ความคิดเห็นที่ 7

**** ชนิดต่างๆของโรคซึมเศร้า ****
** 1. ซึมเศร้าอ่อนๆ (Mild depression) **
ซึมเศร้าชนิดนี้ จะไม่รุนแรงมากนัก มีอาการอยู่ปานกลาง แต่ก็มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น นอนไม่หลับ ไม่มีความสุข แต่ยังสามารถทำงานโดยทั่วไปได้
ผู้ป่วยมักไม่ทราบว่า ตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าชนิดนี้ เนื่องจาก ความคิดที่ว่า ก็แค่ความเศร้าธรรมดา และไม่ได้ไปขอคำปรึกษาจากแพทย์ หรือเล่าให้คนในครอบครัว / เพื่อนฟัง โดยทั่วไประดับนี้คนที่ไม่สนิท จะไม่ค่อยรู้ว่า ผู้ป่วยผิดปกติไป
โรคซึมเศร้าชนิดนี้ องค์การอนามัยโรคได้ระบุไว้ว่า ต้องมีอาการ 2 ใน 3 ตัวแรก และมีอาการไม่ต่ำกว่า 2 ข้อ
1. ในช่วง 2 สัปดาห์ มีอาการเศร้าอย่างผิดปกติ 2. สูญเสียความสนใจ หรือ ความต้องการ ที่จะทำในสิ่งที่เคยชอบทำ 3. รู้สึกเหนื่อยง่าย และ พลังงานในร่างกายลดลง (อ่อนล้า) 4. สูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง 5. รู้สึกว่า ทำในสิ่งที่ไม่น่าให้อภัย 6. คิดถึงการฆ่าตัวตาย 7. สูญเสียความสามารถในการคิดอ่าน 8. การเคลื่อนไหวช้าลง 9. มีปัญหาในการนอนหลับ ( หลับยาก / นอนไม่หลับ / หลับไม่สนิท) 10. ความอยากอาหาร และ น้ำหนักเปลี่ยนมาก (มาก หรือ ลดลง ก็ได้) 11. ความรู้สึกเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศลดลง 12. มีการเจ็บป่วยทางร่างกาย โดยไม่ทราบสาเหตุ
สภาวะโรคซึมเศร้าชนิดนี้ อาจจะเป็นในช่วงระยะเวลาสั้น (3-4 อาทิตย์) หรือ เป็นช่วงเวลาระยะหนึ่งแล้วก็พักเป็นช่วงๆก็ได้
** 2. ซึมเศร้ารุนแรง (Major depression) **
ผู้ป่วยในโรคซึมเศร้าชนิดรุนแรง จะมีการแสดงออกของโรคอย่างน้อย 5 ข้อ และ มีความคิดที่รุนแรงกว่า รวมทั้งการแสดงออกจะแสดงในระยะสั้น (แต่ก็นานกว่า 2 อาทิตย์) เฉียบพลัน แต่รุนแรง และ ทำให้มีปัญหาอย่างมากในการดำเนินชีวิต
ในระยะนี้ จะมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง และ มีความรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า หรือ ได้กระทำความผิดอย่างรุนแรงที่ไม่น่าให้อภัย มีความรู้สึกเฉื่อยชา หลีกหนีสังคม และอาจเกิดอาการ "หลงผิด" ระยะนี้อาจจะต้องบำบัดโดยการใช้ยาเข้าร่วมด้วย หรือ บำบัดด้วยไฟฟ้า และในรายที่มีการเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ก็อาจต้องพักอยู่ในโรงพยาบาล ในความดูแลของแพทย์
มีรายงานว่า ผู้ป่วยในระยะนี้ มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จถึง 15% ส่วนอัตราที่พยายามฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ ก็สูงขึ้นอีกเท่าตัว
** 3. ซึมเศร้า ดีสไทเมีย หรือ ซึมเศร้าเรื้อรัง (Dysthymia) **
สำหรับชนิดดีสไทเมีย จะคล้ายซึมเศร้าชนิดอย่างอ่อน แต่จะมีความเรื้อรัง อย่างน้อยต้องมีอาการแสดงต่อเนื่องมาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้ แต่จะขาดความพึงพอใจในชีวิตไป มีความรู้สึก เศร้า นอนไม่หลับ ขาดความเชื่อมั่นใจตัวเอง หรือ คิดว่าตัวเองไม่มีค่าได้รับสิ่งนั้น อย่าง คำชม หรือ รางวัลต่างๆ
ซึมเศร้าชนิดนี้ จัดเป็นปัญหาอย่างมาก เพราะทำให้สูญเสียบุคลากรที่มีความสามารถ รวมทั้งงบประมาณในการรักษาอย่างมาก เพราะการรักษาจะกินเวลานาน รวมทั้งผู้ป่วยบางคน ไม่คิดว่า ตัวเป็นซึมเศร้า จึงทิ้งระยะเวลาไว้นานเกิน กว่าจะได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง
** 4. ซึมเศร้าหลังคลอด (Baby blues) **
อาการนี้จะเกิดกับคุณแม่หลังคลอดลูก โชคดีที่โรคนี้พบได้ไม่บ่อยนัก พบได้ 0.001-0.003 % เท่านั้น ความรุนแรงจะแบ่งเป็น 2 ระดับ
ระดับที่ 1 เป็นความรุนแรงในระดับต่ำ เรียกว่า Postpartum Blues หรือ Baby blues เป็นอารมณ์เศร้าหลังคลอด
สามารถหายได้เองใน 2-3วัน หรือ ไม่เกิน 2 อาทิตย์ อาการจะคล้ายกับโรคซึมเศร้า แต่จะมีบางส่วนเพิ่มเข้ามาเช่น
