 |
ต่อไปนี้เป็นบทความในแวดวงของกีฬาวิ่งที่ กฤตย์ ทองคง ได้แสดงที่มา และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับ Plantar Fasciitis ไว้นานแล้ว แม้ จขกท. ไม่ได้เป็นนักกีฬา ก็เชื่อได้ว่าแนวปฏิบัติที่ คุณกฤตย์ให้ไว้ น่าจะนำไปประยุกต์ได้ ดังต่อไปนี้
Plantar Fasciitis โดย กฤตย์ ทองคง
แพลนท่าร์ แฟสซิไอทีส (ต่อไปจะเรียกว่า PF) เป็นแถบเส้นใยผังผืดใต้ฝ่าเท้ายาวตลอดแนว ตั้งแต่ใต้หัวแม่เท้าจนถึงส้น ที่ยึดโยงการเคลื่อนไหวของเท้าขณะใช้งาน ช่วยให้เกิดการประสานงานระหว่าง เอ็นร้อยหวายกับนิ้วหัวแม่เท้าให้ส่งถ่ายพลังในการขับเคลื่อนวิ่งหรือเดินให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ความเจ็บปวดที่ผิดปกติของ PF มีหลายแบบ บางรายตอนเริ่มปวดแบบธรรมดา และพัฒนาเป็นปวดแบบตื้อๆ บางรายเกิดอย่างกะทันหันที่ส้นเท้าและเริ่มรู้สึกมากขึ้นเรื่อยๆจนเจ็บมากเมื่อเดิน จนอดที่จะกระเผลกไม่ได้ แรงจนน้ำตาแทบร่วง ยิ่งเป็นการวิ่งไปต้องพูดถึงเลย
บางรายความเจ็บปวดลุกลามจากเท้าไปสู่ขา มักจะเป็นในตอนก้าวต้นๆของการวิ่ง พอผ่านไปสักพัก อาการค่อยยังชั่วขึ้น และยังมีกลุ่มอาการมากหลายแบบของชนิดความปวดเจ็บที่มาจากความผิดปกติของ PF
แต่ที่ยอดนิยมก็คือ ตอนตื่นนอนมาตอนเช้า ทันทีที่ย่างก้าวเท้าออกเดินจากเตียงนอนจะกระเผลกทันที เพราะเจ็บแปลบ บางราย เกิดเมื่อเข้าห้องน้ำกลางดึก แทบจะเดินไม่ไหวเลย มักจะเจ็บตรงส้นเท้า
และยอดนิยมอีกอย่างก็คือ ผู้บาดเจ็บมักจะเป็นหญิงในรายที่ใส่รองเท้าส้นสูง และมีน้ำหนักมาก หรือ เท้าและขาทานน้ำหนักไม่ไหวอย่างเคย หรือ อาจมีครรภ์ หรือ อาจมีเท้าผิดรูป เช่น เท้าแบนมากจึงมีแนวโน้ม ที่จะเป็นง่าย
ในเหตุผลทางการแพทย์ ก็ยังไม่แน่ใจในรายละเอียดแน่ชัดนัก แต่พอจะกล่าวอย่างคร่าวๆได้ว่า แถบผังผืดใต้ฝ่าเท้านี้ถูก Somethings รบกวนทำให้เกิดการอักเสบ เช่น เกิดกระดูกร้าว เนื่องจาก ใช้งานหนัก การโหมลงคอร์ทหรือเพิ่มระยะทางวิ่งเข้าไปในแผนฝึกมาก ที่ผ่านมาในระยะยาวกระดูกพยายามเชื่อม ประสานกันเองตามธรรมชาติ ที่เนื้อกระดูกใหม่ ณ รอยแยกนั้นเกิดนูนขึ้น เหมือนการอ็อกเชื่อมเหล็กสองชิ้น ติดกัน ที่คุณจะเห็นเนื้อตะเข็บมันนูนขึ้นใช่ไหม แบบนั้นแหละครับ แล้วไอ้เนื้อกระดูกเล็กๆที่งอกมานี้ มันติ่งยื่นไปรบกวนก่อผลระคายเคืองเจ้า PF นี้เป็นชั้นๆต่อเนื่องไปเรื่อยๆ
