 |
จากใจ....สู่ไต.... ก่อนอื่นก็ขอขอบคุณทุกกำลังใจที่ส่งมาให้และถามมาทางหลังไมค์นะคะ ขอบคุณมากค่ะ ขอเล่าประสบการณ์ของคนที่เป็นผู้บริจาคนะคะ เราบริจาคไตให้สามีค่ะ คือสามีป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายและได้ล้างไตทางช่องท้องอยู่ 1 ปี (กระทู้เก่า ฤานี่เป็นปาฏิหาริย์แห่งรัก)http://topicstock.pantip.com/lumpini/topicstock/2011/03/L10391049/L10391049.html การยินยอมให้ตัดอวัยวะของเราออกไปทั้งๆที่มันยังทำงานได้ดีเพื่อแบ่งปันให้ใครสักคนหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย.....แต่เราก็พร้อมที่จะทำเพื่อคนที่เรารักค่ะ การปลูกถ่ายไตชนิดที่ผู้บริจาคไตยังมีชีวิตอยู่ออกเป็น 2 ประเภทย่อยคือ ประเภทแรกจากผู้บริจาคไตที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด ได้แก่ พ่อ แม่ ลูก พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา หลาน ทั้งนี้จะต้องมีความเหมือนกันของเนื้อเยื่อระหว่างผู้บริจาค และผู้รับไตอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง เราเป็นประเภทที่สองเป็นการบริจาคไต ระหว่างสามี-ภรรยา ทั้งนี้จะต้องมีหลักฐานการจดทะเบียนสมรสเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี นับจากวันที่เริ่มทำการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือการล้างไตทางหน้าท้อง ในกรณีที่ไม่ได้จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายต้องมี หลักฐานว่ามีลูกที่เกิดจากคู่สามี-ภรรยาจริง อายุของลูกต้องไม่น้อยกว่า 2 ปี และต้องพิสูจน์ความเป็นสายเลือดลูกนอกสมรส อนึ่ง ผู้บริจาคไตชนิดยังมีชีวิตอยู่ทั้งสองประเภทดังกล่าว จะได้รับการตรวจร่างกายและจิตใจอย่างละเอียดว่าปกติโดยสมบูรณ์ เหมาะสมกับการปลูกถ่ายไต ค่าใช้จ่ายในช่วงอยู่โรงพยาบาลในการผ่าตัดปลูกถ่ายไตชนิดผู้บริจาคไตยังมีชีวิตอยู่ ประมาณ 100,000-150,000 บาทในโรงพยาบาลรัฐบาล (ข้อมูล http://web.ku.ac.th/schoolnet/snet4/feb18/kidney.htm) เริ่มเข้าสู่กระบวนการของการตรวจผู้บริจาคไตนะคะ ตรวจครั้งที่ 1 วันที่ 20 -10 53 เข้าพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาและซักประวัติเบื้องต้นค่ะ ก่อนอื่นต้องดูกรุ๊ปเลือด เรา โอ สามี เอ ก็สามารถเข้ากันได้ คุณหมอก็ตรวจเบื้องต้น และอธิบายถึงขั้นตอนการปลูกถ่ายไตละความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นแล้ววัดความดัน ดูน้ำหนัก ส่วนสูง และนัดตรวจเลือด
ตรวจครั้งที่ 2 วันที่ 3 -11-53 ตรวจคลื่นหัวใจ เอ็กซ์เรย์ปอด เจาะเลือด 5 หลอด
