Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า  

โรคซึมเศร้ามีอาการอย่างไรบ้าง

การรู้สึกโศกเศร้าเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่น่าเศร้าย่อมเป็นเรื่องธรรมดา แต่ผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอาจรู้สึกอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีสาเหตุ อย่างน้อยสองสัปดาห์ และไม่สามารถทำให้หายเศร้าได้โรคซึมเศร้ามีอาการได้หลากหลายและจะมีผลต่อแต่ละคนในหลายๆ ลักษณะ บุคคลนั้นอาจมีอาการเหล่านี้

โดยไม่มีสาเหตุชัดเจน

1. รู้สึกเศร้ามาก วิตกกังวล กระสับกระส่ายหรือร้องไห้ได้ง่าย

2. ไม่ค่อยมีสมาธิหรือตัดสินใจในเรื่องง่ายๆได้ยาก

3. ไม่สนใจในสิ่งที่เคยสนใจ และไม่มีแรงจูงใจหรือไม่อยากจะยุ่งกับคนอื่น

4. เคลื่อนไหวและพูดช้า

5. นอนไม่ค่อยหลับหรือนอนมากเกินไปแต่ก็ยังคงรู้สึกเหนื่อย

6. ตื่นเช้ากว่าปกติ

7. น้ำหนักลดหรือน้ำหนักเพิ่มและไม่สนใจในการรับประทานอาหาร

8. ไม่สนใจเรื่องทางเพศ

9. มุ่งมั่นและคิดที่จะฆ่าตัวตาย รู้สึกหมดหวังรู้สึกผิดและชีวิตไร้ความหมาย

10. วิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาด้านร่างกายโดยไม่มีสาเหตุ

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ากล่าวว่าอาการจะมีมากในช่วงเช้า ซึ่งทำให้เขาไม่มีแรงจูงใจที่จะทำอะไร “ยากที่จะลงมือทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน” อาการซึมเศร้านั้นมีหลายระดับตั้งแต่อาการระดับน้อย ปานกลาง และรุนแรง ในบางกรณีโรคซึมเศร้าอาจมีอาการโรคจิต (Psychosis) เช่น อาการหลงผิดและประสาทหลอนร่วมด้วย อาการซึมเศร้าในรูปแบบอื่น โรคซึมเศร้าอย่างอ่อนแต่เรื้อรัง คือ อาการซึมเศร้าระดับน้อยที่อาการเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นระยะเวลาหลายเดือนหรือหลายปี อาการซึมเศร้าหลังคลอด เป็นอาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้นกับแม่หลังกำเนิดบุตร

โรคอารมณ์แปรปรวน อาการซึมเศร้าเป็นลักษณะหนึ่งของโรคอารมณ์แปรปรวน กล่าวคือผู้ป่วยจะมีอารมณ์ที่แปรปรวนต่างกันมาก คือรู้สึก “อารมณ์ดีมากๆ” และตื่นเต้นมากเกินไปหรือมีอารมณ์ที่ “เศร้า” และซึมเศร้ามากสลับกันเป็นช่วง ยาที่ใช้รักษาโรคอารมณ์แปรปรวนได้แก่ ยาปรับอารมณ์ให้สมดุลและยาต้านเศร้า

โรคซึมเศร้ามีสาเหตุเกิดจากอะไร

โรคซึมเศร้าเกิดได้จากสาเหตุหลายประการจากการวิจัยพบว่ากรรมพันธุ์ทำให้คนบางคนมีแนวโน้มที่จะเกิดโรคซึมเศร้าได้ นอกจากนี้เหตุการณ์ตึงเครียด เช่น ความสัมพันธ์ถูกตัดขาดหรือปัญหาด้านการเงินก็สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการซึมเศร้าได้ โดยเฉพาะเมื่อมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคอยู่แล้ว (underlying vulnerability)

มีคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากน้อยแค่ไหน ?

จากการศึกษาความชุกของโรคจิตเวชในในประเทศไทย ปี 2546 (กรมสุขภาพจิตร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น) พบผู้มีภาวะซึมเศร้าประมาณร้อยละ 5 ของประชากรซึ่งคิดเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 300,000 คน ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าถึงสองเท่าเมื่อเทียบกับผู้ชาย วัยรุ่นและเด็กอาจเป็นโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน แต่ในวัยรุ่นอาการจะยากแก่การแยกแยะว่าเป็นอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงตามปกติของวัยรุ่น หรือความกังวลเกี่ยวกับเรื่องการเรียนและความสัมพันธ์ต่างๆ ส่วนผู้สูงอายุก็มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าเช่นกัน อาการของโรคอาจไม่เป็นที่รู้จักและถูกสรุปว่าเป็นอาการของผู้ที่ “แก่ตัวลง” หากมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับอาการโรคซึมเศร้าของผู้ที่มีอายุน้อยหรือผู้สูงอายุ ควรจะปรึกษาแพทย์ ซึ่งสามารถประเมินอาการและหากจำเป็นควรแนะนำให้ไปพบกับจิตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้

ครอบครัวและเพื่อนๆ ได้รับผกระทบอย่างไร?

