Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    คำแนะนำและกำลังใจสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ยังต้องทำงานประจำ

    ช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกระทู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าน้อยลง เป็นเรื่องน่ายินดี ส่วนกระทู้ที่เราเห็นมากขึ้นเป็นเรื่องงาน เช้านี้ ด้วยอารมณ์ไหนไม่แน่ใจ (ฮา) อยากส่งกำลังใจและคำแนะนำให้เพื่อนสวนลุมที่เจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้าที่กำลังรักษาตัวอยู่ พร้อมกับทำงานประจำไปด้วย .. เรารู้ .. มันไม่ง่ายเลย

    หลายปีก่อน เราอยู่ในสภาพเช่นนั้น ทั้งที่สถานที่ทำงานดีมาก ตำแหน่งหน้าที่การงานดี ทุกอย่างดีหมด สิ่งที่ไม่อยู่ในสภาพจะทำงานได้ไหวคือจิตของเรา ความเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามีผลต่อการทำงานหลายอย่าง ที่หนัก ได้แก่ ปัญหาเรื่องสมาธิ ความจำ กระทั่งการประมวลผลของสมองในเรื่องทั่วๆ ไป ซ้ำบางครั้งความเศร้ารุนแรงที่ไม่มีสาเหตุก็จู่โจมเข้ามาไม่ทันรู้ตัว นั่นคืออาการของโรคที่กระทบต่องาน ยังมีผลของยาที่กระทบต่อการทำงานอีก นั่นคือความง่วงเหงาหาวนอน เซื่องซึม เนื่องจากยาที่ต้องกินหลายตัว ทั้งในตอนกลางคืนที่มันยังไม่หมดฤทธิ์และยาที่กินตอนเช้า ทำให้ไปทำงานในสภาพงัวเงีย ไม่สดชื่นกระปรี้กระเปร่าสมวัย ความสามารถและหน้าที่รับผิดชอบ กว่าเราจะเริ่มสดชื่นเข้าที่เข้าทางในแต่ละวันก็มักจะใกล้เที่ยงไปแล้ว นั่นคืออีกไม่นานก็หมดวัน .. เราอยู่ในสภาพนี้ และพยายามประคองตนเองอยู่นาน จนในที่สุด เรารู้แล้วว่ารักษางานไว้ไม่ไหวแล้ว เพราะเวลาเดียวกันนั้นเอง การทำงานกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรารักษาตนเองให้หายจากโรคนี้ได้ไม่เต็มที่ .. เราเองค่อนข้างโชคดี ตรงที่พอจะมีทางเลือกในชีวิต ปัจจุบัน เราจึงทำงานอิสระ (แม้กระนั้น ทุกวันนี้ บริหารเวลาและกำลังกายใจด้วยตนเองก็ยังไม่ง่าย ช่วงเวลาที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในแต่ละวัน มีน้อยกว่าคนทั่วไป แต่ดีกว่าตรงที่ไม่ต้องทำงานร่วมกับคนจำนวนมาก คนอื่นจะได้ไม่มาลำบากเพราะเราด้วย ^^)

    ที่เล่ามานั้นคือเรื่องของตนเอง ประสบการณ์ของตนเอง ที่ทำให้รู้ว่าการรักษาโรคซึมเศร้าไปด้วย พร้อมกับทำงานประจำไปด้วยนั้น .. เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ต้องอาศัยความอดทนและกำลังใจของตนเอง ความเข้าใจจากคนบางคน .. หลายคน

    สำหรับเพื่อนสวนลุมที่กำลังอยู่ในสภาพลำบากเช่นนี้ เราขอให้เพื่อนใช้อดทนให้มาก ให้กำลังใจตนเองเข้าไว้ หากตอนเช้ารู้สึกเซื่องซึม ไม่สดชื่น ควรกินกาแฟและโยเกิร์ตสักถ้วย เพื่อช่วยเรียกความสดชื่น .. หากทำได้พยายามรับผิดชอบงานของตนเองให้เต็มความสามารถ โดยแบ่งเวลาให้เหมาะสมกับกำลังสมาธิและสภาพอารมณ์ของตนเอง อาทิ หากรู้ว่าตนเองกำลังอยู่ในสภาพที่มีประสิทธิภาพสูงสุดของ ณ วันนั้นๆ ให้รีบใช้ช่วงเวลาดังกล่าว จัดการงานที่รู้สึกว่ายากและต้องใช้แรงคิดมากเสีย พอแรงเริ่มน้อยลง ค่อยไปจัดการงานที่ซับซ้อนและง่ายกว่านั้นแทน

    สิ่งที่ช่วยอีกนั่นคือการทำให้ตัวให้อยู่ในสภาพ "ดูดี" อย่างน้อยในระดับหนึ่ง โดยปกติ คนที่ป่วยด้วยโรคนี้ มักจะละเลยสภาพภายนอกของตนเอง (ก็นะ ข้างในมันไม่ค่อยดี แรงจะทำให้ตนเองดูดี ย่อมมีน้อยไปด้วย) จงแต่งตัว และดูแลหน้าตา ทรงผมให้ดูดี ตอนทำอาจยากหน่อย แต่ทำเถิดค่ะ เมื่อเราอยู่ในสภาพดูดี คนอื่นเห็นเราเขาก็จะได้สบายใจ มั่นใจในตัวเรา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะย้อนกลับมาทำให้เราเรียกความสดชื่น สดใสภายในของตนเองได้

    ในระหว่างวัน หากเริ่มเหนื่อยล้า และอารมณ์เริ่มไม่ค่อยดี ให้พยายามรู้ตัว ออกเดินไปสูดอากาศบริสุทธิ์ หายใจลึกๆ พักสายตา พักสมอง ไปห้องน้ำ ล้างหน้าตา ดื่มน้ำ ใช้เวลาเพื่อทำสิ่งเหล่านี้สักพัก ก่อนกลับมาทำงานใหม่ อย่านั่งจมอยู่กับที่

    โดยทั่วไป การเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามีคนเข้าใจมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ทั้งหมด และส่วนมากก็ยังเข้าใจผิดอยู่ ดังนั้น การจะบอกเพื่อนร่วมงานเจ้านายคนใดคนหนึ่ง ต้องชั่งตรองให้ดี

    ขอส่งกำลังใจให้เพื่อนสวนลุมทุกท่านที่กำลังรักษาตัวและต้องทำงานประจำด้วย .. เป็นเรื่องไม่ง่าย แต่เราเชื่อว่าเพื่อนๆ ทำได้ค่ะ

    ดอกไม้

    ป.ล. (เข้ามาเพิ่มค่ะ) สำหรับเพื่อนสวนลุมที่ไม่ได้เป็นโรคนี้ แต่อาจมีเพื่อนร่วมงานเป็น หรือดูเหมือนว่าจะเป็น โปรดเข้าใจและเห็นใจเพื่อน (อย่างน้อยในระดับหนึ่ง) ด้วยนะคะ  

    แก้ไขเมื่อ 30 ส.ค. 50 07:01:44

    แก้ไขเมื่อ 30 ส.ค. 50 06:38:10

    แก้ไขเมื่อ 30 ส.ค. 50 06:35:17

    จากคุณ : ipiup - [ 30 ส.ค. 50 06:31:59 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom