Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
การระงับปวดในคนไข้มะเร็งด้วยยาแก้ปวด....เรื่องยากๆที่คุณควรรู้ ติดต่อทีมงาน

ความปวดเป็นหนึ่งในสิ่งที่คนไข้มะเร็งกลัวมากที่สุด มากกว่าความตายในบางคนเสียอีก

การระงับปวดหรือเรียกให้ง่ายว่าการแก้ปวดนั้นเป็นหนึ่งในสิ่งที่หมอมะเร็งชำนาญมากเพราะใช้บ่อยเจอตลอด แต่เวลาใช้กับคนไข้มักมีปัญหาบ่อยครั้งเพราะไม่ค่อยจะมีเวลามาอธิบายให้ความรู้กันเท่าที่ควร

วัตถุประสงค์ของกระทู้นี้จึงเน้นสิ่งที่ผมอยากบอกคนไข้ทุกคนแต่ไม่ค่อยได้มีเวลาบอก จะพยายามเน้นสิ่งที่เป็นจุดที่ผิดพลาดกันบ่อยๆครับ

- ความปวด และ การตอบสนองต่อความเจ็บปวดของแต่ละบุคคลไม่เท่ากัน
ความปวดนั้นเป็นอะไรที่มากกว่าแค่ประสาทรับรู้ความรู้สึก แต่เป็นการเอาประสานประสบการณ์เข้าไปด้วย จึงไม่มีกฏเกณฑ์ตายตัวว่าคนไข้ชนิดนี้ มะเร็งระยะนี้ควรมีความปวดเท่าไร ควรใช้ยาอะไรครับ การเลือกใช้จึงเป็นความเหมาะสมของวิธีการให้ยา และ ผลข้างเคียงที่ยอมรับได้

- ชนิดของความเจ็บปวด
นอกจากความเจ็บปวดแบบทั่วไปๆแล้ว ยังอาจมีชนิดย่อยซึ่งแบ่งจากสาเหตุและวิธีรักษาได้แก่ ความเจ็บปวดจากการอักเสบ ความเจ็บปวดจากเส้นประสาท ลักษณะอาการปวดก็จะแตกต่างกัน การรักษาก็ต่างกันครับ

- ความเจ็บปวดในโรคมะเร็ง
ความเจ็บปวดในโรคมะเร็งเกิดได้หลายสาเหตุแต่มีลักษณะเด่นคือเป็นความเจ็บปวดเรื้อรัง มีความเจ็บปวดสองระดับคือ ระดับพื้นฐานคือระดับความปวดที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และระดับความปวดที่พุ่งขึ้นมาจากระดับพื้นฐาน

ในคนไข้มะเร็งที่มีความเจ็บปวดเรื้อรังจึงมักจะจำเป็นที่จะต้องมียาแก้ปวดสองรูปแบบคู่กันเสมอ คือ

1 ยาแก้ปวดที่ออกฤทธิ์ตลอดเวลา ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์นานแต่ช้าจึงจำเป็นต้องกินตลอดเวลาไม่ว่าตอนนั้นจะปวดหรือไม่ก็ตาม

2 ยาแก้ปวดที่ออกฤทธิ์สั้นๆ ยากลุ่มนี้จะเป็นยาที่ออกฤทธิ์สั้นมีไว้ใช้เพื่อลดความปวดที่มันพุ่งทะลุระดับพื้นฐานขึ้นมา

- ชนิดของยาแก้ปวด
องค์การอนามัยโรคแบ่งการระงับปวดเป็นสามระดับแบบขั้นบันไดคือจากน้อยไปมาก และแนะนำให้ใช้ในระดับที่เหมาะสม แต่ ความเจ็บปวดในโรคมะเร็งนั้นเป็นความเจ็บปวดที่รุนแรงมากดังนั้นปกติเราจะเริ่มที่ระดับสูงทันทีและลดลงไปสู่ระดับต่ำสุดที่ควบคุมได้

1 ยาแก้ปวดแบบอ่อนได้แก่ ยาพาราเซต ยาในกลุ่ม NSIAD หรือที่เรียกติดปากว่ายาแก้กล้ามเนื้ออักเสบ ยาพวกนี้ออกฤทธิ์อ่อนมากสำหรับคนไข้มะเร็งนอกจากนั้นยังมีขนาดสูงสุดที่สามารถแก้ปวดได้ แปลว่าแม้จะกินมากไปกว่าที่สั่งก็ไม่สามารถบรรเทา อาการปวดได้เพิ่มอีก อย่างไรก็ตามคนไข้จำนวนมากสามารถคุมอาการปวดได้จากยากลุ่มนี้

