เด็กน้อยนอนนิ่งไม่ไหวติง พระเอกใช้เครื่องมือแพทย์ตรวจการทำงานของหัวใจแล้วพบว่าหัวใจของเด็กหยุดเต้น!!! กราฟหัวใจเป็นเส้นตรง พระเอกตัดสินใจหยิบสายไฟฟ้าสองเส้นมาและช๊อตลงไปที่ตัวเด็กโดยผ่านตนเอง หลังจากนั้นหัวใจของเด็กน้อก็กลับมาเต้นใหม่อีกครั้งอย่างปาฎิหารย์
ฉากที่ว่านี้มาจากภาพยนต์เรื่องหนึ่งที่เข้าฉายในบ้านเราเมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้ นี่เป็นส่วนหนึ่งของหลายๆกรณีที่สื่อบันเทิงเสนอข้อมูลเรื่องการแพทย์ได้อย่างไม่ตรงกับความจริง มองดูเผินๆแล้วฉากดังกล่าวไม่ได้มีความสำคัญอะไร เหมือนกับประโยคที่หลายๆคนชอบบอกว่า คนเราสามารถแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นเรื่องจริงอะไรเป็นละคร
แต่ในชีวิตจริงเชื่อว่าบุคลากรทางการแพทย์หลายคนมีประสบการณ์ที่ไม่ดีอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการนำเสนอข้อมูลที่คลาดเคลื่อนของสื่อบันเทิง และในทำนองเดียวกัน ผมเชื่อว่าหลายๆคนน่าจะเคยเกิดความรู้สึกว่าบุคลากรทางการแพทย์กำลังดูแลรักษาไม่ถูกต้อง (ทั้งที่ไม่รู้ว่าจริงๆเค้ารักษากันอย่างไร) ดังนั้นวันนี้ผมจะขอนำเสนอแง่มุมทางการแพทย์ที่คนบางคนอาจจะเข้าใจผิดจากการรับชมสื่อบันเทิง
ครั้งนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการช่วยชีวิตคนที่หัวใจหยุดเต้น
1. ไม่มีคลื่นหัวใจทำไมหมอไม่ใช้เครื่องช็อต
เรื่องหลักใหญ่ที่หนังละครชอบใช้เพื่อแสดงว่าตัวละครหัวใจไม่เต้น ซึ่งหมอก็จะใช้เครื่องกระตุ้นจัดการช็อตจนหัวใจเต้นและฟื้นกลับมา
แท้จริงแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผิดหลักความจริงอย่างเห็นได้ชัด เรื่องกราฟหัวใจที่เป็นเส้นราบเรียบหรือที่เรียกทางการแพทย์ว่า Aystole เป็นคลื่นหัวใจชนิดที่ไม่สามารถใช้ไฟฟ้าในการช็อตได้ การจะช่วยเหลือต้องทำโดยการนวดหัวใจและแก้ไขสาเหตุที่ทำให้หัวใจหยุดเต้นจึงพอจะมีโอกาสทำให้หัวใจกลับมาเต้นได้ จะช็อตอย่างไรก็ไม่มีทางทำให้หัวใจกลับมาเต้นได้ครับ
เรื่องนี้นับว่าเป็นปัญหาในหลายกรณี เพราะบางครั้งญาติหรือผู้ที่พาผู้ป่วยมาเห็นว่าแพทย์ไม่ใช้เครื่องช็อตเมื่อผู้ป่วยมีกราฟไฟฟ้าเป็นเส้นตรง จากนั้นก็ไม่ได้มีการสอบถามความสงสัย แต่กลับนำไปสู่ความรู้สึกไม่ดีหรือแม้กระทั่งการต่อว่าแพทย์ว่าไม่ได้ช่วยเหลือให้เต็มที่
2. พยาบาลแทงเส้นน้ำเกลือจนแขนพรุน
ความสงสัยหนึ่งที่มักเกิดขึ้นคือ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินแบบนี้ทำไมพยาบาลถึงแทงเส้นเสียจนแขนพรุนไปหมด บางครั้งแทงกันเป็นสิบๆรูจนแขนพรุนไปหมด เป็นเพราะไม่เก่งหรือไม่เตรียมพร้อมหรือไม่ ...
เวลาเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ หรือหัวใจหยุดเต้น เส้นเลือดที่จะแทงเพื่อให้น้ำเกลือหรือยานั้นจะแฟบลงครับ ทำให้การแทงเส้นนั้นเป็นไปได้ยาก บางครั้งการแทงต้องทำไปตามประสบการณ์ล้วนๆนั่นคือไม่ได้เห็นเส้นเลือดแต่จากตำแหน่งและการคลำแล้วคาดว่าน่าจะใช้ ก็ต้องลองแทงดู ...
มีคำถามว่าไม่แทงได้ไหม ... เพราะบางครั้งมีข้อกล่าวหาที่รุนแรงจากญาติผู้ตายว่า"เพราะแทงจนแขนพรุนเลยทำให้เสียชีวิต"(ตามสามัญสำนึก ถ้าไม่จำเป็นจะแทงเส้นทำไมให้เหนื่อย) ... การแทงเส้นนั้นทำไปเพื่อการให้น้ำเกลือเพื่อและการให้ยาเพื่อช่วยให้หัวใจกลับมาเต้นใหม่อีกครั้ง ผลดีมากกว่าผลเสียครับ
3. ทำไมหัวใจหยุดเต้นส่วนใหญ่ถึงตาย
ในละครซีรี่ยส์ต่างประเทศทางประเทศอังกฤษ เช่นเรื่อง Casualty ,Cardiac arrest และ Medics โอกาสที่ผู้ที่หัวใจหยุดเต้นจะมีหัวใจกลับมาเต้นใหม่คือ 25%
ในทางฝั่งอเมริกา เรื่อง ER และ Chicago Hope โอกาสที่ผู้ที่หัวใจหยุดเต้นจะมีหัวใจกลับมาเต้นใหม่คือ 75% และเรื่อง Bay watch พบว่าเกือบทุกราย รอดชีวิต
ในละครไทย ส่วนใหญ่ก็รอดแทบทุกรายเช่นกัน จึงไม่ค่อยน่าแปลกใจ หากบางคนจะเกิดความรู้สึกว่าการรักษานั้นไม่ดีหรือเปล่าจึงทำให้ไม่รอด (ก็ทีในละครนั้นรอดแทบทุกราย)
หัวใจหยุดเต้นนั้นจะเกิดการหยุดไหลเวียนของเลือด ไม่มีออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย ที่สำคัญที่สุดนั้นคือสมอง สมองของคนเราขาดอากาศเพียง 4 นาทีก็จะเริ่มเกิดความเสียหายแล้ว และหากปล่อยไว้โดยไม่ช่วยอะไรเลยเป็นเวลา10นาที โอกาสที่จะช่วยให้รอดนั้นแทบจะเป็นศูนย์
ปัญหาหนึ่งของบ้านเราคือ ไม่มีการเรียนการสอนเรื่องการช่วยเหลือผู้ที่หัวใจหยุดเต้นอย่างได้ผล ทำให้ไม่มีการช่วยเหลือตั้งแต่แรกเริ่มที่เกิดหัวใจหยุดเต้น ดังนั้นกว่าจะมาถึงโรงพยาบาลก็มักจะสายจนเกินจะช่วยเหลือแล้ว
4. ทำไมหมอไม่ไปรักษาคนไข้ มัวออกมาถามอะไรอยู่ได้
บางครั้ง(โดยเฉพาะในโรงพยาบาลขนาดเล็ก)ระหว่างการนวดหัวใจและช่วยเหลือผู้ป่วย แพทย์จะเดินออกมาถามข้อมูลบางอย่างจากญาติหรือผู้นำส่ง จนเกิดความรู้สึกว่าแทนที่แพทย์จะช่วยผู้ป่วยทำไมจึงเอาเวลามาถามโน่นถามนี่ได้
ปัญหาที่พบคือในภาพที่เห็นจนเจนตาในภาพยนต์หรือละคร แพทย์จะเป็นผู้ทำการนวดหัวใจเองแต่ต้นจนจบ หรือไม่ก็ช็อตหัวใจดื้อๆไปเลย ไม่เห็นมีการพูดคุยสักหน่อย
