Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ผลวิจัย พบวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 15 ปี ขี่มอเตอร์ไซค์เกลื่อนเมือง ทั้งที่กฎหมายยังไม่อนุญาต  

นางสาวศิริกุล  กุลเลียบ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ  ศูนย์อุบัติเหตุฉุกเฉินและวิกฤตบำบัด โรงพยาบาลขอนแก่น เปิดเผยผล การสำรวจข้อมูลของผู้บาดเจ็บจากรถจักรยานยนต์ ที่ห้องฉุกเฉินทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ของโรงพยาบาลจังหวัด 12 แห่ง ทั่วประเทศ ได้แก่ รพ.พระปกเกล้าฯ รพ.ชลบุรี รพ.เจ้าพระยายมราช รพ.พุทธชินราช รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์  รพ.นครพิงค์  รพ.กระบี่  รพ.หาดใหญ่, รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช  รพ.ขอนแก่น รพ.มหาราชนครราชสีมา และรพ.อุดรธานี เพื่อติดตามสถานการณ์และลักษณะการเกิดอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ทั่วประเทศ สนับสนุนโดยศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.)และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)



นางสาวศิริกุล กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลผู้บาดเจ็บจากรถจักรยานยนต์  ที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล 12 แห่ง จำนวน 1,200  ราย แบ่งเป็นชาย 843 ราย หญิง 357  ราย ผู้ขับขี่ที่ได้รับบาดเจ็บร้อยละ  37 มีอายุระหว่าง 19-30 ปี ร้อยละ 14.7 อายุระหว่าง 15-18 ปี และร้อยละ 7.1 อายุต่ำกว่า 15 ปี  ซึ่งผิดกฎหมาย อายุต่ำสุด 9 ปี สูงสุด 82 ปี

นางสาวศิริกุล กล่าวว่า ผู้ขับขี่ส่วนใหญ่ร้อยละ 43.5  ระบุว่าเริ่มขับขี่รถจักยานยนตร์ครั้งแรกตั้งแต่อายุไม่ถึง 15 ปี ทั้งที่กฎหมายยังไม่อนุญาต โดยร้อยละ 54.3 ระบุว่าหัดขับขี่เอง ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ เพราะไม่ได้รับการอบรมการขับขี่อย่างปลอดภัย



ในส่วนของพฤติกรรมเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุพบว่า ส่วนใหญ่ไม่สวมหมวกนิรภัย มีสูงถึงร้อยละ 78.9 ในจำนวนนี้ร้อยละ 81.2 ให้เหตุผลว่าเพราะขับขี่ในระยะทางใกล้ๆ   ส่วนผู้ที่เมาแล้วขับอยู่ที่ร้อยละ 31.6  และผู้ที่ขับขี่ด้วยความเร็วมากกว่า 80 กม./ชม. ร้อยละ 31.1



นอกจากนี้พฤติกรรมของผู้ขับขี่ยังมีความสัมพันธ์กับใบอนุญาตขับขี่ โดยผู้ที่ไม่มีใบขับขี่ จะมีพฤติกรรมเสี่ยงอันนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุมากกว่าผู้ที่มีใบขับขี่ เพราะไม่ได้ผ่านการฝึกอบรมเรื่องการขับขี่ปลอดภัย โดยในจำนวนผู้บาดเจ็บที่ไม่มีใบขับขี่  ร้อยละ 95  ไม่สวมใส่หมวกนิรภัย ส่วนผู้ที่มีใบขับขี่แต่ไม่สวมหมวกนิรภัยอยู่ที่ร้อยละ 53.5



“รถจักยานยนตร์ถือเป็นพาหนะสำคัญสำหรับคนไทยทั่วทุกจังหวัด จำนวนการเกิดอุบัติเหตุของรถจักรยานยนต์จึงเพิ่มสูงขึ้น  และเยาวชนอายุน้อยก็เป็นกลุ่มเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ เพราะ อยู่เป็นวัยคึกคะนอง อยากลองอยากรู้ ประมาทรวมทั้งส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนรู้การขับขี่ปลอดภัยมาก่อนขับขี่ออกสู่ถนนใหญ่” นางสาวศิริกุล กล่าว



นางสาวศิริกุล กล่าวว่า จากผลการวิจัยนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายว่า รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการควบคุมการใช้รถจักรยานยนต์ของผู้ขับขี่ที่มีอายุน้อยให้มากขึ้น และบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งปรับปรุงระบบการออกใบขับขี่ให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น โดยให้มีการอบรมการขับขี่อย่างปลอดภัยสำหรับผู้ขับขี่มือใหม่ ก่อนออกใบอนุญาตขับขี่   พร้อมกันนี้ควรมีการแก้ไขกฎหมายการขอรับใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ 90 CC ในกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันไม่มีแล้ว มีแต่ 100 CC ขึ้นไป โดยอาจเพิ่มอายุสำหรับการมีใบขับขี่รถ 100 CC เป็น 18 ปี เป็นต้น



http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1275559990&grpid=&catid=04

จากคุณ : หมาป่าดำ
เขียนเมื่อ : 4 มิ.ย. 53 10:48:26




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com