แต่ก็ไม่ใช่ทุกรายที่จะเป็นอย่างนี้เสมอไป PF ที่ผิดปกติอาจเกิดจากการฉีกขาดของผังผืด จากการยึดหุ้มกระดูกโคนหัวแม่เท้า ทำให้การประสานงานของ PF กับเอ็นร้อยหวาย ไม่เป็นไปในรูปแบบชีวกล (Biomechanic) ที่เหมาะสมกลมกลืน ที่ปรากฏเป็นการเจ็บส้นเท้า แทนที่จะไปเจ็บตรงที่เป็นสาเหตุ การเกิดที่หนึ่งแต่ไปเจ็บอีกที่หนึ่งนี้ เป็นสิ่งที่ทำให้เราวินิจฉัยเพื่อเข้าใจ สาเหตุผิดพลาดเสมอมา
ผู้เขียนขอกลับมาให้รายละเอียดเพิ่มเติมตรงอาการยอดนิยมว่า ขณะเมื่อเรานอนตอนกลางคืน ก็อย่างที่พวกเราทราบกันดีอยู่แล้วว่า กล้ามเนื้อ , เส้นเอ็น , เนื้อเยื่อ ทั่วร่างจะหดตัว เมื่อลุกขึ้นเดิน แถบผังผืด PF นี้จะถูกยืดตัวอย่างกระทันหัน และจะส่งแรงดึงนั้นไปยังส้นเท้า และเมื่อดึงหนักเกินไป หรือมี Somethings จ้องจะรบกวนอยู่แล้ว ผลก็คือ เจ็บ มักจะเป็นความรู้สึกแบบแปลบปลาบ
ส่วนสาเหตุอื่นๆมีมากมาย อาจเป็นเพราะมีร่องรอยชีวกลบางอย่างที่ส่อเค้าลางที่ง่ายต่อความบาดเจ็บอยู่เป็น รากเดิมก็ได้ (Biomachanical flaws) เช่นเท้าแบน , เท้าโค้งสูงกว่าปกติ หรือเส้นเอ็นร้อยหวาย ค่อนข้างตึงโดยธรรมชาติ ที่มีผลทำให้ PF รับแรงสูงมากกว่าที่ควร และภาวะน้ำหนักเกินก็จะไปช่วยเร่ง กระบวนการให้เจ็บง่ายเข้าไปอีก ยิ่งในรายผู้หญิงผู้คุมน้ำหนักไม่อยู่ หรือหญิงตั้งครรภ์ (และไม่ได้ออกกำลังกาย) ก็จะเกิดภาวะ PF อักเสบโดยง่ายมาก
เหตุอื่นๆก็ยังมีอีก ที่น่าจะเป็นเท้าเอียงเข้าด้านใน (Pronation) หรือการเพิ่มฝึกฝน โดยเพิ่มระยะทางสะสมเข้าไปในแผนฝึกมากเกินกว่าระดับที่ร่างกายรับได้
บ้างก็เป็นตอนเริ่มฝึกคอร์ทใหม่ๆ หรือเปลี่ยนพื้นผิวถนนวิ่ง ไปสู่พื้นที่ที่ตัวเองไม่เคยชิน เป็นพื้นที่แข็งขึ้น ก็เป็นได้ทั้งนั้น
ส่วนอันตรายที่เกิดจากรองเท้าส้นสูงของผู้หญิงนั้นมิใช่เกิดที่ตัวรองเท้าส้นสูงเอง แต่เป็นรอยต่อระหว่าง การถอดรองเท้าส้นสูงนั้นออกแล้วเดินเท้าเปล่าหรือสลับใส่รองเท้ากีฬา แล้วออกวิ่ง ยิ่งยืดเส้นน้อย ยิ่งวอร์มน้อย ยิ่งจะเจ็บไปกันใหญ่
อยากจะชวนคุณจินตนาการ นึกภาพตอนนอน จะพบว่า ท่าคนปกตินอนที่แม้ปลายเท้าจะชี้แบะออกเล็กน้อย แต่สังเกตดูให้ดี ปลายเท้าจะชี้ลง ไม่ใช่ตั้งฉากกับพื้น ใช่หรือไม่ นั่นเป็นภาวะที่ทำให้เส้นเอ็นร้อยหวาย และ PF อยู่ในสภาพที่หย่อนคลาย นานหลายชั่วโมง แล้วเมื่อลุกเดิน มันก็จะเจ็บ เพราะเส้นมันกลับมาดึง กระทันหัน
