 |
ความคิดเห็นที่ 1 |
บุคลากรในสถานพยาบาล ควรได้รับการเตรียมความพร้อม ดังนี้
1. ได้รับการอบรมความรู้ เรื่องไข้หวัดใหญ่มาแล้ว และมีความสามารถในการดูแลผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ ทั้งในระยะก่อนและระยะวิกฤตได้ดี
2. ได้รับการอบรม และฝึกปฏิบัติในเรื่อง Infection Control Practices มาแล้ว
3. พิจารณาให้ได้รับ หรือมีภูมิคุ้มกันโรคไข้หวัดใหญ่
4. สร้างขวัญและกำลังใจ โดยจัดสวัสดิการต่างๆ เช่น ค่าตอบแทน จัดอาหารให้ระหว่างปฏิบัติงาน
5. ห้ามบุคลากรที่มีลักษณะต่อไปนี้ปฏิบัติงานกับผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ได้แก่
1) ป่วยด้วยระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันและเรื้อรัง
2) ผู้กำลังตั้งครรภ์
3) มี Cardiovascular disease ได้แก่ congenital valvular disease , rheumatic valvular disease , ischemic heart disease , congestive heart failure
4) Malignancy
5) Renal failure
6) มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ได้แก่ ป่วยเป็น HIV/ AIDS , ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
ทั้งนี้ควรจัดให้บุคลากรดังกล่าวปฏิบัติงานที่ไม่สัมผัสกับผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่
การจำแนกและหมุนเวียนบุคลากร
1. ควรแยกบุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยใน Influenza area และ non-influenza area เพื่อลดความเครียดของบุคลากร ควรมีการหมุนเวียนการปฏิบัติหน้าที่เป็นช่วงๆ ประมาณ 1 เดือน หากบุคลากรดังกล่าวไม่มีข้อห้าม ในการปฏิบัติงานกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่
2. ก่อนย้ายบุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยใน Influenza area ไปปฏิบัติงานใน non-influenza area ควรให้พัก 3 วัน เพื่อรอดูอาการป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่เนื่องจากอาจอยู่ในระยะฟักตัวของโรคทั้งนี้เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
3. จัดเตรียมทีมบุคลากรเสริมจากแผนกอื่น โดยให้การอบรมเรื่องความรู้พื้นฐาน และ การป้องกันการแพร่เชื้อก่อนปฏิบัติงาน
การเฝ้าระวังบุคลากร
1. จัดให้มีการลงนาม วัน เวลา ลักษณะการสัมผัสของบุคลากรทุกคนที่เข้าปฏิบัติงานกับผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่
2. จัดให้มีระบบเฝ้าระวังอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ในสถานพยาบาล โดยบุคลากรทุกคนต้องวัดอุณหภูมิและสังเกตอาการของตนเอง (จัดทำแบบฟอร์มบันทึกตนเอง) หากมีอาการไข้หรืออาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ต้องหยุดงาน และ แยกตนเองจากผู้อื่น รวมทั้งไปพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาต่อไป
3. จัดให้มีระบบการคัดกรอง มิให้บุคลากรที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เข้าไปดูแลผู้ป่วยทั้งใน Influenza Ward และ Non-Influenza Ward
