Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
จริง ๆ แล้ว ฎีกา หมอที่ รพ.สมิติเวช คือ ... ติดต่อทีมงาน

1. คดีนี้ โจทก์ คือ สามีของผู้ป่วย(หรือผู้ตาย) และตามด้วยลูก ๆ อีกสามคนที่จำ
เป็นต้องเป็นโจทก์ร่วมด้วย เพื่อให้ได้รับค่าชดเชย จากการเสียชีวิตของแม่ (หรือผู้ป่วย)



2.ผู้ป่วยรายนี้ตั้งครรภ์ครั้งที่ 8 ,เคยคลอดแล้ว 3 ครั้ง เคยแท้งบุตรและต้องขูดมดลูกแล้ว 4 ครั้ง (G8P3A4)



3.ผู้ป่วยบอกหมอเองว่า "ขอทำการบล็อกสันหลังเพราะกลัวการเจ็บระหว่างคลอด"



4.ส่วนจำเลย มีสี่คน คือ หมอสูติฯ ที่เป็นเจ้าของไข้ ซึ่งเคยทำคลอดลูก ๆ คนก่อน ,

หมอวิสัญญี (หรือหมอดมยา) ผู้ทำ epidural block และได้เคยทำ epidural block ให้กับคนไข้คนนี้ ในการคลอดลูกคนก่อนด้วย,

จำเลยอีกสองคน คือ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลSV และโรงพยาบาลSVในนามนิติบุคคล



5.หมอดมยา คนนี้ เรียนจบมาแล้ว 31 ปี ไม่ใช่แพทย์จบใหม่ กะเกณฑ์แล้วน่าจะอายุประมาณ 50-55 ปี



6.มูลค่าความเสียหายของคดีนี้ ในตอนเริ่มที่ศาลชั้นต้น มีเดิมพันสูงถึง 695,621,852 บาท คือรวมความเสียหายทุกอย่างที่เกิดขึ้นหลังจากภรรยาเสียชีวิต



7. ศาลชั้นต้น ยกฟ้อง บอกว่า Pulmonary embolism ยังถือว่าจัดเป็นภาวะ "พ้นวิสัยที่วิสัญญีแพทย์ หรือ สูตินรีแพทย์ โดยทั่วไป จะป้องกันและเยียวยาได้" ไม่ผิดฐานประมาท



8.ศาลอุทธรณ์ ว่าตามนั้น (แต่การยื่นฟ้องของโจทก์ลดมูลค่าความเสียหายลง ศาลประเมินว่า ตัวเลขเดิมที่ประเมินมานั้น ไม่น่าเชื่อถือ)



9.เรื่องเดินมาถึงศาลฎีกา "โจทก์" (หรือฝ่ายคนไข้) มีพยานเบิกความเพิ่ม คือ ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ประ (ขอปกปิดจะปลอดภัยกว่า) หรืออีกชื่อในหนังสือพิมพ์คือ "หมอหลวง" อดีตหมอหลวงและอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล



10. อ.ประ เป็นแพทย์เฉพาะทางด้านวิสัญญี และเป็นผู้นำวิชา epidural block มาใช้ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก! ในโรงพยาบาลศิริราช



11.ตามสำนวนฟ้อง อ.ประ ถือหุ้น โรงพยาบาลSV เองด้วย!



12. อ.ประ สนับสนุนว่า จำเลย (ฝ่ายหมอ) ผิดจริง ตามสิ่งที่โจทก์ยื่นฟ้อง



13. โจทก์ (หรือสามี) ยื่นคำฟ้องในลักษณะที่ว่า วิสัญญีแพทย์ได้ทำ epidural block แล้วละทิ้ง ต้องไปดมยาสลบคนอื่นที่ห้องอื่น จนเป็นการ ละเว้นไม่ปฎิบัติตามหน้าที่ ที่ควรจะทำ



14.สิ่งที่เป็น "ความผิด" ในฎีกานี้ คือ การประมาท อันเนื่องมาจาก หมอวิสัญญี และหมอสูติฯ ทอดทิ้งผู้ตายไปรักษาพยาบาลผู้ป่วยรายอื่น จนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย



15.สิ่งที่ อ.ประ สนับสนุน หรือ เบิกความ มีสองประเด็นหลัก



16.ประเด็นแรก คือ มีความจริงเรื่องหนึ่งที่ปรากฎในรูปคดี คือ หมอวิสัญญีฯ หลังจากทำ epidural block เสร็จ ก็ฝาก พยาบาล ว่าในทำนองว่า "ถ้าคนไข้ปวด ก็เพิ่มยานะ"



17. พยาบาลเพิ่มยาจริง และนั่นคือการฉีดยาเข้า epidural block



18.และความจริงในเรื่องนี้ก็คือ พยาบาลฉีดยาเข้า epidural block ไม่ได้ ซึ่งที่ประชุมแพทยสภาได้เห็นสอดคล้องกันในประเด็นนี้ และมีข้อกฎหมายออกบังคับใช้ และยืนยันมาแล้วด้วยก่อนหน้านี้



19.อ.ประ บอกว่า อาการแทรกซ้อนทางสูติศาสตร์ซึ่งเกิดขึ้นเอง มีความดันโลหิตตก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ตัวเขียว ซึ่งวิสัญญีแพทย์เท่านั้นจึงจะวินิจฉัยอาการต่าง ๆ เหล่านั้นได้ พยาบาลไม่มีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้



20.โดย อ.ประ ได้ยก "ระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2530 ฉบับแรก และออกเพิ่มเติม ข้อ 12 ปี 2539 ระบุว่า ผู้ที่เป็นพยาบาล ไม่เคยเรียนวิสัญญีพยาบาลมาก่อน ไม่สามารถกระทำการได้ตามกฎหมายในการใช้ยาทางไขสันหลัง จะเกี่ยวข้องไม่ได้เลย และห้ามกระทำการนี้โดยเด็ดขาดในโรงพยาบาลเอกชน หลักสูตรการสอนวิสัญญีพยาบาลในสถาบันอบรมวิสัญญีพยาบาลของทุกแห่งกำหนดไม่ให้สอนวิชาฉีดที่ใช้ยาชาเข้าไขสันหลังเพื่อไม่ให้ไปปฏิบัติ แต่ผู้ผ่านการฝึกอบรมวิสัญญีพยาบาล จะควบคุมดูแลคนไข้ได้เฉพาะในโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น"



21. ตามสำนวนฟ้อง ผู้ป่วยได้รับการเจาะถุงน้ำคร่ำเวลาเช้า 08:30am และฉีดยา epidural block ต่อหลังจากนั้น เนื่องจากคนไข้ขอให้ทำ เพราะเจ็บครรภ์คลอด



22.หลังจาก หมอวิสัญญี ไปดมยาให้กับผู้ป่วยคนอื่นแล้ว ตามเอกสารบอกว่า เวลาประมาณเก้าโมงเช้า คนไข้มีความดันโลหิต (BP) 120/70
แต่เมื่อเวลา 9:15น. BP ลดลงเหลือ 65/45



23.หลังจากนั้นก็ CPR (ปฏิบัติการกู้ชีวิต) แล้วย้ายเข้า ICU รวมเวลายื้อชีวิต จนถึงเวลาตาย คือ 09:00-11:30 น.


24.ขณะ CPR มีหมอคนอื่นเยอะมาก (คือ หมอโรคหัวใจ, หมอวิสัญญีอีกคน, หัวหน้าวิสัญญีแพทย์, ศัลยแพทย์โรคหัวใจ CVT) และยังมีพยาบาล และผู้ช่วยพยาบาล อีกหลายคน



25.ขณะ arrest (หัวใจหยุดเต้น) แพทย์ลงความเห็นกันว่า เกิดจากการแพ้ marcaine (หรือยาที่ใช้ในการบล็อกหลัง) ต่อมาภายหลังจากการชัณสูตร โรงพยาบาลตำรวจ จึงทราบว่า สาเหตุเกิดจาก ลิ่มเลือดอุดตันในปอด (pulmonary embolism)



26.ตามเอกสารประกอบสำนวนฟ้อง บอกว่า Pulmonary embolism มีอัตราตายมากกว่า 80% และใน 25% มักจะตายใน 24 ชั่วโมง



27.แต่ศาลฎีกาบอกว่า อัตราตาย 80% แปลว่ามีอัตรารอด 20% ซึ่งถ้าอยู่ใกล้ชิดตลอด สามารถแก้ไขให้การรักษาได้



28.ในประเด็นที่สองที่พูดถึงก่อนหน้านี้ อ.ประ บอกว่า"(ความดันโลหิต) จาก 120/70 มา 65/45 mmHg (ในเวลา) 15 นาที ในระหว่างนั้นหายไปไหนไม่ทราบ แสดงว่าไม่มีผู้ใดอยู่กับคนไข้ระหว่างนั้น เป็นการแสดงบุคลิกภาพที่ละเลยต่อคนไข้ ซึ่งเรียกได้ว่า ชุ่ย!!!"



29.อ.ประ กล่าวต่อ "หายใจไม่ออกก็ไม่ได้บันทึกไว้ การใส่ท่อช่วยหายใจก็ไม่ได้บันทึกไว้ การฉีดยาเพื่อจะเพิ่มความดันโลหิตตกไม่ได้บันทึกไว้ แสดงถึงบุคลิกภาพของวิสัญญีแพทย์นี้ ไม่มีความรับผิดชอบและละเลยต่อสิ่งที่จำเป็นยิ่ง"



30.หลังจากนั้นจึงยกตัวอย่างต่อไปว่า "กฎของมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ว่า วิสัญญีแพทย์ต้องมีความรับผิดชอบในการทำ epidural block โดยอยู่ใกล้ชิดติดตามอาการเปลี่ยนแปลงอาการคนไข้ โดยไม่ปฏิบัติหน้าที่อื่นพร้อมกัน"