ทำนองเดียวกัน การใส่รองเท้าส้นสูง ก็จะมีภาวะที่คล้ายๆกัน คือปลายเท้าชี้ออก เส้นเอ็นร้อยหวายกับ PF ก็หย่อนคลาย การถอดรองเท้าออกเมื่อหลังทำงานจะทำให้ทั้งร้อยหวายและ PF ตึงกระทันหัน
นี่คือเหตุผลที่นักวิ่ง ที่กำลังดูแลภาวะความบาดเจ็บจาก PF หรือกำลังป้องกัน PF อักเสบ ควรวิ่งตอนเช้า มากกว่าตอนเย็น เพราะตอนเย็น เป็นสถานการณ์ที่ใส่รองเท้าส้นสูงมาแล้ว และถอดออกเพื่อวิ่งตอนเย็น แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าวิ่งเช้าหรือเย็น การยืดเส้น อย่างรอบคอบและถูกต้อง จะช่วยบรรเทาและชะลอ ปรากฏการณ์นี้ได้มากกว่าเงื่อนไขเวลาอย่างแน่นอน
กล่าวอย่างนี้ ก็คงพอจะเข้าใจแล้วว่า การเข้าเฝือกชั่วคราว ขณะนอน โดยใส่อะไรบางอย่างเข้าไปบังคับรูปเท้า ขณะนอนหลับ ไม่ให้ปลายเท้าชี้ลง แต่ให้ตั้งฉากกับพื้น จะเป็นการบังคับไม่ให้เส้นร้อยหวายและ PF เกิด คลายตัวมาก
แต่วิธีการอย่างนี้ผู้เขียนไม่เห็นด้วย เพราะการนอนคือการพักผ่อน อะไรที่คลายตัวได้มากที่สุดก็ต้อง ผ่อนคลาย แต่ควรจะรับมือตรงนี้ด้วยการยืดเส้นขณะตื่นนอน โดยไม่ต้องลุกขึ้น ให้ใช้ผ้าเช็ดตัว ที่เตรียมไว้ เมื่อก่อนนอน สอดเข้าใต้ฝ่าเท้า และใช้มือดึงสองชาย ในทิศทางที่เข้าหาใบหน้า เพื่อให้ปลายเท้าชี้ขึ้น และรั้งตึงอยู่อย่างนั้น เริ่มจากทีละน้อยแล้วคลายแล้วดึงอีกทีละน้อย โดยเฝ้าจับสังเกตอาการ ไม่ให้ดึงไปถึงระดับเจ็บ เพียงแค่ให้ตึงก็หย่อนได้แล้ว ทำอย่างนี้ข้างละ 10 ครั้ง (ครั้งละ 10 วินาที) แล้วกลับมาทำอีก ซ้ายสิบ ขวาสิบ เป็นยี่สิบ ก่อนจะลุกขึ้นนั่ง ห้อยขาข้างเตียง ยื่นเท้าให้ห่างตัว โดยให้ปลายเท้าลอยขึ้นทีละข้างแล้วกระดกปลายเท้าขึ้น สลับกระดกปลายเท้าลง กลับไปกลับมาหลายๆครั้ง ก่อนที่จะยันกายลุกขึ้น โดยค่อยๆถ่ายน้ำหนักลงไปทีละน้อยให้เต็มเท้าทั้งสองข้าง พร้อมกัน(ช้าๆ) แล้วอย่าเพิ่งออกเดิน ยืนนิ่งๆอยู่ เพื่อให้ร่างกายจับทิศทางถูก แล้วจึงค่อยๆก้าวเท้าออก อย่างสั้นๆ อย่างช้าๆ ถ้าอาการไม่ค่อยดี จะได้ทรุดลงนั่งบนเตียง แล้วเอาใหม่
ในระหว่างวัน ไม่ว่าจะในออฟฟิศหรือที่บ้าน คุณสามารถบริหารท่ายืดเส้นเพื่อเสริมการรักษาด้วยตนเอง อีก 3-4 รอบ โดยยืดเส้นเอ็นร้อยหวาย ในท่าดันกำแพงเท้าเปล่า พูดแค่นี้ พวกเราคงนึกท่าออก หรือการนั่งเท้าเปล่าขณะทำงานอยู่ โดยใช้เท้าคลึงลูกเทนนิสเล่นใต้โต๊ะ ไถเล่นจากส้นเท้าไปปลายเท้า สลับไปสลับมา อย่างนี้ ดีนักแล
