Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease) ติดต่อทีมงาน

ทั่วไป
โรคหัวใจ (Heart disease) หรือ โรคที่เกิดกับหัวใจ ซึ่งมีได้หลายโรค แต่ที่พบบ่อยที่สุด เป็นปัญหาทางสาธารณสุข และเป็นสาเหตุการเสียชีวิต ได้สูงติด 1 ใน 4 ของสาเหตุการเสียชีวิตของประชาชนเกือบทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย คือ โรคหัวใจที่เกิดจากโรคของหลอดเลือดหัวใจ หรือ ที่เรียกว่า โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease หรือ Coronary heart disease) ซึ่งโดยทั่วไป เมื่อกล่าวถึงโรคหัวใจ มักหมายถึงโรคนี้ ดังนั้น บทความนี้ จึงกล่าวถึงโรคหัวใจเฉพาะเกิดจากสาเหตุนี้เท่านั้น
โรคหลอดเลือดหัวใจ คือ โรคเกิดจากหลอดเลือดหล่อเลี้ยงหัวใจ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า Coronary artery ตีบแคบเล็กลง หรือ ตีบตัน จึงส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือ กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจจึงทำงานผิดปกติ ส่งผลถึงอวัยวะต่างๆขาดเลือดไปด้วย จึงเกิดมีอาการต่างๆได้มากมาย
โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นโรคของผู้ใหญ่ตั้งแต่วัยหนุ่มสาว ไปจนถึงในผู้สูงอายุ โดยพบได้สูงตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป ในช่วงวัยเจริญพันธ์ พบโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ชายได้สูงกว่าในผู้หญิง แต่หลังจากหมดประจำเดือนถาวรแล้ว ทั้งผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้ใกล้เคียงกัน
โรคหลอดเลือดหัวใจเกิดได้อย่างไร?
สาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจ คือ การมีไขมันจับที่ผนังของหลอดเลือดหัวใจ ที่เรียกว่า พลาค (Plaque) จึงส่งผลให้ผนังหลอดเลือดแข็ง หนา ช่องในหลอดเลือดจึงตีบแคบลง และเมื่อพลาคนี้ก่อให้เกิดการอักเสบของผนังหลอดเลือด หรือ ผนังหลอดเลือดบาดเจ็บเสียหาย ร่างกายจะซ่อมแซมผนังส่วนเสียหายโดยการจับตัวเป็นก้อนของเกร็ดเลือด และเม็ดเลือดขาว จึงยิ่งส่งผลให้ช่องในหลอดเลือดตีบแคบลงอีก เลือดจึงหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจลดลง จึงเกิดเป็นโรค กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และบ่อยครั้ง การซ่อมแซมจากร่างกายนี้ ก่อให้หลอดเลือดถึงอุดตัน จึงส่งผลให้เกิด โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเหตุขาดเลือด ซึ่ง อาจเกิดได้อย่างเฉียบพลัน และเมื่อรุนแรง จะเป็นสาเหตุให้หัวใจหยุดทำงานทันที จึงเสียชีวิตได้ทันที กะทันหัน
นอกจากนั้น หลอดเลือดหัวใจ ยังสามารถบีบหดตัวได้ ดังนั้นเมื่อมีการหดตัวของหลอดเลือด จึงส่งผลให้รูท่อหลอดเลือดตีบแคบลง จึงเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดได้ เช่น จากภาวะมีความเครียดสูง เป็นต้น
โรคหลอดเลือดหัวใจมีปัจจัยเสี่ยงไหม?
ปัจจัยเสี่ยง หรือ กลุ่มเสี่ยง ต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ได้แก่
มีไขมันในเลือดสูง
โรคเบาหวาน เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงให้หลอดเลือดอักเสบ
โรคความดันโลหิตสูง จากผนังหลอดเลือดแข็งตัว และมักเกิดร่วมกับโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น เบาหวาน และ ไขมันในเลือดสูง
สูบบุหรี่ เพราะสารพิษในควันบุหรี่ ทำลายเซลล์ของหลอดเลือดโดยตรง ก่อให้หลอดเลือดแข็ง และยังทำลายเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจโดยตรงด้วย
อ้วน เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง
ขาดการออกกำลังกาย เพราะ เป็นสาเหตุให้เกิดโรคอ้วน
กินอาหารไม่มีประโยชน์ และกินอาหารไขมันสูง จึงมีผลต่อสุขภาพของเซลล์ต่างๆทั่วร่างกาย รวมทั้งของหลอดเลือดหัวใจ
ความเครียด เพราะส่งผลให้หลอดเลือดต่างๆ โดยเฉพาะหลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมอง บีบ หดตัว ช่องในหลอดเลือดจึงตีบแคบ กล้ามเนื้อหัวใจ และเซลล์สมองจึงขาดเลือดได้
พันธุกรรม เพราะพบโรคได้สูงกว่า ในคนมีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้
โรคหลอดเลือดหัวใจมีอาการอย่างไร?
อาการพบบ่อยของโรคหลอดเลือดหัวใจ ได้แก่
ไม่มีอาการเมื่อเริ่มเป็นโรค หรือ เมื่อหลอดเลือดยังตีบไม่มาก
เหนื่อยง่ายเมื่อออกแรง หรือ ออกกำลัง
เจ็บแน่นหน้าอกเมื่อใช้กำลังเพิ่มขึ้น หรือ เมื่อมีความเครียด (ผู้หญิง มักไม่ค่อยพบมีอาการนี้) อาการอาจร้าวไปที่ขากรรไกร ไหล่ และ/หรือ แขน ด้านใดก็ได้ แต่มักเป็นด้านซ้าย