2 ยาแก้ปวดแบบกลางๆ ได้แก่ยา Tramol (Tramadol) หรือยาแก้ปวดระดับแรกสองตัวรวมกันในเม็ดเดียว ยากลุ่มนี้ให้ฤทธิ์แก้ปวดที่ดีขึ้นแต่มีผลข้างเคียงที่มากกว่ากลุ่มแรก

3 ยาแก้ปวดแบบแรง ซึ่งจะเป็นยาในกลุ่มมอร์ฟีนและอนุพันธ์ทั้งสิ้น ยากลุ่มนี้ก็คือยาเสพย์ติดให้โทษดีๆนี่เอง แต่ คุณสมบัติพิเศษคือสามารถแก้ปวดโดยไม่มีขีดจำกัด ยากลุ่มนี้หมอทั่วไปๆหลายคนจะไม่ชอบสั่ง ไม่กล้าสั่งเนื่องจากเป็นยาควบคุมการสั่งต้องเขียนใบ ยส. หรือ ใบยาเสพย์ติดให้โทษประกอบการสั่งยาด้วยเสมอทุกครั้ง แต่สำหรับหมอมะเร็งสั่งกันประจำเลยทีเดียว ยากลุ่มนี้จะมีผลข้างเคียงที่คล้ายๆกันคือ ท้องผูก ง่วงซึม

หลายคนจะไม่กล้าใช้เพราะกลัวว่าจะติด แต่ในความเห็นของหมอมะเร็งนั้นบอกเลยว่า กลัวคนไข้ปวดมากกว่ากลัวติดเสียอีก ตราบใดที่มีมะเร็งอยู่ มีความปวด คนไข้จะไม่ติดง่ายๆ ในความเป็นจริงหากอาการปวดดีขึ้น คนไข้ทุกคนจะพยายามลดขนาดลงเองครับ

ยากลุ่มนี้เวลาใช้จะไม่มีขนาดแน่นอนต้องปรับให้เหมาะสมในแต่ละราย คนไข้และญาติจึงต้องมีความรู้ในการปรับยาด้วยเพื่อให้ประสิทธิภาพสูงสุดเท่าที่มันจะเป็นไปได้ครับ

4 ยาแก้ปวดจากเส้นประสาท บางครั้งความเจ็บปวดอาจเกิดจากเนื้องอกไปกดทับเส้นประสาท ความเจ็บปวดแบบนี้มักมีลักษณะแหลมๆ แปล๊บๆ ยาแก้ปวดสามกลุ่มแรกไม่ค่อยได้ผล ยาที่ได้ผลดีคือยาในกลุ่ม Gaba เช่น Neurontin

(Gabapentin) ผมเคยมีคนไข้ที่หยุดมอร์ฟีน 100 มิลลิกรัมต่อวัน ด้วย Neurontin วันละ 600 มิลลิกรัม ดังนั้นการเลือกให้ถูกจึงมีความสำคัญด้วย

นอกจากนี้บางครั้งในคนไข้ที่เจ็บปวดเรื้อรัง ยาตัวนี้ก็อาจจะช่วยเสริมให้อาการปวดคุมได้ง่ายขึ้นด้วยดังนั้นอย่าแปลกใจหากจะมียาตัวนี้ด้วยแม้จะไม่ได้เจ็บปวดเหมือนอาการจากเส้นประสาทครับ

- ลักษณะพิเศษของยาที่ใช้บ่อย
1 Tramol (Tramadol)
ยาตัวนี้มีอีกหลายยี่ห้อแต่ที่พบบ่อยจะเป็นแคปซูลสีเหลืองเขียว แต่บางที่ก็มีลักษณะแตกต่างกันไปขึ้นกับยี่ห้อ ยาตัวนี้ระงับปวดได้ดี ขนาดที่ใช้ทั่วไปคือ 50mg (1 เม็ด) กินครั้งละ 1 เม็ดวันละสามเวลา แต่ในกรณีที่อาการปวดมากอาจให้ได้ถึง 2 เม็ดวันละ 4 เวลา
ข้อจำกัดคือคนไข้บางคนกินยาตัวนี้จะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ครับทำให้ไม่ค่อยจะสามารถใช้เต็มขนาดได้ และในหลายคนแม้จะใช้เต็มขนาดก็ยังคุมปวดไม่อยู่ครับ
ยาตัวนี้มีแบบผสมคือ Tramadol + Paracetamol (Ultracet) มีข้อดีคือออกฤทธิ์แก้ปวดได้ดีขึ้นโดยที่ผลข้างเคียงเรื่องคลื่นไส้อาเจียนลดลงเนื่องจากปริมาณ Tramadol ต่ำกว่า อย่างไรก็ตามการกิน Tramadol กับ