นานๆที ก็ลุกขึ้นยืน แล้วเขย่ง 10X10 (ยืนเขย่งปลายเท้านาน 10 วินาที แล้วปล่อยลง จำนวน 10 ครั้ง)
ส่วนคุณผู้หญิงจงเลิกใส่ส้นสูงเสีย แล้วไปหาส้นเตี้ยมาใส่แทน แล้วควรจะเป็นแบบหุ้มส้น เพราะคุณจะได้ไปหาแผ่นรองส้นนิ่มๆมาเสริมได้มากกว่ารองเท้าสานหรือรองเท้าแตะ
หากคุณรักษากับแพทย์ สมควรที่คุณจะเป็นฝ่ายเลือกแผนการรักษาโดยตัวของคุณเอง แพทย์เพียงแค่แนะนำว่า มันมีสาเหตุมาจากอะไร กระดูกงอกหรือประสาทถูกกดทับ ที่ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ต้องผ่าตัด แต่ถ้าไม่ใช่ (ส่วนมากไม่ใช่) ก็ไม่จำเป็นต้องทำ ไม่ต้องไปผ่ามัน ควรหลีกเลี่ยงให้ถึงที่สุด เพราะผลเสียข้างเคียงมีมากกว่าที่คิด ได้ไม่คุ้มเสีย
และแพทย์บางท่าน อาจใช้ยาฉีดสเตียรอยด์กับคุณ จงพิจารณาให้รอบคอบ ก่อนยอมให้แพทย์ฉีด การจะเป็นได้ดังนี้ ก่อนที่จะฉีดจะกินอะไรคุณต้องแน่ใจว่ามันใช่หรือไม่ใช่อะไรเสียก่อน อย่าลืมว่า ชีวิตเป็นของคุณเอง แม้แพทย์จะควบคุมปริมาณฉีด ไม่เกินเท่านั้นเท่านี้ แต่ความเป็นจริงมีอยู่ว่า ยิ่งนานวัน ยิ่งพบผลลัพธ์ที่สเตียรอยด์ก่อผลอันตรายกับร่างกายมนุษย์มากขึ้นๆทุกครั้งที่มีการวิจัยใหม่ๆ การหยุดวิ่งให้ได้ และทานยาแก้ปวดก็น่าจะพอเพียงแล้ว
เราผู้ป่วยมีสิทธิที่จะทราบว่า การ Treatment ชนิดใดจะไปมีผลข้างเคียงอะไรกับเรา และเราก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธการรักษานั้นได้ด้วย
มันแสบอีตรงที่ Dr Sheldon Laps a Washington, D.C., podiatrist and foot surgeon ให้ความเห็นว่า ตราบใดที่ความเจ็บส้นเท้า PF เป็นประเด็นทางเทคนิคเท่านั้น มันก็จะเป็นการรักษาที่ง่ายมาก ฟังแล้วอาจไม่เข้าใจ ขอตีความให้ฟังว่า
ในความคิดเห็นของคุณหมอ Laps คุณหมอเชื่อว่า ปัญหาบาดเจ็บจาก PF นี้ ไม่ใช่แค่ปัญหาทางเทคนิค แต่เป็นเรื่องของมนุษย์ที่หลากหลายในความคิดและความต้องการ ทำให้เป็นอุปสรรคในการรักษา ดังนั้น การรักษาที่โดยธรรมชาติแล้ว เส้นผังผืดใต้ฝ่าเท้า PF นี้ รักษาง่ายมาก จึงกลายเป็นรักษายากและเรื้อรัง เช่น เราจะห้ามผู้ป่วย ไม่ให้ใส่รองเท้าส้นสูงได้อย่างไร เพียงแค่แนะนำ แต่สิทธิขาด อยู่ที่ตัวผู้บาดเจ็บ จะสมัครใจอย่างไร
