Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com


    ~!&! โชคดีที่ไม่เรียนวิชาสูติศาสตร์ !&!~

    เป็นบทความ จากสมาชิก ในเวบไทยคลินิก ...นำมาฝากกัน ..


    ~!&! โชคดีที่ไม่เรียนวิชาสูติศาสตร์ !&!~


    สูติศาสตร์เป็นวิชาที่ฉันไม่ถนัดเอาเสียเลย

    ตอนเป็นนักเรียนแพทย์ผ่านภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา

    อาจารย์สาธิตวิธีตรวจครรภ์ในห้องคลอด

    สอนให้คลำระดับยอดมดลูก คลำท่าเด็ก คะเนน้ำหนักเด็ก ฯลฯ

    “ถ้าคลำได้อย่างนี้คือหัวเด็กนะ ถ้าคลำได้อย่างนี้คือหลัง.... เอ้า... นักเรียน ลองคลำดู“

    ราวกับอาจารย์มีมือวิเศษ เพียงใช้มือคลำ อาจารย์ก็รู้ทันทีว่าส่วนนี้หัว ส่วนนี้หลัง ส่วนนี้ขา

    “อย่างนี้เรียกว่าหัวเด็กลงมาอยู่ที่อุ้งเชิงกรานแล้ว ใช้ 2 มือคลำอย่างนี้นะ” ว่าพลางแสดงวิธีคลำไปด้วย

    แถมอาจารย์ยังสามารถคาดคะเนน้ำหนักเด็กได้แม่นยำราวกับมีตาทิพย์

    “คลำเด็กได้ขนาดนี้ น้ำหนักตัวประมาณ 3,000 กรัม”

    ไฉนเราจึงคลำไม่ได้อย่างอาจารย์สอนซักทีนะ

    หัวเด็กน่ะ พอคลำได้ แต่หลังและขานี่ มือใหม่อย่างเรา ใช่จะคลำกันได้ง่ายๆ คะเนน้ำหนักยิ่งยากเข้าไปใหญ่

    แล้วอาจารย์ก็สอนคลำเด็กท่าก้น

    “อย่างนี้เป็นเด็กท่าก้น คลำได้นิ่มๆ.... ท่าหัวเป็นก้อนแข็งๆ.... ” Undecided


    คงต้องรอให้มีประสบการณ์สูงอย่างอาจารย์ที่มี

    สองมือที่นุ่มนวล ประสาทสัมผัสไวแบบมืออิสสตรี (women’s hand) อันเป็นคุณสมบัติที่อาจารย์ย้ำเสมอว่าแพทย์ทุกคนพึงมี

    นอกเหนือไปจากการตัดสินใจเฉียบคมกล้าแกร่งดังหัวใจสิงห์ (lion’s heart)

    และสายตาที่คมกริบราวกับพญาตานกอินทรี (eagle’s eye)

    อันเป็น 3 คุณสมบัติสำคัญของแพทย์ที่อาจารย์ย้ำนักย้ำหนาว่าต้องพัฒนาขึ้นมาให้ได้ แต่ฉันยังไม่ค่อยมีเลยอ่ะ.....



    ถึงตอนอาจารย์สอนฟังเสียงหัวใจเด็กในครรภ์ อาจารย์ใช้หูฟังวางแหมะที่ท้องให้พวกเราผลัดกันฟัง

    “นี่เสียงหัวใจนะ ลองฟังดู หัวใจเด็กทารกเต้นเร็วกว่าผู้ใหญ่ อัตราปกติอยู่ที่ 110-160 ครั้งต่อนาที”

    ว่าแล้วอาจารย์ก็ย้ายตำแหน่งฟังใหม่

    “ถ้าเป็นเสียงฟู่ๆแบบนี้เรียกว่า uterine souffle เป็นเสียงการไหลเวียนเลือดในมดลูกของแม่ อัตราความเร็วเท่ากับชีพจรแม่”

    การฟังเสียงหัวใจเด็กในครรภ์ ต้องวางตำแหน่งให้ถูกต้องจึงได้ยินชัด

    พอเราทำเอง วางเครื่องช่วยฟังจนหน้าท้องเป็นรอยกด ย้ายที่ก็แล้ว ไม่ยักเจอ ได้ยินแต่เสียง uterine souffle