ไม่น่าแปลกใจเลยที่เมื่อมีใครคนใดคนหนึ่งป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว จะส่งผลกระทบต่อครอบครัวและเพื่อนๆ ทำให้ชีวิตของบุคคลเหล่านี้พลอยลำบากไปด้วย ครอบครัวและเพื่อน ๆ อาจจะสับสนและผิดหวังต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป พวกเขาอาจจะรู้สึกโกรธที่ผู้ป่วยไม่ยอม “ลุกขึ้นและทำอะไรสักอย่าง” ทั้งๆ ที่รู้ดีว่าอาการที่สำคัญของโรคซึมเศร้าคือการขาดแรงจูงใจ ญาติและเพื่อนๆ อาจไม่พอใจคนป่วย พวกเขาอาจรู้สึกเศร้าโศก กลัว รวมทั้งมีอารมณ์อื่นๆ นอกจากนี้พวกเขายังอาจรู้สึกผิดที่มีปฏิกิริยาเช่นนี้ และอาจมีความรู้สึกว่าเขามีส่วนทำให้ผู้ป่วยป่วยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง รู้สึกว่าเขาไม่ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยเพียงพอหรืออาจคิดว่าการที่ผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเป็นเพราะความผิดของผู้ป่วยเอง จำเป็นมากที่จะเข้าใจว่าไม่ใช่ความผิดของผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือคนอื่น และการเกิดโรคที่ร้ายแรงเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดอารมณ์รุนแรงและวิธีที่ดีที่สุดคือ การพูดกันอย่างตรงไปตรงมาแทนที่จะ “เก็บกด” ไว้ ครอบครัวและเพื่อนๆ อาจรู้สึกโดดเดี่ยวและรู้สึกว่าไม่สามารถทำอะไรได้ รวมทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงด้วย จะเป็นการช่วยพวกเขาได้มากหาพวกเขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า เพื่อที่จะได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับอาการของโรคซึมเศร้า

การรักษาและสิ่งอื่นที่อาจช่วยได้ รวมทั้งให้พวกเขาได้เรียนรู้ว่าจะให้การสนับสนุนผู้ป่วยได้อย่างไรบ้าง การที่ญาติหรือเพื่อนของผู้ป่วยเข้าร่วมกลุ่มสนับสนุน (support group) มักจะเป็นประโยชน์มาก เช่น กลุ่มสายใยครอบครัว กลุ่มพักพิงพระพร ซึ่งจะช่วยให้พวกเขารู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลงและสามารถหนุนใจซึ่งกันและกัน กลุ่มสนับสนุนบางกลุ่มมีการให้การศึกษาและการอบรมแก่ผู้ที่ดูแลผู้ป่วยให้สอบถามแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ให้การรักษาผู้ป่วยเกี่ยวกับรายละเอียดของกลุ่มสนับสนุนหรือติดต่อกองบรรณาธิการเพื่อนรักษ์สุขภาพจิต โรงพยาบาลศรีธัญญา 02-5250981-5 ต่อ 1678

การที่บิดาหรือมารดาป่วยเป็นโรคซึมเศร้า อาจทำให้เด็กสับสนและเศร้าใจ การให้การดูแลด้านอารมณ์มีความสำคัญมากต่อผู้ที่เยาว์วัยและการป่วยเป็นโรคซึมเศร้านั้นมักจะมีผลต่อความสัมพันธ์และการสื่อความรู้สึกของเราต่อผู้อื่น อาจต้องมีคนทำให้เด็กๆ มั่นใจว่าบิดาหรือมารดาของเขาที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้านั้น ไม่ได้เปลี่ยนท่าทีที่เขารู้สึกต่อเด็กเลย หากเป็นไปได้แล้วทั้งบิดาและมารดาควรจะอธิบายเรื่องเกี่ยวกับโรคนี้ให้เด็กฟัง โดยใช้ถ้อยคำและแนวความคิดที่เด็กจะคุ้นเคยและเข้าใจได้ง่าย

คนทั่วไปมักจะคิดว่าตนเข้าใจโรคซึมเศร้า เพราะเคยรู้สึก “เศร้าใจ”

เป็นบางช่วงเวลา หรือเคยมีบางสิ่งบางอย่างทำให้เขารู้สึกเสียใจมาบ้างแล้ว แต่ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ารู้ว่าความหมายที่แท้จริงแตกต่างจากนี้และรุนแรงกว่านั้น โรคซึมเศร้าเป็นภาวการณ์ เจ็บป่วยอย่างหนึ่ง ที่มีผลกระทบต่อความรู้สึกของบุคคลทำให้เกิดสภาพอารมณ์ที่เบื่อหน่าย หดหู่ เศร้า อย่างต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลอย่างรุนแรงต่อความสามารถของบุคคลนั้นในการดำเนินชีวิตตามปกติ

