณีถ้าแพทย์ไม่แน่ใจว่ารักษาได้ ตรวจเบื้องต้นแล้วโรคมันยังไม่ทันกำเริบ   และตัวเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ก็ส่งต่อไปรักษาที่อื่น  ผู้ป่วยอาจรอดหรือตายกลางทาง   แต่ที่แน่หมอไม่ถูกฟ้องแน่ๆ....
     ยกตัวอย่างเรื่องไส้ติ่งอักเสบ  ที่แรกมาอาการอาจยังไม่ชัดเจน  ต่อมาภายหลัง เกิดอักเสบขึ้นมา จะโทษหมอไม่ได้
             สังคมยุคนี้มันก็แปลกดี  ที่ทั้งๆที่พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม ๒๕๒๕ ให้จัดตั้งแพทยสภา เป็นองค์กรวิชาชีพ มีเจตนารมย์ ให้ควบคุมการประกอบวิชาชีพเวชกรรมและคุ้มครองประชาชนผู้ใช้บริการทางการแพทย์   มีอำนาจบริหารกิจการตามพระราชบัญญัติ  มีอำนาจออกกฎหมายเองได้ และมีอำนาจตุลาการพิจารณาวินิจฉัยคดี ลงโทษแพทย์ด้วยกันได้ สรุปเป็นองค์กรประเภทเดียวที่มีทั้งอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจตุลาการ
             แต่บทบาทของแพทยสภาเวลานี้  ยังมองไม่เห็นว่า ได้คุ้มครองประชาชนตรงไหน  ตลอดระยะเวลา ๔ ปีที่ผ่านมา พฤติการณ์กลับเป็นการคุ้มครองสมาชิกแพทยสภาที่เป็นแพทย์ด้วยกันมากกว่าที่จะคุ้มครองประชาชน   คดีร้องเรียนแพทย์ที่แพทยสภาพิจารณาแล้วมีมติยกข้อกล่าวหา   แต่เวลาไปฟ้องศาลยุติธรรม   ศาลกลับเห็นว่าแพทย์ผิด  ให้ชดใช้ค่าเสียหาย   บทนี้น่าจะพิสูจน์อะไรบางอย่างว่า องค์กรนี้  เป็นอย่างไร.............  มีกรรมการและแพทย์บางคนปรามาสว่า ศาลไม่รู้จริงทางการแพทย์ไม่รู้พิพากษาไปได้อย่างไร     อาจจะเป็นการหมิ่นศาล ละเมิดอำนาจศาล  ขอให้คนที่ปรามาสคำพิพากษาได้อ่านคำพิพากษาให้ครบถ้วนทุกตัวอักษรเสียก่อน
              อยากให้สภาวิชาชีพทั้งหลาย เป็นองค์กรที่มุ่งเน้นควบคุมการประกอบวิชาชีพ เป็นหลัก เพื่อคุ้มครองประชาชนผู้ใช้บริการ  ส่วนการส่งเสริมการศึกษาวิจัยให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพ เป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กันไป  ไม่ใช่มามุ่งเน้น คุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพเป็นหลัก  ทำเพื่อประโยชน์ของสมาชิกสภาวิชาชีพ    เพราะสภาวิชาชีพ ไม่ใช่สมาคม   ถ้าอยากคุ้มครองสมาชิก  ต้องไปทำในรูปแบบของสมาคม  
                ขอให้ผู้ที่เป็นกรรมการ และผู้ที่ทำงานให้แก่องค์กรวิชาชีพ  รวมไปถึงหมู่มวลสมาชิกองค์กรวิชาชีพ  ได้มีจิตสำนึกเสียใหม่ว่า  องค์กรที่เขาจัดตั้งขึ้นมานี้เพื่ออะไร   เพื่อคุ้มครองประชาชน  ต้องทำเพื่อประชาชนเป็นหลัก  จะได้เป็นองค์กรที่เป็นที่พึ่งของประชาชนได้  งบประมาณของรัฐที่จ่ายเงินอุดหนุนแก่องค์กรณ์   เพื่อสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภค  ดังนั้นเงินอุดหนุนนี้ควรใช้จ่ายเฉพาะฝ่ายจริยธรรม  และหรือฝ่ายกฎหมาย   หรือเป็นค่าเบี้ยประชุม ค่าดำเนินการสืบสวนสอบสวนเท่านั้น     