ตอนนี้กำลัง ตรวจอยู่ห้องฉุกเฉินพอดีครับ.....
ผมมองเจตนาเจ้าของกระทู้ว่า ต้องการคำนิยาม ของคำว่า ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ครับ
ปัญหาที่เจอตอนนี้ คือ หลังเวลาราชการ เนื่องจากบุคลากรเเละเครื่องมือไม่พอ ตลอดจนรัฐบาล ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย ทำให้หลังเวลาราชการ โรงพยาบาลส่วนใหญ่จะเปิดเฉพาะห้องตรวจฉุกเฉิน โดยจุดประสงค์จริงๆ เพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ครับ ซึ่งหมายถึง ต้องรักษาภายในเวลาเป็นนาที ไม่งั้นอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ครับ... แต่ในปัจจุบัน ผมเชื่อว่าโรงพยาบาลรัฐทุกโรงพยาบาล ก็รักษาผู้ป่วยทุกคนที่เข้ามาตรวจนั่นล่ะครับ รวมทั้งโรงพยาบาลที่ผมกำลังอยู่เวรห้องฉุกเฉินตอนนี้ด้วยครับ
ทีนี้เนื่องจากบุคลากรและเครื่องมือ มีไว้รับผู้ป่วยฉุกเฉินทางการแพทย์ อย่างโรงพยาบาลที่ผมทำงานอยู่เวลา 16-24 น. มีแพทย์เวร ห้องฉุกเฉิน 2 คน ส่วน 24-8 น. มีเเพทย์เวร 1 คน ทำให้ก่อนประกาศนโยบาย ก็มีปัญหาอยู่เเล้วครับ เช่น
1. คนไข้เยอะ หมอเเละเจ้าหน้าที่ ไม่พอ ทำให้คนไข้รอนานขึ้นครับ
2. เครื่องมือบางอย่าง ที่ใช้ในการรักษาภาวะเจ็บป่วยที่ไม่เร่งด่วน จะไม่มีนอกเวลาครับ ทำให้ต้องนัดมาตรวจเพิ่มในเวลาราชการ
3. เกิดการฟ้องร้องเรื่องรอตรวจนานครับ เจอเป็นประจำ ที่เจอบ่อย คือ ถ้ามีคนไข้หัวใจหยุดเต้นมา หมอต้องทำการกู้ชีพครับ อย่างน้อย 30 นาที - 1 ชั่วโมง ต่อคนไข้ 1 คน หรือคนไข้เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์มาแล้วเสียเลือดจนช้อค หมอก็ต้องกู้ชีวิตให้จนกว่าจะอยู่ในระดับที่คงที่หรือผ่าตัดรักษาได้ ถ้ามีคนไข้แบบนี้มาติดๆ กัน คนไข้ที่มารอตรวจก็ต้องรอไปก่อนครับ แล้วก็จะเกิดการฟ้องร้องเรื่องบริการอยู่บ่อยๆ เรื่องมักถึงผู้บริหาร และต้องชดใช้ ไม่ว่าจะด้วยเงิน หรือคำขอโทษ ตอนจบมาใหม่ๆ ผมรู้สึกแย่นะครับ ที่เราตั้งใจทำงานไม่ได้พักเพื่อช่วยชีวิตคน แล้วต้องมาขอโทษผู้ป่วย ที่อาการไม่หนักแล้วมีแรงไปฟ้องร้องเรื่องรอนาน แต่ตอนนี้เจอจนปลงแล้วครับ คิดว่า ขอโทษเรื่องจะจบง่ายกว่า แต่เวลามีเรื่องร้องเรียนก็จะเซ็งๆ และเสียกำลังใจครับ เวลาต้องขึ้นไปขอโทษ ก็เสียเวลาเป็นครึ่งวันครับ
4. เมื่อคนไข้เยอะ ทำให้ต้องจัดลำดับความสำคัญตามอาการครับ ผลที่ตามมาคือ บุคลากรโดนฟ้องร้องเหมือนกัน ด้วยเหตุผล ที่ว่าไม่ได้รับการรักษาทั้งที่เป็นมาก ที่เคยเจอเช่น มีผู้ป่วยคออักเสบ มารอตรวจแต่่ ขณะนั้น เกิดมีอุบัติเหตุหมู่ มาพร้อมกัน 4 คน เสียเลือดจน ช็อคและต้องกู้ชีวิตทุกคน หมอเวรทั้ง 2 คนและบุคลากรส่วนใหญ่ ต้องทุ่มกำลังเพื่อกู้ชีวิตครับ ส่วนผู้ป่วยคออักเสบพยาบาลให้นั่งรอไปก่อน ปรากฏว่าใช้เวลากู้ชีวิต 2 ชั่วโมง คนไข้คออักเสบ ไปฟ้องผู้บริหารเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย แบบนี้เป็นต้นครับ
