 |
ความคิดเห็นที่ 2 |
ลองอ่านในกระทู้นี้นะครับ ... คห. ๒๒ เกี่ยวกับ บัตรทอง
****** เคล็ดลับในการใช้ประกันสังคมให้คุ้ม!!!! ******
http://topicstock.pantip.com/lumpini/topicstock/2009/07/L8067388/L8067388.html
ความคิดเห็นที่ 22 [ถูกใจ]
มีคนหลังไมค์ มาถามเรื่องบัตรทองครับ
หลักการใน การจัดการของ "บัตรทอง 30 บาทฯ" นี่คล้ายกันกับบัตรประกันสังคมมากเลยครับ เรียกได้ว่าเหมือนกันเกือบจะ 99% ในสิทธิเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลครับ
เบอร์ Call Center คือ 1330 ครับ
คนไทยทุก ๆ คนที่ไม่มีบัตรข้าราชการ หรือประกันสังคม ทุก ๆ คนต้องมีบัตรทองครับ เรื่อง ๆ นี้เกิดขึ้นกับคุณแม่ของผมเองครับ คือ
คุณแม่ผมอยู่ดี ๆ ก็ไอออกมาเป็นเลือด (แบบหนังจีนเลยน่ะครับ เลือดออกมาเป็นชามเลยครับ) ผมตกใจมาก ๆ แต่สิ่งที่เราต้องตั้งสติคือ
1) การวินิจฉัยว่าเป็นอะไรนั้นสำคัญมาก ๆ และต้องทำให้เร่งด่วน ผมจึงตัดสินใจพาคุณแม่ไปตรวจวินิจฉัยด้วย CT Scan ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งใกล้ ๆ กับศิริราช เพราะเดาเอาว่า อาจารย์หมอจากศิริราช ถ้าจะมาตรวจที่โรงพยาบาลเอกชน น่าจะเลือกโรงพยาบาลเอกชนที่ใกล้ ๆ น่ะครับ จากนั้นผมก็โทรไปสอบถามกับ Operator ของโรงพยาบาลเอกชนแห่งนั้นครับ จนได้ชื่ออาจารย์หมอ และได้รับการยืนยันว่าท่านเป็นอาจารย์หมอที่ศิริราชครับ ...
2) ผมได้นัดไปตรวจ และทำ CT Scan ภายในวันนั้นเลยครับ ถ้าเป็นโรงพยาบาลรัฐอาจจต้องรอถึง 2 สัปดาห์ ผมจำได้ว่าค่า CT Scan ที่ผมจ่ายไปตอนนั้นประมาณ 5,500 บาท น่ะครับ ไม่น่าจะเกินนี้ (จำตัวเลขจริง ๆ ไม่ได้ครับ) แต่โรงพยาบาลรัฐจะประมาณ 3,000 บาท แต่ต้องรอคิว 2 สัปดาห์ ผมคิดว่า 2,500 บาท กับการรู้ผลเลย คุ้ม.....ครับ
3) หลังจากที่ตรวจวินิจฉัยแล้ว ผมได้คุยกับคุณหมอว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะไปรักษากับคุณหมอที่โรงพยาบาลศิริราช .... (ตอนนั้นยังนึกไม่ออกว่าแม่มีบัตรทองเลยนะครับ) คุณหมอบอกว่า "ได้" แต่คุณหมอได้ขอให้เราไปคลินิกนอกเวลาราชการ เพราะในเวลาราชการนั้น คุณหมอบอกว่าจะได้เปิดโอกาสให้กับคนที่มีรายได้น้อย เราพอไหว ไปรักษาที่คลินิกนอกเวลาก็ได้ ซึ่งผมก็ยินดีครับ และเข้าใจเหตุผลดี ...
4) ผมไปตรวจกับอาจารย์หมอท่านนั้น ที่คลินิกนอกเวลาครับ (ท่านเป็นอายุรแพทย์น่ะครับ) และได้รับคำแนะนำว่า "ควรผ่าตัด" ซึ่งอาจารย์หมอได้ส่งเคส ให้กับอาจารย์หมอด้านศัลยแพทย์ของโรงพยาบาลศิริราชอีกท่านหนึ่งครับ ...
***ผม ขอยืนยันนะครับว่าอาจารย์หมอที่ผมพบทั้งสองท่านนั้นใจดีมาก ๆ เข้าใจคนเจ็บป่วยมาก ๆ ครับ ผมและแม่ผมเป็นหนี้บุญคุณชีวิตอาจารย์จริง ๆ ครับ***
5) มาถึงตรงที่จะต้องผ่าตัดปอดนี่ล่ะครับ อาจารย์หมอท่านถามว่า แม่เรามีสิทธิ์อะไรไหม ผมตอบทันทีว่า "ไม่มี" อาจาย์หมอถามต่อว่า "แม่เป็นคนไทยหรือเปล่า" ผมบอกว่า "เป็นครับ" อาจารย์หมอตอบแบบอารมณ์ดีว่า "งั้นก็ต้องมีบัตรทอง"
6) ท่านได้แนะนำว่าให้ "บัตรทอง" ส่งตัวมาครับ จะได้ประหยัดเงิน เพราะถ้าผ่าตัดแล้วจ่ายเงินเอง ต้องเสียอย่างน้อย ๆ ก็ 100,000 บาท (อาจจะมากกว่านี้อีกนิดหน่อย)
7) ผมเลยโทรไปถามที่ 1330 จึงทราบว่าแม่ผมนี่นี่บัตรทองระบุว่าชื่ออยู่ที่ "สถานีอนามัยแห่งหนึ่ง" ครับ จึงได้ไปทำเรื่องที่สถานีอนามัย ให้สถานีอนามัยทำหนังสือส่งตัวคุณแม่มารักษาด้วยการผ่าตัดที่ศิริราชครับ แต่มันยุ่งยากหน่อย เพราะ....