โรคซึมเศร้านั้นเป็นอาการที่มากกว่าความรู้สึกเศร้าเพียงเล็กน้อย โรคนี้มีผลรุนแรงต่อชีวิตของผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ ทำให้เขาไม่สามารถชื่นชมหรือสนใจสิ่งต่างๆ ซึ่งทำให้พวกเขารู้สึกว่าถูกตัดขาดจากโรคภายนอกและถูกแยกออกจากครอบครัวและเพื่อน ผู้ป่วยจะมองทุกสิ่งทุกอย่างในแง่ลบผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเล่าถึงประสบการณ์การเป็นโรคนี้ว่ามีความรู้สึกราวกับอยู่ในสถานที่ห่างไกลในโลกของตนเอง รู้สึกว่าประสาทสัมผัสไม่รับรู้อะไร ยากที่จะทำสิ่งที่เคยทำได้โดยง่าย และเพลิดเพลิน เช่น การทำอาหาร แม้แต่การ ตื่นนอนในเวลาเช้าและอาบน้ำก็ดูเป็นสิ่งที่ยากเย็นแสนเข็ญหากได้มีการวินิจฉัยโรค การรักษาจะได้ผลดี

เป็นที่น่าเสียดายที่มีหลายคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและไม่ขอความช่วยเหลือ การเข้าใจอาการเหล่านี้ว่าเป็นอาการของการเจ็บป่วยที่สามารถรักษาให้หายได้ เป็นขั้นแรกในการต่อสู้กับโรคซึมเศร้า เพราะเหตุใดโรคซึมเศร้าจึงเป็นโรคที่ยากที่จะรู้ได้ เมื่อเกิดอาการซึมเศร้าหลายคนคิดว่าอาการต่างๆ เหล่านี้เกิดจากสาเหตุอื่นๆ หากมีอารมณ์ “หดหู่” อยู่เรื่อยๆ หรือมีความคิดในแง่ลบอยู่ตลอดจะทำให้บางคนคิดว่า “ฉันเป็นอย่างนี้แหละ” หรือ “โลกก็เป็นอย่างนี้และ”

บางคนมีประสบการณ์กับโรคซึมเศร้าโดยการมีอาการเจ็บปวด ปัญหาการย่อยอาหารหรือปวดศีรษะ ทำให้คิดว่าตนมีปัญหาสุขภาพร่างกายบางประการ อาการที่ผู้ป่วยมีนั้นอาจดูยากที่จะบรรยายได้ เพราะความกลัวที่จะถูกมองว่าเป็นโรคประสาทหรือจะไม่มีใครยอมรับฟัง บางคนจึงไม่ค่อยอยากบอกแพทย์หรืออธิบายอาการโดยละเอียดการที่จะขอความช่วยเหลือต้องอาศัยความกล้าที่จะพูดแบบตรงไปตรงมา โดยเฉพาะเมื่อคุณไม่แน่ใจว่าคนอื่นจะมีปฏิกิริยาต่อคุณอย่างไร

การที่จะรู้ว่าตนเป็นโรคซึมเศร้าบางครั้งก็เป็นได้ยาก เนื่องจากเกิดอาการซึมเศร้าในขณะที่ป่วยเป็นโรคอื่นที่เรื้อรัง เช่น เบาหวาน ถุงลมโป่งพอง อัมพฤกษ์ อัมพาต บางคนเจ็บป่วยด้วยโรคจิตเวชอื่นๆ ที่เรื้อรัง เช่น โรคจิตเภท โรควิตกกังวล แพทย์ที่ดูแลอยู่ก็อาจละเลยอาการของโรคซึมเศร้า เพราะมุ่งความสนใจอยู่กับโรคที่เป็นอยู่ก่อน แต่ถ้าแพทย์วินิจฉัยโรคซึมเศร้าได้แล้วจำเป็นต้องรักษาโรคซึมเศร้านั้นด้วย

การที่สังคมขาดความเข้าใจและมีอคติทางลบต่อการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ทำให้บางคนไม่กล้าขอความช่วยเหลือ เขาอาจคิดว่าการยอมรับว่าป่วยด้วยโรคทางจิตเวชนั้นเป็นเรื่องน่าอับอายหรือถูกมองว่าเป็นคนล้มเหลว จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำความเข้าใจว่าโรคซึมเศร้าเป็นการเจ็บป่วยอย่างหนึ่ง

ที่มา พญ.สมรัก ชูวานิชวงศ์ นายกสมาคมสายใยครอบครัว

ช่วงนี้เห็นมีหลายคนถามเกี่ยวกับโรคซึมเศร้ามาค่อนข้างบ่อย

จึงหยิบเอาบทความดีดีมาให้อ่านกัน ยังไงก็ สวัสดีปีใหม่ทุกๆท่านครับ

จากคุณ : Hangcross
เขียนเมื่อ : 4 ม.ค. 53 20:43:51




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com