 |
สัดส่วนแพทย์ต่อประชากร : เตี้ยอุ้มค่อม
ข่าวจากหนังสือมติชนสุดสัปดาห์ (ปีที่ 28 ฉบับที่ 1462 คอลัมน์ จากญี่ปุ่น โดย นกุล ว่องฐิติวงศ์) มีการรายงานถึงสถานการณ์ขาดแคลนแพทย์ในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีความพร้อมในระบบสาธารณสุขมากกว่าประเทศไทยหลายเท่า ในหลายมุมมองทั้งเทคโนโลยี กำลัง และส่วนใหญ่ของผู้ป่วยก็ได้รับการคุ้มครองภายใต้ระบบประกันสุขภาพที่เรียกได้ว่าดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อันเนื่องมาจากฐานะการคลังและความสามารถในการจัดเก็บภาษีของรัฐ แต่กลับมีข่าวที่ทำให้รัฐบาลสะเทือนคือ สตรีอายุ 89 ปี มีอาการท้องเสียและอาเจียนรุนแรงแต่ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงเศษในการติดต่อหาโรงพยาบาลเพื่อรับตัว แต่ไม่มีที่ใดรับเพราะเตียงเต็ม หรือไม่มีแพทย์เวร จนที่สุดผู้ป่วยช็อกและเสียชีวิต อีกกรณีเป็นสตรีอายุ 38 ปี ปวดท้องขณะอายุครรภ์ 8 เดือนและต้องตระเวนอยู่บนรถพยาบาลเพื่อหาโรงพยาบาล 9 แห่ง ซึ่งปฏิเสธการรับผู้ป่วยและที่สุดเด็กก็คลอดบนรถและเสียชีวิตไป ทั้งๆ ที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดอยู่เพียงระยะเวลาขับรถ 3 นาที แต่กลับต้องกระเตงบนรถถึง 70 กิโลเมตร ข่าวสะเทือนใจนี้ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องประกาศเป็นวาระฉุกเฉินในการแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ และมีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการเปิดให้คนต่างชาติเข้ามาทำงานในระบบ โดยเริ่มจากสายงานพยาบาลก่อน รวมทั้งแก้ปัญหาโดยการเพิ่มค่าตอบแทนให้แพทย์ที่ทำงานนอกเวลา ซึ่งก็ยังถือว่าน้อยนิดเมื่อเทียบกับภาระอันหนักยิ่ง (ผู้เขียนคอลัมน์ ยังได้ออกความเห็นส่วนตัวว่า ขนาดในญี่ปุ่นซึ่งมีระบบประกันสุขภาพที่ดีที่สุดจนหลายๆ ประเทศถือเป็นแบบอย่าง .... เมื่อเปรียบเทียบกับปัญหาด้านการสาธารณสุขที่คนไทยส่วนใหญ่ของประเทศกำลังเผชิญอยู่แล้วละก็ แทบคิดไม่ออกเลยว่าปัญหาและทางแก้มันอยู่ที่ตรงไหน สัดส่วนแพทย์ในประเทศญี่ปุ่น พบว่ามีแพทย์ 260,000 คน หรือแพทย์ 1 คนต่อคนไข้ 500 คน ส่วนฟิลิปปินส์มีแพทย์ 44,000 คน หรือแพทย์ 1 คนต่อคนไข้ 1,700 คน ขณะที่สหรัฐอเมริกามีแพทย์ 730,000 คน หรือแพทย์ 1 คนต่อคนไข้ 390 คน (มาตรฐานองค์การอนามัยโลกกำหนดให้แพทย์ 1 คนต่อคนไข้ 250 คน) กลับมามองที่ประเทศไทยพบว่าสัดส่วนของแพทย์อยู่ที่ 1 คนต่อคนไข้ 350,000 คน !!! (จำนวนแพทย์ไทยทั้งหมดที่ยังประกอบวิชาชีพให้การรักษาผู้ป่วย