- สถานีอนามัยต้องทำเรื่องส่งตัวคุณแม่มารักษาที่ โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งใกล้บ้าน ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในเครือข่าย สมมติว่าชื่อโรงพยาบาล กขค. ก็แล้วกันครับ - ผมได้ติดต่อ 1330 จนทราบว่า ถ้าโรงพยาบาล กขค. ไม่มีศัลยแพทย์ปอด ก็ต้องส่งตัวให้กับโรงพยาบาลแม่ข่าย ซึ่งของคุณแม่ผมคือ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ครับ - อ้าว!!!!!! แต่คุณแม่ผมมีประวัติการรักษาอยู่ที่ศิริราช จะทำไงดีล่ะครับ ทางเจ้าหน้าที่ได้แนะนำว่า ต้องมีการทำหนังสือส่งตัวข้ามเครือข่าย ซึ่งสิ่งที่เราต้องใช้ก็คือ สำเนาเวชระเบียน (ประวัติการรักษา) ของโรงพยาบาลศิริราช เพื่อยืนยันว่าเรารักษาอยู่เดิมแล้ว จะได้รักษาต่อเนื่อง ถ้าส่งตัวไปที่จุฬาฯ ต้องเริ่มการรักษาใหม่ ตรวจวินิจฉัยใหม่ จะเสียเวลา ซึ่งตรงนี้ต้องไปขอคุณหมอเจ้าของไข้ครับ ซึ่งอาจารย์หมอที่ศิริราช ก็ได้อนุญาต - ที่สำคัญอาจารย์หมอเจ้าของไข้ ต้องระบุในเวชระเบียนชัด ๆ ว่า "มีความจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด" ซึ่งอาจารย์หมอที่ศิริราชท่านก็ระบุให้ครับ เพราะท่านบอกว่า "มันก็ต้องผ่าตัดสิ ไม่งั้นจะหายได้ไง เดี๋ยวเป็นเนื้อร้ายขึ้นมาแล้วจะยุ่ง" ท่านก็เขียนให้ครับ จากนั้นผมก็ทำสำเนา .... - ผมเอาสำเนาไปที่โรงพยาบาล กขค. ซึ่งต้องยอมรับว่า ไม่มีใครรู้เรื่องเกี่ยวกับกระบวนการนี้เลยครับ และเขาก็จัดให้แม่ผมพบคุณหมอซึ่งเป็นหมอทั่วไปก่อน ซึ่งคุณหมอที่โรงพยาบาล กขค. ท่านก็ไม่ได้ว่าอะไรนะครับ แต่ท่านก็งง ๆ ว่าท่านต้องทำอะไร แต่คุณหมอที่โรงพยาบาล กขค. ก็ถามว่า "ทำไมไม่รักษาเอง จ่ายเองล่ะ" ซึ่งผมบอกว่าค่าใช้จ่ายมันสูงน่ะครับ .... ผมเข้าใจว่าคุณหมอท่านไม่ได้ปฏิเสธหรอกครับ แต่กรณีแบบนี้คุณหมออาจจะงง ๆ ว่าต้องทำอย่างไร และใครมีอำนาจในการทำหนังสือส่งตัวไปที่ศิริราช ซึ่งเป็นโรงพยาบาลนอกเครือข่าย - สุดท้ายผมต้องไปพบผู้อำนวยการโรงพยาบาล กขค. พอท่านได้ดูเวชระเบียน ท่านก็รีบทำหนังสือส่งตัวไปที่ศิริราชให้เลยครับ และยังบอกอีกด้วยว่า "ให้รีบรักษาให้หายนะ" ใจดีมากครับ ...
สุดท้ายแม่ของผมก็ได้ใช้ สิทธิบัตรทองในการผ่าตัดปอด เสียค่าใช้จ่ายไปทั้งหมด 7,000 กว่าบาทเท่านั้นเองครับ สิ่งที่บัตรทองให้ไม่ได้ก็คือ แม่ของผมต้องพักห้องรวมครับ (ไม่สามารถจองห้องพิเศษได้ แม้ว่าจะขอจ่ายเงินเองก็ตาม) แต่ผมเชื่อว่า ห้องพิเศษไหน ๆ ก็สู้ การไปเยี่ยมของลูก ๆ อย่างต่อเนื่องไม่ได้ และสู้บ้านของเราไม่ได้ครับ ...
นี่ก็คือวิธีการใช้บัตรทองฯ ให้คุ้มค่าครับ จึงขอเล่า และแบ่งปันให้กับทุกท่านเป็นอีกกรณีหนึ่งครับผม
จากคุณ : นักอ่านตัวยง เขียนเมื่อ : 11 ก.ค. 52 18:22:31
จากคุณ |
:
หมอหมู
|
เขียนเมื่อ |
:
วันเอดส์โลก 52 15:43:51
|
|
|
|
 |