อย่าลืมว่า วัฒนธรรมใช้รองเท้าประเภทนี้ ถูกสถาปนามาเป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว จู่ๆเราจะมากำหนดอะไรให้เป็นไปตามใจนึกย่อมไม่ได้ ผู้บริหารหญิงใส่สูทสวมกระโปรงสง่างาม จะให้มาใส่ส้นเตี้ย จะหมดสง่างามลงไปมาก จะเจ็บยังไงก็ต้องทน นี้อย่างไรเล่าที่คุณหมอ Laps บอกว่า ตราบใดที่ปัญหาการบาดเจ็บที่แพลนท่าร์ แฟสซิไอทีสนี้ เป็นปัญหาเทคนิคล้วนๆ มันจะรักษาได้ง่ายมากนั่นเอง ฟังคุณหมอพูดอย่างนี้แล้วก็ต้องถอนใจ ที่นักวิ่งก็คงจะหายเจ็บกันลำบาก ทั้งๆที่มันไม่ใช่โรคภัยใหญ่โตอะไร
อีกประการหนึ่ง การเยียวยาดูแล ที่ไม่ว่าด้วยตนเองหรือด้วยแพทย์ ในส่วนของ PF ตรงนี้ แม้จะเป็นโรคภัยที่ไม่ใหญ่โต อย่างที่กล่าว แต่ก็ต้องใช้เวลากับมันนานมาก ราว 6 สัปดาห์ 3 เดือน หรืออาจนานกว่านั้น ในบางกรณี นี้เป็นสิ่งที่นักวิ่งทำใจหยุดวิ่งหรือแม้แต่เบาแผนวิ่งได้ยากมาก
คุณหมอ Thomas Clanton แพทย์โรคเท้าและข้อ ออโถ หนึ่งในสมาชิกทีมแพทย์ของ Rice University เมือง Houston เท็กซัส กล่าวว่า ผมก็เป็นนักวิ่ง ผมตระหนักดีว่าด้วยระยะเวลาที่นักวิ่งผู้บาดเจ็บจำต้องใช้ไปกับ PF นานขนาดนี้ นักวิ่งส่วนใหญ่จะปฏิบัติตามไม่ได้ และเพราะเป็นอย่างนี้เองที่ PF เป็นอะไรที่ร้ายแรงเกินจริงเป็นความบาดเจ็บที่จะกลายเป็นเรื้อรังโดยง่าย และดับชีวิตวิ่งมาหลายชีวิตเสียนักต่อนักแล้ว แม้ว่า มันเป็นแค่ความบาดเจ็บที่แสนจะธรรมดาๆ
การป้องกัน
1) จงตระหนักให้ดีในความรู้สึกที่จำต้องขาดวิ่งนาน เพื่อจะยังกลับมาวิ่งต่อได้ในวันข้างหน้า 2) สวมรองเท้า ชนิดที่เหมาะกับเท้าของตน เช่น Motion Control สำหรับรายที่อยู่ในภาวะเสี่ยงทาง Biomechanical flaws ที่ว่า และอาจเพิ่มเติมเสริมนิ่มด้วยเบาะรองส้น Cushioning ที่หาซื้อได้ไม่ยาก 3) พยายามวิ่งในภูมิประเทศอ่อนนุ่ม เช่นพื้นหญ้า พื้นดิน บนคอนกรีตแข็งมาก จงพยายามหลีกเลี่ยง 4) พยายามให้จำนวนกิโลเมตรในแผนฝึกคงที่หรือเปลี่ยนแปลงทีละน้อยโดยค่อยๆประจงเขยิบเพิ่มความเข้ม ทีละน้อยโดยผ่านการแช่เย็นที่ยาวนาน โดยอนุญาตให้ร่างกายปรับตัวได้ 5) จงยืดเส้นให้รอบคอบโดยเฉพาะในตำแหน่งเอ็นร้อยหวาย Achilles Tendon 6) จงปฏิเสธรองเท้าส้นสูง และพยายามหารองเท้าอนามัยส้นเตี้ยมาใส่แทน อย่าลืมซื้อรองส้นมาเสริมอีกนิด มีรองเท้าประเภทนี้ที่สวยงามและน่าใส่วางจำหน่ายให้เลือกมากมาย
