 |
Q&A ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา Diabetic Retinopathy โดย นพ.ณวัฒน์ วัฒนชัย จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจอประสาทตา
Q : จอประสาทตา และจุดรับภาพ คืออะไร A : จอประสาทตา (retina) คือเนื้อเยื่อที่บุด้านในของลูกตา ทำงานรับแสงและภาพคล้ายกับฟิล์มกล้องถ่ายรูป ส่งสัญญาณผ่านเส้นประสาทตาไปที่สมอง ส่วนจุดรับภาพ (macula) คือ บริเวณเล็กๆบนจอประสาทตา ที่มีความหนาแน่นของเซลล์รับแสงมากที่สุด และเป็นจุดที่เราจะใช้มองภาพที่คมชัด
Q : เบาหวานขึ้นจอประสาทตาคืออะไร A : โรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา คือ จอประสาทตาเสื่อม ในผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากเบาหวาน เป็นโรคที่ทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ และส่วนประกอบอื่นๆของเลือดก็แปรปรวนไปด้วย อันจะทำลายเส้นเลือดในทุกส่วนของร่างกายผู้ป่วย ในคนไข้ที่มีเบาหวานนานๆ หรือมีเบาหวานไม่นาน แต่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี ก็จะเกิดปัญหาขึ้นที่เส้นเลือดขนาดเล็กในจอประสาทตา เส้นเลือดขนาดเล็กเหล่านี้ บางเส้นจะเปราะแตกทำให้เกิดเลือดออก บางเส้นจะรั่วซึมทำให้จอประสาทตาบวม บางเส้นจะอุดตันทำให้จอประสาทตาขาดเลือดหล่อเลี้ยง เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ร่างกายจะพยายามสร้างเส้นเลือดใหม่มาชดเชยเส้นเลือดที่เสียหายไป เพื่อหล่อเลี้ยงจอประสาทตา แต่การสร้างเส้นเลือดใหม่ในจอประสาทตาของผู้ป่วยเบาหวาน มักได้เส้นเลือดที่ไม่สมบูรณ์ มักเปราะแตกซ้ำ ทำให้เกิดเลือดออกซ้ำๆในจอประสาทตาและในน้ำวุ้นตา และอุดตันไป อาจเหลือเป็นแผลเป็น-พังผืดบนผิวของจอประสาทตา กลไกเหล่านี้จะเกิดซ้ำๆ และเพิ่มความเสียหายให้กับจอประสาทตามากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจทำให้จอประสาทตาเสียหายทั้งหมด และตามัว หรือบอดได้
Q : ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน มีโอกาสเกิดภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตามากน้อยแค่ไหน A : โอกาสการเกิดเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ขึ้นกับการควบคุมระดับน้ำตาล และระยะเวลาที่ผู้ป่วยเป็นเบาหวาน ในผู้ป่วยเบาหวานที่คุมระดับน้ำตาลได้ดี และตรวจเบาหวานพบโดยยังไม่มีอาการทางร่างกายใดใด (ตรวจพบจากการตรวจเลือดประจำปี) - เมื่อเป็นเบาหวาน 5 ปี จะพบเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ทั้งที่รุนแรงและไม่รุนแรง 2 ใน 10 ราย - เมื่อเป็นเบาหวาน 10 ปี จะพบเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ทั้งที่รุนแรงและไม่รุนแรง 5 ใน 10 ราย - เมื่อเป็นเบาหวาน 15 ปี จะพบเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ทั้งที่รุนแรงและไม่รุนแรง 8 ใน 10 ราย ส่วนในผู้ป่วยที่คุมระดับน้ำตาลไม่ดี หรือตรวจเบาหวานเมื่อมีอาการทางร่ายกายแล้ว (ซึ่งแสดงว่าเป็นเบาหวานมาหลายปีแล้วโดยไม่ทราบมาก่อน) หรือผู้ป่วยที่พบเบาหวานตั้งแต่อายุน้อย โอกาสการเกิดเบาหวานขึ้นจอประสาทตาก็จะสูงกว่านี้
Q : แล้วจะวินิจฉัยโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตาได้อย่างไร A : ผู้ป่วยเบาหวาน ควรได้รับการตรวจตา แม้จะยังไม่มีปัญหาการมองเห็นมัว เพื่อค้นหาโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตาโดยจักษุแพทย์เป็นระยะๆ จักษุแพทย์จะนัดหมายการตรวจครั้งต่อไป เร็วช้าขึ้นกับความรุนแรงของเบาหวาน ความรุนแรงของเบาหวานขึ้นจอประสาทตา และโรคตาอื่นที่อาจตรวจพบ จักษุแพทย์อาจจำเป็นต้องหยอดยาขยายม่านตาผู้ป่วยบางราย เพื่อเปิดม่านตาให้กว้างพอที่ส่องกล้องผ่านรูม่านตาไปตรวจจอประสาทตา ซึ่งยาจะทำให้ตามัวลงเล็กน้อย ปรับตามแสงไม่ได้ราว 4-5 ชั่วโมง ในผู้ป่วยเบาหวานที่ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ ควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจตาเพิ่มเติม แม้จะยังไม่ถึงกำหนดนัดหมาย เนื่องจากการตั้งครรภ์อาจทำให้เบาหวานทรุดลงอย่างรวดเร็ว
Q : เบาหวานขึ้นจอประสาทตามีกี่ระยะ อะไรบ้าง A: มีสองระยะ ระยะแรก (background retinopathy) ในระยะแรก จะเริ่มมีการรั่วซึม อุดตัน ของเส้นเลือดขนาดเล็กที่จอประสาทตา เส้นเลือดบางเส้นอาจโป่งพอง ทำให้จอประสาทตาบวมเป็นบริเวณ ผู้ป่วยมักไม่สังเกตอาการตามัว ยกเว้นกรณีที่บริเวณที่จอประสาทตาบวม เป็นบริเวณของจุดรับภาพ (macula) ซึ่งใช้รับภาพคมชัด ระยะที่สอง (Proliferative retinopathy) ในระยะนี้ จะมีการขาดเลือดของจอประสาทตาเป็นบริเวณกว้าง ทำให้ร่างกายสร้างเส้นเลือดใหม่ที่เปราะแตกมาเพื่อพยายามชดเชย แต่กลับสร้างความเสียหายในลักษณะของการเกิดเลือดออกในตา หรือเกิดพังผืดดึงรั้งจอประสาทตาให้บวมหรือหลุดลอกออก
Q : ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยในจอประสาทตาจากเบาหวานขึ้นจอประสาทตามีอะไรบ้าง A: 1. เลือดออกในวุ้นตา (vitreous hemorrhage) เกิดจากการฉีกขาดของเส้นเลือดที่จอประสาทตา หรือเส้นเลือดที่สร้างใหม่ ถ้าเลือดออกไม่มากนัก ผู้ป่วยจะเห็นเงาเทาดำคล้ายหมอกลอยไปมาตามการกลอกตา แต่ถ้าเลือดมีปริมาณมาก อาจทำให้ผู้ป่วยมองเห็นมืดไปทั้งหมด เลือดที่ออกเล็กน้อย อาจจางไปได้เองในเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน เลือดที่ออกปริมาณมาก หรือออกซ้ำๆ หรือไม่จางลง อาจต้องได้รับการแก้ไขโดยการผ่าตัดล้างออก 2. จอประสาทตาหลุดลอก (retinal detachment) มักเกิดจากการดึงรั้งของพังผืดที่จอประสาทตา เกิดในระยะที่สองของโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ทำให้ภาพมัวและมืดลงมากหากการหลุดลอกอยู่บริเวณจุดรับภาพ ซึ่งอาจต้องการการผ่าตัดเอาพังผืดที่ดึงรั้งออก ร่วมกับการใช้แกสหรือซิลิโคนเหลวกดจอรับภาพที่ลอกให้ราบลง 3. จุดรับภาพเสื่อมจากการขาดเลือด (macular ischemia) จุดรับภาพเป็นจุดที่สำคัญที่สุดของจอประสาทตา หากจุดรับภาพเสื่อมจากการขาดเลือด จะทำให้ภาพมัวลงมาก และไม่สามารถแก้ไขกลับมาเป็นปกติได้ เรามักทำได้เพียงชะลอหรือป้องกันภาวะนี้ด้วยการใช้เลเซอร์หรือวิธีอื่นๆ 4. ต้อหิน (glaucoma) ในรายที่เบาหวานรุกลามมาก อาจเกิดต้อหิน ความดันในตาสูงขึ้น ทำให้ประสาทตาเสื่อมลงเร็วขึ้นอีก หากไม่ได้รับการรักษา นอกจากจะมัวลงจนถึงกับบอดได้แล้ว อาจทำให้ปวดทรมาณได้มากอีกด้วย
Q : เราจะรักษาหรือชะลอโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตาได้อย่างไร A : ในส่วนของผู้ป่วยเอง - ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ ทั้งอาหาร และการออกกำลังกาย - ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน - ควบคุมความดันโลหิต ในกรณีที่มีโรคความดันโลหิตสูงร่วมด้วย เนื่องจากความดันสูง ทำให้เส้นเลือดเปราะแตกง่ายขึ้น - งดบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่ทำให้เส้นเลือดขนาดเล็กตีบตัน - รับการตรวจตากับจักษุแพทย์อย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์แนะนำ - หากมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ตามัวลงอย่างรวดเร็ว, มีเงาดำลอยไปมา ควรไปพบแพทย์โดยไม่ต้องรอให้ถึงกำหนดนัด - หากมีข้อสงสัย เช่น ระยะของโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตาที่เป็น, แนวทางการรักษา, พยากรณ์โรค ควรหาข้อมูลเพิ่มเติม หรือปรึกษาแพทย์ที่ดูแลอยู่ ในส่วนของแพทย์ จักษุแพทย์จะประเมินระยะของโรค และตรวจหาภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา เพื่อพิจารณาทางเลือกการรักษา เช่น การฉายเลเซอร์ป้องกันเลือดออก, การฉายเลเซอร์รักษาภาวะจุดรับภาพบวม, การฉีดยาเข้าในตาหรือรอบลูกตา การผ่าตัด ในผู้ป่วยบางราย อาจต้องทำหลายๆอย่างร่วมกัน อาจมีการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เพื่อหาข้อมูลเพิ่ม อันอาจจะเป็นประโยชน์ในการบอกพยากรณ์โรค หรือช่วยตัดสินทางเลือกการรักษา เช่น การฉีดสีตรวจจอประสาทตา (fundus fluorescein angiography), การตรวจจอประสาทตาด้วยเลเซอร์ (Optical coherent tomography) 1. การรักษาด้วยการฉายเลเซอร์ (laser treatment) จะเป็นการใช้แสงพลังงานสูง ที่มีความแม่นยำมาก ในการรักษาจอประสาทตา มักใช้ในหลายกรณี เช่น a. ปิดเส้นเลือดที่รั่วซึมที่จอประสาทตา b. ลดการบวมของจุดรับภาพในรายที่มีภาวะจุดรับภาพบวม c. ลดโอกาสการเกิดเลือดออก/การสร้างพังผืดที่จอประสาทตา ในรายที่มีเส้นเลือดงอกใหม่ d. ลดโอกาสการเกิดภาวะจอประสาทหลุดลอก ในรายที่มีรอยดึงรั้งหรือฉีกขาดของจอประสาทตาแล้ว o การฉายเลเซอร์ไม่ก่อให้เกิดแผลภายนอก และมักต้องการเพียงการหยอดยาขยายม่านตา และยาชา ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้หลังการรักษา และถูกน้ำ ล้างหน้าได้ตามปกติ ในผู้ป่วยบางรายที่ปวดในขณะฉายเลเซอร์ อาจต้องใช้ยาชาชนิดฉีดเพิ่มเติม o การฉายเลเซอร์ในผู้ป่วยแต่ละตา แต่ละราย อาจมีจำนวนครั้งไม่เท่ากัน และมักต้องฉายมากกว่า 1 ครั้ง 2. การฉีดยาเข้าในตาหรือรอบลูกตา (intravitreal drug injection) อาจใช้ในหลายกรณีเช่น a. ผู้ป่วยที่มีจุดรับภาพบวม และไม่ตอบสนองการรักษาด้วยเลเซอร์ หรือบวมในลักษณะที่เลเซอร์มักได้ผลน้อย b. ผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดงอกใหม่ และ/หรือ เลือดออกในจอประสาทตา แต่ไม่สามารถฉายเลเซอร์ได้ หรือฉายเลเซอร์แล้วไม่ตอบสนองดีพอ c. ผู้ป่วยที่วางแผนการผ่าตัดรักษาจอประสาทตา และมีแนวโน้มที่จะมีเลือดออกในระหว่าง/หลังการผ่าตัดสูง 3. การผ่าตัดรักษาจอประสาทตา (vitrectomy) ใช้เพื่อล้างเลือดที่ออกในวุ้นตา และรักษาภาวะจอประสาทตาหลุดลอก การรักษาแบบนี้ต้องทำให้ห้องผ่าตัด อาจทำได้โดยการฉีดยาชาหรือดมยาสลบ และอาจต้องมีการฉีดแกสหรือซิลิโคนเหลว เพื่อกดจอประสาทตาที่หลุดให้ราบติดใหม่ ผู้ป่วยบางราย อาจจำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการ 1 คืนขึ้นไป o การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดนี้ จะทำให้ตาแดง ปวดเคือง น้ำตาไหล อาจมัวลงในระยะสองสามสัปดาห์แรก และค่อยทุเลาลงเรื่อยๆหลังจากนั้น o ผู้ป่วยต้องใช้ยาหยอด ยารับประทาน หลังการผ่าตัด o หากการผ่าตัดนั้น แพทย์ได้ใช้แกสหรือซิลิโคนเหลวรักษาจอประสาทตาที่หลุด ผู้ป่วยต้องนอนพักในท่าคว่ำหน้า หรือนั่งก้มหน้าเป็นเวลาหลายวัน เพื่อให้แกสหรือซิลิโคนลอยตัว ดันจอประสาทตาให้ติดแน่น และหากผู้ป่วยมีแกสในตา ต้องหลีกเลี่ยงการเดินทางโดยเครื่องบิน หรือการเดินทางขึ้นเขาสูง เนื่องจากแกสอาจขยายตัว เพิ่มความดันในตาจนกลายเป็นต้อหินเฉียบพลันได้ o ผู้ป่วยบางรายอาจต้องการการผ่าตัดมากกว่า 1 ครั้ง o การผ่าตัดในผู้ป่วยบางราย อาจทำเพียงเพื่อรักษาการมองเห็นที่มัวลงไปบ้างแล้ว ไม่ให้มืดบอดไปหมด หรือชะลอการเสื่อมของการมองเห็นให้ช้าลง แต่ไม่สามารถทำให้กลับมามองเห็นชัดได้ เนื่องจากเบาหวานและภาวะแทรกซ้อนทำลายจอประสาทตาไปมาก ผู้ป่วยจึงควรถามพยากรณ์โรคจากแพทย์ ก่อนการรักษาเสมอ o การผ่าตัดรักษาจอประสาทตา เป็นการผ่าตัดที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ก็ยังอาจมีภาวะแทรกซ้อนได้หลายประการ เช่น เร่งต้อกระจกที่มีอยู่แล้วให้ขุ่นเร็วขึ้น, ต้อหิน, การติดเชื้อแบคทีเรีย, จอประสาทตาหลุดลอกเร็วขึ้น, เลือดออกในวุ้นตาซ้ำ ซึ่งในบางกรณี ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้อาจทำให้ตามัวเร็วกว่าธรรมชาติของโรค และอาจต้องมีการผ่าตัดรักษาภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้
Q : ถ้ามีเบาหวานขึ้นจอประสาทตา แล้วไม่รักษาทางตา คุมน้ำตาลอย่างเดียว จะดีขึ้นเองได้ไหม A: บางภาวะ อาจดีขึ้นเองได้ เช่น ภาวะเลือดออกในน้ำวุ้นตา ถ้าไม่มีเลือดออกเพิ่ม และปริมาณเลือดที่ออกไม่มากเกินไป ร่างกายอาจกำจัดเลือดที่บังอยู่ออกไปเองช้าๆได้ ทำให้มองเห็นดีขึ้นเองในระยะแรก แต่หากไม่รักษาต่อ ก็มีโอกาสเกิดเลือดออกซ้ำ และมีเรื่องอื่นแทรกซ้อนตามมาได้ บางภาวะ จะไม่ดีขึ้นเอง เช่น จอประสาทตาหลุดลอกจากการมีพังผืดดึงรั้ง
Q : หากตามัวจากเบาหวานขึ้นจอประสาทตาแล้วได้รับการรักษา การมองเห็นจะดีขึ้นหรือไม่ A : อาจดีขึ้นหรืออาจไม่ดีขึ้น สำหรับบางภาวะ เช่น เลือดออกในน้ำวุ้นตา หรือจุดรับภาพบวม เมื่อแก้ไขภาวะเหล่านี้แล้ว การมองเห็นมักจะดีขึ้นได้มาก อาจได้เป็นปกติในบางราย แต่บางภาวะ เช่น จอประสาทตาหลุดลอก, จุดรับภาพขาดเลือด, ต้อหิน อาจทำได้เพียงป้องกันไม่ให้ตาบอด หรือชะลอการรุกลามลงไปเท่านั้น และในบางกรณีที่โรครุนแรงมาก หรือมีเรื่องแทรกซ้อนที่รุนแรง ก็อาจทำให้การมองเห็นมัวลงอย่างรวดเร็ว แม้จะรักษาอย่างเต็มที่ก็ตาม โดยเฉพาะในระยะท้ายๆของโรค ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรตรวจตา ตั้งแต่ยังไม่มีตามัว
Q : ถ้ารักษาจอประสาทตาได้ผลแล้ว ยังต้องคุมเบาหวานอีกหรือไม่ A : ผู้ป่วยเบาหวาน ต้องคุมระดับน้ำตาลตลอดชีวิต เพราะหากระดับน้ำตาลสูง หรือขึ้นลงบ่อย ก็อาจมีการรุกลามของภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาได้อีก แม้จะได้รับการรักษาไปแล้ว ซึ่งอาจต้องมีการรักษาเพิ่มเติมต่อไปอีก
Q : การรับประทานวิตามินบำรุงจอประสาทตา สามารถช่วยบรรเทาภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาได้หรือไม่ A : ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่า การรับประทานวิตามินชนิดใดใด หรือวิตามินรวม จะช่วยชะลอหรือบรรเทาภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาได้
จากคุณ |
:
หมอเถื่อน
|
เขียนเมื่อ |
:
26 ส.ค. 54 07:53:12
|
|
|
|
 |