สายด่วนไข้หวัดใหญ่ (Influenza Hotline) ของสถานพยาบาล ในสถานการณ์การระบาดซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนมาก การจัดตั้งสายด่วนไข้หวัดใหญ่ (Influenza Hotline) ของสถานพยาบาลจะช่วยแบ่งเบาภาระของสถานพยาบาล โดยลดจำนวนผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่จะมารับบริการที่สถานพยาบาลได้ หน้าที่ของสายด่วนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ มีดังนี้
1. คัดกรองผู้ป่วย โดยให้คำปรึกษาแก่ประชาชนที่สงสัยว่าตนเองป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ซักถามอาการเพื่อแนะนำให้เข้ามารักษาในสถานพยาบาล หรือ ดูแลตนเองที่บ้านหากมีอาการเพียงเล็กน้อย
2. ติดตามอาการผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ที่ได้รับการตรวจหรือจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลแล้ว โดยผ่านความเห็นจากแพทย์ว่าผู้ป่วยคนใดที่ควรติดตามทางโทรศัพท์
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ควรเป็นพยาบาลแนะแนว หรือ เวชกรรมสังคม โดยให้โทรติดตามอาการทุกวันจนกว่าอาการของผู้ป่วยจะดีขึ้น เพื่อให้คำแนะนำเพิ่มเติม และ สอบถามอาการผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ว่าต้องกลับมาพบแพทย์ เช่น ไข้สูงเกิน 2-3 วัน ไอมาก เจ็บหน้าอก เหนื่อย อ่อนเพลีย รับประทานอาหารไม่ได้ อาเจียน เป็นต้น กรณีในต่างจังหวัดอาจใช้การเยี่ยมบ้านแทน
3. ลงทะเบียน ชื่อ, ที่อยู่ผู้ป่วยที่โทรเข้ามายังสายด่วน และประสานข้อมูลไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อใช้เป็นข้อมูลเสริมในการประเมินสถานการณ์การระบาด
คำแนะสำหรับผู้ป่วย
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่อยู่โรงพยาบาล
1. แนะนำให้ปฏิบัติเรื่องการทำความสะอาดมือ (Hand Hygiene) อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะการติดต่อของโรค และแนะนำให้หลีกเลี่ยงการทำให้สิ่งแวดล้อมปนเปื้อนสารคัดหลั่ง
2. ให้ผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัยเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีบุคคลอื่นอยู่ร่วมห้อง หากทำไม่ได้ให้ใช้กระดาษทิชชูปิดปาก , จมูก เวลามีอาการจามหรือไอ แล้วทิ้งกระดาษทิชชูที่ใช้แล้วลงในถังขยะติดเชื้อที่มีฝาปิด
คำแนะนำสำหรับญาติ / ผู้เข้าเยี่ยม
1. จำกัดการเยี่ยมเฉพาะที่จำเป็น มีสมุดบันทึกรายชื่อญาติที่เข้าเยี่ยมและวันเวลาที่เข้าเยี่ยม
2. ห้ามผู้ที่มีอาการคล้ายไข้หวัด โรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน / เรื้อรัง, โรคหัวใจ , ตั้งครรภ์ , ภูมิคุ้มกันบกพร่อง , อายุมากกว่า 55 ปี เข้าเยี่ยมผู้ป่วยในInfluenza Ward
3. ญาติต้องสวมเครื่องป้องกันร่างกาย ได้แก่ medical / surgical mask เสื้อกาวน์แขนยาว หากจะแตะต้องเลือด สารคัดหลั่งของผู้ป่วย ให้สวมถุงมือ
4. มีคำแนะนำให้ปฏิบัติ hand hygiene และ personal hygiene อย่างเคร่งครัด
5. ถอดเครื่องป้องกันร่างกายในห้อง anteroom หรือหากไม่มีห้อง anteroom ให้ถอดก่อนออกจากห้องผู้ป่วย
6. มีคำแนะนำให้ผู้เข้าเยี่ยมสังเกตอาการตนเองว่ามีไข้, อาการผิดปกติทางเดินหายใจหรือไม่ หลังเยี่ยมครั้งสุดท้ายภายใน 7 วัน หากมีความผิดปกติให้มาพบแพทย์ นอกจากนี้โรงพยาบาลต้องจัดให้มีระบบรายงานการป่วยของญาติดังกล่าวไปยังหน่วยงานด้านระบาดวิทยาต่อไป