ส่วนเงินเดือนเจ้าหน้าที่อื่นๆ ค่าเบี้ยประชุมกรรมการอื่นๆ  เงินเดือนนายก  เลขาธิการ  การส่งเสริมการศึกษาวิจัย ไปใช้เงินที่ได้จากการขึ้นทะเบียนของแพทย์ที่จบใหม่เถอะครับ  ขอให้ทำบัยชีแยกจากกัน  เพราะองค์กรอ้างเสมอว่า เงินอุดหนุนที่รัฐให้  ไม่พอใช้  ก็คุณเล่นเอามาใช้ผิดวัตถุประสงค์  ผิดประเภท  เอามาจ่ายทั้งสำนักงานฯ จะพอใช้ได้อย่างไร  อีกทั้งผลงานในเรื่องคุ้มครองประชาชน  ก็ไม่เห็นผลคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายให้ปีละหลายๆล้านบาทเลย
              ผมทราบว่าบทบาทต่อไปของแพทยสภาคือ จะหาทางไม่ให้แพทย์ ถูกฟ้องร้องในคดีอาญาเกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วย  และมักจะยกตัวอย่าง เรื่องหมอถูกแจ้งความจับ  ถูกพิมพ์ลายนิ้วมือ และถูกจับขังบนสถานีตำรวจภูธร  ยังไม่ทันได้ประกันตัว  (แต่ต่อมาก็ได้ประกันตัว)  ทำให้หมอรู้สึกเสียเกียรติภูมิเป็นอย่างมาก เพราะคนระดับอย่างหมอ  ไม่ควรต้องเข้าห้องขัง เนื่องจากไปรักษาแล้วคนไข้เสียชีวิต  
             ผมไม่รู้ว่ากฎหมายอาญา เขาจะยกเว้น อาชีพหมอได้หรือไม่  แต่ต่อไปถ้าบทบาทของแพทยสภายังเป็นแบบนี้ ยุค ๒๕๕๐-๒๕๕๒ ที่กำลังจะเปลี่ยนคณะกรรมการชุดใหม่   ผู้ที่จะเข้ามาเป็นกรรมการแพทยสภา ก็คือแพทย์ ที่มาลงแข่งขันรับสมัครเลือกตั้งโดยมี แพทย์ด้วยกันเป็นผู้ลงคะแนนเลือกเข้ามา   ปัญหาอยู่ที่ว่าเวลาหาเสียงกับสมาชิก ก็มักจะหาเสียงในทำนองว่าจะเข้ามาทำประโยชน์อะไรแก่สมาชิก  และแน่นอนว่าสมาชิกที่เป็นแพทย์ก็ต้องเลือกคนที่จะเข้ามาทำประโยชน์แก่ตน   ถ้าเกิดใครไปหาเสียงว่าจะเข้ามาควบคุม  เข้ามาคุ้มครองประชาชน  คงไม่มีใครไปลงคะแนนเลือกแพทย์คนนั้นเข้ามาเป็นแน่
           แพทยส่วนใหญ่แล้ว เป็นคนดีเป็นผู้เสียสละ  ทำงานหนัก เวลาพักผ่อนน้อย   การทำงานไปแล้วต้องมาหวาดระแวงว่าอาจถูกฟ้องร้อง  อาจทำให้การประกอบวิชาชีพไม่มีความสุข   การมีเกราะกำบัง หรือแนวทางป้องกันไว้บ้าง  ก็ไม่ใช่สิ่งที่เสียหาย  แต่ทั้งนี้ องค์กรที่จะเป็นผู้สร้างและช่วยเหลือเรื่องนี้โดยตรงคือแพทยสมาคม  ไม่ใช่แพทยสภา
              การปลูกจิตสำนึก ต่อบทบาทหน้าที่ที่แท้จริง ของสภาวิชาชีพ ให้สมาชิกที่เป็นแพทย์ได้รับรู้ รับทราบ และเข้าใจเจตนารมย์ของกฎหมาย   และวัตถุประสงค์ของสภาวิชาชีพเป็นเรื่องที่จักต้องกระทำโดยด่วน   มิฉะนั้นองค์กรที่คิดว่าเป็นที่พึ่งพิงได้ของประชาชน  จะเปลี่ยนแปลงกลับกลายเป็นองค์กรที่เอาเปรียบประชาชน  โดยกลุ่มคณะบุคคลคณะหนึ่งที่เรียกว่า "หมอ"  หารู้ไม่ว่า องค์กรนี้แหละเป็นผู้สร้างวิกฤติศรัทธาระหว่างแพทย์กับประชาชน  ไม่ใช่ใครที่ไหน  ต่อไปแล้วสังคมจะอยู่กันอย่างไร

    จากคุณ : กอบพงษ์ - [ 13 ธ.ค. 49 10:59:09 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom