 |
รพ.เอกชน แจงเหตุ ยาแพงเพราะต้นทุนสูง
จากกรณีดังกล่าว “ผู้จัดการ 360 องศรายสัปดาห์”จึงได้สอบถามเรื่องนี้ไปยัง “นพ.อนันตศักดิ์ อภัยรัตน์” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 2 ที่ได้ชี้แจงว่า การที่ค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชนมีราคาที่สูงกว่าของโรงพยาบาลรัฐนั้น เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชนมีการรวมเรื่องค่าบริการ ค่าแพทย์ และค่าอื่นๆ ในขณะที่โรงพยาบาลรัฐไม่มีการคิดค่าดังกล่าวทำให้ค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนแพงกว่าโรงพยาบาลรัฐ
สำหรับกลุ่มยาที่มีราคาแพงจะเป็นกลุ่มยารักษาโรคมะเร็ง หัวใจ เบาหวาน เนื่องจากเป็นยาที่ไม่สามารถผลิตในไทยได้ทำให้ราคาแพง โดยราคายาที่ผลิตจากต่างประเทศจะสูงกว่ายาที่ผลิตในประเทศไทยมากถึง 50% อย่างไรก็ดี ราคายาของโรงพยาบาลแต่ละแห่งจะแตกต่างกันไปแล้วแต่โรงพยาบาล อย่างไรก็ดี ถ้าเป็นกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนด้วยกันราคาจะไม่แตกต่างกันมากนัก
ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่าแพทย์รับเงินใต้โต๊ะจากบริษัทยาเพื่อช่วยบริษัทยาจำหน่ายยานั้น เชื่อว่าไม่มีเนื่องจากผิดจรรยาบรรณของแพทย์ นอกจากนี้ แพทย์ที่มีจรรยาบรรณจะต้องจ่ายยาให้ตรงกับโรคและตัวบุคคล ดังนั้น การรับเงินใต้โต๊ะจึงไม่มีทางที่แพทย์จะทำอยู่แล้ว
สำหรับการที่บริษัทยาเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ให้กับโรงพยาบาลเพื่อแลกกับการซื้อยานั้น บริษัทยามีหน้าที่ในการสนับสนุนเรื่องวิชาการให้กับแพทย์อยู่แล้ว แต่หากบริษัทยาที่เข้ามาสนับสนุนวิชาการเพื่อแลกกับการซื้อยานั้น โรงพยาบาลจะไม่สนับสนุนบริษัทดังกล่าว
ส่วน การควบรวมโรงพยาบาลระหว่างเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโลกับโรงพยาบาลกรุงเทพอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา เชื่อว่าจะช่วยเรื่องของการจัดซื้อยาและอุปกรณ์การแพทย์ได้ไม่น้อย แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะลดค่าใช้จ่ายได้เท่าใด
ผู้บริหารรพ.เอกชนอีกรายหนึ่งกล่าวเสริมว่า ค่ายา เป็นเอกสิทธิ์ของโรงพยาบาลว่าจะตั้งราคาเท่าไหร่ โดยทั่วไป จะรวมค่าบริหารจัดการของโรงพยาบาลเข้าไปด้วย ไม่ใช่คิดเฉพาะต้นทุนยาเหมือนในโรงพยาบาลรัฐ ค่าอุปกรณ์ต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน ที่มีการรวมค่าบริหารจัดการเข้าไปด้วยส่วน Doctor Fee กับค่าพยาบาล จะเป็นส่วนของแพทย์ หรือพยาบาล ซึ่งปกติโรงพยาบาลไม่ได้มีกำไรจากส่วนนี้อยู่แล้ว
“กำไรโรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่จะอยู่ตรงค่ายา กับค่าอุปกรณ์ครับ หักไปหักมาแล้ว กำไรจริงๆ จากการขายยาอยู่สัก 10 เปอร์เซ็นต์ ที่แพงๆ นั่น Overhead Cost ทั้งนั้น ถ้าทำใจจ่ายไม่ได้ ก็ต้องใช้บริการคลินิก หรือโรงพยาบาลรัฐ ที่มีการสนับสนุน Overhead Cost ส่วนนี้จากภาษีจะดีกว่า”
สอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ของ “ศ.นพ.สิน อนุราษฎร์” ผู้อำนวยการด้านการแพทย์กลุ่มภูมิภาค โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ซึ่งเคยชี้แจงเรื่องนี้ผ่านนิตยสารผู้จัดการว่า รายได้ จากโรงพยาบาลจะมีรายรับมาจากการหักเปอร์เซ็นต์ค่าพบแพทย์ โดยหักจากผู้ป่วยนอก (OPD) 15% เป็นค่าใช้จ่ายด้านสิ่งอำนวยความสะดวกแก่แพทย์ แต่สำหรับผู้ป่วยใน (IPD) ทางโรงพยาบาลจะไม่หักเปอร์เซ็นต์ค่าแพทย์ไว้ แต่จะมีรายได้ในส่วนของ ค่าพยาบาล ค่าเครื่องมือแพทย์ ค่าพื้นที่ ที่ได้จากการเรียกเก็บจากคนไข้ นอกจากนี้ รายได้แหล่งใหญ่ของโรงพยาบาลยังมาจากการขายยา ซึ่งราคาค่ายาจะถูกบวกค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการตรวจรักษาเข้าไปด้วย และนี่ก็คือเหตุผลว่าทำไมยาในโรงพยาบาลจึงแพงกว่าร้านขายยาทั่วไป
"คนไข้มักจะลืมไปว่าในห้องตรวจมีค่าใช้จ่าย ซึ่งค่าใช้จ่ายตรงนี้แพทย์ไม่ได้เป็นคนออก จึงต้องมีส่วนอื่นเข้ามาช่วย ซึ่งบางแห่งก็คิดค่าใช้จ่ายตรงนี้ประมาณ 50-80 บาท" น.พ. สิน ไขข้อข้องใจ
สำหรับอัตราค่ารักษาพยาบาล ในส่วนของค่าพบแพทย์ (doctor fee) ทางบำรุงราษฎร์จะกำหนดพิสัย (range) เป็น guideline ไว้ให้แพทย์ในการเรียกเก็บโดยจะพิจารณาเปรียบเทียบกับโรงพยาบาลที่เป็น Treasury Care เหมือนกัน แต่จะไม่มีการกำหนดไว้ตายตัวเพราะอัตราค่าพบแพทย์ที่เป็นระดับอาจารย์แพทย์จะสูงกว่าระดับปกติ ซึ่งนี่ก็เป็นคำตอบว่าทำไมบางครั้งบิลล์ที่คนไข้ได้รับถึงกับต้องผงะ
อย่างไรก็ตาม น.พ. สินได้เปรียบเทียบว่าค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ยในไทยกับอเมริกาด้วยเครื่องมือเหมือนกันจะถูกกว่าในอเมริกาประมาณ 30% แต่หากเปรียบเทียบอัตราค่ารักษาของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย และสิงคโปร์โดยเฉลี่ยจะพบว่าไทยจะอยู่ตรงกลางระหว่างสิงคโปร์กับมาเลเซีย
เช่น การเปลี่ยนไต ค่ารักษาจะตกประมาณ 397,000 บาท ขณะที่สิงคโปร์ประมาณ 975,000 บาท และมาเลเซีย 392,000 บาท, การผ่าตัดทำคลอด ไทยประมาณ 49,000 บาท สิงคโปร์ 60,000 บาท มาเลเซีย 42,000 บาท, ผ่าตัดไส้ติ่ง ไทย 49,000 บาท สิงคโปร์ 50,000 บาท มาเลเซีย 39,000 บาท ยกเว้นการตัดต่อเส้นเลือดหัวใจ (By-Pass) การตรวจคลื่นหัวใจ การสแกนสมอง และการตรวจร่างกายผู้บริหาร อัตราค่ารักษาของไทยจะถูกที่สุด ตกประมาณ 397,000 บาท 300 บาท 3,900 บาท และ 1,000 บาท ตามลำดับ
กระนั้นก็มีข้อเท็จจริงรายได้ของหมอ ซึ่งแหล่งข่าวซึ่งเป็นแพทย์หญิงได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า -รพ.เอกชน หมอจะได้ค่ารักษาที่เรียกว่าDFหรือdoctor free หรือค่าทำหัตถการ ค่าตรวจเยี่ยมคนไข้ในเท่านั้น ส่วนค่าDFบางรพ.ให้หมอลงเองแต่บางรพ.ก็จะมีค่าDFตายตัวอยู่แล้ว สำหรับค่าหัตถการคือ หากเย็บแผล ใส่เผือก อันนี้ถ้าหมอเย็บให้ ถือว่าเป็นค่าหัตถการ แต่บางรพ.ก็ไม่ได้ทั้งหมดจากที่รพ.เก็บจากคนไข้แต่จะได้บางส่วนเท่านั้น
“สำหรับ ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ รพ.เป็นคนคิดราคา หมอไม่ได้มีส่วนได้ในตรงนี้ ซึ่งแต่ละ รพ.ก็คิดราคายาไม่เท่ากัน ดังนั้นหากคนไข้ต้องการให้เขียนชื่อยาเพื่อไปซื้อข้างนอกสามารถทำได้เนื่องจากเป็นสิทธิผู้ป่วยค่ะ หากแต่หมอคงไมได้ถามคนไข้ทุกคนว่าต้องการชื่อไปซื้อเองหรือไม่ ถ้าผู้ป่วยประสงค์ย่อมทำได้”
จากคุณ |
:
หมอหมู
|
เขียนเมื่อ |
:
22 พ.ย. 54 13:39:38
|
|
|
|
 |