สเต็มเซลล์ กับ ความงาม ... ดร.นพ. เวสารัช เวสสโกวิท หัวหน้ากลุ่มงานพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุล สถาบันโรคผิวหนัง
|
|
น่าสนใจดี .. นำมาฝากกัน ...
สเต็มเซลล์กับความงาม
ดร.นพ. เวสารัช เวสสโกวิท หัวหน้ากลุ่มงานพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุล สถาบันโรคผิวหนัง
ความหมายของสเต็มเซลล์
สเต็มเซลล์ หรือ เซลล์ต้นกำเนิด คือเซลล์ที่สามารถแบ่งตัวได้เรื่อยๆ โดยไม่มีขีดจำกัด และสามารถเปลี่ยนเป็นเนื้อเยื่อชนิดต่างๆ ได้หลากหลาย
ที่มาของสเต็มเซลล์
สเต็มเซลล์ มีสองประเภท คือ ที่มาจากตัวอ่อน (embryo) หรือมาจากสิ่งมีชีวิตหลังคลอด
สเต็มเซลล์จากตัวอ่อน ได้มาจากการดึงเอาเซลล์ออกมาจากตัวอ่อนที่มีอายุเพียงไม่กี่วัน ดังนั้น การนำเอาสเต็มเซลล์ออกมาจากตัวอ่อนจะต้องมีการทำลายชีวิตของตัวอ่อนดังกล่าว ในมนุษย์ ตัวอ่อนมักถูกสร้างจากไข่และสเปิร์มของผู้ที่มีบุตรยาก เมื่อฝังตัวอ่อนในมารดาจนได้บุตรเพียงพอแล้ว มักจะต้องทำลายตัวอ่อนที่เหลืออยู่แล้ว ไม่ใช่เป็นการสร้างตัวอ่อนขึ้นมาเพื่อทำลายโดยตรง
สเต็มเซลล์ที่มาจากสิ่งมีชีวิตหลังคลอด ได้มาตั้งแต่ทารกเพิ่งคลอด หรือเมื่อคนๆ นั้นเติบโตขึ้น หากเอาจากทารกหลังคลอด ส่วนใหญ่จะเป็นการเอาเซลล์มาจากรก โดยอาจทำการเจาะหลอดเลือดดำในสายสะดือ แล้วนาเซลล์ต้นกำเนิดมาเก็บไว้ หรือได้จากวุ้นที่อยู่ภายในสายสะดือ ที่เรียกว่าวาร์ตัน เจลลี่ (Wharton jelly)
ส่วนสเต็มเซลล์ที่ได้จากผู้ใหญ่ แต่เดิมจะเก็บจากการเจาะไขกระดูก แต่ในปัจจุบันเราทราบว่าเซลล์ต้นกำเนิดมีในหลายๆ อวัยวะ ดังนั้น สามารถจะเก็บเซลล์ต้นกำเนิดได้ตามอวัยวะต่างๆ เช่น เก็บจากผิวหนัง หรือจากเลือดหลังจากฉีดยาบางอย่างเพื่อให้เซลล์เหล่านี้ออกมาจากไขกระดูก
การพัฒนาเพื่อใช้ในการรักษาโรค
เมื่อได้เซลล์ต้นกำเนิดมักได้ปริมาณน้อย จะต้องมาทาการเพาะเลี้ยงในจานเพาะเลี้ยงเซลล์ กระบวนการดังกล่าวมีความยุ่งยากซับซ้อน บางกรณีจะใช้น้ำเหลืองจากวัวมาผสมในน้ำเลี้ยงเซลล์ ตลอดจนอาจต้องใช้เซลล์พี่เลี้ยงที่เป็นเซลล์มาจากหนู เซลล์เหล่านี้ เลี้ยงยาก ตายง่าย ไม่สามารถเก็บรักษาไว้ในบรรจุภัณฑ์ต่างๆ
เมื่อได้เซลล์จำนวนมากพอ อาจนำมาใช้รักษาผู้ป่วยได้ ทั้งนี้ส่วนใหญ่เมื่อเก็บเซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดโดยใช้ยากระตุ้น มักเก็บได้เซลล์ปริมาณมากพอจนไม่จาเป็นต้องนำเซลล์มาเพาะเลี้ยงเพื่อเพิ่มปริมาณก่อนนำไปใช้
การใช้สเต็มเซลล์ในผู้ป่วย หากเป็นโรคทางโลหิตวิทยามักจะฉีดเซลล์ดังกล่าวเข้าไปทางหลอดเลือดดำของผู้ป่วย แต่การใช้รักษาโรคอื่นๆ มักจะให้ในวิธีการต่างๆ กัน เช่น หากใช้มารักษาแผล อาจนำเซลล์มาปิดไว้ที่ผิวหนัง หากนำมาใช้รักษาโรคตับ อาจฉีดเข้าไปที่เส้นเลือดดำใหญ่ที่ไปเลี้ยงตับ เป็นต้น
การใช้เซลล์ต้นกำเนิดเพื่อการรักษาโรค ในปัจจุบัน การรักษามาตรฐานมีเพียงโรคทางโลหิตวิทยาเท่านั้น ส่วนใหญ่ใช้ในการรักษามะเร็งเม็ดโลหิต หรือภาวะโลหิตจากธาลัสซีเมีย
มีการศึกษาวิจัยเพื่อใช้สเต็มเซลล์ในการรักษาโรคต่างๆ มากมาย อาทิ โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต อย่างไรก็ดี ตราบจนปัจจุบันการศึกษาวิจัยเหล่านี้ไม่สามารถแสดงให้เห็นว่าการใช้สเต็มเซลล์ก่อให้เกิดประโยชน์ ได้ผลสม่ำเสมอในผู้ป่วยทุกราย
ดังนั้น นอกจากโรคทางโลหิตวิทยา การใช้สเต็มเซลล์เพื่อรักษาถือเป็นการวิจัยทั้งสิ้น โดยการรักษาเหล่านี้ จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการวิจัยและจริยธรรมฯ ก่อน ว่ามีความเหมาะสมที่จะวิจัย ตลอดจนจะต้องได้รับคำยินยอมจากผู้ป่วยเป็นรายลักษณ์อักษร แสดงความจำนงว่าจะเข้าร่วมการศึกษาวิจัย โดยทราบผลดีผลเสียที่ได้จากการวิจัย และ ผู้ป่วยจะต้องไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมโครงการวิจัยดังกล่าว
การใช้สเต็มเซลล์เพื่อการรักษานอกจากโรคทางโลหิตวิทยา อาจพิจารณาใช้ในกรณีที่ไม่มีหนทางอื่นแล้วที่จะใช้รักษาโรคของผู้ป่วย ตลอดจนมีหลักฐานหรือทฤษฎีว่าการใช้สเต็มเซลล์จะเกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วย โดยไม่มีการเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วย
จากคุณ |
:
หมอหมู
|
เขียนเมื่อ |
:
2 ก.ย. 52 20:07:38
|
|
|
|