Paracetamol ให้ผลในแง่แก้ปวดได้พอๆกัน **** ข้อควรระวังเนื่องจากมีพาราเซตามอลผสมอยู่แล้วการกินยาพาราเซตเพิ่มระวังการเกินขนาดครับ

2 Morphine Sulfate Tablet
เป็นยามอร์ฟีนในรูปเม็ดออกฤทธิ์ช้าแต่นาน ใช้กินวันละสองเวลา *** ยานี้ห้ามบด หรือ ละลายน้ำ เพราะจะทำให้คุณสมบัติที่ออกฤทธิ์ยาวนานเสียไปมำให้มีอาการปวดก่อนจะครบเวลาได้

3 Kapanol
เป็นมอร์ฟีนในรูปแบบแกรนูลเล็กๆบรรจุในแคปซูล ออกฤทธิ์ช้าแต่นานมากคือกินแค่วันละครั้งก็พอ ข้อดีคือ ตัวแกรนูลสามารถให้ผ่านสายยางให้อาหารได้ดังนั้นในคนที่ไม่สามารถกลืนเม็ดยาได้แล้วมีสายยางอยู่สามารถให้ Kapanol โดยการแกะแคปซูลผสมน้ำแล้วใส่เข้าไปทางสายยางได้ครับ

4 Morphine Sulfate Solution (or Syrups)
เป็นยามอร์ฟีนในรูปน้ำหรือน้ำเชื่อม เป็นรูปแบบที่ไม่ได้มีจำหน่ายในรพ.ทั่วไปเนื่องจากต้องผสมเอาเอง เท่าที่ทราบ รพ.จุฬาไม่มี (เมื่อปีที่แล้ว) ข้อดีคืออกฤทธิ์เร็วคือภายในครึ่งชั่วโมงแต่ฤทธิ์ก็จะอยู่ไม่นานคือ 2-4 ชั่วโมงเท่านั้น
หากไม่มีแบบน้ำ อาจเอาแบบเม็ดมาบดกินก็จะออกฤทธิ์ได้เร็วพอกันๆ (จากที่ถามมานะ)

ผลข้างเคียงของมอร์ฟีนทั้งสามชนิดคือ
    ท้องผูก จึงมักจะมีการสั่งยาระบายไว้ให้ด้วย
    คลื่นไส้อาเจียน เป็นในบางคนเท่านั้นและเป็นแค่ช่วงแรกๆที่เริ่มให้ยาจากนั้นร่างกายจะปรับตัวได้
    ซึม พบได้หากยาเกินขนาดมากๆ โดยทั่วไปหากยังปวดจะไม่ซึมเด็ดขาด ที่พบบ่อยคือ กินยาแบบเม็ดแล้วไม่หายปวด(เพราะมันออกฤทธิ์ช้าเลยกินยาเม็ดเพิ่มไปเรื่อยๆ หรือ กินยานอนหลับปริมาณมากๆร่วมด้วย)
ข้อดีอื่นๆนอกจากแก้ปวด
     ลดความรู้สึกเหนื่อย กลไกไม่ชัดเจน แต่สามารถทำให้คนไข้ที่เหนื่อยมากๆโดยไม่มีทางรักษารู้สึกเหนื่อยลดลง
    กดการไอ มีฤทธิ์กดการไอที่ดีมาก มียาที่ใช้แก้ไอก็คือ Codeine แต่ถ้าได้มอร์ฟีนอยู่ไม่ควรใช้ Codeine ร่วมด้วย แต่ถ้าเสมหะมากๆอาจเป้นปัญหาให้เสมหะไอไม่ค่อยออกได้

