Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ไข้เลือดออกเริ่มส่งสัญญาณระบาด ม.ค.-ก.พ. ป่วยเกือบ 4,000 ราย เสียชีวิตแล้ว 3 ราย  

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9530000028943


ไข้เลือดออกเริ่มส่งสัญญาณระบาด ม.ค.-ก.พ. ป่วยเกือบ 4,000 ราย เสียชีวิตแล้ว 3 ราย

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

1 มีนาคม 2553 12:14 น.

      สาธารณสุขเตือน ประชาชนระวังโรคไข้เลือดออก ปีนี้มีสัญญาณโรคอาจจะระบาด พบผู้ป่วยในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์รวมกว่า 3,700 ราย เสียชีวิต 3 ราย จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาร้อยละ 38 พบผู้ป่วยอายุมากกว่า 14 ปีมากขึ้น ใน กทม.พบเกือบร้อยละ 60 เน้นย้ำให้กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุก 7 วัน
     
     
       นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในปีนี้สภาพอากาศร้อนเร็วกว่าทุกปีที่ผ่านมา สิ่งที่น่าห่วงคือโรคไข้เลือดออก ซึ่งมีสาเหตุจากยุงลาย มีข้อมูลการศึกษาทางวิชาการพบว่าขณะนี้ตัวลูกน้ำยุงลายจะกลายเป็นตัวยุงเร็ว กว่าอดีตที่ใช้เวลาประมาณ 7 วัน ก็เหลือประมาณ 5 วัน จะทำให้ปริมาณยุงตัวโตเต็มวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
     
      จาก การวิเคราะห์สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกในปี 2553 พบว่าโรคมีสัญญาณอาจเกิดการระบาดในปีนี้ได้ โดยในช่วงเดือนมกราคมจนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2553 ทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเข้ารักษาในโรงพยาบาลสะสมรวม 3,757 ราย เฉลี่ยวันละ 85 ราย เสียชีวิต 3 ราย

มากที่สุดในภาคกลางมีร้อยละ 55 ของผู้ป่วยทั้งหมด รองลงมาคือที่ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ น้อยที่สุดคือที่ภาคเหนือ พบทั้งในเมืองและชนบท โดยสถิติผู้ป่วยใน 2 เดือนแรกปีนี้สูงกว่าช่วงเดียวกันในปี 2552 ถึงร้อยละ 49 ซึ่งมีผู้ป่วยทั้งหมด 2,511 ราย

เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกในปีนี้ พบทุกกลุ่มอายุ แต่มีแนวโน้มพบในเด็กอายุมากกว่า 14 ปีขึ้นไปมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม.พบมากถึงร้อยละ 60
     
      ในการป้องกันโรคไข้เลือดออก ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ดำเนินการป้องกันโรคตั้งแต่เนิ่นๆก่อนถึงฤดูกาลระบาดทุกปีคือช่วงเดือน พฤษภาคม-ตุลาคม เพื่อป้องกันคนไม่ให้ป่วยให้ได้มากที่สุด

โดยให้ทุกพื้นที่ช่วยกันลดจำนวนยุงลายให้เหลือน้อยที่สุด ด้วยการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนทุกหลังคาเรือน ช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั้งที่อยู่ในบ้านเช่นตามแจกันไม้ประดับ น้ำหล่อขาตู้ ต้องเปลี่ยนน้ำทิ้งทุก 7 วัน และแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายรอบๆบ้าน เช่นที่จานรองกระถางไม้ประดับ รวมทั้งทำลายภาชนะที่อาจเป็นแหล่งให้น้ำขังได้เช่น กระป๋อง กล่องโฟม กะลามะพร้าว ยางรถยนต์ นอนในมุ้งหรือในห้องที่มีมุ้งลวด