    หาเสียงหัวใจเด็กช่างยากเย็น ไม่เห็นได้ยินง่ายอย่างอาจารย์


    หากเป็นท้องหลัง ระยะการคลอดมักไม่นาน เฝ้าไม่กี่ชั่วโมง เชียร์แป๊บเดียวก็คลอดแล้ว

    แต่ถ้าเป็นท้องแรกละก็ บางรายเจ็บท้องข้ามคืนแล้ว ปากมดลูกไม่ยอมเปิดเต็มที่ซักที

    เจ็บเตือนนานจังเฮะ เฝ้ากันทั้งคืนปากมดลูกยังไม่ยอมเปิด

    ครั้นเมื่อปากมดลูกเปิดเต็มที่แล้ว คนเชียร์ก็เชียร์กันจนเหนื่อย

    ส่วนคนคลอดก็เบ่งจนแทบหมดแรง ไยจึงคลอดยากคลอดเย็นนักนะ? ท้องสาวเนี่ย.... บางทีต้องช่วยดันมดลูก

    บางรายเฝ้าจนดึกแล้วยังไม่คลอดซักที นักเรียนชักง่วง รอไม่ไหว แว่บกลับไปนอนหอก่อน

    ปล่อยพี่แพทย์ฝึกหัดที่อยู่เวรเฝ้าไป เช้านักเรียนค่อยมาดูใหม่

    ครั้นเมื่อเป็นแพทย์ฝึกหัด เรามีหน้าที่ผลัดกันเฝ้าห้องคลอดกับเพื่อน

    จึงได้สัมผัสบรรยากาศห้องคลอดทั้งวันทั้งคืนอย่างแท้จริง

    ช่วงไหนที่คนไข้คลอดเยอะละก็ ได้ซึมซับบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายโกลาหล ได้แก่ เสียงดังรอบทิศ

    ทั้งเสียง....โอดโอย....จากคนเจ็บท้องคลอด

    และเสียง.....อื๊ด....ด...... จากคนคนเชียร์คลอด

    เสียง.....อุแว้......อุแว้..... ของเด็กแรกคลอด

    คนไข้บางคนก็ผรุสวาทสามีที่เป็นต้นเหตุให้เจ็บปวดจนสุดทนในครั้งนี้

    บางคนก็บอกพอแล้ว ไม่เอาแล้ว มีลูกคนเดียวพอ เผลอแผล็บเดียวมาคลอดอีกแล้ว

    ฉันยังจำได้ดี ภาพหญิงครรภ์แก่นอนเรียงเป็นแถบมีม่านกั้น ผลัดกันดิ้นส่ายพุงใหญ่ด้วยความเจ็บปวด

    กลิ่นน้ำคร่ำคละคลุ้ง บางทีขณะเบ่งลูกก็เบ่งอึออกมาด้วย แม้จะสวนอุจจาระให้แล้วก็ตาม

    กรณีนี้ต้องใช้ผ้าสะอาดปิดไว้ป้องกันไม่ให้อึเปื้อนลูกตอนคลอด เดี๋ยวเด็กติดเชื้อ

    ความโกลาหลต่างๆในห้องคลอดเหล่านี้ เป็นเหตุให้เมื่อเรียนจบเป็นแพทย์เต็มตัว

    ตอนทำหน้าที่เป็นแพทย์ฝึกหัดผ่านแผนกสูติกรรม เราไม่จำเป็นต้องเก็บ case คลอดแล้ว

    ผู้รักความสงบอย่างฉัน สมัครใจปักหลักนั่งเย็บฝีเย็บอันเป็นงานที่ฉันถนัดอย่างวิจิตรบรรจง

    ก็ฉันเป็นมือหนึ่งสันทัดวิชาหัตถศึกษา เก่งเรื่องงานฝีมือ เย็บ ปัก ถัก ร้อย ตอนเรียนชั้นประถมนี่นา

    คุณแม่หลังคลอดมักนอนนิ่งหลังหมดแรงจากการเบ่งคลอด บางคนก็หลับให้หมอเย็บสบายๆ ถูกใจฉันนักแล

    เพียงรูดม่านรอบเตียงให้สนิท นั่งสงบที่ปลายเตียงคลอด ตัดขาดจากสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ไม่รับรู้ความโกลาหลภายนอก

    ไล่เย็บฝีเย็บไปเรื่อยๆอย่างใจเย็นและมีความสุข พิถีพิถันสุดฝีมือ

    เป็นหมอมือหนึ่งที่เย็บแผลสวยตะเข็บสนิทไม่เกยกัน เย็บด้วยไหมละลายแบบไม่ต้องตัดไหม แผลหายใกล้เคียงสภาพเดิม

