Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  
 


****** เคล็ดลับในการใช้ประกันสังคมให้คุ้ม!!!! ****** vote  

    ผมมีความเชื่อว่า หลาย ๆ คนในบอร์ดนี้อยู่ในระบบประกันสังคมครับ ซึ่งแต่ละเดือนนั้น จะต้องถูกหัก 5% ของรายได้ (ไม่เกิน 15,000 บาท) พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้ามีเงินเดือนตั้งแต่ 15,000 บาท ขึ้นไป ก็จะถูกหักเดือนละ 750 บาทครับ หรือปีละ 9,000 บาท แม้ว่าขณะนี้จะมีการปรับลดเงินสมทบลงเหลือ 3% ตั้งแต่เดือน ก.ค. - ธ.ค. 52 แต่ 3% = 450 บาทต่อเดือน หรือปีละ 5,400 บาท

    ซึ่งวงเงิน 5,400 บาท หรือ 9,000 บาทต่อปี นั้นเป็นเงินที่สูงมาก ๆ ครับ ซึ่งเราไปซื้อประกันจากบริษัทประกันต่าง ๆ ได้เลยครับ หลาย ๆ คนที่เคยใช้ประกันสังคม มักจะบ่น ๆ ๆ ๆ ว่าบริการไม่ดี แต่อย่างไรก็ตาม ผมมีเคล็ดลับในการใช้ประกันสังคม ในแง่มุมต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่มุมของการรักษาพยาบาล และดูแลรักษาสุขภาพ ดังนี้ครับ

    เรารู้หรือเปล่าครับ เวลาที่เราเลือกโรงพยาบาลประกันสังคม ตามบัตรรับรองสิทธินั้น โรงพยาบาลที่เราเลือกจะได้รับเงินเหมารายหัวจากประกันสังคม หัวละ 1,938 บาทต่อปีครับ

    ดังนั้นถ้าเราเลือกโรงพยาบาลเอกชน ที่มุ่งแสวงหากำไร เพราะเป็นธุรกิจนั่นหมายความว่า ถ้าเราไม่มารักษาเลยในปีนั้น หรือมีจิตใจที่มุ่งมั่นว่าจะไม่ใช้ประกันสังคมเด็ดขาดนั้น จะเท่ากับว่าโรงพยาบาลนั้นจะได้รับเงินกินเปล่า 1,938 บาท ต่อปีทันทีครับ แต่ถ้าเกิดเราไปใช้นั่นก็หมายความว่า ถ้าค่ารักษาพยาบาลที่เรามารักษามีมูลค่ามากกว่า 1,938 บาท ก็เท่ากับว่าโรงพยาบาลขาดทุนทันทีใช่ไหมครับ

    *** หลาย ๆ คน ที่มีจิตใจมุ่งมั่น แน่วแน่วว่ายังไงก็ไม่เข้ารับรักษาตามสิทธิประกันสังคมแน่ ๆ ผมก็ขอแนะนำให้เลือกโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ เป็น "โรงพยาบาลของรัฐ" ครับ เพื่อให้เงินทองของเราตกไปสู่โรงพยาบาลรัฐ ซึ่งจะได้นำเงินนี้ไปรักษาคนที่เขาขาดแคลนครับผม ถือว่าเป็นการทำบุญทางอ้อม ซึ่งเราช่วยได้ง่าย ๆ เลยครับ ***

    ดังนั้นบางโรงพยาบาลก็ต้องมีการควบคุมค่าใช้จ่าย กับคนไข้ประกันสังคมอย่างใกล้ชิดครับ เพื่อให้โรงพยาบาลยังคงผลกำไรอยู่ได้ เช่น
    - การจ่ายยาที่มีราคาไม่แพงนัก
    - ให้พบแพทย์ทั่วไป (General Physician: GP) จนคิดว่าไม่ไหวจริง ๆ จึงค่อยส่งต่อให้แพทย์เฉพาะทาง
    - ที่สำคัญที่สุด กรณีเราเจ็บป่วยหนัก ๆ ที่ต้องมีการผ่าตัดโดยแพทย์เฉพาะทาง เช่น หัวใจ ปอด ตับ ลำไส้ ฯลฯ ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนที่เราเลือกเป็นโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ ไม่มีเครื่องมือเพียงพอ หรือไม่มีแพทย์เฉพาะทางผู้เชี่ยวชาญจริง ๆ เขาก็อาจจะดิ้นรนรักษา โดยไม่ยอมส่งต่อครับ เพราะสมมติว่าเขาส่งต่อโรงพยาบาลที่เป็นศูนย์การแพทย์ต่าง ๆ เช่น จุฬาลงกรณ์ ศิริราชพยาบาล หรือรามาธิบดี โรงพยาบาลเอกชนตามบัตรรับรองสิทธิ จะต้องตามไปชำระค่ารักษาพยาบาลให้เราครับ