5. ประเด็นเรื่องภาวะฉุกเฉินนี่เเหละครับ ก่อนหน้าที่รัฐจะประกาศให้ใช้สิทธิได้ทุกโรงพยาบาล ปัญหาที่ผมเจออยู่แล้วคือ การเซ็นต์ให้สิทธิฉุกเฉินเพื่อรักษาฟรีข้ามเขตนี่ล่ะครับ ตามปกติจะเซ็นต์หรือไม่ ทางการแพทย์จะใช้ภาวะฉุกเฉินมาพิจารณาเช่นเดิมครับ เช่น ต้องรักษาทันทีไม่เช่นนั้นอาจถึงชีิวิตได้ หรือสํญญาณชีพเช่น ความดันโลหิตต่ำ ช็อค เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยนอกเขต รพ. มีสิทธิรักษาที่อื่นและอาการไม่รุนแรง เช่น เป็นหวัด คออักเสบ หลังสั่งการรักษาแล้ว ผู้ป่วยไม่ยอมจ่ายเงินครับ บอกให้หมอเซ็นต์ฉุกเฉินให้ ปัญหาคือ พอไม่เซ็นต์ให้ก็เกิดการฟ้องร้องขึ้นว่า หมอไม่ยุติธรรมเห็นแก่เงิน หรือถ้าเซ็นต์ให้ ผมก็จะถูกหัวหน้าหรือผู้บริหารสอบถามว่า ใช้หลักอะไรในการให้สิทธิฉุกเฉิน ผมก็ทำไม่ถูกตามหลักการอยู่ดี ในกรณีนี้ผู้ปฏิบัติอย่างผมโดนทั้ง 2 ทางละครับ ไม่ว่าทางไหน ^^
ดังนั้น ผมเห็นด้วยครับ ถ้าจะถามผู้บริหาร ไม่ว่าจะเป็นนายก หรือใครก็ได้ที่คิดนโยบายนี้ว่า ภาวะฉุกเฉิน ในความหมายของพวกท่านทั้งหลายที่ประกาศออกมา คืออะไร ครอบคลุมแค่ไหน จะใช้ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ หรือว่า ใครก็ได้ที่เดินมาตรวจห้องฉุกเฉิน หรืออย่างอื่น ก็ให้ชัดเจนไปครับ และควรประกาศให้ประชาชนทราบด้วย แบบละเอียด ไม่เช่นนั้นระดับปฏิบัติงานอย่างผมจะทำงานลำบากครับ
ล่าสุดวันนี้ เจอไปแล้ว 3 ราย มาตรวจด้วย หวัด ทั้ง 3 ราย ขอให้ผมเซ็นต์ฉุกเฉินบอกว่า ท่านนายกประกาศว่าให้ฉุกเฉินได้ทุกโรงพยาบาล เอ.. มันจะเริ่ม 1 เมษา นะครับ แต่ย้ำว่าเจอวันนี้ ตอนนี้ล่ะครับ ท่านว่าผมทำยังไงดี ? .........
สุดท้าย ผมว่าถ้าประกาศไม่ชัด ผมคงต้องให้ฉุกเฉินทุกรายล่ะครับ เพราะเหมือนนโยบายอยากให้เป็นแบบนั้น จนกว่าจะมีรายละเอียดให้ปฏิบัติชัดเจน ย้ำว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่บุคลากรที่ทำงานตัดสินใจไม่ได้นะครับ แต่ผมคิดว่าอยู่ที่ระดับผู้บริหารประเทศ ที่ไม่ชัดเจน แม้ทางการแพทย์ผมจะตัดสินใจได้ว่าฉุกเฉินหรือไม่ แต่ทางปฏิบัติที่เจอคือเราใช้เหตุผลทางการแพทย์กับผู้ป่วยและญาติบางกลุ่มไม่ได้ครับ เพราะความไม่ชัดในระดับนโยบายครับ ^^
ขอโทษด้วยถ้าเนื้อหาไม่ค่อยต่อเนื่องเพราะคนไข้ ที่มาตรวจเยอะมาก ทยอยพิมพ์ตั้งแต่ประมาณเที่ยงคืนครับ ^^