ตรวจครั้งที่ 3 วันที่ 18 -11-53 ตรวจการทำงานของเส้นเลือดโดยการฉีดสีด้วยสารทึบแสง เพื่อตรวจดูการทำงานของเส้นเลือด สารทึบรังสีนั้นเป็นสารประกอบอยู่ในกลุ่มของเกลือไอโอดีน ซึ่งพบได้ในอาหารทะเล ดังนั้น จึงเป็นการประเมินเบื้องต้นได้เลยว่า คนไข้จะแพ้ สี หรือไม่ก็ดูกันที่ตรงนี้เป็นข้อแรกๆ (รู้สึกร้อนวูบวาบเหมือนจะหายใจไม่ออกแต่โชคดีที่ไม่แพ้ แต่ถ้าเป็นคนแพ้พวกอาหารทะเลก็แจ้งได้พยาบาลจะให้ฉีดยาแก้แพ้ค่ะ)
ตรวจครั้งที่ 4 วันที่ 24 -11-53 พบจิตแพทย์ คุณหมอก็จะคุยและถามแบบสบายๆ เราคิดว่าอาจจะเป็นการประเมินผู้บริจาคว่ากำลังใจเป็นยังไง เข้มแข็งพอไหม โดนหลอกมาหรือเปล่า (อันนี้คิดเองค่ะ) หมอโรคหัวใจ ก็ดูผลการตรวจคลื่นหัวใจ ก็สรุปว่าทุกอย่างปกติและร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ สามารถบริจาคได้ แต่ต้องรอผลการตรวจเนื้อเยื่อและความเข้ากันได้ว่าเป็นยังไง
ตรวจครั้งที่ 5 วันที่ 4 -3-54 เจาะเลือดเพื่อตรวจหาความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อ (สรุปว่าเข้ากันได้ในระดับที่ญาติให้ญาติ)
ตรวจครั้งที่ 6 วันที่ 11 -3-54 เจาะเลือดอีกครั้ง
ตรวจครั้งที่ 7 วันที่ 30 -3-54 ตรวจคลื่นหัวใจและตรวจภายใน
ตรวจครั้งที่ 8 วันที่ 11 -4-54 เจาะเลือดอีกครั้งและพบหมอที่จะทำการผ่าตัด คุณหมอก็จะเอาผลการตรวจและอธิบายให้ฟังถึงขั้นตอนที่จะทำ และบอกว่าจะต้องเลือกเอาไตข้างไหน ของเราเลือกข้างซ้าย คุณหมอแจ้งว่าเรามีเส้นเลือดดำและแดง อย่างละเส้นทำให้อาจจะง่ายในการผ่าตัด แล้วคุณหมอก็นัดวันผ่าตัดเลย เป็นวันที่ 19 เมษายน 2554 ต้องมานอนโรงพยาบาล วันที่ 18 เมษายน 2554
เช้าวันที่ 18 เรากับสามีก็ไปส่งลูกที่โรงเรียนตามปกติ (เรียนซัมเมอร์) ก็เครียดกันมากเพราะเป็นห่วงลูก แต่ก็ยังดีที่มีพี่สาวและพี่เลี้ยงมาอยู่เป็นเพื่อน บอกลูกว่ากลับมาตอนเย็นจะไม่เจอพ่อกับแม่เพราะต้องไปนอนโรงพยาบาล แต่เราก็คุยกับเขาตลอดว่าพ่อแม่กำลังทำอะไรบอกเขาตลอด และโชคดีที่ลูกสาวอายุแปดขวบของเราเป็นเด็กที่เข้าใจและเป็นกำลังใจให้เสมอ เขาบอกว่าจะอดทนตอนที่พ่อแม่ไม่อยู่ จะดูแลตัวเองให้ดี ก็อ้อนนิดหน่อยว่าอยากไปหาที่โรงพยาบาลทุกวัน แต่เมื่อพ่อกับแม่บอกว่าถ้าลูกต้องไปหาพ่อกับแม่ทุกวันต้องนั่งแท็กซี่ไป รถก็ติด ป้าก็ไม่รู้จักโรงพยาบาล จะลำบากมาก พ่อแม่ก็จะเป็นห่วงมาก เขาก็บอกงั้นหนูจะรอที่บ้าน ให้พ่อแม่รีบกลับบ้านและโทรหาทุ๊กกกกวัน ก็เป็นอันเข้าใจกันค่ะ (สงสารลูกมาก) ก็เดินทางมาถึงโรงพยาบาลตอน 8.30 น. แล้วพบคุณหมอ ก็ให้มาที่เตียงเป็นห้องที่มี 3 เตียง อยู่ชั้น 6 ส่วนสามีก็ได้ห้องพิเศษเดี่ยว(เป็นห้องปลอดเชื้อ) ชั้น 12 ก็มีพยาบาลมาแนะนำขั้นตอนก่อนที่จะรับการผ่าตัด และเจาะเลือดไปตรวจ และตรวจคลื่นหัวใจ ใส่สายสวนปัสสาวะ