ให้ทุกพื้นที่เฝ้าระวังโรค หากมีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออก ให้ดำเนินการสอบสวนโรคและควบคุมโรคภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้โรคแพร่ระบาด และพ่นสารเคมีรอบบ้านผู้ป่วยรัศมีอย่างน้อย 100 เมตร กำจัดยุงลายที่มีเชื้อให้หมดโดยเร็วที่สุด เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดโรค นายแพทย์ไพจิตร์กล่าว



แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

      ด้าน นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกรักษาให้หายได้ หากมารับการรักษาเร็ว โดย อาการทั่วไปของโรคนี้ที่เกิดในเด็กและผู้ใหญ่จะไม่แตกต่างกัน กล่าวคือ มีไข้สูงมาก กินยาแล้วไข้ไม่ลด อาจมีจุดเลือดออกเล็กๆ สีแดงที่ผิวหนังกระจายตามตัว เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน

แต่ในผู้ใหญ่มักจะมีอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตามาก มักเป็นรุนแรงกว่าเด็ก และจะมาพบแพทย์ช้า เนื่องจากไม่คิดว่าตัวเองป่วยเป็นไข้เลือดออก มักจะไปซื้อยากินเองก่อนเมื่อรู้สึกมีไข้ หรือไม่สบายตัว ทำให้อาการหนัก

รวมทั้งมักใช้ยาที่มีฤทธิ์แรงทั้งแก้ปวดและลดไข้ ทำให้ระคายเคืองและมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น แผลในกระเพาะอาหาร โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงหากเป็นไข้เลือดออกก็ยิ่งทำให้อาการหนักมากขึ้น
     
     
      นายแพทย์มานิตกล่าวต่อว่า ตามปกติทั่วไปหลังจากมีอาการไข้ แล้วไข้เริ่มลดลง แสดงว่าอาการดีขึ้น แต่หากป่วยเป็นไข้เลือดออก ในระยะที่ไข้ลดลง จะเป็นช่วงที่มีอันตรายมาก

ขอให้ประชาชนสังเกตว่าหากระยะที่ไข้ลดลง แต่ผู้ป่วยยังมีอาการซึม อ่อนเพลีย มีอาการปวดท้อง แม้จะรู้สึกตัวดี พูดคุยได้ กินอาหารได้ก็ตาม จะต้องรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะหากไม่ไปพบแพทย์ภายใน 10-12 ชั่วโมง อาจเกิดอาการช็อค มีอาการตับวาย ไตวายแทรกซ้อน จนเสียชีวิตได้
     
      ทั้งนี้ เชื้อไวรัสเด็งกี่ที่ทำให้เกิดไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ ซึ่งในประเทศไทยถือว่าโรคไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่น มีครบทุกสายพันธุ์ หากติดเชื้อสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่ง จะทำให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานสำหรับสายพันธุ์นั้นได้ตลอดชีวิต แต่ป้องกันสายพันธุ์อื่นได้ไม่เกิน 1 ปี

ดังนั้นคนคนหนึ่ง ยังสามารถติดเชื้อสายพันธุ์ที่เหลือได้ และการติดเชื้อครั้งที่ 2 นี้ มักเกิดอาการที่รุนแรงมากกว่าการติดเชื้อครั้งแรก

ดังนั้น แม้ว่าเคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อนก็สามารถเป็นซ้ำได้หากไม่ได้ป้องกันยุงลาย กัด หรือไม่ได้กำจัดลูกน้ำ และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่เป็นภาชนะใส่น้ำ หรือภาชนะที่มีน้ำขังในบ้านและบริเวณรอบบ้าน




แถม ...

ไข้เลือดออก..ฤดูกาลแห่งโศกนาฏกรรม.

http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=17-05-2008&group=4&gblog=38


เคล็ดลับพิชิตยุงลาย แบบไร้สารเคมี

http://www.siamrath.co.th/UIFont/NewsDetail.aspx?cid=97&nid=14742

 
 

จากคุณ : หมอหมู
เขียนเมื่อ : 2 มี.ค. 53 15:18:28




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com