5 Fentanyl Transdermal Patch
เป็นยาในกลุ่มยาเสพย์ติด มีที่ใช้บ่อยๆในรูปฉีด อย่างไรก็ตามพบว่าสามารถให้ในรูปแบบแปะผ่านผิวหนังได้ โดยการใช้แค่แปะเอาไว้แล้วคอยเปลี่ยนทุก 2-3 วัน จะออกฤทธิ์ช้าๆแต่ต่อเนื่อง
ข้อดีคือสามารถให้ได้แม้คนไข้จะกินไม่ได้เลยเพราะแค่แปะผิวหนังเท่านั้นเอง พบว่าผลข้างเคียงเรื่องท้องผูกดูเหมือนว่าจะน้อยกว่ามอร์ฟีน แต่ ราคาแพงกว่ามาก

ผลข้างเคียง
    ผื่น แพ้ เนื่องจากเป้นยาแปะจึงอาจมีปัญหากับการแปะยาไว้นานๆ หรือแพ้ปลาสเตอร์ปิดได้
    ขากระตุก พบบ่อยเมื่อใช้ในปริมาณที่สูงมากๆ ไม่อันตรายแต่น่ารำคาญสำหรับญาติและคนไข้
    ซึม เหมือนกับมอร์ฟีน

***** ข้อควรทราบ ยานี้ออกฤทธิ์โดยการซึมผ่นผิวหนังช้าๆๆๆๆๆๆๆๆๆ ดังนั้นในแผ่นแรกที่เริ่มใช้ หรือเปลี่ยนขนาด อาจจะยังไม่รู้สึกของฤทธิ์ยาได้ โดยปกติใช้เวลาประมาณ 3 วัน ( 1 แผ่นแปะ) ในการทำให้ระดับยาในร่างกายถึงเป้าหมายที่ต้องการ จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะมียาแก้ปวดอื่นๆให้ใช้ในช่วงแรกของการแปะ

- หลักการให้ยาแก้ปวดที่เหมาะสม
1 เริ่มจากยาออกฤทธิ์สั้นก่อน เพื่อคุมปวดให้ได้โดยเร็วและพอเพียง หากเริ่มจากยาออกฤทธิ์นานสิ่งที่ได้คือ คนไข้จะฝังใจว่าที่ออกฤทธิ์นาน(เช่นยาเม็ด) มันไม่หายปวด
2 เปลี่ยนจากยาออกฤทธิ์สั้นเป็นอกฤทธิ์ยาวเพื่อให้คุมปวดได้ตลอดโดยเอาขนาดของออกฤทธิ์สั้นมาคำนวน อีกทางคือเริ่มจากยาออกฤทธิ์นานและยาออกฤทธิ์สั้นแล้วค่อยปรับก็ได้ แต่ ตอนเริ่มต้องมียาออกฤทธิ์สั้นเสมอ
3 คาดการถึงผลข้างเคียง มีคำแนะนำ และ ให้ยาแก้ไว้เป็นทางออกฉูกเฉินกับคนไข้ที่บ้าน
4 มีการประเมินสม่ำเสมอ ปรับเพิ่ม ลด ขนาดและชนิดยา ตามที่คนไข้รู้สึก (ไม่ใช่หมอรู้สึกว่าเยอะหรือน้อยไป) และประเมินว่าคนไข้ใช้ยาได้ถูกวิธี หรือ คนไข้มีภาวะเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยาหรือไม่ เช่น คนไข้กินไม่ได้แล้ว ยังสั่งยาเม็ดมันก็ไม่มีประโยชน์

ถ้าใครมีอะไรสงสัยเกี่ยวกับการระงับปวดสามารถถามเพิ่มเติมได้เลยครับ เนื้อหาทุกครั้งผมจะลงลึกมากๆ ชนิดที่หมอทั่วไปอาจไม่รู้ แต่ การดูแลรักษาที่ดีคนไข้และผู้ดูแลควรจะรู้และเข้าใจอย่างดีด้วยครับ การทักท้วงโดยคนไข้และญาติ(อย่างสุภาพ) บ่อยครั้งนำมาสู่ผลดีที่สุดของการรักษาครับ

การรักษาอาการปวดมีหนทางอีกมากนอกจากการใช้ยาครับ เช่น สมาธิ ความร้อน จี้หรือตัดเส้นประสาท ฯลฯ แต่คงอยู่นอกเนื้อของกระทู้นี้ครับ

จากคุณ : oncodog
เขียนเมื่อ : 20 ธ.ค. 54 08:37:39




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com