อนึ่ง คุณหมอ Laps กล่าวว่า ความบาดเจ็บจาก PF นี้มิได้เกิดจำเพาะนักวิ่งกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด พวกเราอาจเจ็บได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะแนวหน้าหรือกลุ่มวิ่งช้า ไม่ว่าจะหนุ่มหรือแก่ ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง ไม่ว่าจะอ้วนหรือผอม แม้กระทั่งไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาหรือชอบแต่ดูโทรทัศน์ก็ตาม เป็นกันอย่างยอดนิยมมาก รองมาจากการเจ็บเข่าทีเดียว
ไม่ว่าผู้ให้คำแนะนำกับคุณจะเป็นแพทย์หรือเป็นโค้ชหรือใครก็ตาม จงตระหนักว่า เขาทำได้เพียงแค่ให้คำแนะนำกับคุณได้เท่านั้น แต่เขาไม่ใช่อัศวินม้าขาวที่เข้ามาเสกพรวดให้คุณหาย แต่ต้องอาศัยการปฏิบัติลงมือจัดการจริงด้วยตัวผู้บาดเจ็บเองเกือบทั้งสิ้น ที่ต้องถอนใจจากการปิดเทอมวิ่งนาน ขนาดนั้น ด้วยการอดทำอะไรบางอย่าง(วิ่ง)ตามความเคยชิน ให้มันเป็นไปตามสถานการณ์ใหม่ๆของแต่ละคน ด้วยว่าความอยู่รอดมันเป็นความจำเป็นประการหนึ่งที่เราต้องผ่านพ้นไปให้ได้ ใช่หรือไม่ว่า เจ็บได้ก็ต้องหายได้ ก็คิดดูเถอะแก่แล้ววิ่งไม่ได้ แค่คิดก็ Hurt แล้ว อย่างไรๆก็ต้องพยายามทำตาม คำแนะนำนั้นให้เป็นจริงให้ได้ จริงไหมครับ
01:53 น. 15 กรกฎาคม 2548 จาก Plantar Fasciitis โดย Marlene Cimone R.W. April 1998 P.38-9
ต่อไปนี้เป็นความเห็นของ หมูยอ
โดยคุณ หมูยอ (117.47.159.88) [17 ส.ค. 2551 เวลา 23:30] #287766 (4/7)
เห็นคำถามคุณวัชรินทร์มาแต่เช้าแล้ว ถามคุณเบญ และลุงกฤตย์ แต่ทั้งสองท่านคงยังไม่ว่างมาตอบ ผมขอถือวิสาสะตอบแทนล่ะกัน อย่าว่าผม เจือก น่ะครับ พอดี เป็นหมออะครับ ตอบตามที่รู้น่ะครับ อาการเจ็บฝ่าเท้า ที่เป็นกันส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของ เอ็นฝ่าเท้าอักเสบ หรือ Plantar fasciitis เอ็นตัวนี้เป็นเอ็นแผ่นใหญ่ของฝ่าเท้า ทำหน้าที่ในการสปริงของผ่าเท้า การอักเสบอาจมีสาเหตุจากหลายปัจจัย ครับ เช่น
1.วิ่งลงกระแทกส้นเท้ามากเกินไป หรือบ่อยเกินไป ทำให้จุดเกาะของเอ็นบริเวณส้นเท้าชอกช้ำ 2. วิ่งลงปลายเท้ามากหรือบ่อยเกินไป ทำให้เอ็นฝ่าเท้าถูกยืดออกอย่างรวดเร็ว และซ้ำๆ เกิดอาการปริ หรือช้ำของเอ็นฝ่าเท้า 3. วอร์มอัพ ยืดเส้น ก่อนวิ่งไม่พอเพียง หรือซ้อมวิ่งมากเกินไป เร็วเกินไป 4. อายุมากขึ้น ความยืดหยุ่นของเอ็นฝ่าเท้าลดลง 5. ส้นรองเท้าบางเกินไป หรือแข็งเกินไป เป็นต้น 6.อายุมากขึ้น ชั้นไขมันพิเศษของส้นเท้า( Heel pad) จะบางลง ทำให้ขาดตัวป้องกันส้นเท้า
