Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ขรก. ไทย 5 ล้านคน ใช้ยา 7 หมื่นล้าน กรมบัญชีกลางผวา

ผอ.สวรส.แฉตัวเลขข้าราชการไทยใช้ยาทะลุ 7 หมื่นล้านบาท/ปี ทั้งที่มีจำนวนเพียง 5 ล้านคน ขณะที่ประชากรในระบบประกันทั้งประเทศกว่า 57 ล้านคนใช้ยาแค่ปีละ 9.8 หมื่นล้านบาท เหตุไม่มีการควบคุมสั่งยา-จ่ายตามเบิกจริง จี้รัฐเร่งอุดช่องโหว่...

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เปิดเผยสถานการณ์การใช้ยาในส่วนของข้าราชการไทย ว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดพบว่าข้าราชการไทยมีการใช้ยาในการรักษาพยาบาลสูงถึงปีละ 7 หมื่นล้านบาท เพิ่มจาก 2 หมื่นล้านบาทในปี 2548 เป็น 5.4 หมื่นล้านบาทในปี 2551 และ 7 หมื่นล้านบาทในปี 2552-2553 ทั้งๆ ที่มีจำนวนข้าราชการในระบบเพียง 5 ล้านคน

ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวต่อว่า ช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาตัวเลขค่ารักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการข้าราชการ มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละประมาณ 15-20% ขณะที่ค่าใช้จ่ายในระบบประกันสังคมและระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งดูแลประชากรจำนวนมากถึง 57 ล้านคน หรือเกือบ 12 เท่าของประชากรในระบบสวัสดิการข้าราชการ กลับมียอดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล ในปี 2551 เพียง 9.87 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในระบบสวัสดิการข้าราชการสูงขึ้นอย่างมาก มาจากการที่ระบบสวัสดิการของข้าราชการไม่มีการควบคุมการสั่งยาและจ่ายตามเบิกจริง จึงเป็นเหตุให้มีการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผล อันเป็นผลสืบเนื่องจากการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม ผลประโยชน์ทับซ้อนของบริษัทยา ที่แพทย์ เภสัชกร หรือแม้กระทั่งโรงพยาบาลเองสามารถจ่ายยาหรือสั่งซื้อยาบางกลุ่มที่ไม่จำเป็น หรือมีราคาแพงให้ถึงเป้าที่บริษัทยาต้องการ เพื่อให้ได้สิ่งตอบแทน เช่น การพาไปเที่ยว จ่ายเป็นเงินสด ของขวัญ การลดแลกแจกแถมตัวยา หรือในรูปของสวัสดิการ ฯลฯ

นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวต่อว่า หากจะประมวลสาเหตุการการที่ค่าใช้จ่ายด้านยาของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาล ข้าราชการอยู่ในระดับค่อนข้างสูง เนื่องจากปัจจัย 3 อย่าง คือ 1. การออกระบบการจ่ายยาที่เปิดโอกาสให้ทุกรายการยาที่สั่งจ่ายให้ผู้ป่วยที่ ใช้สิทธิข้าราชการทั้งส่วนที่เป็นยาตามบัญชียาหลักแห่งชาติและนอกบัญชียา หลักแห่งชาติสามารถเบิกจากรัฐได้หมด ทำให้ไม่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยาได้ 2. ทัศนคติของผู้ป่วยไทย เกี่ยวกับการรักษาโรค คือ การกินยา ในการไปพบแพทย์แต่ละครั้งจึงมีการเรียกร้องให้ได้ยาปริมาณมากและราคาแพง เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้การรักษาดีขึ้น จนสร้างแรงกดดันให้แพทย์ต้องจ่ายยาให้ผู้ป่วยในปริมาณที่มากไม่สมเหตุสมผล และ 3. เมื่อรัฐรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเรื่องยาแทนผู้ป่วย แพทย์จึงไม่มีความกังวลแทนผู้ป่วยว่าจะไม่มีเงินจ่าย

เมื่อเทียบค่าใช้จ่ายด้านยาของผู้ถือสิทธิระบบประกันสังคมและระบบหลักประกัน สุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทองกับสิทธิสวัสดิการข้าราชการมีความแตกต่างกันมาก เนื่องจากสองระบบแรกมีขีดจำกัดของงบประมาณที่มีการจัดสรรให้ในรูปแบบของงบ เหมาจ่ายรายหัวโดยสิทธิประกันสังคมอยู่ที่ประมาณ 1,800 บาทต่อคนต่อปี และบัตรทอง 2,100 บาทต่อคนต่อปี ค่าใช้จ่ายด้านยาจึงอยู่ในอัตราไม่สูงมากนัก แต่รูปแบบนี้ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าได้รับยาปริมาณน้อยและเป็นยาราคาถูกอาจ ไม่มีคุณภาพ ขณะที่สิทธิสวัสดิการข้าราชการมีค่าใช้จ่ายต่อหัวเฉลี่ย 10,000 บาทต่อปี สูงกว่าบัตรทองถึงเกือบ 5 เท่า

"จากค่าใช้จ่ายที่สูงเกินงบประมาณที่ตั้งไว้ 4.8 หมื่นล้านบาท ในปี 2551 เป็นเกือบ 7 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้กรมบัญชีกลาง ในฐานะผู้ดูแลการเบิกจ่ายนิ่งเฉยไม่ได้ ต้องลุกขึ้นมาขุดค้นตรวจสอบหาต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง สิ่งที่ค้นพบก็คือ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลตติยภูมิขนาดใหญ่ ประมาณ 34 แห่ง เบิกค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกเป็นสัดส่วนถึง ร้อยละ 90 ของวงเงินทั้งหมด ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า มีการใช้ยาแพงที่ผลิตจากต่างประเทศ ไม่ใช่ยาบัญชีหลักฯ และมีการจ่ายยาจำนวนมาก"

นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวด้วยว่า หากยังปล่อยให้การเบิกจ่ายเป็นเช่นนี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการเบิกจ่ายยา เชื่อแน่ว่า ค่าใช้จ่ายด้านยาของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการไทย ในปีงบประมาณ 2553 ต้องพุ่งทะลุสู่หลักแสนล้านบาทแน่นอน.

http://www.thairath.co.th/content/edu/119382

จากคุณ : หมาป่าดำ
เขียนเมื่อ : 16 ต.ค. 53 21:51:06




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com