31.อาจารย์จึง สรุป และกล่าวเป็นทางการว่า "การที่วิสัญญีแพทย์ ทำ epidural block แล้วไม่อยู่กับคนไข้ ออกไปรับภารกิจอื่น เป็นการแสดงถึงความไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ การละเลยต่อหลักวิชาการ ไม่คำนึงถึงชีวิตของผู้ป่วยซึ่งตนรับภาระไว้"

"การละทิ้งคนไข้โดยไม่เห็นแก่ชีวิตของคน เป็นการผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔ ที่ระบุว่า ศักดิ์ศรีของมนุษย์ย่อมได้รับความคุ้มครอง"



32.จบประเด็น อ.ประ พยานคนอื่นทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยที่กล่าวต่อจากนี้ แม้เป็นพยานฝ่าย โจทก์ ก็เบิกความในแง่มุมที่ต่างออกไป



33.อ. ว (คณบดีฯ) เบิกความอธิบายต่อศาลว่า การวัดความดันโลหิต จะใช้คนวัดหรือเครื่องวัดก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นเครื่องวัดจะตั้งเวลาได้ และถ้าผิดปกติจะมีเสียงร้องได้



34.อ. ส และ อ. ว อีกคน (อาจารย์จากรามาฯ) เบิกความในใจความคล้ายกันว่า (pulmonary embolism) เคยมีประสบการณ์ที่เจอกับตนเองมาบ้าง แม้จะมีรอดจริง แต่ก็คาดการณ์ไม่ได้

รวมทั้งแม้ขณะที่เจอก็ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่า ผู้ป่วยรายนี้กำลังมีภาวะ pulmonary embolism ทำได้แต่สงสัยว่าจะเป็นเท่านั้น



35.อ. ว (คนที่สอง) ยืนยันว่า
"การรักษาคนไข้ ต้องทำงานเป็นทีม (ไม่ใช่แพทย์คนเดียว) เช่น ถ้าหากสูติแพทย์มีการคลอดฉุกเฉิน ทำให้ไม่อยู่ดูแลคนไข้รายนั้นได้ ก็จะมีพยาบาลอยู่ในห้องคลอดตลอดเวลา"

และ

"การดูแลคนไข้รอทำคลอด แพทย์จะต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่จำเป็นต้องอยู่กับคนไข้ตลอดเวลา เว้นแต่กรณีคนไข้มีปัญหา"




36.นอกจากพยานแล้ว ยังมีมติของแพทยสภา ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีการประชุมกันหลายครั้ง มีความเห็นค่อนข้างหลายทาง จนสุดท้าย แม้ตัดสินว่า แพทย์ไม่ผิด แต่ก็ไม่เป็นเอกฉันท์



37.ศาลบอกว่า มติของแพทยสภา ศาลจะเพียงแค่หยิบมาประกอบการพิจารณาเท่านั้น



39.จากข้อมูลของทั้งสองฝ่ายที่เล่ามา ศาลจึงสรุปว่า พยานหลักฐานของโจทก์ (ฝ่ายคนไข้) มีน้ำหนักน่ารับฟังมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย (ฝ่ายหมอ)

และ

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ไม่ได้รักษามาตรฐานของการประกอบวิชาชีพเวชกรรมในระดับที่ดีที่สุด



40.ดังนั้น การที่จำเลย (หมอวิสัญญี และหมอสูติฯ) ทอดทิ้งผู้ตายไปรักษาพยาบาลผู้ป่วยรายอื่นจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย

ถือได้ว่า จำเลย กระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย

จำเลยจึงต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์





41.สรุปฎีกาพิพากษาแก้เป็น ให้สามีผู้ป่วย 2,800,000 บาท ให้ลูกทั้งสามคน คนละ 1,000,000 , 1,500,000 , 2,000,000 บาท ตามลำดับ




42.ถือเป็นการ สิ้นสุด คดี "ความผิดปริศนา" ตาม ฎ.๗๖๓๔ /๒๕๕๔






43. สุดท้าย อ.ประ เบิกความตอนหนึ่งว่า "ที่มาเป็นพยานศาล เพราะต้องการรักษาความเป็นธรรมในสังคม เพื่อให้เกิดเป็นที่ปรากฎเกียรติภูมิและเกียรติศักดิ์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยเฉพาะในระยะที่บรรดาแพทย์ทั้งหลายมีการศรัทธาใน ทรัพย์สินเงินทอง มากกว่า จิตและวิญญาณและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพของแพทย์ พยานจึงจะมาประสงค์ให้การในคดีนี้อย่างตรงไปตรงมา ตามหลักวิชาการและประสบการณ์ที่ได้รับมา"



44.ข้อความบางส่วนของสำนวนระบุว่า "สำหรับนายแพทย์ประ...นั้น เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิสัญญี มีผลงานทางวิชาการมาก เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล "

"ซึ่งจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ (หมอวิสัญญีและหมอสูติ) ก็จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล"

"จึงไม่เชื่อว่า นายแพทย์ประ... จะมีอคติต่อจำเลยที่ ๓’’


...

จากคุณ : oak
เขียนเมื่อ : 5 ก.พ. 55 17:55:08 A:125.26.51.96 X: TicketID:146261




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com