คุณวัชรินทร์ อาจคิดว่า เมื่อก่อนซ้อมแบบนี้ ไม่เห็นเป็นไร ปัจจัยมันเปลี่ยนไปแล้วครับ เมื่อก่อนยังหนุ่มๆ เนื้อเยื่อทั้งหลายยังมีคุณภาพดี มีความยืดหยุ่นดี แต่กระนั้น ตอนวิ่งใหม่ๆ ก็ยังต้องมีอาการบาดเจ็บที่ไดที่หนึ่ง อยู่บ้าง จนเมื่อได้วิ่งจนเข้าที่เข้าทาง ร่างกายมีความพร้อม ตัวเรามีประสบการณ์แล้ว อาการบาดเจ็บจะไม่ค่อย เกิด เหมือนกับนักกีฬาอื่นๆทั่วไป แต่ถ้าเราหยุดไปแล้วพักหนึ่ง ก็ต้องยอมรับว่า ปัจจัยมันเปลี่ยนไปแล้ว ความพร้อมของร่างกายก็เปลี่ยนไป ยิ่งอายุมากขึ้น ความแข็งแรง และความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อทั้งหลาย ก็จะลดลงตามธรรมชาติอยู่แล้ว ทำให้เราต้องใช้เวลามากขึ้นในการพัฒนาการฝึกซ้อม และต้องใช้เวลาในการ วอร์มอัพและคูลดาวน์มากขึ้น
การรักษาในเบื้องต้น พัก พัน รัด ประคบ ตามสูตร อาจร่วมกับการทานยาลดอักเสบด้วยก็ได้ ที่สำคัญคือ ต้องพักส้นเท้า ด้วยการหาแผ่นรองส้นเท้า (NCRของเวปโน้นก็ใช้ได้) แผ่นรองจะต้องนิ่ม หรือมีช่องว่างตรงตำแหน่งที่เจ็บ พร้อมกับยกส้นเท้าให้สูงขึ้น เพื่อถ่ายน้ำหนักไปปลายเท้าแทน เมื่อได้พักจนอาการดีขึ้นแล้ว ควรต้องเสริมส้นเท้าต่อไปอีกสักพัก ร่วมกับการบริหาร เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของเอ็นฝ่าเท้า ทำได้โดยการย่อเข่าไปข้างหน้า เท้าที่ปกติเหยียดตรงอยู่ข้างหลัง และยืดเอ็นเส้นนี้ด้วยการกดฝ่าเท้าลงไปให้แบนโดยการโน้มตัวไปข้างหน้า มืออาจจะยันกำแพงหรือกดลงบนหัวเข่าก็ได้ ทำอย่างช้าๆ นุ่มนวล และบ่อยๆ หายแล้วก็ยังควรต้องบริหาร ด้วยการยืดเหยียดเส้นแบบนี้อย่างสม่ำเสมอต่อไป
ที่สำคัญคือ ต้องใจเย็นๆครับ คิดซะว่า เราอายุปูนนี้แล้ว ... ที่ว่ามานี่ หมายถึงสมมุติว่าวินิจฉัยถูกน่ะครับ จริงอาจผิดก็ได้ โรคของฝ่าเท้าก็ยังมีอีกหลายอย่าง บอกว่าเจ็บฝ่าเท้า อาจหมายถึงเจ็บตรง Ball of foot หรือ Metatarsalgia ก็ได้ การรักษาก็จะต่างกันออกไป
จากคุณ : นักรบสายรุ้ง เขียนเมื่อ : 11 พ.ค. 55 15:29:15
จากคุณ |
:
นักรบสายรุ้ง
|
เขียนเมื่อ |
:
11 พ.ค. 55 15:33:14
|
|
|
|
 |