อาการของโรคหัวใจล้มเหลว (หัวใจวาย) เช่น เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว บวมหน้า แขน/ขา
ความดันโลหิตสูง
ไขมันในเลือดสูง
แพทย์วินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจได้จาก ประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยในครอบครัว ตรวจร่างกาย ตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจไขมันในเลือด ตรวจภาพหัวใจและปอดด้วยเอกซเรย์ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ อาจทั้งในภาวะปกติ และในภาวะออกกำลังกาย อาจตรวจภาพหัวใจด้วย คลื่นความถี่สูง (อัลตราซาวด์) อาจตรวจภาพหลอดเลือดหัวใจด้วยการใส่สายสวน และอาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจได้อย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ คือ ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต (เรื่องกิน ออกกำลังกาย และสุขภาพจิต) ดูแล รักษาควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง กินยาขยายหลอดเลือดหัวใจ กินยาต้านการแข็งตัวของเลือด กินยาลดไขมันในเลือด อาจขยายหลอดเลือดด้วยเทคนิคต่างๆ และอาจเป็นการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ (โรคหัวใจ: การซ่อมรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบ) ทั้งนี้ ขึ้นกับความรุนแรงของโรค และดุลพินิจของแพทย์
โรคหลอดเลือดหัวใจรุนแรงไหม? รักษาหายไหม?
โรคหลอดเลือดหัวใจจัดเป็นโรคเรื้อรัง และรุนแรง เป็นสาเหตุให้เกิดทั้งความพิการและเสียชีวิตได้ ความพิการ เช่น เป็นสาเหตุให้สมองขาดเลือด จากหัวใจทำงานลดลง จึงเกิดภาวะอัพฤกษ์/อัมพาติได้ง่าย และคุณภาพชีวิตลดลง เช่น ต้องจำกัดการออกแรง จากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือ กล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือเกิดโรคหัวใจวาย หรือ โรคหัวใจล้มเหลว (โรคหัวใจ: หัวใจวายจากโรคหลอดเลือดหัวใจ)
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคหัวใจ?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ที่สำคัญ ได้แก่
ปฏิบัติตามแพทย์/พยาบาลแนะนำ
กินยาต่างๆตามแพทย์แนะนำให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
จำกัดอาหารไขมันทุกชนิด โดยเฉพาะไขมันจากสัตว์
ออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพ สม่ำเสมอ
ควบคุมอาหาร และออกกำลังกาย ไม่ให้เกิดโรคอ้วน
ดูแล รักษา ควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง
รักษาสุขภาพกาย สุขภาพจิต ด้วยการรักษา สุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อร่างกายแข็งแรง และมีสุขภาพจิตที่ดี ลดความเครียด
พบแพทย์ตรงตามนัดเสมอ และรีบพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม และ/หรือ อาการต่างๆเลวลง
พบแพทย์เป็นการฉุกเฉินเมื่อ
เจ็บแน่นหน้าอกมาก อาจเจ็บร้าวขึ้นขากรรไกร ไปยังหัวไหล่ หรือ แขน
เหนื่อย หายใจขัด
ชีพจรเต้นอ่อน เต้นเร็ว เหงื่อออกมาก วิงเวียน จะเป็นลม
หยุดหายใจ และ/หรือ โคมา
ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจได้ไหม?
วิธีป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจที่สำคัญ ได้แก่
ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยการออกกำลังกายตามสุขภาพ จำกัดอาหารไขมัน กินอาหารมีประโยชน์ ควบคุมน้ำหนัก ควบคุมโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง และรักษา สุขอนามัยพื้นฐาน
ตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอ เริ่มเมื่ออายุ 18-20 ปี
ปรึกษาแพทย์เสมอเมื่อมีความกังวลในอาการ หรือ สงสัยในสุขภาพของตนเอง
ควรพบแพทย์ตรวจโรคหัวใจเมื่อไร?
เมื่อยังไม่มีอาการผิดปกติ ควรพบแพทย์ทั่วไปในการตรวจสุขภาพประจำปี แต่เมื่ออยู่ในกลุ่มเสี่ยง อาจปรึกษาแพทย์โรคหัวใจได้เลย ไม่ว่าจะอายุเท่าไร รวมทั้งในเด็กอ้วน
บรรณานุกรม
Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
Coronary disease. http://en.wikipedia.org/wiki/Coronary_disease [2011, Aug 18].
Coronary heart disease risk factors. http://www.nhlbi.nih.gov/health/health-topics/topics/hd/ [2011, Aug 18].
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์ พบ.
วว. รังสีรักษาและเวชศาสตร์นิวเคลียร์
Keywords: โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ Coronary heart disease

 
 

จากคุณ : jureeporn
เขียนเมื่อ : 14 มี.ค. 55 16:06:37




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com