เช้าวันที่ 19 -4-2554 เราก็เตรียมตัวพร้อมแล้วตื่นตั้งแต่ ตีห้า มีบุรุษพยาบาลมารับ ครั้งแรกในชีวิตที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดก็ตื่นเต้น ก็มีวิสัญญีแพทย์มาแนะนำตัวว่าเป็นคนที่จะดมยาสลบ แต่คุณหมอบอกว่าจะใส่เข้าไปในน้ำเกลือเป็นการทำให้หลับ และจะเพิ่มทีละน้อยและอธิบายวิธิการว่าจะทำยังไงบ้างก็นอนรอประมาณ 30 นาที ก็เข้าห้องผ่าตัดในห้องก็มี อาจารย์แพทย์ผ่าตัดทีมละ 2 คนและผู้ช่วยแพทย์อีก 3 คน วิสัญญีแพทย์ 1 คน คุณหมอถามเราว่ากลัวไหม ก็ตอบไปว่า ไม่กลัวค่ะ แล้วก็วิสัญญีแพทย์ก็บอกว่าเขาจะเริ่มทำให้หลับ โดยฉีดยาเข้าไปในน้ำเกลือ แล้วเราก็ได้ยินหมอคุยกันว่า หลับแล้วๆ เราจะทำมือว่ายังๆๆๆๆ แต่มารู้สึกตัวอีกทีก็คือมีคนเรียก คุณคะๆๆๆตื่นๆๆๆๆค่ะ เราไม่มีแรงพูดเลยทำมือว่าโอเค แล้วก็ออกมาจากห้องผ่าตัดแต่สลืมสลือ อยู่จนบุรุษพยาบาลพาขึ้นมาที่ห้องพัก รู้สึกปวดแผลมากก็ขอยาแก้ปวดทุก 6 ชั่วโมง รู้สึกอยากหลับตลอดเวลา
วันที่ 20 -4-2554 พยาบาลมาวัดไข้ วัดความดัน ให้ยาแก้อักเสบ อาการปวดเริ่มทุเลา พยายามขยับบ่อยๆ พยาบาลเอาสายสวนปัสสาวะออก ตอนบ่ายเอาน้ำเกลือออก อาการปวดดีขึ้นมาก พยายามลงจากเตียงเดินไปเดินมาบ่อยๆเพื่อไม่ให้ท้องอืด
วันที่ 21 -4-2554 วันนี้คุณหมอที่ผ่าตัดมาดูแผลแล้วบอกว่าพรุ่งนี้กลับบ้านได้แล้วก็ไปเยี่ยมสามีที่ชั้น 12 สามีก็บอกว่าเขาไม่เจ็บเท่าไหร่แต่ต้องห้ามขยับเยอะให้นอนนิ่งๆ
วันที่ 22-4-2554 วันนี้ก็กลับบ้านได้ค่ะ ส่วนสามีต้องอยู่ต่อจนกว่าจะปลอดภัย ก็ได้กลับบ้านวันที่ 3-5-2554 ผลการผ่าตัดดีมากและการทำงานของไตดีมากจนถึงทุกวันนี้ ชีวิตดีขึ้นมากแทบจะเป็นปกติทุกอย่างแค่ต้องระมัดระวังเรื่องยากดภูมิคุ้มกันค่ะ
บทความเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการปลูกถ่ายไต ที่ น.ต. พงศธร คชเสนี โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ถือเป็นการผ่าตัดใหญ่ โดยเมื่อได้ไตมาแล้ว จะนำมาต่อเข้ากับเส้นเลือดของร่างกายบริเวณหน้าท้องน้อย ซึ่งโดยปกติแล้วถือว่าไม่ยากนัก และขนาดก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคใดๆ หลังการผ่าตัดแล้วผู้ป่วยต้องอยู่ในห้องแยกเชื้อประมาณ 1-2 สัปดาห์ไม่จำเป็นต้องเป็นไอซียู อาจเป็นหอผู้ป่วยที่สร้างขึ้นมาโดยเฉพาะ หรือห้องเดี่ยวก็ได้แต่ต้องใช้มาตรการป้องกันการติดเชื้อเป็นกรณีพิเศษ เพราะผู้ป่วยในระยะแรกจะได้รับยากดภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันปฏิกริยาต่อต้านอวัยวะของร่างกายเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะไปทำให้ภูมิคุ้มกันการติดเชื้อลงลง ผู้ป่วยอาจได้รับเชื้อจากญาติ หรือผู้มาเยี่ยมได้ง่ายกว่าคนปกติ จึงต้องมรกฏป้องกันเอาไว้เพื่อผู้ป่วยเองจะค่อยๆลดยากดภูมิต้านทานลง จนไม่มีโรคแทรกซ้อนอย่างใด อาจใช้ระยะเวลาในโรงพยาบาลระหว่าง 2-6 สัปดาห์
การพักฟื้นหลังออกจากโรงพยาบาล หลังออกจากโรงพยาบาล แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยทำงานเบาๆที่ไม่มีความเสี่ยงไม่ว่าจากอุบัติเหตุ หรืองานที่จะเสี่ยงจากโรคที่จะได้รับจากบุคคลอื่น หลีกเลี่ยงการติดเชื้อเช่น ไข้หวัด โรคปอด หรือแผลเป็นหนองสามารถนอนกับสามีภรรยาได้ตามปกติ แพทย์จะแนะนำให้กลับไปทำงานได้หลังจาก 1 เดือน ถ้าไม่มีอะไรแทรกซ้อน ค่อยๆออกกำลังกายและเล่นกีฬาเพื่อฝึกฝนและเพิ่มสมรรถภาพของร่างกายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลายท่านที่ฝึกฝนจนสามารถแข่งขันกีฬาแทบทุกชนิดได้ การใช้ยาหลังการปลูกถ่ายไต ยาที่ใช้หลังการผ่าตัดมีอยู่หลายกลุ่ม เพื่อจุดประสงค์ต่างๆกัน เช่น - ยากดภูมิต้านทานของร่างกายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสลัดไต (Acute rejection) - ยาที่ป้องกันการติดเชื้อไวรัส เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เนื่องจากได้ยากดภูมิคุ้มกันในขนาดสูง จะมีโอกาสติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น โดยปกติยาป้องกันการติดเชื้อเหล่านี้ จะให้ไปอย่างน้อย 3 เดือน และอาจจะต้องให้ซ้ำถ้ามีภาวะที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกกดอย่างมาก โดยเฉพาะหลังได้รับยารักษาภาวะสลัดไต - ยารักษาภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่นยารักษาเบาหวาน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ยารักษาความดันโลหิตสูง ยาลดไขมัน ยาลดบวม ยาที่เพิ่มความแข็งแรงของกระดูก ยาที่เพิ่มความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงในภาวะโลหิตจาง - ยาวิตามินเพื่อเสริมสร้างบำรุงร่างกาย (http://www.nephrothai.org/news/news.asp?type=KNOWLEDGE&news_id=69)
แก้ไขเมื่อ 19 ม.ค. 55 11:42:13
แก้ไขเมื่อ 19 ม.ค. 55 00:42:44
จากคุณ |
:
มนแจน
|
เขียนเมื่อ |
:
19 ม.ค. 55 00:41:09
|
|
|
|  |