มาราธอน คือการวิ่งระยะไกล จัดขึ้นครั้งแรกในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ฟื้นฟูให้มีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีช เมื่อ ค.ศ. ๑๘๙๖ การวิ่งมาราธอนเป็นการรำลึกถึงวีรกรรมที่กลายเป็นตำนานเล่าขานกันของทหารกรีกชื่อ ฟิดิป พิเดส (Pheidippides) ซึ่งเมื่อ ๔๙๐ ปีก่อนคริสตกาลได้วิ่งจากเมืองมาราธอนมายังกรุงเอเธนส์ เป็นระยะทางประมาณ ๒๖ไมล์ หรือ ๔๒ กิโลเมตร เพื่อแจ้งข่าวชัยชนะของกองทัพเอเธนส์เหนือพวกเปอร์เซียที่เข้ามารุกราน ช่างเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ชนะการแข่งขันวิ่งมาราธอนในปีแรกนั้นเป็นชาวกรีก ชื่อสไปรอส หลุยส์
ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๒๔ ระยะทาง ๔๒,๑๙๕ เมตร หรือ ๒๖ ไมล์ กับอีก ๓๘๕ หลา ได้ถูกกำหนดขึ้นให้เป็นระยะวิ่งมาราธอนมาตรฐานในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ระยะ ๓๘๕ หลาที่เพิ่มขึ้นมานั้นเกิดจากการตัดสินใจของคณะกรรมการโอลิมปิกของอังกฤษที่ต้องการให้การแข่งขันวิ่งมาราธอนในกีฬาโอลิมปิกปี ค.ศ. ๑๙๐๘ เริ่มต้นจากพระราชวังวินเซอร์ และมาสิ้นสุดลงตรงหน้าที่ประทับทอดพระเนตรของพระราชินีอเล็กชานดราในสนามกีฬากรุงลอนดอน
เนื่องจากเส้นทางที่ใช้แข่งขันวิ่งมาราธอนมีระดับความยากลำบากมากน้อยต่างกัน สหพันธ์กรีฑาสมัครเล่นสากลจึงมิได้บันทึกสถิติโลกอย่างเป็นทางการของกีฬาประเภทนี้ไว้เพิ่งมาในช่วงต้นทศวรรษที่ ๗๐ นี้เอง ที่ผู้หญิงได้เข้าร่วมการแข่งขันวิ่งมาราธอน
เดิมเคยเชื่อกันทั่วไปว่า การเตรียมตัวเพื่อลงแข่งขันวิ่งมาราธอนจำเป็นต้องฝึกฝนวิ่งในระยะทางดังกล่าว แต่ความเชื่อนี้ถูกลบล้างไปในกีฬาโอลิมปิกปี ค.ศ. ๑๙๕๒ เมื่อนักวิ่งจากเชคโกสโลวะเกีย ชื่อ เอมิล ซาโตเปก ทำสถิติโอลิมปิกได้ด้วยเวลาเพียง ๒ ชั่วโมง ๒๓ นาที ๓.๒ วินาที ทั้ง ๆ ที่เขาไม่เคยแข่งขันวิ่งในระยะไกลเท่านี้มาก่อน
ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม / สำนักพิมพ์สารคดี