ในการช่วยผู้หัวใจหยุดเต้นนั้น ต้องทำการนวดหัวใจให้ยา ตรวจดูลักษณะคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่เหมาะสมเพื่อการรักษา ที่สำคัญในคลื่นไฟฟ้าบางชนิด จำเป็นต้องมีการตรวจสอบหาสาเหตุเพื่อการรักษาที่จำเพาะ ซึ่งการตรวจสอบสาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่งคือเรื่องประวัติเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือประวัติความเจ็บป่วยเดิมของผู้ป่วย ในขณะที่ออกมาถามนั้นก็จะมีบุคลากรทางการแพทย์คนอื่นๆที่ทำการช่วยเหลือผู้ป่วยอยู่ตามหลักการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
5. รักษากันอย่างไร ถึงฟันหัก
เรื่องนี้อาจจะไม่ใช่ในละคร แต่เป็นเรื่องที่ได้ยินจากข่าว ว่าแพทย์ใส่ท่อช่วยหายใจแล้วฟันไปอุดหลอดลมทำให้คนที่ไม่น่าตายต้องตาย
ปกติแล้วการรักษาผู้ที่หัวใจหยุดเต้นจะมีการนวดหัวใจและใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งในทางทฤษฎี ถ้าใส่ท่ออย่างถูกหลักก็ไม่ควรมีอะไรหักทั้งสิ้น ... แต่ในความเป็นจริงนั้นลักษณะของหลอดลมและร่างกายของผู้ป่วยนั้นแตกต่างกันไป บางคนมีลักษณะหลอดลมที่ใส่ท่อได้ยาก การใส่ที่ยากกว่าปกติจึงทำให้เกิดฟันหักได้ บางคนเกิดความกลัวว่าเวลาใส่ท่อช่วยหายใจแล้วฟันหัก ฟันจะไปอุดจนทำให้หายใจไม่ได้
แต่ความจริงแล้วเวลาใส่ท่อช่วยหายใจเสร็จจะมีการฟังเสียงปอด ถ้าเสียงหายใจผิดปกติก็สามารถรู้ได้ตั้งแต่ตอนนั้น ขนาดฟันส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ใหญ่ขนาดที่จะไปอุดหลอดลมใหญ่ได้
... เรื่องฟันหัก เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดบ่อยครับ แต่ว่าก็เกิดได้ในหลายๆกรณีไม่ว่าจะเป็นการที่รูปร่างอ้วนใหญ่ มีภาวะเกร็งกัดฟัน หรีอเส้นเสียงอยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงยาก
เรื่องการช่วยเหลือผู้ที่หัวใจหยุดเต้นนั้นยังนับว่าเป็นปัญหาที่ท้าทายมาก เพราะว่าการจะช่วยเหลือได้นั้นต้องมีการช่วยเหลือผู้ป่วยจากคนใกล้ชิดที่เห็นเหตุการณ์ตั้งแต่นาทีแรกที่ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น ... หากรอจนส่งแพทย์ก็มักจะสายเกินไปเสมอ
การจะฝึกสอนการนวดหัวใจเบื้องต้นนั้นก็ต้องการการฝึกหัดโดยตรงหรือมีสื่อการสอนที่ชัดเจน การสอนทางinternetยังนับว่าทำได้ยาก
ผู้ใดที่สนใจสามารถลองค้นหาได้โดยใช้คำสืบค้นว่า CPR,Basic Life Support ,cardiopulmonary resuscitation ,การช่วยฟื้นคืนชีพ,การนวดหัวใจ
หรืออาจจะสอบถามเรื่องVCDประกอบการสอนของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
**************
ที่มา จาก http://webboard.mthai.com/7/2007-07-31/337704.html
ใครเคยเป็นแบบผมมั่ง เชื่อเสียสนิทเลยว่าถ้ากราฟหัวใจเป็นเส้นตรงต้องช๊อตถึงจะฟื้น
จากคุณ :
ม้วนหางสิลูก
- [
6 ส.ค. 50 16:45:19
A:222.123.237.162 X: TicketID:130361
]