1. รู้สึกไม่ชอบลูก โกรธ หรือ เกลียด ลูกที่พึ่งคลอด 2. รู้สึกไม่ผูกพันกับลูก หรือ ไม่มีความรู้สึกอะไรกับลูก 3. มีความรู้สึกวิตกกังวล คิดว่า เป็นแม่ที่ดีไม่ได้ หรือ คิดว่าเลี้ยงลูกไม่ได้ 4. นอนไม่หลับ หรือ รู้สึกว่า อยากนอนตลอดเวลา คิดว่า นอนไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะนอนเท่าไร 5. แยกความสัมพันธ์ของเวลาไม่ออก ระหว่าง นาที และ ชั่วโมง 6. เศร้า ร้องไห้ โดยไม่มีสาเหตุ
อาการดังกล่าวเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นของผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
ระดับที่ 2 เป็นระดับที่รุนแรง เรียกว่า Postpartum Depression เป็น โรคซีมเศร้าหลังคลอด
สำหรับระยะนี้ จะมีความยาวนานของอาการ และ ความรุนแรงมากกว่าในระดับที่ 1 อาการอาจจะยาวนานเป็นเดือน หรือ เป็นปีทีเดียว ทำให้เกิดความทุกข์ใจในการเลี้ยงลูก หรือ ไม่สามารถดูแลได้ สำหรับระยะนี้ บางคนจำเป็นต้องเข้ารับการรักษา และ พักฟื้นในโรงพยาบาล
คุณแม่ที่ป่วยในระดับที่ 2 อาจจะเกิดความรู้สึก อยากฆ่าตัวตาย
สำหรับโรคนี้ ดาราฮอลิวูด Brooke Shields ซึ่งเคยประสบกับโรคซึมเศร้าหลังคลอด ได้เขียนหนังสือชื่อเรื่อง Down Came the Rain: My Journey Through Postpartum Depression
** 5. โรคอารมณ์แปรปรวนตามฤดูกาล (Seasonal Affective Disorder - SAD) **
สำหรับสาเหตุการเกิดโรคซึมเศร้าชนิดนี้ ยังไม่แน่ชัดว่า เกิดจากอะไร มีข้อสันนิษฐานว่า อาจจะเกิดจากสาเหตุเหล่านี้
1. นาฬิกาชีวิตในแต่ละคน เดินผิดพลาด เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของแสงแต่ละวัน ในช่วงฤดูกาลเปลี่ยนไป
2. เมลาโทนิน ผลิตเพิ่มมากขึ้น จึงส่งผลกระทบต่ออารมณ์
3. เซราโทนิน ลดลง เนื่องจากขาดแสงอาทิตย์เข้ามามีส่วน จึงทำให้ผลิตน้อยลง
โรคนี้มักเกิดในเมืองที่มีในแต่ละวันได้รับแสงแดดน้อย หรือ แต่ละวันมีช่วงเวลาของความมืดมากกว่าความสว่าง และมักเกิดในผู้หญิง และมักเกิดในช่วงอายุ 20 ปี ขึ้นไป
อาการจะเหมือนซึมเศร้า มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้เช่นเดียวกัน แต่จะเป็นแค่ในช่วงเวลาเดิมๆของแต่ละปี หรือ ฤดูกาลที่หมุนเวียนมา แต่บางคนก็เป็นในช่วงฤดูร้อนได้เช่นเดียวกัน
นอกนี้ก็มี ซึมเศร้าจากประจำเดือน (PMS) ซึ่งเป็นสิ่งที่รบกวนผู้หญิงและทำให้เราๆกลายเป็นอาร์ทตัวแม่ได้เหมือนกัน
*** การรักษาและบำบัด ***
ในการรักษานั้น ผู้ป่วยแต่ละคนอาจจะได้รับวิธีการรักษาหลายๆแนวทางพร้อมกัน เมื่อบำบัดในแนวทางหนึ่งแล้ว ไม่ดีขึ้น ก็อาจจะหาวิธีบำบัดด้านอื่นที่ โดยดูที่ระดับความรุนแรงของผู้ป่วย และ การตอบสนองต่อการรักษา
ซึ่งวิธีเหล่านั้นก็แตกต่างกันไป เช่น
1. การบำบัดด้วยยา 2. จิตบำบัด 3. รักษาด้วยการใช้ไฟฟ้า (ECT)
การบำบัดด้วยยา
แนะนำข้อมูลยาจาก web ของ เภสัชค่ะ
http://www.pharm.chula.ac.th/Surachai/academic/CNS-Drgs/radio04.htm#ยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้ามีกี่ประเภท
---------------------------------------------------------------- เอกสารอ้างอิง
1) รศ.นพ มาโนช หล่อตระกูล, โรคซึมเศร้า,หมอชาวบ้าน: กรุงเทพฯ, 2545
2) มุกดา ศรียงศ์ และคณะ, จิตวิทยาทั่วไป, รามคำแหง : กรุงเทพฯ,2544
3) รศ.สิริวรรณ สาระนาค, จิตวิทยาบุคลิกภาพและการปรับตัว, รามคำแหง : กรุงเทพฯ , 2549
4) พญ.สมรัก ชูวานิศวงศ์ และคณะ , เอกสารการทำความเข้าใจกับโรคจิตเวช, สมาคมสายใยครอบครัว : กรุงเทพ
5) ดร.ศรีเรือน แก้วกังวล , ทฤษฏีจิตวิทยาบุคลิกภาพ, หมอชาวบ้าน : กรุงเทพฯ , 2551
6) http://www.depressionet.com.au/what-is-depression/mild-depression.html
7) http://www.google.co.th ในการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม
จากคุณ :
ขี้เหงา...เอาแต่ใจ
- [
10 ก.พ. 52 01:39:26
]
|
|
|