    เห็นแล้วภาคภูมิใจในฝีมือตัวเองว่าเจ๋งเสียจริง Tongue Grin Grin





    หญิงตั้งครรภ์มีถึง 2 ชีวิตที่ต้องดูแล มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนไม่คาดฝันได้เสมอ จนเป็นที่กล่าวขานกันว่า

    “การตั้งครรภ์เปรียบเสมือนเดินเข้าสู่สมรภูมิเลยทีเดียว จะมีชีวิตรอดกลับมาหรือเปล่ายังไม่รู้”

    อย่างบ้านฉันที่อยู่ไกลปืนเที่ยง ห่างไกลความเจริญ การคมนาคมยังไม่สะดวก ในตอนฉันยังไม่เกิด

    ย่าและพ่อทำหน้าที่หมอตำแยช่วยกันทำคลอดให้แม่

    ลูกคนโตแม่เบ่งจนแทบขาดใจ กว่าคุณย่าจะลากหัวออกมาจากช่องคลอดได้

    แม่บอกว่าลูกชายคนหัวปีทำแม่เจ็บปางตาย แถมหัวถลอกปอกเปิกด้วยฝีมือย่า หัวแข็งนะที่รอดมาได้

    ลูกคนถัดไปค่อยคลอดง่ายขึ้นหน่อย พ่อใช้ไม้ไผ่ตัดสายสะดือ

    โชคดีที่ลูกๆไม่มีใครเป็นบาดทะยักซักคน ส่วนรกก็ใส่หม้อดินโรยเกลือแล้วฝังไว้ที่สวนหลังบ้าน

    ที่ทำให้ตกอกตกใจก็คือ ลูกคนที่ 4 พ่อทำหน้าที่หมอตำแยบกพร่อง

    ผูกสายสะดือไม่แน่น เลือดแดงฉานไหลออกมาจากสะดือ ลูกเลยเสียเลือดตั้งแต่แรกเกิด ต้องผูกกันใหม่

    เหตุที่สายสะดือผูกยากผูกเย็นก็เพราะทั้งเหนียวและลื่นเป็นปลาไหล

    อันเป็นกลไกทางธรรมชาติที่ป้องกันสายสะดือผูกเป็นปมขณะลูกตัวเล็กเคลื่อนไหว ในมดลูก เดี๋ยวลูกขาดเลือดไปเลี้ยง




    ในอดีตที่การสาธารณสุขยังไม่เจริญอย่างทุกวันนี้ อัตราตายจากการตั้งครรภ์และการคลอดสูงกว่านี้มาก

    แม่เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนพอตั้งครรภ์ก็เริ่มหวั่นใจ จะเกิดปัญหาอะไรไหม?

    บางคนถึงกับแขวนเครื่องรางของขลัง อย่างเช่น ตะกรุด ผ้ายันต์

    ราวกับนักรบพกผ้าประเจียด สักยันต์ให้หนังเหนียว กันอันตรายจากศาสตราวุธก่อนออกศึก

    ถ้าเป็นชาวบ้านแถบชายแดนละก็ ถึงกับทำพิธีคุณไสย ผูกสายสิญจน์ คาดตะกรุดที่เอว

    ครั้นใกล้คลอดยิ่งหวั่นไหว ท้องนี้จะรอดชีวิตไหมนะ? คนข้างบ้านที่แม่รู้จัก เสียชีวิตจากการคลอด 2-3 คน แม่ยังจำได้ดี

    บางทีของขลังก็ช่วยอะไรไม่ได้

    แต่ก่อนเราจึงมีทั้งลูกกรอก กุมารทอง ผีตายทั้งกลมแม่นาคพระโขนง




    จวบจนกระทั่งวิทยาการทางการแพทย์เจริญก้าวหน้าขึ้น มีการฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ เครื่องไม้เครื่องมือทันสมัย

    อัตราตายลดลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่ค่อยได้ยินเรื่องตายทั้งกลมอย่างแต่ก่อน

    อัตราตายคลอดที่ลดลง ใช้เป็นดัชนีชี้วัดพัฒนาการด้านสาธารณสุข

    หลายสิบปีที่ผ่านมา.... แพทย์ใช้ทุนรุ่นแล้วรุ่นเล่า...ได้ช่วยชีวิตชาวชนบทไว้มากมาย...

    จากคุณ : หมอหมู - [ 4 ก.พ. 52 16:49:23 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป


Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com