7. สำหรับ Non-Influenza Ward ควรจำกัดการเยี่ยมเช่นเดียวกัน และห้ามผู้ที่มีอาการคล้ายไข้หวัดเข้าเยี่ยมโดยเด็ดขาด
8. ห้ามการเยี่ยมข้ามเขตระหว่าง Influenza Ward และ non-influenza Ward
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยเมื่อกลับบ้าน แนะนำการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย ดังนี้
1. ให้ปฏิบัติ hand hygiene อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะการติดต่อของโรค
2. ต้องสวมผ้าปิดปาก ปิดจมูกตลอดเวลา นอกจากเวลารับประทานอาหารและทำกิจธุระส่วนตัว
3. เวลาไอต้องปิดปาก จมูก ด้วยกระดาษชำระ หลังจากนั้นต้องล้างมือทุกครั้ง
4. หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับบุคคลในครอบครัว, ไม่ควรไปในที่ชุมชน และให้หยุดงาน หยุดเรียน จนกว่าจะพ้นระยะการติดต่อของโรค คือ 7 วันหลังไข้ลงในผู้ใหญ่ และ 14 วันในเด็กนับตั้งแต่วันเริ่มมีอาการ
5. หากมีอาการมากขึ้น เช่น ไข้สูงเกิน 2-3 วัน ไอมาก เจ็บหน้าอก หายใจเร็ว เหนื่อย อ่อนเพลีย รับประทานอาหารไม่ได้ อาเจียน หรือ ถ่ายอุจจาระมาก ให้รีบมาโรงพยาบาลทันที
ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับศพ
1. บุคลากรที่จัดการเกี่ยวกับศพต้องปฏิบัติตาม Standard Precautions อย่างเคร่งครัด สวมอุปกรณ์ป้องกันร่างกายเช่นเดียวกับการปฏิบัติต่อผู้ป่วย
2. บรรจุศพในถุงห่อหุ้มศพที่ทำด้วยวัสดุกันน้ำเช็ดด้านนอกถุงด้วย 70% Alcohol ก่อนนำออกจากห้องผู้ป่วย
3. พนักงานเคลื่อนย้ายศพ ต้องสวมใส่เครื่องป้องกันร่างกาย ได้แก่ medical / surgical mask , ถุงมือ , กาวน์กันน้ำหรือผ้ากันเปื้อนพลาสติก
4. เก็บศพในตู้เย็น แช่ศพ ใส่ศพในโลงที่ผนึกอย่างแน่นหนาก่อนเคลื่อนย้ายศพออกจากสถานพยาบาล
5. นำศพไปฝังหรือเผาโดยเร็ว
6. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งจากศพ หากต้องสัมผัสศพ ต้องล้างมือหลังสัมผัสเสมอ
การผ่าศพพิสูจน์ (Autosy)
1. ควรทำในห้องที่เป็น negative air pressure room หรือมีการระบายอากาศที่ดี (อย่างน้อย 12 Air Change per Hour)
2. บุคลากรต้องสวมใส่เครื่องป้องกันร่างกาย คือ N95 mask , goggles , กาวน์กันน้ำ, ถุงมือ, หมวกคลุมผม
3. กระทำโดยระมัดระวังอย่างยิ่ง โดยมีหลักการดังนี้ 3.1 จำกัดบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้น้อยที่สุด 3.2 ใช้อุปกรณ์เท่าที่จำเป็น หากเป็นอุปกรณ์ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งจะดีกว่า 3.3 การส่งต่ออุปกรณ์ต้องใช้ถาดเพื่อป้องกัน sharp injuries 3.4 หลีกเลี่ยงการกระทำที่จะทำให้เกิดฝอยละออง เช่น การใช้เลื่อยไฟฟ้า 3.5 หากจะต้องทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝอยละออง (aerosolization) ควรทำใต้น้ำโดยเฉพาะการผ่าปอดและลำไส้ 3.6 ระมัดระวังการกระเด็นของสารคัดหลั่งจากศพ
กระทู้ก่อนหน้า ..
คำแนะนำกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ(เอช1เอ็น1) ฉบับที่ 8 วันที่ 9 กรกฎาคม 2552
http://www.pantip.com/cafe/lumpini/topic/L8089308/L8089308.html
จากคุณ |
:
หมอหมู
|
เขียนเมื่อ |
:
19 ก.ค. 52 16:45:43
|
|
|
|
 |