อยู่ที่ประมาณ 19,500 คน) โดยแพทย์ชุมชนทำงานสัปดาห์ละ 120 ชั่วโมง (คนทำงานออฟฟิศ ทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง !!!) เฉลี่ยตรวจคนไข้นอกวันละ 200 คน !!!! มีเวลาให้ผู้ป่วยต่อรายไม่เกิน 1-2 นาที หากนำแพทย์ที่หันไปทำงานบริหารหรือประกอบวิชาชีพอื่นประมาณ 3,000 คน ดังกล่าวให้หันกลับมาประกอบวิชาชีพได้ เชื่อได้ว่าคงช่วยชีวิตคนได้อีกมากมายมหาศาล
ล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ มีการทำสารคดีสั้นทางThai PBS กล่าวถึงปัญหาการขาดแคลนแพทย์ อันเนื่องมาจากงานหนัก เงินน้อย และเสี่ยงกับการถูกฟ้องร้อง ผู้ดำเนินรายการได้ไปสัมภาษณ์แพทย์ที่ปฏิบัติงานในชนบทถึงปัญหาและแนวทางแก้ปัญหา และได้ข้อมูลว่า แพทย์ต้องการให้รัฐบาลเพิ่มแรงจูงใจ ให้แพทย์ไม่ต้องการย้ายออก และสร้างมาตรการคุ้มครองการทำงานของแพทย์และพยาบาลให้เหมาะสม การดูถูกดูหมิ่นจากผู้ป่วยหรือญาต ิโดยไม่มีเหตุอันควรต้องลดลง การปรับเวลาการทำงานของบุคลากรให้เหมาะสมเพื่อเพิ่มคุณภาพการรักษาและลดภาระงานที่ไม่จำเป็นออกไป ซึ่งเป็นมาตรการเชิงบวก แทนที่จะเป็นมาตรการเชิงลบ เช่น การเพิ่มค่าปรับ หรือบังคับให้ทำงานโดยอ้างความเสียสละเพียงอย่างเดียว ที่สำคัญและน่าตกใจเป็นอย่างมากคือ แพทย์ยังให้ข้อมูลว่านอกจากตัวเขาเองแล้ว แพทย์ท่านอื่นอีกหลายคนก็หยุดการผ่าตัดที่เดิมเคยทำมาก่อน แต่ได้หยุดไปหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำคุกแพทย์ท่านหนึ่งด้วยเหตุจากการปฏิบัติงาน (ทั้งๆ ที่เป็นการอาสาช่วยทำงานนอกเวรที่ตนรับผิดชอบ) แต่ยังคงทำผ่าตัดให้ผู้ป่วยที่เป็นชาวต่างชาติ เช่น ลาว เขมร เป็นต้น โดยให้เหตุผลว่าคนไข้ต่างชาติเหล่านี้มีแต่จะขอบคุณไม่ว่าผลการรักษาจะเป็นเช่นไร และยังเข้าใจดีถึงข้อจำกัดในการรักษาพยาบาลมากกว่าคนไทย และที่สำคัญคือไม่ต้องกังวลกับการฟ้องร้อง เหมือนกับการรักษาคนไทย ซึ่งไม่ทราบว่าผู้บริหารในรัฐบาลจะทราบหรือไม่ถึงข้อมูลที่ทั้งน่าตกใจและน่าสังเวชแทนคนไทยที่เป็นเจ้าของแผ่นดินและเป็นผู้เสียภาษี แต่กลับไม่ได้รับการรักษาจากแพทย์ไทยเพราะปัญหาแพทย์หวาดวิตกการถูกฟ้องร้อง ตกเป็นจำเลยและอาจติดคุกได้ ไม่มีใครต้องการจะโดนต้องคำพิพากษาเป็นรายต่อๆ ไป หวังว่าการแก้ปัญหาเป็นรูปธรรมคงมีออกมาจากรัฐบาลเป็นวาระแห่งชาติมากกว่าเป็นเพียงนโยบายหรือคำพูดสวยหรูที่ได้ยินจนชาชิน ถึงเวลาต้องจริงจังกับการแก้ปัญหาแล้วครับ ก่อนที่คนไทยจะไม่มีใครรักษา !
จากคุณ |
:
kiki_kaka
|
เขียนเมื่อ |
:
24 ม.ค. 55 08:52:34
|
|
|
|
 |