    คิดแบบเข้าใจนะครับ (แต่อย่าเหมารวมทุก ๆ โรงพยาบาลนะครับ) เขาคงไม่ทำอะไรที่ทำให้เขา "ขาดทุน" อยู่แล้วใช่ไหมครับ หรือถ้าจะยอมก็ต้องคิดว่า "ไม่ไหวจริง ๆ" ซึ่งบางครั้งเวลาส่งต่อไปโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ คุณหมอก็มักจะบอกว่า "น่าจะมาให้เร็วกว่านี้" นี่คือปัญหา

    สิ่งที่โรงพยาบาลเอกชนบางโรง ทำให้เราอยากเลือกโรงพยาบาลเขาเป็นโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ ก็คือ การบริการที่รวดเร็วกว่าโรงพยาบาลรัฐครับ ซึ่งถ้าเราเจ็บนิด ๆ หน่อย ๆ เช่น ป่วยเป็นหวัด หรือเจ็บคอ แล้วไปหาโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่เราเลือกในประกันสังคม จะได้รับการบริการที่ดีครับ เพราะ "ค่ารักษาไม่แพงมาก" แต่ถ้าเราต้องรักษาที่ต้องมีการผ่าตัด หรือใช้กระบวนการในการวินิจฉัยเฉพาะแล้วล่ะก็ เราอาจจะถูกบ่ายเบี่ยงได้ครับ หรือดึงเกมให้ช้าลง

    ดังนั้น ผมจึงแนะนำว่า เราควรเลือกโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิเป็นโรงพยาบาลของรัฐใกล้ ๆ บ้านครับ ซึ่งโรงพยาบาลของรัฐนั้น เขาไม่ค่อยคำนึงผลกำไร อาจจะบริการไม่ดีนัก เพราะมีคนไข้เยอะ แต่อย่างน้อยเราก็ได้รับการบริการที่เสมอภาค ได้รับยาตามบัญชียาแห่งชาติครับ ที่สำคัญเวลาที่โรงพยาบาลรัฐตามบัตรฯ ของเรา ไม่มีแพทย์เฉพาะทางในการรักษา คุณหมอก็จะไม่ลังเลใจที่จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ที่มีอาจารย์หมอที่มีความรู้ทันทีครับ

    อย่างคุณพ่อของเพื่อนท่านหนึ่งท่านป่วยเป็นโรคหัวใจครับ พอคุณหมอคิดว่าน่าจะใช้ และโรงพยาบาลรัฐแห่งนั้นก็ไม่มีแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจ คุณหมอเจ้าของไข้ก็ทำเรื่องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทันทีครับ ซึ่งได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายถูกมาก ๆ ครับ เสียเฉพาะลิ้นหัวใจเทียม (ซึ่งเบิกไม่ได้) และค่าธรรมเนียมเล็กน้อยเท่านั้นเอง ถ้าจำไม่ผิดราคาไม่ถึง 40,000 บาทด้วยซ้ำครับ ซึ่งถ้าเราเสียเงินไปผ่าตัดเอง เราต้องเสียเงินอย่างน้อย ๆ ก็น่าจะมี 300,000 บาท หรือมากกว่านะครับ

    แต่บางครั้ง คุณหมอเองก็มักจะไม่ยอมเขียนหนังสือส่งตัวให้ เพราะอาจจะเกรงโดนผู้อำนวยการโรงพยาบาลเพ่งเล็ง ก็ให้เราใช้สูตรนี้ครับ คือการอ้อนวอนคุณหมอ ผมเชื่อว่าคนเป็นหมอโรงพยาบาลรัฐ ส่วนใหญ่มีเมตตาครับ พอได้รับคำอ้อนวอน หรือขอร้องก็มักจะทำหนังสือส่งตัวให้ครับ (แต่ขอให้เราใจกล้า ๆ เอ่ยปากขอร้องครับ) เพราะถ้าคนไข้เป็นอะไรไป โดยมีสาเหตุจากการส่งตัวที่ช้าเกินไป ท่านอาจจะได้รับผลกระทบในทางลบมากกว่า

    จริง ๆ แล้วยังมีอีกหลายเทคนิคนะครับ เดี๋ยวมาเล่าต่อ...

จากคุณ : นักอ่านตัวยง
เขียนเมื่อ : 10 ก.ค. 52 20:06:47




[ต้องการแตกประเด็นจากกระทู้เดิมคลิกที่นี่] [กติกามารยาท] [Help & FAQ] 
 
ความคิดเห็น :
  PANTIP Toys
จัดรูปแบบ :
ไฟล์ประกอบ :
  Help
ชื่อ :
 

ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com